ครูของฉัน… “ถวัลย์ มาศจรัส”
อ่าน: 3447อ.ถวัลย์ มาศจรัส
เช้าวันนี้ อดีตหัวหน้างานที่เคารพรักมากที่สุดท่านหนึ่ง โทรมาให้เขียนถึง “การสอนเขียนหนังสือ” ของท่าน ซึ่งจะนำไปเพิ่มเติมไว้ในหนังสือที่ท่านตั้งใจเขียนเป็น “ของขวัญ” ให้แก่เพื่อนร่วมงานก่อนที่จะ Early retire ในเดือนกันยายนนี้
อาจารย์ถวัลย์ มาศจรัส หรือที่บรรดาเพื่อนร่วมงานต่างเรียกขานกันว่า “ปู่” ด้วยความรักและเคารพนี้ โดยส่วนตัวแล้วฉันถือว่าท่านเป็น “ครู” เพราะนอกจากสอนเรื่องงาน ยังสอนการใช้ชีวิต สอนให้รู้จักมองแง่มุมต่าง ๆ ในสังคม และที่สำคัญท่านสอนให้รู้จักการ “เขียนหนังสือ”
@@@“ปู่” เป็นนักเขียนที่ได้รางวัลมากมาย จากหลายองค์กรและสถาบัน โดยเฉพาะรางวัลจากสถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับรางวัลถึง 26 รางวัล จนประกาศวางมือไม่ส่งผลงานประกวดอีก (เพื่อเปิดโอกาสให้นักเขียนคนอื่น ๆ) แน่ล่ะ ท่านเป็นนักเขียนที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “วิธีการสอนเขียนหนังสือ” ของปู่ ซึ่งมักจะเป็นไปในทำนอง “สอนแบบไม่สอน” และ เน้นที่ “ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ”
@@@ แรก ๆ ที่เขียนงานแล้วส่งให้อ่านและปรับแก้ ปู่ยิ้ม ๆ ที่มุมปากแล้วบอกว่า “เออ…มีมุมมองแปลก เก็บรายละเอียดดี เขียนต่อไปนะ…” ตอนนั้นจำได้ว่าปลื้มใจสุดจะประมาณได้ มีนักเขียนใหญ่ชมนี่นา จนภายหลังได้มาอ่านงานของตัวเอง จึงตระหนักรู้ว่า ปู่พยายามที่จะค้นหาจุดเด่นข้อดีของฉัน (เท่าที่มี) มาชมและให้กำลังใจ และนั่นคือ การเน้นและให้ความสำคัญกับ “ตัวผู้เรียน” อย่างแท้จริง
@@@ วันหนึ่ง ปู่บอกว่า … “เดี๋ยวนี้เขียนหนังสือลงล็อค เข้าที่เข้าทางแล้วนะ…” เป็นคำชมอีกครั้งที่ทำให้ตระหนักรู้ในทันทีว่า ครั้งแรกนั้นหาใช่ “คำชม” ไม่ แต่เป็นการให้กำลังใจด้วยจิตเมตตาอันเอกอุที่มีต่อลูกน้องที่ริอยากเขียนหนังสือ
@@@ ปู่มักจะแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้เล่มนั้นและเล่าด้วยท่าทางสบาย ๆ ว่า “คนจะเขียนหนังสือให้ได้ดี ต้องอ่านมาก เพื่ออ่านความคิดของคนอื่นและทบทวนความคิดของตัวเองเมื่อความคิดคมชัดแล้ว ภาษาที่เขียนจะสื่อถึงใจคนอ่านได้ง่ายขึ้น”
@@@ อีกครั้งหนึ่งที่ฉันมีหน้าที่ต้องเขียนถึงบางสิ่งที่ตัวเองมีโอกาสไปทราบถึงเบื้องหลัง ทำให้การเขียนครั้งนั้นฝืดฝืน จึงเดินไปบ่น ๆ ให้ปู่ฟังว่า เขียนไม่ออกเพราะรู้สึกขัดกับความรู้สึก… ปู่เงยหน้าขึ้นจากเอกสารที่กำลังเขียนมากมายตรงหน้า พูดสั้น ๆ ว่า “คนเราก็มีทั้งมุมที่ดีและไม่ดี เลือกมองส่วนที่ดีแล้วเก็บมาเขียน…นั่นน่ะหน้าที่เรา…ส่วนที่ไม่ดีของใคร ก็เป็นของเขาไม่เกี่ยวกับเรา…”
@@@ นั่นคือการสอนให้เข้าใจโลก ให้รู้จักแยกแยะ “อารมณ์ความรู้สึก” ออกจาก “ความจริง” ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของเรา ด้วยหัวใจที่เปิดกว้างและในแง่มุมที่เป็นบวก
@@@ อีกข้อหนึ่งที่ปู่ไม่เคยสอน…แต่ฉันสังเกตเห็น ก็คือ การหลีกเลี่ยงการใช้คำที่นำไปสู่ความรู้สึกใน “ทางลบ” ไม่ว่าจะเป็นคำที่ตีความได้หลายความหมาย คำหยาบทั้งโดยตัวหนังสือหรือสาระในการตีความ คำกระทบกระเทียบเปรียบเปรย นี่คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวหนังสือของปู่เป็นที่ขึ้นชื่อว่า “อ่านง่ายสบายใจ ไม่เป็นพิษเป็นภัย” กับใคร
@@@ ทุกวันนี้ฉันรักการเขียน ทุกครั้งที่เขียนก็อดที่จะระลึกถึง “คำสอน” ของปู่ไม่ได้ รางวัลเล็ก ๆ ที่ฉันได้รับมาบ้าง ก็เป็นผลโดยตรงมาจาก “การสอนเขียนหนังสือ” ของท่านนี่เอง
ดีใจและภูมิใจที่ตัวเองเป็น “ศิษย์มีครู”
ขอบพระคุณและคารวะอาจารย์ถวัลย์ มาศจรัสด้วยหัวใจ
« « Prev : หลุมพราง
Next : ชีวิตเฉกเช่น…การเดินทาง » »
4 ความคิดเห็น
ขอคารวะครูด้วยคน
เคยอ่านผลงานท่านค่ะรู็้สึกจะเป็นเรื่องกระท่อมแสงตะวัน สำนวนการเขียนของท่านจะกระชับได้ใจความแต่สื่อภาพชัดเจนมาก มีแง่คิดคมคายสอดแทรกไว้ให้อ่านสบายๆแต่เอ๊ะ จนย้อนกลับไปพลิกอ่านอีกครั้ง
ดีใจที่เห็นสิ่งที่ทำให้เกิด”ไอเดีย”จ้ะ คนเราก็มีทั้งมุมที่ดีและไม่ดี เลือกมองส่วนที่ดีแล้วเก็บมาเขียน…นั่นน่ะหน้าที่เรา…ส่วนที่ไม่ดีของใคร ก็เป็นของเขาไม่เกี่ยวกับเรา…” เพราะพี่กำลังมึนกับการถอดบทเรียน หุหุหุ
มาคาราวะครูด้วยอีกคนค่ะ : ) และขอขอบคุณน้องfreemind ที่ถ่ายทอดคำสอนของครูค่ะ
ขอบคุณพ่อครูบา/พี่เบิร์ด/ป้าหวานค่ะ
นำมาบันทึกไว้เนื่องจากไหน ๆ ก็เขียนให้ท่านแล้ว
คนทุกคนล้วนมีกัลยาณมิตรซึ่งคอยชี้แนะ แนะนำสิ่งดี ๆ และช่วยส่งเสริมให้เราได้ค้นพบว่าเราชอบอะไร…
ปู่ยังสอนโดยไม่สอนไว้อีกมากมายเลยค่ะ หากมีโอกาสคงได้ค่อย ๆ ถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังค่ะ