อยู่ดีมีสุข
วันนี้ได้อ่านหนังสือเรื่อง ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา ซึ่งคุณเรืองชัย รักศรีอักษร แปลจากเรื่องAgeless Body Timeless Mind ของคุณหมอเชื้อสายอินเดียชื่อดัง Deepak Chopra หนา 492 หน้า ราคาปก 320 บาท พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
เนื้อหาเท่าที่อ่านผ่าน ๆ อย่างเร็ว ๆ จะให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับภาพรวมของศาสตร์ว่าด้วยการมีชีวิตที่ยืนยาว (อย่างมีคุณภาพ) อธิบายในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบัน ควอนตั้มฟิสิกส์ ผนวกกับศาสตร์ของอินเดียโบราณ (ผู้เขียนเป็นนายแพทย์เชื้อสายอินเดียที่เรียนและใช้ชีวิตในอเมริกา)
โลกกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรลดลงโดยรวม หลายประเทศล่วงหน้าไปแล้วทั้งญี่ปุ่น อเมริกา สิงคโปร์ โดยรวมก็คือเรากำลังมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การเป็น “ผู้สูงอายุ”คงไม่ใช่เพียงแค่เป็นผู้มีอายุมากขึ้น แต่ต้อง “อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี” และแม้ว่าการแพทย์ปัจจุบันจะก้าวหน้าเพียงไร เราก็คงต้องยอมรับว่ายังมีข้อจำกัด คนจึงหันกลับมาสนใจ “ศาสตร์ทางเลือก” ซึ่งโดยมากก็มักจะเป็นความรู้จากทางตะวันออก เช่น สมุนไพร การฝังเข็ม การอดอาหารเพื่อสุขภาพ การใช้ดนตรีบำบัด การใช้ความร้อนความเย็น การใช้พลังจากแสงอาทิตย์ การใช้อาหารบำบัด การนั่งสมาธิ โยคะ การออกกำลังกายชนิดต่าง ๆ ซึ่งแต่ละคนก็คงเลือกตามที่เหมาะสมกับตนเอง (ว่าง ๆ ค่อยเขียนต่อ)
หยิบประเด็นในหนังสือที่น่าสนใจมาให้อ่านเป็นน้ำจิ้มก่อน… ในหนังสือเล่มนี้อ้างถึงงานวิจัยของ ดร.เจเวทท์ ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีอายุยืน ดังนี้ (หน้า303-304)
ลักษณะพิเศษของร่างกายของผู้มีอายุยืน
- น้ำหนักตัวไม่เกินหรือต่ำกว่ามาตรฐานเกินไป
- น้ำหนักตัวขึ้น-ลงไม่มากตลอดชีวิต
- กล้ามเนื้อแข็งแรง
- มือกำได้แน่น
- ผิวหนังดูอ่อนกว่าวัย
- ยังขับรถและเข้าร่วมกิจกรรมทางกายภาพได้
อ่านดูแล้วก็พื้น ๆ ไม่น่าจะพิเศษอะไรนัก นี่อาจเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าสิ่งที่จะอยู่ได้นานอย่างมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องพิเศษกว่าปกติอะไร แต่ลักษณะที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกนิดคือ
ลักษณะพิเศษทางจิตใจ(รวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรม)
- มีเชาวน์ปัญญาดีเลิศมาแต่กำเนิด สนใจเหตุการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้น ความจำดี
- เป็นอิสระจากความกังวล ไม่ค่อยเจ็บป่วย ไม่ขี้กังวล
- สามารถเลือกอาชีพอย่างเป็นอิสระ ชอบที่จะเป็นเจ้านายตนเอง ทำธุรกิจของตนเอง (มีรายละเอียด แต่ขอละไว้ขี้เกียจพิมพ์) และส่วนมากไม่เกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนด
- ส่วนมากเคยประสบกับภาวะหดหู่อย่างรุนแรง แต่สามารถฟื้นตัวและสร้างอนาคตใหม่ได้
- เป็นผู้มีความสุขกับชีวิต ทั้งหมดมองโลกในแง่ดีระดับหนึ่งและมีอารมณ์ขันอย่างชัดเจน ตอบรับกับความเพลิดเพลินง่าย ๆ ชีวิตเหมือนเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ สามารถมองเห็นความงามในขณะที่คนอื่นมองเห็นแต่ความอัปลักษณ์
- มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี มีความทรงจำในวัยเด็กที่น่ารื่นรมย์มากมาย ทุกคนชอบอยู่กับปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย
- ไม่กังวลกับความตาย
- ใช้ชีวิตด้วยความพึงพอใจในแต่ละวัน
- ทุกคนเคร่งศาสนาในความหมายกว้าง ๆ แต่ไม่มีใครเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว
- รู้จักประมาณในการกิน แต่ก็อยากทดลอง ไม่เลือกกิน กินอาหารหลากหลาย มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ
- ทุกคนตื่นแต่เช้า นอนหลับเฉลี่ย 6-7 ชั่วโมง
- ไม่ติดสารเสพติดเช่นเหล้า บุหรี่ (แม้จะดื่มและสูบบุหรี่บ้าง)
- ตลอดชีวิตที่ผ่านมาใช้ “ยา” น้อยมาก
- ส่วนใหญ่ดื่มกาแฟ
มนษย์คงไม่พ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้เป็นแน่ แต่เมื่อยังดำรงอัตภาพนี้อยู่ก็คงต้องดูแลร่างกาย จิตใจให้อยู่ได้ดี มีคุณภาพพอควร ไม่ต้องอยู่เป็นอมตะตลอดกาลหรือมีอายุยืนจนต้องบันทึกสถิติโลก แค่ใช้ชีวิตได้ตามวัย ดำรงตนอยู่อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ไม่เป็นภาระแก่คนรอบข้าง สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อตน ครอบครัว สังคมโลกได้บ้าง …. ก็คงคุ้มค่าแล้วที่จะเป็น “ผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ” ของสังคม
แอบดีใจเล็ก ๆ ในลักษณะข้อสุดท้าย…
ส่วนใหญ่ดื่มกาแฟ…ไชโย!!!
Next : สองคำถาม » »
5 ความคิดเห็น
มีหนังสือชื่อ True North เขียนโดย Bill George เป็นหนังสือเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ พูดถึงประสบการณ์เฉียดตาย หรือความตายของบุคคลใกล้ชิดอันเป็นที่รัก ว่าอาจเปลี่ยนหัวหน้าให้เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้ครับ อ่านได้บางส่วนที่นี่ ดูบทที่ 2 ชีวิตเรานี้ สั้นเหลือเกิน มัวทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้
ตามไปอ่านเร็ว ๆ แล้วค่ะ …
แต่ระยะนี้่ต่อมภาษาอังกฤษมีอาการอักเสบ…5555….ต้องใช้เวลาค่ะ
ส่วนตัวก็มีประสบการณ์ที่ว่า ความตายของบุคคลใกล้ชิดได้ “เปลี่ยน” แม้ไม่ได้เปลี่ยนด้านการเป็นผู้นำอะไรทำนองนั้น แต่เปลี่ยนมุมมอง ความคิด ทัศนคติ ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของตัวเองอย่างก้าวกระโดด
และที่คุณ Logos ว่าไว้ “ชีวิตเรานี้สั้นเหลือเกิน มัวทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้” นี่เป็นความจริงที่เราไม่ค่อยยอมรับกัน เราไม่กล้าพอที่จะหันมามองให้ชัด ๆ ว่าเราอยู่ตรงจุดไหน เราย้ังเพลิดเพลินกับสิ่งที่พยายามไขว่คว้า (ทั้งที่ได้-ไม่อาจได้) และที่หนักไปกว่านั้นก็คือ เราไม่เคยใช้เวลา ณ “ปัจจุบันขณะ” จริง ๆ เรามักจะหวนหาอดีต ครุ่นคิดถึงอนาคต ซึ่งก็ทั้งยังมาไม่ถึงและไม่รู้จะมีไหม รวมทั้งสิ่งที่ผ่านไปแล้ว…ซะอีกด้วย
55555….ฟุ้งไปไกล…
ขอบคุณที่แนะนำหนังสือค่ะ
Prof Bill George สอนที่ฮาร์วาร์ดครับ ผู้ที่ผมนับถือไปเรียนที่นั่น แนะนำมาอีกทีหนึ่ง
@ รีวิวในกรุงเทพธุรกิจ
@ จับประเด็นสำคัญ โดยเว็บภูมิปัญญาอภิวัฒน์
มัวไปทำอะไรก็ไม่รู้ เป็นคำถามที่ต้องถามดังๆให้กับสังคมทุน..
สมัยก่อนวงจรชีวิตเราแนบแน่นกับศาสนา ไม่มีคำถามนี้ หรือคำถามนี้เป็นแค่ถามกับบางคนเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ มองจากตัวเราเอง และออก ไกลสุดไกล ต้องถามคำถามนี้ดังๆ และรีบหาคำตอบให้ได้ด้วยนะ ไม่ใช่ควรถาม มันจะต้องถามด้วย..
ขอบคุณคุณ Logos ค่ะ
น่าสนใจมากค่ะ จะหาเวลาไปอ่านอย่างละเอียดค่ะ
พี่บางทรายคะ
คำถามบางคำถามควรถามและต้องถาม เพราะหมายถึงการดำเนินชีิวิต… แต่กลับมีคนไม่มากที่จะถาม มักรอจนเวลาในชีวิตเหลือน้อยแล้วจึงถาม ซึ่งกว่าจะหาคำตอบได้ก็ล่วงเลยเวลาไปแล้ว
และยิ่งแย่ไปกว่านั้นก็คือบางคนหมดเวลาไปก่อนที่จะได้ตั้งคำถามที่ควรถาม…ซะอีกด้วยสิค่ะ