ว่าด้วย…นิทาน
คำชี้แจง : บันทึกนี้เหมาะสำหรับเด็กและ/หรือผู้ที่มีหัวใจอันอ่อนเยาว์ของเด็กน้อยเท่านั้น
@@@
เอ้า…ล้อมวงเข้ามามีนิทานจะเล่าให้ฟัง…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…ณ ดินแดนอันไกลโพ้น (ไม่ทราบอยู่ตรงไหน) มีสาวงามผู้เปี่ยมด้วยความงาม เธอสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์สีสันสดใสสวยงาม ไม่ว่าเธอจะย่างกรายไปที่ใด เธอจะเป็นที่สังเกตเห็นและได้รับความชื่นชอบ ทุกคนมีความสุข สนุกสนาน ล้วนแต่ชื่นชมยินดีในการปรากฏตัวของเธอ
มีหญิงงามอีกคนหนึ่งผู้มีความงามไม่น้อยกว่ากัน แต่เธอยากจนและมีแต่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ทึมทึบไม่สดใส ไม่เคยมีใครใส่ใจต่อเธอเลย
เธอจึงเข้าไปหาหญิงงามผู้เป็นที่รักและชื่นชอบนั้น เธอขอสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์อันงดงามและขอติดตามหญิงงามผู้นั้นไปทุกที่ เธออธิบายว่าแม้ว่าเธอจะไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์อันสดใสสวยงาม แต่เธอก็มีเรื่องราวสำคัญที่อยากบอกเล่าให้กับผู้คนมากมาย ส่วนหญิงงามผู้มีอาภรณ์งดงามนั้นนอกจากเป็นผู้มีจิตใจอันงดงามแล้วยังมีสติปัญญาด้วย เธอพิจารณาเห็นว่าแม้อีกฝ่ายจะไม่มีเสื้อผ้าสวยงามสวมใส่ แต่เธอผู้นั้นเป็นผู้มีสติปัญญาอันชาญฉลาด เธอจึงตกลงมอบเสื้อผ้าอันงดงามที่เธอมีอยู่มากมายนั้นกับเพื่อนผู้นี้
หญิงงามทั้งสองเดินทางไปด้วยกันในทุกที่ ทุกหนทุกแห่ง เมื่อเธอทั้งสองปรากฏกายก็จะได้รับความใส่ใจ ชื่นชม และห้อมล้อมด้วยความสุขเสมอ ๆ
จากนั้นเป็นต้นมาทั้งสองไม่เคยพรากจากกันอีกเลย เธอทั้งสองจะปรากฏกายพร้อมกันอย่างมีชีวิตชีวาตลอดมา แม้ในปัจจุบันนี้…
หญิงงามผู้ยากจนแต่เปี่ยมสติปัญญา แท้จริงแล้วเธอคือ “Truth” (สัจธรรม/ความจริงแท้) ส่วนหญิงงามผู้มีอาภรณ์สวยงามคือ “Story” (เรื่องเล่า/นิทาน)
“นิทาน” เป็นเรื่องราวที่บรรจุไว้ซึ่ง “สัจธรรม/ความจริงของชีวิต” ที่บูรณาการไว้ด้วยกันอย่างแยบคาย หากนิทานหรือเรื่องเล่าใดไร้ซึ่งสาระข้อคิดสะกิดใจแล้ว ก็คงไม่สามารถที่จะทรงคุณค่าอย่างมีเสน่ห์และอยู่ยั่งยืนมาได้จนปัจจุบันเป็นแน่แท้
คิดเล่น ๆ ต่อจากนิทานว่า…งั้น ตอนที่เราจะสอนหนังสือ เราต้องตระหนักไว้ว่า สาระเนื้อหาวิชาการที่จะดึงดูดและให้ข้อคิดและเป็นประโยชน์ได้เต็มที่ น่าจะอยู่ในรูปแบบที่ผ่อนคลาย ไม่ยาก ไม่เครียด และสนุกสนาน เฉกเช่นเดียวกันกับการปรากฏกายของหญิงงามทั้งสองที่มีทั้งความสวยงามของเสื้อผ้าอาภรณ์ (รูปล้ักษณ์ภายนอกที่ดึงดูดความสนใจ) และมีเนื้อหาสาระอันเป็นสัจธรรม (เนื้อแท้ภายใน) ที่บูรณาการเป็นองค์รวมไว้อย่างพอดีพองาม
@@@
นี่คือคำตอบที่ว่าทำไมเราจึงชอบ “นิทาน”กันทั้งเด็ก
และผู้ใหญ่ที่มีหัวใจเด็ก
คำชี้แจงท้ายบันทึก : หากท่านอ่านแล้วยิ้มอย่างมีความสุข นั่นหมายถึงท่านมีอายุไม่เกิน 12 ปี หรือ…เป็นผู้ที่มีความอ่อนเยาว์บรรจุอยู่ในหัวใจ
Next : คลี่-คลาย » »
5 ความคิดเห็น
พี่จ๋า มาส่งยิ้มค่ะ
แค่เห็นภาพหนูน้อยตาแป๋วเหววเข้าให้ก็ทำให้ยิ้มอย่างมีความสุขได้แ้ล้วล่ะค่ะ งี๊แสดงการเรียนรู้สำหรับเรื่องที่ไม่มี story คงใช้จินตนาการ กับความคิดเชิงบวกเข้าไว้ ก็จะสามารถรับรู้ได้เหมือนกันนี่เนอะ อิอิ
เพราะอ่านคำชี้แจงท้ายบันทึกแล้ว จึงต้องรีบบอกว่ายิ้มแล้วจ้า กลัวอายุเกิน ฮ่าๆๆๆ
ขอบคุณรอยยิ้มจากน้องหนูอ้อค่ะ
(^___^)
ครูปูเพื่อนที่รัก
ในความคิดเห็นนะ… (เนื่องจากยังไม่ได้เป็นครูเต็มขั้น) ตัว story น่าจะคล้ายกับตัว hard ware / โครงสร้าง / ระบบปฏิบัติการ ส่วน Truth น่าจะเป็นตัว solf ware ที่บรรจุเนื้อหาสาระต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ไว้ ซึ่งทั้งสองส่วนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
แต่ที่แน่ ๆ จินตนาการ ความคิดบวก ๆ รอยยิ้ม และเทคนิคการเข้าถึงลูกศิษย์ ด้วยความรักและความเข้าใจอย่างถึงลูกถึงคนของครูปู นี่ล่ะคือ สุดยอดเทคนิคแล้วล่ะค่ะ
ป้าจุ๋มอ่านนิทานเรื่องนี้แล้วก็ยิ้มอย่างมีความสุข…แต่มาเจอNoteตอนท้ายก็จ๋อยไปเลย…อิอิ
ป้าจุ่มคะ
ทำไมคำชี้แจงท้ายบันทึกทำให้จ๋อยซะล่ะคะ… ขอโทษค่ะ ไม่ได้ตั้งใจเลยค่ะ…ฮา ๆ