ยอมรับ
”การที่คนเราจะรู้จักเปิดใจกว้าง ลดการยึดมั่นในอัตตาของตนเองและเอาใจใส่ผู้อื่นอย่างแท้จริงได้ ต้องการพลังอย่างมาก ซึ่งมีแต่… “ความรัก” เท่านั้นที่จะสามารถทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้… เพราะ “ความรัก” คือความตั้งใจที่จะแผ่ขยายตัวเราเอง เพื่อการเจริญเติบโตทางจิตใจร่วมกัน…”
วิทยากร เชียงกูล.
เรื่องการมอบความรักความปรารถนาดีนี่ ส่วนตัวคิดว่าไม่ยากนัก เพราะทุกคนก็ต้องมีความน่ารัก ความดี ความงามอยู่ในตัวบ้างไม่มากก็น้อย
แต่… ให้รักให้ปรารถนาดีคนที่เราไม่เห็นความดีงามในตัวเลย (อาจต้องลองตะลุยค้นหาใหม่) …
ให้ตายสิ…ไม่อยากหลอกตัวเอง…
พอรักและเมตตาคนบางคนไม่ได้ คราวนี้ก็รู้สึกผิดล่ะสิ เอ้า…เรานี่ไม่ดีเลย ทำไมไม่ให้อภัย ไม่เข้าใจแง่มุมของความเป็นมนุษย์ว่าก็ต้องทำผิด ทำถูก ดีบ้างเลวบ้าง (ต้วเราก็เช่นกัน)
คราวนี้ก็รู้สึกแย่เป็นสองเท่า ทั้งไม่รักไม่ชอบคนอื่นแล้วยังไม่รักไม่ชอบตัวเองอีก … โอย…โลกจะแตกหรือไงกัน
เล่าให้พี่ชายฟัง พี่ชายหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอยู่นาน ลูบหัวตบหูน้องแล้ว ก็บอกเสียงนุ่ม ๆ ขณะที่ยังสำลักน้ำหูน้ำตาจากการหัวเราะ (ขำอะไรนักหนาไม่รู้) ว่า…
“…การยอมรับว่าเรารู้สึกอย่างไรนั่นแหละ เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตทางจิตวิญญาณ แล้วเราก็จะรักตัวเอง แผ่ขยายไปรักคนอื่น … ไปจนรักคนที่เราไม่ชอบได้ด้วยไงล่ะ…”
ไม่แน่ใจว่าเริ่มรู้สึกรักตัวเองหรือยัง?
ที่แน่ ๆ ตอนนี้รู้สึกรักพี่ชายจัง!!!
« « Prev : คนเดียว ก็เหลือจะพอ
Next : คนสองคน » »
2 ความคิดเห็น
ผมมองว่า ผู้กล่าว วาทกรรม (อ.วิทยากร) ท่านเล่นดนตรีคนละคีย์กับเรา
การที่คนเราจะอธิบายความรักเช่นนั้นได้ และทำตามนั้นได้ ท่านผู้นั้นยกระดับจิตสำนึกและทำให้เป็นปกติได้แล้ว นั่นคือคีย์ของดนตรีคีย์หนึ่งสมมุติ C ส่วนเรานั้นยังปรับความคิดความรู้สึกไม่ได้ขนาดนั้น ก็เท่ากับเล่นดนตรีอีกคียืหนึ่ง สมมุติ F
ในความหมายเราควรยกระดับจิตเราขึ้นไปที่ C ครับ ผมเข้าใจเช่นนั้นนะครับ
ขอบคุณพี่บางทรายค่ะสำหรับคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น
เห็นด้วยโดยส่วนใหญ่ และมีข้อที่เห็นเสริมเพิ่มขึ้นก็คือ ในเพลงใด ๆ ย่อมมีโทนของคีย์ดนครีบังคับอยู่ หากจะเล่นก็คงต้องเล่นให้เกิดความกลมกลืนกันไปทั้งเพลง ยกเว้นแต่ท่อนที่ต้องการให้แตกต่าง
และจริงที่สุดค่ะ เราทุกคนในฐานะมนุษย์ควรจะได้ยกระดับของจิตสำนึกให้มากขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขค่ะ