ความรู้ต้องคู่กับความรู้สึก : พระไพศาล วิสาโล
อ่าน: 2808ความรู้ต้องคู่กับความรู้สึก
พระไพศาล วิสาโล
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ 284 :: ตุลาคม ๕๑ ปีที่ ๒๔
คอลัมน์รับอรุณ : ความรู้ต้องคู่กับความรู้สึก
“รู้” กับ “รู้สึก” เป็นเสมือนฝาแฝดที่มีความสำคัญกับมนุษย์ทั้งคู่ ปัญหาที่น่าคิดคืออะไรเป็นพี่ อะไรเป็นน้อง อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง
เมื่อตาเห็นรูป สามัญสำนึกบอกเราว่า กิริยาอย่างแรกที่เกิดขึ้นคือ “รู้”ว่าอะไรอยู่ข้างหน้า จากนั้นจึง “รู้สึก” เช่น ดีใจ เสียใจ ตกใจ มองในแง่นี้ “ความรู้” ย่อมมาก่อน “ความรู้สึก”
แต่คุณเคยไหมขณะที่กำลังเดินอยู่ในสวนที่รกครึ้ม ทันใดนั้นก็เห็นสิ่งมีชีวิตบางอย่างกำลังนอนพาดทางเดิน ชั่วขณะนั้นสมองยังไม่ทันบอกให้คุณรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่คุณกลับรู้สึกเสียววาบด้วยความกลัว แล้วก็ชักเท้ากลับอย่างกะทันหัน ขณะต่อมาคุณถึงรู้ว่าสิ่งนั้นคืองู
ในกรณีเช่นนี้ “ความรู้สึก” กลับเกิดก่อน “ความรู้” แต่ก็น่าแปลกว่าเรากลัวก่อนได้อย่างไรในเมื่อไม่ทันรู้ว่างูอยู่ข้างหน้า มองในแง่ของกระบวนการทางจิต ความรู้น่าจะมาก่อนความรู้สึกไม่ใช่หรือ
ความก้าวหน้าทางด้านประสาทวิทยาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า กระบวนการทางจิตนั้นซับซ้อนกว่าที่เราเข้าใจมากนัก
มีผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งประสบปัญหาเส้นเลือดอุดตันในสมอง ทำให้ประสาทเชื่อมต่อระหว่างตาทั้งสองข้างกับสมองส่วนที่รับรู้ภาพถูกทำลายไป แม้ว่าตาของเขายังรับสัญญาณภาพได้ แต่สมองไม่สามารถแปรสัญญาณภาพนั้นได้ ผลก็คือเขาตาบอด
อย่างไรก็ตามเมื่อนำภาพคนที่มีสีหน้าอารมณ์ต่าง ๆ มาวางข้างหน้าเขา มีทั้งดีใจ เสียใจ และโกรธ แม้เขาไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร แต่เมื่อให้เขาเดาอารมณ์ที่ปรากฏในภาพเหล่านั้น เขากลับเดาได้ทันที อีกทั้งยังเดาถูกได้มากเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญ
เมื่อสแกนสมองของเขาขณะที่กำลังจ้องภาพและเดาอารมณ์ของผู้คนอยู่นั้น นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าข้อมูลหรือสัญญาณภาพไม่ได้ตรงไปยังสมองส่วนที่รับรู้ภาพ แต่ใช้อีกเส้นทางหนึ่งคือตรงไปยังสมองส่วนที่เรียกว่าอมิกดาลา (amygdala) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ รวมทั้งรับรู้อารมณ์ที่แสดงทางอากัปกิริยาต่าง ๆ ตลอดจนน้ำเสียง
ที่น่าสนใจก็คือเมื่ออมิกดาลาได้รับสัญญาณและรับรู้อารมณ์จากภายนอกแล้ว วิธีที่มันสื่อสารให้เจ้าตัวรับรู้ ก็คือการจำลองอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวให้เกิดขึ้นในร่างกายของเขา นั่นคือเหตุผลที่เขาสามารถเดาอารมณ์ของคนในภาพได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขาไม่ได้เห็น หรือรู้อารมณ์ของคนในภาพ แต่รู้สึก มากกว่า
กรณีดังกล่าวทำให้เรารู้ว่า เมื่อตาเห็นภาพ สัญญาณภาพจะตรงไปยังจุดหมายสองจุดในสมอง จุดหนึ่งทำหน้าที่ “รู้” ว่าเห็นอะไร อีกจุดหนึ่งทำหน้าที่ “รู้สึก” ถึงอารมณ์ในภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่นำไปสู่การกระทำบางอย่างที่เหมาะสมกับกรณี การศึกษาอมิกดาลาทำให้พบอีกว่า สัญญาณภาพที่มาตามเส้นทางที่สองนั้นมาถึงอมิกดาลาเร็วกว่าที่เราจะรู้ว่าภาพนั้นคืออะไรด้วยซ้ำ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้สึกเกิดขึ้นกับเราก่อนที่เราจะรู้ว่าเห็นอะไรเสียอีก
เคยมีการฉายภาพสีหน้าคนโกรธเพียงแวบเดียว (ประมาณ ๔/๑๐๐ วินาที) ซึ่งเร็วเกินกว่าที่คนธรรมดาจะรู้ว่าเป็นภาพอะไร แต่ความรู้สึกที่มาจากอมิกดาลาก็สามารถทำให้ผู้ดูจับได้ว่าเป็นอะไรที่น่าอันตราย พร้อมกันนั้นก็เกิดปฏิกิริยาในร่างกายที่พร้อมจะตอบโต้ทันที
ฟังดูก็แปลก แต่ก็มีเหตุผลและสำคัญมาก กล่าวได้ว่ามนุษย์เราอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะคุณสมบัติดังกล่าว ในยุคดึกดำบรรพ์ที่มนุษย์เผชิญอันตรายรอบตัวจากสัตว์ร้ายและภัยธรรมชาติ หากเสือเข้ามาจู่โจมกะทันหันหรือเจองูที่พุ่งฉก ความรู้สึกตื่นกลัวที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันจะช่วยให้เราสามารถหนีหรือสู้ได้ทันที โดยไม่ต้องรู้ก่อนว่าอะไรเป็นอะไร แต่หากรอให้สมองบอกก่อนว่ากำลังเจออะไรอยู่ แล้วถึงค่อยคิดว่าจะหนีหรือจะสู้ ก็อาจสายไปแล้วก็ได้ เพราะการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่บอกให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร รวมทั้งส่วนที่ตัดสินใจว่าควรทำอะไรนั้น ใช้เวลานานกว่าสมองส่วนที่กระตุ้นความรู้สึกและกระตุกให้มีปฏิกิริยาตอบสนองทันที
ความรู้กับความรู้สึกจึงเปรียบเสมือนพี่น้องที่มีวิธีการทำงานต่างกัน รวมทั้งมีความเร็วต่างกันด้วย แต่ก็หนุนเสริมช่วยกันเพื่อจุดหมายประกายเดียวคือช่วยให้มนุษย์อยู่รอดปลอดภัย อย่างไรก็ตามเราพบว่าบ่อยครั้งความรู้กับความรู้สึกก็ทำงานขัดแย้งกัน โดยเฉพาะเมื่อผลได้หรือผลเสียนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะยาว ไม่ใช่เรื่องที่ฉับพลันทันที
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ความรู้ทั้งจากที่เห็นด้วยตาและจากข้อมูลที่ได้ยินล้วนยืนยันว่าเหล้าเป็นสิ่งที่มีโทษ นักดื่มเป็นส่วนใหญ่รู้ข้อนี้ทั้งนั้น แต่เลิกไม่ได้ เพราะความรู้สึกไม่คล้อยตามด้วย ความติดใจทั้งในรสชาติและสภาวะอารมณ์บางอย่าง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยพร้อมตายคาเหล้า
ชีวิตของคนเราเป็นชีวิตที่ต้องเลือกอยู่เสมอ และทุกครั้งที่เลือกมักมีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอคือความขัดแย้งระหว่างความรู้กับความรู้สึก คน ๆ เดียวกันบางครั้งก็ใช้ความรู้หรือเหตุผลในการตัดสินใจ แต่บางครั้งก็ใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ในการเลือก ความลักลั่นนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ต้องตัดสินใจเท่านั้น แม้เรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาต่างกัน สิ่งที่เราใช้ตัดสินใจก็ต่างกันไปด้วย
นักวิจัยกลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิกเลย์เคยสอบถามความเห็นผู้คน โดยตั้งคำถามว่าหากต้องเลือกระหว่างการนั่งทำงานเอกสารที่น่าเบื่อ ๗ ชั่วโมงในวันที่ ๑ พฤษภาคม กับทำงานอย่างเดียวกัน ๘ ชั่วโมงในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม เขาพบว่าหากตั้งคำถามนี้ในเดือนมีนาคม คนส่วนใหญ่จะเลือกข้อแรกคือทำงาน ๗ ชั่วโมง แต่หากถามในวันที่ ๑ พฤษภาคม คนส่วนใหญ่จะขอเลือกข้อที่สอง นั่นคือขอทำงานในอีก ๒ สัปดาห์ข้างหน้า แม้จะต้องทำงานเพิ่มเป็น ๘ ชั่วโมงก็ตาม
ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเลือกทำงานน่าเบื่อ ๘ ชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่ข้อแรกนั้นทำงานแค่ ๗ ชั่วโมง คำตอบก็คือทางเลือกที่สองนั้นดึงดูดใจมากกว่าตรงที่ไม่ต้องทำวันนี้ จริงอยู่หากพิจารณาด้วยความรู้หรือเหตุผล ข้อแรกนั้นดีกว่าแน่นอน แต่นั่นหมายถึงต้องทำวันนี้ ซึ่งขัดกับความรู้สึกที่อยากสบาย หรือไม่อยากทำงานที่น่าเบื่อ
ในทางกลับกันหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับรางวัล ทรัพย์สินเงินทอง หรืออาหาร กลับให้ผลตรงกันข้าม เคยมีการตั้งคำถามให้เลือกระหว่าง ๑)ได้เงิน ๑๐ เหรียญในวันนี้ หรือ ๒)ได้เงิน ๑๑ เหรียญในอีก ๗ วันถัดไป หรือ ๑) ได้คูปองสินค้ามีมูลค่า ๕-๔๐ เหรียญในวันนี้ กับ ๒) ได้คูปองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ๑-๕๐% ในอีก ๒ อาทิตย์ถัดไป คนส่วนใหญ่เลือกข้อแรก
ความรู้สึกอยากได้อะไรไว ๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะรอ แม้ว่าการรอจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า อย่าว่าแต่รอ ๗ วันหรือ ๒ อาทิตย์เลย แม้แต่รอแค่ไม่กี่นาที ผู้คนก็มักใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าความรู้หรือเหตุผล ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีการศึกษาพฤติกรรมระหว่างคนกับชิมแปนซี โดยตั้งโจทย์ให้ทั้งคนกับลิงเลือกระหว่าง ๑) กินของโปรดได้ทันที แต่เลือกได้แค่ ๑ ชิ้น (องุ่นหรือชอกโกแลต เป็นต้น) หรือ ๒) หากรอ ๒ นาทีจะได้กิน ๓ ชิ้น
ปรากฏว่ามนุษย์เลือกข้อแรกในสัดส่วนที่มากกว่าชิมแปนซีถึง ๔ เท่า!
คนเรามีแนวโน้มที่จะใช้ความรู้หรือเหตุผลในการตัดสินใจหากเป็นเรื่องที่ยังอยู่อีกไกล หากให้เลือกว่าจะทำงานอะไรในอีก ๓ เดือนข้างหน้า เรามักใช้ความรู้หรือเหตุผลในการเลือก หากจะให้เลิกเหล้า หรือเริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ หรือเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมในปีหน้าหรือปีโน้น เรามีแนวโน้มที่จะตกลงทำ เพราะเมื่อไตร่ตรองด้วยเหตุผลหรือความรู้แล้ว ก็พบว่าเป็นสิ่งดี ไม่มีเสีย แต่ถ้าสิ่งที่ต้องตัดสินใจนั้นให้ผลทันที หรือเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้า เรามีแนวโน้มจะใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์มากกว่า ด้วยเหตุนี้ถ้าให้เลิกเหล้าวันนี้หรือออกกำลังกายพรุ่งนี้เลย น้อยคนที่จะเลือก ในทำนองเดียวกันเรามักหาเหตุผัดผ่อนเมื่อถึงวันกำหนดเลิกเหล้า หรือใกล้ถึงวันเข้าปฏิบัติธรรม เพราะไม่อยากเจอความยากลำบากที่จะเกิดขึ้น แม้รู้ว่าการผัดผ่อนเช่นนั้นจะทำให้เจอความทุกข์เพิ่มขึ้น แต่จะห่วงไปใยในเมื่อมันยังอยู่อีกไกล
ไม่จำเพาะเลือกว่าจะ “ทำ” อะไรเท่านั้น การเลือกว่าจะ “เสพ” หรือ “บริโภค” ก็เช่นกัน หากสิ่งเสพอยู่ไกลตัว เราก็มีแนวโน้มจะใช้ความรู้หรือเหตุผลในการตัดสินใจ หากยังอยู่ไกลห้างสรรพสินค้า การตัดสินใจว่าจะไม่ซื้ออะไรก็เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าฐานะการเงินของตนเองไม่สู้ดี แต่เมื่อเดินเข้าห้างและเห็นสิ่งของอยู่ต่อหน้า ความรู้หรือเหตุผลก็มักเปิดทางให้อารมณ์และความรู้สึก ผลคืออดใจซื้อไม่ได้ แม้ไม่มีเงิน ก็พร้อมจะรูดบัตร ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้ตัวเองวันหน้า แต่ก็ช่างปะไร เพราะมันเป็นเรื่องพรุ่งนี้ ไม่ใช่วันนี้
พูดอีกนัยหนึ่ง เมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องที่อยู่ต่อหน้าหรือใกล้ตัว หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริโภคหรือเสพสุข เรามีแนวโน้มที่จะไม่รั้งรอ ต้องการให้ได้ทันที (แม้รู้ว่าถ้ารอหน่อยจะได้มากกว่าหรือเกิดผลดีกว่า) แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานหรือต้องใช้ความเพียรพยายาม แม้เป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็มีแนวโน้มจะผัดผ่อน (ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นจะต้องลำบากมากขึ้นหรือมีภาระเพิ่มขึ้นก็ตาม)
ระหว่างลำบากวันนี้แต่สบายวันหน้า กับสบายวันนี้แต่ลำบากวันหน้า คนส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกอย่างหลัง เพราะเมื่อใช้ความรู้สึกเป็นเกณฑ์แล้ว ความลำบากวันนี้ย่อมน่ากลัวกว่าความลำบากในวันหน้า (ลงแดงวันนี้ย่อมน่ากลัวกว่าเป็นมะเร็งตับวันหน้า) ในทางตรงกันข้ามความสบายวันนี้ย่อมมีเสน่ห์กว่าความสบายวันหน้า (กินตามใจปากวันนี้ย่อมดึงดูดใจกว่าการมีสุขภาพดีในวันหน้า)
การรู้ว่าอะไรดี จึงไม่ได้หมายความว่าเราจะเลือกสิ่งที่ดีเสมอไป เพราะความรู้สึกหรืออารมณ์อาจไม่คล้อยตาม ข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญมากเมื่อพูดถึงการฝึกฝนพัฒนาตน พุทธศาสนาเป็นระบบปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญญาหรือความรู้มาก แต่ก็ยอมรับว่าหากความรู้สึกหรืออารมณ์ไม่ได้รับการพัฒนา ก็ยากที่จะพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามได้
ความรู้อย่างหนึ่งที่พุทธศาสนาเน้น ก็คือความรู้เกี่ยวกับโทษของกาม อันได้แก่วัตถุสิ่งเสพที่ให้รสชาติเอร็ดอร่อยจนใจผูกติดและกลายเป็นทาสของมัน แต่รู้เท่านั้นยังไม่พอหากใจไม่คล้อยตามด้วย พระพุทธเจ้าทรงยกอุปมาว่าเปรียบดังคนที่เดินทางไกล ท่ามกลางอากาศร้อนจัด จึงเหน็ดเหนื่อย หิวกระหายจนคอแห้ง เมื่อเขามาเห็นถ้วยน้ำที่เพียบพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แม้ว่าจะมีใครบอกเขาว่าน้ำนั้นมียาพิษ หากกินแล้วก็ต้องตายหรือไม่ก็ทุกข์เจียนตาย แต่เขาก็ไม่สามารถอดใจได้ รีบคว้าถ้วยมาดื่มเอา ๆ ไม่ยอมวาง
ในยามที่หิวกระหายอย่างถึงที่สุด แม้จะรู้ว่าน้ำมีพิษ แต่มีหรือที่เราจะไม่กินน้ำดับกระหาย เพราะความกระหายเป็นทุกข์เฉพาะหน้า ส่วนอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง สาเหตุที่ผู้คนยังติดในกามหรือวัตถุสิ่งเสพก็เพราะเหตุเดียวกันนั่นคือ ใจนั้นโหยหิวความสุข และมองไม่เห็นว่ามีความสุขอื่นยิ่งกว่ากาม แม้บางคนจะรู้ว่ากามมีโทษ แต่ก็ยังเสพมันอยู่นั่นเอง
ความสุขที่ประเสริฐกว่ากามสุขนั้นมีอยู่ แต่เพียงแค่รู้ว่ามียังไม่พอ เพราะใจอาจยังไม่ยอมคล้อยตามง่าย ๆ ในข้อนี้พระพุทธองค์ก็ยังทรงยอมรับว่าเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับพระองค์ กล่าวคือ เมื่อครั้งทรงเป็นปุถุชน แม้จะทรงเห็นว่าความสงบและเนกขัมมะหรือการว่างเว้นจากกามเป็นสิ่งดี แต่ใจของพระองค์ก็ยังไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่นในสิ่งนั้น เพราะยังไม่ทรงเห็นโทษของกาม (คือยังไม่ได้ประสบกับความทุกข์จากกามชนิดซาบซึ้งถึงโทษของมัน)และยังไม่ทรงบรรลุถึงอานิสงส์ของเนกขัมมะ (คือยังไม่ได้สัมผัสกับความสุขจากการว่างเว้นจากกามอย่างแท้จริง) พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ความรู้กับความรู้สึกยังไม่ไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาเมื่อพระองค์ทรงประจักษ์ถึงความทุกข์จากกามอย่างแจ้งชัดและได้สัมผัสกับความสงบและความสุขจากการปลอดกาม ใจของพระองค์ก็เลื่อมใสและตั้งมั่นในเนกขัมมะ ถึงตรงนี้อารมณ์ความรู้สึกได้รับการกล่อมเกลา ส่วนหนึ่งเพราะเข็ดหลาบจากทุกข์ในกาม อีกส่วนหนึ่งเพราะได้พบกับความสุขที่ประเสริฐกว่ากาม เมื่อความรู้สึกกับความรู้ไปด้วยกัน การพัฒนาชีวิตจิตใจก็เป็นไปได้ง่าย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนว่าความรู้สึกมักจะเป็นตัวปัญหา คอยขัดขวางความรู้ แต่ในหลายกรณีความรู้สึกก็ช่วยเสริมหรือทำหน้าที่ทดแทนในยามที่ความรู้บกพร่อง กรณีคนตาบอดแต่เดาความรู้สึกของคนในภาพถ่ายได้เป็นตัวอย่างหนึ่ง อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือกรณีหญิงผู้หนึ่งซึ่งเป็นโรคความจำเสื่อมอย่างแรง ทั้ง ๆ ที่พบหมอทุกวัน แต่เธอไม่เคยจำหมอได้เลย และจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยพบกัน ดังนั้นเมื่อพบหมอคราวใด หมอต้องแนะนำตัวให้เธอรู้ทุกครั้ง
วันหนึ่งหมอเอาเข็มกลัดซ่อนปลายซ่อนไว้ที่ฝ่ามือ ทุกครั้งที่แนะนำตัวหมอจะจับมือเธอและเขย่าตามธรรมเนียม แต่คราวนี้เมื่อเธอสัมผัสมือหมอ ก็ถูกเข็มที่ซ่อนไว้ในมือหมอทิ่มจนเธอชักมือออก หลังจากนั้นเขาก็เดินออกจากห้อง แล้วก็เดินกลับเข้าไปใหม่ เขาถามเธอว่าเราเคยพบกันหรือไม่ เธอบอกว่าไม่เคย หมอจึงแนะนำตัวอีกครั้ง และยื่นมือไปจับมือเธอ ทีนี้เธอไม่ยอมยื่นมือให้จับเหมือนเคย
ทั้ง ๆ ที่เธอไม่รู้ว่าหมอคือใคร เพราะสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำถูกทำลาย แต่เธอก็รู้สึกได้ว่าหมอไม่น่าไว้ใจ เพราะความเจ็บปวดที่เกิดจากการถูกเข็มทิ่มนั้นยังประทับอยู่ในอมิกดาลา ซึ่งยังมีสภาพดีอยู่
ในยามติดต่อสัมพันธ์กับผู้คน แม้เราจะรู้จักหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับเขาไม่มากนัก แต่ความรู้สึกก็ช่วยบอกเราได้ว่าผู้นั้นน่าไว้วางใจหรือไม่ หรือมีอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้นเป็นอย่างไร ผู้ป่วยทางสมองซึ่งเกิดจากอมิกดาลาถูกทำลายไป จะเป็นคนพร่องทางความรู้สึก และสิ่งที่ตามมาคือเขาไม่สามารถบอกได้ว่าใครน่าไว้วางใจหรือไม่ เมื่อนำภาพถ่ายของคนบางคนซึ่งคนทั่วไปเห็นแล้วก็รู้สึกไม่น่าไว้วางใจเลย มาให้ผู้ป่วยดังกล่าวดู เขาจะแยกไม่ออกเลยว่าแตกต่างจากคนที่น่าไว้วางใจตรงไหน
ใช่แต่การสัมพันธ์กับผู้คนเท่านั้น ก็หาไม่ ผู้ที่มีปัญหาทางสมองจนไร้อารมณ์ความรู้สึก ยังมีปัญหาในการตัดสินใจแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เราเคยเข้าใจกันว่าการตัดสินใจเป็นเรื่องของความรู้หรือเหตุผลล้วน ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วต้องอาศัยความรู้สึกด้วย
อารมณ์ความรู้สึกยังสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสำนึกทางด้านคุณธรรม หรือพูดให้ถูกต้องคือคุณธรรมสำนึกเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ เมื่อเราเห็นคนเป็นลมกลางถนน อารมณ์ความรู้สึกอย่างแรก ๆ ที่เกิดขึ้นคือ ตกใจ เห็นใจ และอยากเข้าไปช่วยเหลือ แต่หากเมินเฉยหรือเดินผ่าน เราจะรู้สึกผิดขึ้นมา ถึงตอนนั้นก็อาจต้องอ้างเหตุผลนานาประการเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นที่เมินเฉย ในทำนองเดียวกันคนที่นั่งอยู่บนรถเมล์ย่อมรู้สึกไม่สู้ดีที่เห็นคนแก่หรือหญิงท้องยืนโหนเสา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว วิธีที่มักใช้กันก็คือมองไปนอกหน้าต่างหรืออ่านหนังสือ เมื่อไม่รู้ไม่เห็นก็ไม่รู้สึกแย่อีกต่อไป
ในกรณีดังกล่าวเหตุผลกลับเป็นตัวเหนี่ยวรั้งขัดขวางความรู้สึก ทำให้ไม่ได้ทำสิ่งที่สมควรทำ บ่อยครั้งที่ความรู้หรือเหตุผลถูกใช้มาเป็นข้ออ้างในการทำสิ่งที่ขัดกับมโนธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ความรู้สึกสามารถผลักดันให้เราทำสิ่งที่สวนทางกับความรู้ หรือเลือกทำสิ่งที่เรารู้ทั้งรู้ว่าเป็นผลเสียในระยะยาว ดังนั้นจึงไม่สามารถชี้ชัดว่าระหว่างความรู้กับความรู้สึก หรือระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ อะไรเป็น “ตัวดี” หรือ “ตัวร้าย” โดยส่วนเดียว สิ่งที่เราต้องมีคือความสามารถในการรู้เท่าทันทั้งความรู้กับความรู้สึก หรือเหตุผลกับอารมณ์ ไม่ให้ฉุดไปในทางที่เป็นโทษ หรือขัดขวางการทำสิ่งที่ดีงาม ความสามารถดังกล่าวได้แก่สตินั่นเอง สติที่รู้เท่าทันอารมณ์ เช่น ความโกรธ ความอยาก ย่อมช่วยให้ความรู้และเหตุผลเป็นไปอย่างรอบด้านและปราศจากอคติ ขณะเดียวกันสติที่เท่าทันเหตุผล ก็ช่วยให้ข้ออ้างที่จะเบียดเบียนผู้อื่น เป็นหมันหรือไร้น้ำหนัก ช่วยให้คุณธรรมสามารถแสดงตัวออกมาได้
ปราศจากสติที่รู้เท่าทันแล้ว ความรู้หรือความรู้สึกก็สามารถผลัดกันนำพาชีวิตเราไปในทางที่ตกต่ำได้เสมอ
Next : Temperature and oxygen in the changer role. » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ความรู้ต้องคู่กับความรู้สึก : พระไพศาล วิสาโล"