ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “โมถ่าย” อีกหนึ่งความหวังของประเทศไทย
เมื่อช่วงปลายธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผมได้รับการร้องขอจากสหายร่วมอุดมการณ์ (ท่านอาจารย์แฮนดี้-พินิจ พันธ์ชื่น) ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนว่าทางบ้านเกิดของท่านได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ผ่านมาทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอไชยา ด้วยวงเงินหลักหลายล้านให้มีการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ตำบลโมถ่าย เป็นหนึ่งในเจ็ดศูนย์ใหม่ในระดับประเทศ
ผมมีความตื่นเต้นมากเป็นพิเศษที่จะได้มีส่วนร่วมในโอกาสสำคัญนี้ โดยมีการวางแผนการเดินทางไปในช่วงที่มีงานแต่งงานของลูกชายท่านอัยการชาวเกาะ ที่ภูเก็ต
ท่านครูบาสุทธินันท์ ก็ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมกิจกรรมนี้ในช่วงขากลับจากภารกิจสำคัญ โดยมาแวะพักที่บ้านพี่สาวของท่านอาจารย์แฮนดี้เป็นฐานการประสานงาน
เราเริ่มจากการสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อความเข้าใจของเราเอง
ทำให้ทราบว่า
- พื้นที่เดิมของโมถ่ายเป็นพื้นที่ทำนา แต่ได้ปรับไปเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันเกือบทั้งหมด
- เหลือคนทำนาไม่กี่คน และมีนาเพียงแปลงเล็กๆที่เหลืออยู่
- นอกนั้นเป็นแปลงปลูกยางพารา ปาล์ม และนาร้าง
- บ้านทรงเดิมๆ และบ้านรุ่นใหม่หลังใหญ่ๆ หลายหลังแทบไม่มีคนอยู่อาศัย
- มีการจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานแทนคนในพื้นที่
ที่มีลักษณะเป็นตัวแทนที่ดีของสังคมภาคใต้ในปัจจุบัน
ที่มีปัญหาด้านการใช้ที่ดิน เศรษฐกิจ และสังคม ที่สวนกระแสกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศ
อันเนื่องมาจาก
- การพัฒนาการพึ่งพาภายนอก
- ทั้งอาหาร และแรงงาน
ดังนั้น
การตั้งศูนย์เรียนรู้จึงเป็นสิ่ง “ท้าทาย- challenging” พอสมควรว่า
ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นความหวังของภาคใต้ และของประเทศ
ที่จะพยายามพัฒนา
- ระบบเกษตรอินทรีย์
- การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า
- การผลิตข้าวเพื่อการบริโภค
- การพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน
- การฟื้นฟูหัตถกรรม และ
- การพัฒนากลุ่มและการรวมกลุ่ม
โดยมีท่านนายก อบต. ให้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิด เข้าร่วมประชุม ปรึกษาหารือกันอย่างเอาจริงเอาจัง
มีแกนนำด้านการประชาสัมพันธ์ของตำบลเป็นกำลังหนุน
และอาจารย์แฮนดี้ก็กำลังทำงานแปลงโฉมตัวเองจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปเป็นเกษตรกร เพื่อจะทำนาคล้ายๆกับที่ผมทำที่ขอนแก่น โดยปัจจุบันได้วางตัวเป็นแกนนำในการเชื่อมโยงประสานกลุ่มเฮฮาศาสตร์ลงไปช่วย
ฐานแนวคิดที่สำคัญก็ได้มาจากวัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์) ที่อยู่ใกล้ๆ
ดูแล้วก็น่าจะมีความพร้อมพอสมควร
แต่สิ่งที่ท้าทายที่เหลือก็คือ
ชุมชนจะสามารถระดมทรัพยากรที่เหลืออยู่ เพื่อกลับมาฟื้นฟูระบบเกษตรกรรม สังคม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมให้เป็นตัวอย่างของระบบเศรฐกิจพอเพียงได้อย่างไร
ถ้าได้ ก็จะเป็นตัวอย่าง และเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีพลังจริงๆ
ผมจึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
แผนงานการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่กำลังทำอยู่ จะเป็นจริงและผลิดอกออกผลตามที่ตั้งใจไว้
ผมได้แจ้งกับทางทีมงาน และอาจารย์แฮนดี้ว่า
พร้อมที่ช่วยเหลือในทุกเรื่อง และทุกโอกาส
เห็นว่าจะมีการจัดเฮฮาศาสตร์สัญจรในครั้งต่อไปที่ไชยา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้นี้
ผมขอไปด้วยนะครับ และจองที่ล่วงหน้าให้กับคนที่รู้ใจสักสองที่นะครับ อิอิ