โมเดลบุรีรัมย์ : ละเมียดละมุนใจ

อ่าน: 5823
เรื่องของ ”สุขภาพ” มีมาแต่โบราณ จากยุคสู่ยุค เพราะทุกคนที่เกิดก็มีเจ็บมีป่วย มีตาย มีคนแข็งแรง คนอ่อนแอ
เพียงแต่คำว่า “สุขภาพ” นั้นเป็นคำบัญญัติขึ้นภายหลัง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Health ซึ่งก็มีวิวัฒนาการของความหมายอย่างมาก แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ต้องนิยามศัพท์คำว่า health ว่า  “Health is a state of complete physical, mental, and social well-being and not merely the absence of disease or infirmity.”

  • สำหรับคนไทยนั้น นิยาม “สุขภาพ” ก็มีการให้ความหมาย วิพากษ์ เพิ่มเติม ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยระยะสิบปีที่ผ่านมา แต่ในสภาพการใช้จริงๆแล้ว สุขภาพก็ยังถูกผูกโยงให้น้ำหนักกับเรื่องของความเจ็บป่วยค่อนข้างมาก
 เมื่อก่อนนั้น การจะป่วยสักทีถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าไม่ล้มหมอนนอนเสื่อจริงๆแล้ว มักจะไม่รวมเรียกว่า “คนไข้” หรือ “เจ็บป่วย” 
ถึงแม้จะมีแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก หกล้มหัวโน ก็ยังถือว่า “ไม่เป็นไร” ไกลหัวใจ
ใจเป็นใหญ่ ถ้าใจไม่ถือว่าเรื่องไม่สุขสบายนั้นเป็นความเจ็บป่วย ก็ไม่นับรวมว่าเจ็บป่วย
จนรู้ๆกันในคำว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว”
  • คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ที่การทำความดี มีจิตใจที่ดี ขณะที่ความเจ็บป่วยและความตาย คล้ายกับเรื่องราวหนึ่งที่่ผ่านเข้ามาในชีวิตคน ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต อย่างที่หลายๆคนคงจำบทเพลงที่ถ่ายทอดสภาพสังคมยุคนั้นได้ เช่น
“…คนชื่อน้อย ตัวใหญ่ก็มากมี คนชื่อมีทุกข์ยาก็เหลือหลาย คนชื่อบุญหลายต๋ายไปเมื่อวานนี้
คนที่ตายก็เอาไปฝัง คนที่ยังก็จงตั้งความดี…โอ๊ย มันบ่อแน่ดอกนาย
…”
  • เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความเจริญทางการแพทย์มีมาก โลกหมุนเข้าสู่ยุคของข้อมูลข่าวสาร และภาคอุตสาหกรรมจนทำให้คุณค่าของการมีชีวิตถูกเชื่อมเข้ากับความสามารถในการผลิต จนทำให้ความเจ็บป่วยกลายเป็นเรื่องราวที่แปลกแยก “คนไข้” กลายเป็นนิยามของคนที่ไม่สามารถในการผลิต เมื่อป่วยก็ควรออกจากงาน  ผู้คนก็เกรงกลัวและรังเกียจความเจ็บป่วยมากขึ้น
หกล้มหัวโน >> ต้องไปตรวจ เกรงกลัวเลือดออกในสมอง
มีดบาดมือ >> ต้องไปตรวจ เกรงกลัวบาดทะยัก ติดเชื้อ เลือดไหลไม่หยุด
ฯลฯ
  • ทุกอาการที่เกิดกับร่างกายต้องการ การพึ่งพา “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ดูเหมือนจะได้รับฉันทานุมัติให้มีไม้เท้ากายสิทธิ์ ชี้และจำแนกแยกแยะ ให้คนแต่ละคนกลายเป็น “คนมีโรคชนิดต่างๆ” ไปตามความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ
โดยมี “ขีดระดับตัวเลขต่างๆ” มานำอธิบายเรื่องการเป็นโรคต่างๆนั้น
  • ยิ่งพัฒนาเครื่องมือตรวจจับเลือด เม็ดเลือดน้ำเหลืองน้ำดี มีเครื่องส่องเห็นได้ทุกซอกส่วนของคน สร้างมาตรฐานระดับตัวเลขได้ละเอียดเท่าไหร่
ก็ดูเหมือนว่า “คนไข้” ต่างๆ จะมีมากขึ้นทบทวีคูณ
และดูราวกับว่า  ในโลกยุคปัจจุบัน ยิ่งมี “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ถือไม้เท้ากายสิทธิ์ ชี้เป็นชี้ตายให้กับผู้คนมากเท่าไหร่ ยิ่งมากเท่าไหร่ ความสามารถในการดูแลตัวเองของผู้คนก็ดูจะลดคุณค่าลงเรื่อยๆ ด้วยขาดความเชื่อมั่นว่า จะสามารถดูแลตัวเองได้อย่างไร
  • จนถึงจุดวิกฤตเมื่อการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อดูแล “คนไข้” มากขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจัดสรร
และเกิดข้อคำถามมากมายในสังคมว่า “ภาคประชาคมที่จะดูแลสุขภาพตัวเองควรเป็นอย่างไร”
  • เกิดกระแสการผลักดัน ชักจูง ให้กำลังใจต่อภาคประชาคม ที่ต้องหมุนตัว กลับลำ มารับฟัง ร่วมมือ และวางแผนในการจะเดินไปข้างหน้าในด้านสุขภาพ
  • เป็นกระแสของการทำความเข้าใจและร่วมกันวาง”ไม้เท้ากายสิทธิ์” ไว้ตรงกลางวง เพื่อให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้าใจ รับรู้ และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อ “สุขภาพ” ที่ไม่อาจจะผูกไว้เพียงเรื่อง “ร่างกายของคนใดคนหนึ่ง” อีกต่อไป
  • แต่ “สุขภาพ” ได้ผูกโยงเกี่ยวเนื่องของเรื่องราวการผลผลิตทางการเกษตร การอุตสาหกรรม การมีจิตสำนึกต่อสังคม การเรียนรู้ที่จะลดทอนการพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอก การอยู่ร่วมกันของคน สัตว์ และสภาพแวดล้อม  และการหันมาทำความเข้าใจมากขึ้นกับวิถีชีวิตที่เป็น “ปกติ” เข้าใจถึงธรรมชาติที่เคยถูกมองข้าม
“สุขภาพ” เป็นเรื่องของ “ชีวิตปกติ” ที่พึ่งพาอาศัยกัน เรียนรู้อย่างเบิกบานถึงการมีชีวิตที่มีคุณค่าด้วยความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น มีใจอันบริสุทธิ์เป็นพลังเพื่อการดำเนินชีวิตให้ “ปกติ” ท่ามกลาง “สังคมที่ไม่ปกติ”
เมื่อครูบาสุทธินันท์ตีกลองให้ช่วยจารึกถึง โมเดลบุรีรัมย์ จึงทำให้เขียนบันทึกนี้ เพื่ออธิบายขยายความถึงสุขภาพในรูปแบบของสวนป่ามหาชีวาลัยอิสาน เพื่อเป็นเสี้ยวส่วนของการมองสวนป่าและครูบาสุทธินันท์ ผ่านสายตาของพยาบาลคนหนึ่ง
  • “โมเดลบุรีรัมย์” โดยท่านครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤกษ์  เป็นตัวอย่างที่โดดเด่น ของความละเมียดละมุนใจอันเกิดจาก “ใจที่มีพลัง” ถ่ายทอดวิถีของสุขภาพ วิถีของ “ชีวิตปกติ” ที่เป็นของจริง เป็นความจริง เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านการคิด ตรึงตรอง ทดลองปฏิบัิติ และเรียนรู้ด้วยปัญญา และก่อให้เกิดกำลังใจแก่ผู้คนที่จะทำความเข้าใจ รับรู้ และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อ “สุขภาพ หรือ การมีชีวิตอย่างทรงคุณค่า” นั่นเอง
20 กันยายน 2554
คำเมือง: ส้มปอเกลื๋อ...

« « Prev : หวัด

Next : อย่าสุ่มสี่สุ่มห้า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

790 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.3018279075623 sec
Sidebar: 0.015491962432861 sec