ผม กับ ไม้เรียว

3 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 20 มกราคม 2011 เวลา 7:13 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 2866

   ผม ในที่นี้ไม่ใช่เส้นผมบนศีรษะ แต่หมายถึงผม คือตัว อาตมา เจ้าของบันทึกนี้นั่นเอง

   เรื่องผมกับไม้เรียวนี้จะมองทั้งสองมิติคือ ในฐานะผู้รับไม้เรียว และ ในฐานะผู้ใช้ไม้เรียว

   ในฐานะผู้รับไม้เรียว นั้น ผมโดนมาพอประมาณ คือนั้นโดนเบาๆ บ่อยๆจากแม่ แต่มานึกย้อนหลังดูอีกที ส่วนใหญ่ของแม่จะเป็นมือมากกว่าไม้ แต่แม่จะตีไม่หนัก ตีที่ขา ไม่ใช่ตบตี หรือทุบตี  เหตุเพราะผมซนกว่าเด็กทั่วไป ชอบถาม ชอบรื้อ ชอบงัดแงะ แกะข้าวของดูข้างในมาแต่สมัยก่อนประถม ผมไม่เรียบร้อยตาม “มาตรฐาน” ที่เขาอยากให้เป็นกันในสมัยนั้น ดูแล้วเป็นเพราะแม่รักผม แม่จึงตี  ส่วนจากพ่อนั้น นานๆครั้ง แต่น้ำหนักมากกว่าของแม่หลายสิบเท่า และที่สำคัญหนีไม่ได้ ไม่เหมือนของแม่ที่บางทีพูดขู่ว่าเดี๋ยวจะตีให้ตาย แต่พอเราวิ่งหนีไปสักครู่ใหญ่ กลับมาแม่ก็หายอยากตีไปแล้ว แต่สำหรับของพ่อนั้น ไม่มีทางรอด หนีไป เลี่ยงไปอย่างไร กลับมาก็ต้องโดน ส่วนมากจะสามที ไม่มีใช้มือ มีแต่ไม้เรียวอย่างเดียว แต่ที่จำได้พ่อไม่ได้ตีด้วยความโมโห แต่เข้าลักษณะ ตีให้เจ็บ จะได้จำ และไม่ทำอะไรอย่างนั้นๆอีก 

    อีกท่านหนึ่งผู้มีพระคุณ ช่วยอบรมบ่มเพาะ และ “ฝึกหนัก” ให้ผมมา คือท่านอาจารย์พระครูสุธนธรรมสาร เพื่อนตายของท่านอาจารย์พุทธทาส ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสวนโมกข์ที่ไชยา  ผมอยู่กับท่านที่วัดชยาราม 3 ปี ก่อนย้ายไปอยู่บ้านน้าทองมาก เพราะสุขภาพไม่ค่อยดี เป็นทั้งไข้มาเลเรีย และไทฟอยด์จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด  อาจารย์ธนใช้ไม้เรียวในกระบวนการสอนและพัฒนาคน ควบคู่ไปกับการอบรมสั่งสอน และให้ทำงานหนัก ท่านไม่ตีพร่ำเพรื่อ ตีเจ็บด้วยไม้เรียวที่เตรียมไว้เพื่อการให้ความ “เมตตา” โดยเฉพาะ ก่อนตีท่านจะสอน ระหว่างตีท่านก็สอน จากไม้ที่หนึ่ง ถึง ไม้ที่สาม จะมีบทพูดแทรก จำได้ว่าสามปี ผมโดนท่านตีเพียงสองครั้ง ครั้งแรกตีที่โรงฉันตอนหัวค่ำอันเป็นที่บังคับให้ทุกคนมาอ่านหนังสือและทำการบ้านที่นั่น หลังพวกเราสวดมนต์ทำวัตรเย็น ท่านฟาดก้นลงไปทีหนึ่งก็พูดว่า “เสรีภาพ” รวมแล้วได้ 3 “เสรีภาพ” เหตุเพราะท่านมาตรวจดูพบว่าผมอ่านหนังสือของสำนักข่าวสารอเมริกันที่ชื่อว่า “เสรีภาพ” แทนที่จะอ่านหนังสือเรียน อีกครั้งหนึ่งถูกตีตั้งแต่อยู่ในมุ้ง เหตุเพราะนอนตื่นสายครับ

   ในฐานะผู้รับไม้เรียว ผมพบว่าผมถูกตีด้วยความรัก ความเมตตา แต่ในใจก็ยังคิดว่า หากท่านผู้มีพระคุณเหล่านั้นใช้การชี้แจง แสดงเหตุผล ผมก็น่าจะคิดตามและเปลี่ยนพฤติกรรมได้ โดยไม่ต้องใช้ไม้เรียว แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ยุคนั้น สมัยนั้น ความเชื่อเรื่อง “ไม้เรียวช่วยสร้างคน” ยัง In-trend อยู่ทั่วไป ใครๆเขาก็เชื่อเช่นนั้น ผมจึงไม่มีสิทธิ์จะไปโกรธเคือง หรือตำหนิท่านผู้มีพระคุณ อบรมเลี้ยงดูผมมา ที่มอบไม้เรียวให้ผมมาบ้าง ด้วยความรัก และเมตตาธรรม

   คราวนี้ก็มาถึง ในฐานะผู้ใช้ไม้เรียว บ้าง  ผมจำได้ว่าเคยไม้ตีมือลูกหลานบ้าง แต่เป็นการทำโทษแบบสนุกๆ เช่นถ้าตอบอะไรไม่ได้ก็จะตีมือ 1 ที และก็มีเหมือนกันที่เราแกล้งตอบผิดให้เขาตีเราด้วย แต่ที่จำได้มีเหมือนกันแต่ดูเหมือนจะครั้งเดียว ที่ตีลูกด้วยความไม่พอใจที่เขาซุ่มซ่ามปล่อยให้น้ำจากเครื่องซักผ้าไหลลงมาจากชั้นสอง เลอะไปหมด เพราะลืมเหวี่ยงท่อน้ำทิ้งออกไปในทิศทางของมัน ตีแล้วเสียใจจนต้องขอโทษเขา และตั้งใจว่าจะไม่ยอม “บ้า”แบบนั้นอีก  สำหรับในการเรียนการสอน ผมไม่เห็นว่าจำเป็นต้องใช้ไม้เรียว เพราะศาสตร์ และศิลป์ที่เราร่ำเรียนกันมานั้นมีมากเกินพอแล้วในปัจจุบัน แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า

  • เราเข้าถึงแก่นของ ศาสตร์-ศิลป์ที่เรียนมาหรือไม่ เพียงใด
  • เรามีความรัก ความเมตตา ให้ลูกหลาน หรือ ลูกศิษย์ ในระดับใด

   การให้ความรัก ความเข้าใจ ให้โอกาส ให้กำลังใจ ให้ความรู้ ให้การยอมรับ หามุมดีในตัวเด็ก ไม่ซ้ำเติมสิ่งในที่เป็นความอ่อนด้อยของเขา ส่งเสริมให้มุมดีๆของเขาได้แสดงความเป็น ” Somebody” ต่อเพื่อนๆ  ให้ทุกคน หรือหลายคนต้องฟัง ต้องพึ่งพาเขา .. สิ่งเหล่านี้เคยทำมา และได้ผลดีกว่าการใช้ไม้เรียว และการดุด่าครับ

   แต่สำหรับผู้ใหญ่ การหาคำพูด หรือวาทกรรมที่โดนใจ แทงใจดำ ก็ต้องกระทำด้วยในบางครั้ง แม้ดูเหมือนจะหนักและรุนแรงก็ต้องทำ หากกระทำด้วยเมตตา ปรารถนาดี เขาก็เข้าใจ และเกิดอาการสะดุ้ง หรือฉุกคิด และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาได้เหมือนกัน

   ลางเนื้อ ชอบลางยา ครับ .. แต่ที่แน่ๆ ไม้เรียวไม่ใช่ยา หรือถ้าจะนับเป็นยา ก็ประเภทยาทาภายนอกให้เจ็บแสบ ย่อมไม่สามารถรักษาอาการ “ช้ำข้างใน” ให้หายได้ .. ผมเชื่อของผมอย่างนี้ ใครเชื่อและทำตามก็ไม่หวงห้าม ส่วนท่านที่ไม่เห็นด้วยก็ “เช่นนั้นเอง” ครับ … อิ อิ อิ


ท่านฝากบอกให้ “หัวเราะ” เมื่อพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่

2 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 14 มกราคม 2011 เวลา 5:02 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิต #
อ่าน: 2362

     หลายปีมาแล้ว น้าทองมากผู้เป็นเสมือนพ่อคนที่สองของผม ได้พบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ในครอบครัว น้ามีลูกชายเพียงสองคน  น้องพิมลเรียนอยู่ปีสุดท้ายที่วิทยาลัยครู น้องนพพรก็ไปเรียนอยู่ที่สถาบันเดียวกัน  น้องนพพรท้องเสียไปรพ.เขาให้น้ำเกลือแต่ทำพลาด มีฟองอากาศขึ้นไปทำให้สมองมีปัญหา ต้องนอนเป็นอัมพาต รักษาตัวอยู่ที่รพ.ประสาทเป็นแรมเดือน โดยมีแม่ไปคอยประคับประคองดูแล   น้องพิมลมาเยี่ยมน้องชายทุกเย็น และแล้วเย็นวันหนึ่งน้องพิมลถูกคนเมาขับรถชนตายที่หน้ารพ.ประสาท

     กลับมาจัดการศพกันที่บ้านที่ไชยา ผ่านไปเพียงสองวัน ยายหอม แม่ของน้าทองมากก็มาล้มตายลงอีกคน ผมลงไปจากกทม. เพื่อร่วมงานศพน้องพิมลที่รักผมเหมือนพี่ชายแท้ๆ แต่ก็ต้องตกใจเมื่อเห็นโลงศพวางคู่กันเป็นสองราย ยายหอมที่ดูแลแม่ของผมมา ได้นอนเคียงคู่กับหลานพิมลเสียแล้ว น้องนพพรก็พงาบๆอยู่ที่รพ.ประสาทสงขลาไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นรูปแบบใด

    ตอนนั้นน้าทองมากเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) สนิทสนม และรับใช้ใกล้ชิดท่านอาจารย์พุทธทาสอยู่เสมอมา  เหตุการณ์ครั้งนั้นล่วงรู้ถึงท่านอาจารย์ ท่านจึงสั่งคนมาบอกน้าทองมากว่า …

                     ” บอกครูทองมากด้วยว่า .. ให้หัวเราะ

 

                                              


ไปกราบสวัสดีปีใหม่ “คุณครูในดวงใจ-ครูผู้ลิขิตชีวิต”

1 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 14 มกราคม 2011 เวลา 7:21 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิต #
อ่าน: 1468

     หลังจากผมได้เคยไปเยี่ยมคุณครูสุวรรณ สุวรรณรักษ์ ที่บ้านของท่านเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ตั้งแต่ 1 พค. 2545 ตามที่เขียนเล่าไว้ในบันทึกเรื่อง ครูสุวรรณ “ครูผู้ลิขิตชีวิตผม” ผมก็ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมท่านอีกเลย แม้จะย้ายไปอยู่บ้านเกิดที่ไชยาที่ห่างจากบ้านท่านเพียงประมาณ 11 กม.เท่านั้น ขับรถผ่านหน้าบ้านท่านทีไรก็ได้แต่นึกว่าจะต้องมากราบท่านและเล่าเรื่องราวการอพยพหลบภัยของผม ให้ได้สักวัน รอจนกระทั่งเมื่อวานนี้ 13 มค. 54 จึงออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อไปกราบคารวะท่าน

   คุณครูสุวรรณเป็นครูในดวงใจ และครูผู้ลิขิตชีวิตผมอย่างไร คงต้องกลับไปติดตามในบัน ทึกเก่า ตาม Link ข้างบน ส่วนเมื่อวานนี้ ก็ได้รับทราบด้วยความตกใจว่าภรรยาคู่ชีวิตของท่านได้จากไปแล้วตั้งแต่ปี 2549

  พอผมไปถึงลูกชายของท่านก็รีบไปตาม บอกว่ามีคนมาหา และภาพที่ได้เห็นก็คือ คุณครูเดินออกมาจากห้องในอาคารไม้หลังเก่าของโรงแรมอุดมลาภ โรงแรมเล็กๆเก่าๆที่ท่านมาซื้อกิจการ และปรับปรุงให้ทันสมัย มีการสร้างอาคารเป็นตึกเพิ่มขึ้น และมีบ้านพักแบบทันสมัยหลังใหญ่อยู่ด้านหลัง ในบริเวณเดียวกัน แต่นั่นสำหรับลูกๆอยู่ ตัวท่านเองนั้นยังคงสมถะ เรียบง่าย พักอยู่ในห้องชั้นล่าง ของอาคารไม้หลังเดิม

  ท่านเดินออกมาพบที่นั่งรออยู่ผมด้วยรอยยิ้ม ปัจจุบันท่านอายุ 86 ปีแล้ว แต่ดูสุขภาพยังดีใช้ได้ทีเดียว จะมีปัญหาบ้างก็เรื่องการได้ยิน ที่เราเริ่มจะต้องพูดให้ดังกว่าแต่ก่อน ตามคำแนะนำของลูกสาวท่าน ซึ่งก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นมัธยมกับผม

  ผมอดไม่ได้ที่จะถามถึงอัลบั้มชื่อลูกศิษย์ของท่านอีกครั้ง ท่านก็เดินไปหยิบมาให้ดูและถ่ายภาพตามที่ผมต้องการ ที่จริงท่านมีเล่มใหญ่หลายเล่มมาก มีตั้งแต่ลูกศิษย์รุ่นน้าชายของผมซึ่งปัจจุบันก็อายุ 80 ปีแล้ว แต่เมื่อวานท่านหยิบ “เล่มเล็ก” ซึ่งดูเหมือนกับว่าท่านจะมีไว้ข้างกายตลอดเวลา เหลือเชื่อครับ ท่านทำของท่านเองด้วยใจรัก ทำมาตั้งแต่ปี 2487 และเก็บชื่อลูกศิษย์พร้อมภาพถ่ายเล็กๆที่ติดคู่กับลายเซ็นชื่อของลูกศิษย์แต่ละคน 

   ในบันทึกเก่าผมไม่ได้มีภาพมาให้ดู วันนี้จะพาไปชมกันชัดๆครับ

เมื่อคุณครูออกมาเริ่มนั่งคุยกับผม

 

                                          นี่คือ Album บรรจุชื่อศิษย์ ตั้งแต่ปี 2487

             -  บนซ้าย .. ปกหน้าด้าน ในคุณครูตอนเป็นหนุ่ม และตรา รร.พุทธนิคมที่ท่านแกะสลักเอง

             -  บนขวา .. ปกหลังด้านนอก มีรูปของท่าน

             -  ล่างซ้าย .. รองปกหน้า พร้อมลายเซ็นที่เชื่อว่าท่านน่าจะแกะสลักตรายางเอง

             -  ล่างขวา .. อำนวย อินทรสุข เพื่อนสนิทของผม ครูดีแห่งรร.บ้านทุ่งนางเภา จากไปแล้วตั้งแต่ 10 พย. 27 ท่านบันทึกไว้ชัดเจน

 

อีกบางหน้าใน “อัลบั้มแห่งความรัก” ของคุณครูสุวรรณ

ที่มีหน้าเด๋อด๋า ของเจ้าของบันทึกนี้อยู่ด้วย

 

ถ่ายภาพกับท่านอีกครั้งก่อนอำลากลับ

 

    เมื่อลาคุณครูสุวรรณออกมาแล้ว ผมยังโชคดีที่ได้พบกับคุณครูผู้สร้าง อีกหนึ่งท่านเมื่อแวะไปกราบท่านที่บ้านท่าโพธิ์ ใกล้ๆกับรพ.ไชยา นั่นคือคุณครูชอบ  นาคเมือง ท่านเป็นครูใหญ่ รร.พุทธนิคม 1 และเป็นครูประจำชั้นมศ.3 ที่ผมเรียนอยู่ในสมัยนั้น คุณครูชอบ เป็นผู้ที่คอยเคี่ยวเข็ญพวกเราเรื่องภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก จำได้ว่าทุกเย็นท่านจะติวเข้ม ให้พวกเราทำแบบฝึกหัด โดยมิได้มีค่าจ้างค่าตอบแทนแต่อย่างใด

   เมื่อบอกว่าคุณครูสุวรรณ ทำให้ผมรักภาษาอังกฤษได้อย่างไร จากบันทึกเก่า .. คุณครูชอบ  นาคเมือง ก็คือผู้ส่งแรงผลักดันให้ผมต้องกลายมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่ใจนั้นบ้าไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นชีวิตจิตใจ มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม  เมื่อวานผมก็ได้เรียนให้ท่านได้ทราบว่า ผมภูมิใจ ที่ได้ทั้งภาษาและวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี จนสามารถนำมาบูรณาการ ประยุกต์ สร้างสรรค์งานในหน้าที่ และช่วยเหลือผู้คนได้อย่างน่าพอใจ ก่อนกลับท่านเลยฝากโทรศัพท์แบบ Cordless Phone ยี่ห้อ Fujitel ที่ชำรุดให้ไปช่วยซ่อม 1 เครื่อง ก็รับมาด้วยความอิ่มใจที่จะได้ทำอะไรแม้เล็กๆน้อยๆ เพื่อช่วยเหลือท่านผู้มีพระคุณ อันเป็นความสุขรายวันที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้ ง่ายๆและสม่ำเสมอ

 

ผมกับคุณครูชอบ  นาคเมือง


ถ่ายรูปได้มากและนานๆได้ โดยไม่ต้องกังวลใจเรื่อง “แบตฯหมด”

2 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 10 มกราคม 2011 เวลา 7:20 (เช้า) ในหมวดหมู่ เทคนิค-เทคโนโลยี, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1913

      ผมรำคาญกับการต้องเปลี่ยนแบตฯ ชาร์จแบตฯ เมื่อต้องถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอลนานๆ ในงานหรือกิจกรรมต่างๆ จึงจัดชุด Power Supply ดังที่เห็นในภาพ โดยหาซื้อแบตเตอรี่แบบ Maintenance-free ขนาด 6 V. 6.0 Ah มาลูกหนึ่ง จัดทำสายเพื่อเสียบต่อขั้วแบตฯและหัวปลั๊กสำหรับเสียบเข้าช่อง DC.In ที่กล้องดิจิตอล บรรจุแบตเตอรี่เข้ากระเป๋าสะพายขนาดย่อม มีสายคล้องไหล่ ปรับระดับได้ตามต้องการ

     ตอนใช้งานอาจดูรุ่มร่าม รุงรังหน่อย แต่น่าพอใจที่เมื่อชาร์จไฟเต็มแล้วถ่ายรูปไป 3-4 วันก็ไม่มีทีท่าว่าแบตฯจะหมดเลย ไม่ต้องห่วงว่าจะพลาด Shot เด็ดๆในงานหรือกิจกรรมที่เราบันทึกภาพครับ    


Positive Thinking ของดีที่ต้องใช้ให้เป็น

3 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 6 มกราคม 2011 เวลา 6:03 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, การศึกษา, ชีวิต #
อ่าน: 1410

    ใครๆก็มักพูดถึงความคิดเชิงบวกหรือ Positive Thinking และมองว่า Negative Thinking นั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงมีพึงเป็น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะใครเล่าจะชอบการถูกตำหนิ แต่ก็พึงระวังว่า Positive จนเกินพอดีก็มีผลเสียได้เหมือนกัน อาจทำให้คนที่เราหวังดีไม่มีโอกาสเห็นความจริงในตน หรือกว่าจะเห็นหรือรู้สึกได้ก็สายเสียแล้ว .. เพราะมัวแต่โอ๋หรือถนอมน้ำใจกัน

    Positive Thinking สุนทรียสนทนา หรือการหยิบความสำเร็จแม้เพียงเล็กน้อยของผู้คนมาชื่นชม มาให้กำลังใจกัน เป็นสิ่งที่ผมชื่นชมเช่นที่หลายๆคนชื่นชอบ และก็ใช้สำเร็จมาหลายครั้งแล้วทั้งในระดับห้องเรียน และการทำงานโครงการใหญ่ๆดูแลงานวิจัยกว่า 30 โครงการ จึงขอยกมือให้ทุกท่านที่สนับสนุนเรื่องแนวนี้

    การตำหนิติเตียนมันบั่นทอนกำลังใจ ไม่มีใครชอบ ไม่มีใครต้องการได้รับ แต่จากประสบการณ์อีกมุมหนึ่ง ในกลุ่มเพื่อนฝูงที่รู้ใจ และครูบาอาจารย์ที่เราเคารพบูชา เราใช้หมัดตรง หรือของแข็ง กันมากเหมือนกันและได้ผลดีมากเสียด้วย เช่นท่านอาจารย์ถามว่า ทำไมคุณโง่อย่างนั้น? .. เป็นอาจารย์เขา ทำได้แค่นั้นหรือ ? ฯลฯ

    สรุปแล้วของแต่ละอย่างคงต้องเลือกให้เหมาะกับคนและสถานการณ์ .. ดีสำหรับคนหนึ่งอาจเลวร้ายสำหรับอีกคนหนึ่งได้เสมอ .. สรุปอีกทีก็คือจง ระวัง ระวัง และ ระวัง

     ถ้าผมกำลังจะตกหลุมลึกโดยไม่รู้ตัวและมีใครสักคนกระโดดถีบจนผมล้มลงและรอดพ้นจากการตกหลุม ผมจะขอบคุณการถีบของเขาอย่างจริงใจ ผมไม่ต้องการให้ใครมาปลอบโยน ให้กำลังใจในภาวะวิกฤติเช่นนั้น .. ในที่สุด คิดบวก หรือ คิดลบ ไม่มีทางสู้ “คิดเห็นตามที่เป็นจริง” ได้หรอก ผมเชื่อเช่นนี้



Main: 0.12417984008789 sec
Sidebar: 0.013154029846191 sec