บรรจงพิมพ์

6 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 30 มิถุนายน 2010 เวลา 9:48 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2334

1234
นึกถึงตอนทำงานใหม่ ๆ

พิมพ์งานยังไม่คล่อง ต้องจิ้มทีละนิ้ว ค่อย ๆ จิ้มสองนิ้ว สามนิ้ว สี่นิ้ว … ต่างจากปัจจุบันที่ทุกคนต้องพิมพ์งานเอง ร่างงานในเครื่องคอมพิวเตอร์เอง One stop service ว่างั้นเถอะ


ที่ทำงานในขณะนั้น มีพนักงานพิมพ์ดีดอาวุโสคนหนึ่ง (ตอนนี้เกษียณไปแล้ว) พี่คนนี้เป็นคนใจดี พูดจาอ่อนหวาน อารมณ์ดี ทุกคนในสำนัก ฯ จะชอบให้พี่พิมพ์งานเพราะรวดเร็ว ผิดพลาดน้อย และไม่ค่อยปฏิเสธงาน (ที่ใครต่อใครยกมาให้พิมพ์ และขอเร็ว ๆ ขอด่วน ๆ)

นักวิชาการชอบนั่งเขียนงานตอนช่วงเช้า พอบ่าย ๆ ก็จะต้องรีบส่งงานให้หัวหน้าพิจารณา เพื่อรอส่งไปยังผู้ใหญ่อีกระดับหนึ่งพิจารณา ลงนาม อนุมัติ ไปตามขั้นตอนอันยาวเหยียด… (ของงานราชการไทย)


งานที่รอพิมพ์ มักจะประเดประดังกันในช่วงบ่าย ในขณะที่พนักงานพิมพ์มีเพียง 2 คน พี่คนพิมพ์ก็มักจะเกรงใจ เลือกพิมพ์งานให้พี่ ๆ อาวุโสกว่าเรา ทั้ง ๆ ที่เราส่งต้นฉบับไว้ให้ก่อน เลือกปฏิบัติอย่างนี้ได้ไง… ชักยั๊วะแล้วนะ…

น้อง พี่จ๋า ๆ หนูส่งก่อนนะ ทำไมไม่พิมพ์ให้ก่อนล่ะคะ

พี่ พิมพ์อยู่จ้า น้องจ๋า … หันมายิ้มเอาใจ มือก็พิมพ์ไป

น้อง พิมพ์อยู่อะไรล่ะ มันไม่ใช่ของหนูนี่นา หนูส่งคนแรกเลย
ทำไมไม่พิมพ์ให้ก่อนล่ะ …งอนละนะ…

พี่ โอ๋ ๆ พิมพ์จ้ะ ของน้องน่ะ เป็นคนน่ารัก ต้องพิมพ์ให้แบบสวย ๆ

น้อง พิมพ์สวย ๆ ยังไงอ่ะ … งง ๆ นิดหน่อย มามุขไหนนี่

พี่ ก็ต้องพิมพ์ช้า ๆ ตั้งใจ “พิมพ์แบบบรรจง” ผลงานก็จะได้น่ารัก
และสวย ๆ เหมือนเจ้าของต้นฉบับไงจ้ะ .. เสียงหวานเอาอกเอาใจ

น้อง “พิมพ์แบบบรรจง”…. ฮ่า ๆ ๆ โห พี่เข้าใจคิดจังแฮะ

พี่ จริงจ้ะ ของบางคนพี่ก็ “พิมพ์หวัด ๆ” ไม่ “พิมพ์บรรจง”แบบของน้องนะ

น้อง ได้เลยพี่ แหมปลื้มจริง ๆ รอต่อไปอย่างมีความสุข… หน้าบานหายงอนไปเลย


นี่เองสินะ วิธีการทำงานการจัดการกับปัญหาอย่างมีอารมณ์ขันและมองโลกในแง่ดี แค่เลือกคำพูดดี ๆ หยอดอารมณ์ขำ ๆ บรรยากาศตึงเครียดก็ผ่อนคลายลงได้แล้ว

12345

ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ อารมณ์ดี…
อย่างนี้เรียกการจัดการกับปัญหาแบบ “บรรจง ๆ”
ไม่ใช่ แบบ “หวัด ๆ” ไงล่ะ!!!

1234

แล้วพิมพ์ “แบบบรรจง” กับ พิมพ์ “แบบหวัด ๆ” นี่ คงคล้ายก้บการเขียนแบบบรรจง กับ เขียนแบบหวัด ๆ ล่ะสินะ…


อยากเห็น…

5 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 29 มิถุนายน 2010 เวลา 10:38 (เย็น) ในหมวดหมู่ ภาษา ร้อยกรอง ความคิด, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1416

อยากเห็น…

12345

ยามใด  อยากเห็น  เห็นยาก

ยิ่งเพ่ง  ยิ่งย้ำ  ยากหนอ

ยึดมั่น ถือมั่น พะนอ

รีรอ  ยากยิ่ง  เห็นธรรม

ปล่อยวาง  ว่างเปล่า  พลันพบ

ประสบ  ข้อธรรม  สุกใส

ละวาง  ลดละ  สละไป

วางใจ  จึ่งเห็น  โลกธรรม

29 มิย.53


วัชพืช

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 27 มิถุนายน 2010 เวลา 2:10 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ต้นไม้, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3901

เช้าวันหยุด

มีโอกาสชักชวนหลานตัวน้อย ๆ  ร่วมกันรดน้ำต้นไม้  เก็บกวาดใบไม้ใบหญ้า และช่วยกันทำความสะอาดบ้าน (ถือโอกาสสอนวิชาประสบการณ์ชีวิตให้เด็ก ๆ ด้วยเลย)


สังเกตเห็นว่าส่วนที่เด็ก 3 คน ชอบมาก คือการรดน้ำต้นไม้ การได้เห็นต้นไม้แปลก ๆ  เสียงถามเซ็งแซร่ไม่มีใครฟังคำตอบ นอกจากยิงคำถามเป็นชุด ๆ

นี่ต้นอาไรค้า ไม่เคยเห็น…

นี่สวย ๆ มีลูกเล็ก ๆ ด้วย…

นี่อาม่าบอกว่าเป็นยาต้มแก้ร้อนใน…

ดอกสวยมากคร้าบบบบบ พี่น้องงงงง…


เจ้าคนโต ยื่นหน้ามาถามและให้มาดูว่า นี่เรียกว่าต้นอะไร (ตั้งค่าหัว รางวัลไว้สำหรับคนที่สามารถจดรายชื่อพืชพันธุ์ไม้บนดาดฟ้าทั้งด้านหน้าด้านหลังได้มากที่สุด) ในขณะที่ก้มหน้าก้มตาจดในกระดาษยู่ยี่อย่างตั้งอกตั้งใจ


ต้นที่ชี้ให้ดูเป็นพืชล้มลุก มีดอกเล็ก ๆ สีม่วงสวย มีทั้งที่ยังไม่บานและบานเต็มที่แล้ว… อ้อ ไม่รู้ชื่อหรอก แต่เป็นวัชพืชประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ปลูกแต่ขึ้นเอง

โดนถามต่อว่า วัชพืชคืออะไร? ก็เลยให้การบ้านว่าไปหาในพจนานุกรมแล้วกัน ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จะเลี้ยงพิซซ่าตอนเที่ยงนี้ เด็ก ๆ ขมีขมัน สนุกสนาน แม้จะหน้าแดงเหงื่อเต็มตัว


นั่งอ่านผลงานเด็ก ๆ …

วัชพืช

[วัดชะพืด] น. พืชที่ไม่ต้องการ เช่นหญ้าคาในแปลงข้าว.(ป. วชฺช + พีช).

(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

วัชพืช [n.] weed


เคยฟังอาจารย์สอนภาษาอังกฤษเล่าว่าวัชพืชนี้ บางทีเรียกว่า “unloved plant”  คือเป็นพืชที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ต้องการ เพราะไม่ได้ปลูกแต่ขึ้นเองแม้จะหากินเก่ง ทนทาน ไม่ต้องการการประคบประหงมดูแล แต่ที่คนปลูกต้นไม้ไม่ชอบก็เพราะมักทำให้พืชชนิดอื่นตายหรือไม่เติบโตเท่าที่ควร  ลองค้นรากศัพท์ต่อ

วัชชะ

[วัดชะ] น. สิ่งที่ควรละทิ้ง; โทษ, ความผิด. (ป. วชฺช; ส. วรฺชฺย, วรฺชฺช).


คำว่า “วัชพืช“  มาจาก วัช หรือ วัชชะ แปลว่า “สิ่งที่ควรละทิ้ง” ซึ่งเมื่อรวมกับคำว่า พืช เป็น “วัชพืช” จึงมีความหมายว่า “พืชที่ควรละทิ้ง

เด็ก ๆ ร้อง อ้าวงั้นต้องถอนทิ้งหรือเปล่าคะ คุณครูสอนว่าปลูกพืชต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ตัดหญ้า ถอนวัชพืช พืชที่เราปลูกจะได้โตเร็ว ๆ


อาล่ะสิ จะตอบเด็ก ๆ ว่าไงดีนะ….

ความจริงพืชพันธุ์ไม้นั้น เขาก็อยู่ของเขา พึ่งพิงอิงอาศัยกันอย่างสงบสุข แต่มนุษย์ต่างหากยกเอาความต้องการของตนไปให้คุณค่าว่า สิ่งนี้เป็นพืชมีค่า เป็นพืชเศรษฐกิจ ชนิดนี้ปลูกแล้วขายได้ราคาดี ส่วนชนิดนี้ไม่มีค่า เพราะตีเป็น “มูลค่า” ไม่ได้ พาลเรียกว่าเป็น “วัชพืช” ไปเสียเลย


พืชก็คือพืชนั่นแหละ… แม้ต่างพันธุ์ต่างเชื้อสายกัน…


คิดเลยไปถึง ข้อสอบที่ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ สอบไล่ก่อนจบออกมาคือ “พืชอะไรที่ทำยาไม่ได้?” คำตอบที่ท่านตอบคือ ไม่มีพืชอะไรที่เป็นยาไม่ได้…


ความจริงวัชพืชก็มีประโยชน์เหมือนกัน เช่น “หญ้าขนมเทียน” ที่มักขึ้นตามไร่พริก เพราะหญ้าชนิดนี้ เขานำมาตำ คั้นเอาน้ำผสมแป้งทำขนมเทียน ทำให้ขนมไม่ติดใบตอง หรือ “หญ้าขจรจบ“  ซึ่งเป็นวัชพืชในไร่ข้าวโพด ตอนที่หญ้าขจรจบยังไม่มีดอกใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เมื่อต้นแก่แห้งก็นำไปทำเยื่อกระดาษได้อีก

แม้แต่วัชพืชบางชนิดที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ก็ยังช่วยปกคลุมดินให้คงความชุ่มชื้น ป้องกันการเสียน้ำหน้าผิวดินได้ไม่มากก็น้อยด้วย รวมความว่าถึงอย่างไรก็ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ของดิน-น้ำได้นั่นไง


บอกเด็ก ๆ ที่กำลังเคี้ยวตุ้ย ๆ ต่อว่า เห็นไหม … ทุกสรรพสิ่งล้วนมี “คุณค่า” อยู่ในตน และ  ”คุณค่า” ที่ว่านี้ก็ระวังด้วย อย่าด่วนตัดสิน เพราะคุณค่า บางครั้งก็เป็นคนละส่วนกับ “มูลค่า” คนบางคน เรื่องบางเรื่อง ของบางสิ่งตีราคาค่างวดเป็น “ตัวเงิน” ไม่ได้ แต่มีมูลค่ามหาศาลที่ไม่อาจเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้เลย


ยิ้ม

11 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 21 มิถุนายน 2010 เวลา 10:30 (เช้า) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2067

 

        ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจิตร บุญยะโหตระ กล่าวไว้ในหนังสือ “พิชิตความเครียด” ว่า…

       “คนที่มีอารมณ์ขันจะไม่อวดเบ่งอวดหยิ่ง และจะไม่เป็นพิษเป็นภัยทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  คนที่ไม่มีอารมณ์ขันจะไม่ทราบเลยว่าบุคลิกของตนเองเป็นที่ขบขันล้อเลียนของผู้อื่นและไม่ค่อยจะไวต่อความรู้สึกของผู้อื่นมากนัก เพราะมัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่แต่กับตัวเอง การมีอารมณ์ขันหมายความว่าบุคคลนั้นสามารถตรวจตรา ปรับปรุงแก้ไขบุคลิกของตนเองได้ตลอดเวลา อะไรต่อมิอะไรจะได้ไม่สายจนเกินแก้”

  M148463  

     

      อารมณ์ขันสำคัญมากถึงเพียงนี้ คงต้องหันมาสร้างอารมณ์ขันกันให้มาก ๆ โลกจะได้ไม่ขึ้งเครียดจนเกินไป

 

      เอ… แล้วจะสร้างอารมณ์ขันยังไงล่ะ บางสถานการณ์มันขำไม่ค่อยออกนี่ แล้วหากมัวแต่ขำ ๆ ขัน ๆ ไม่เลือกที่ ก็จะดูแปลกประหลาดไปเสียอีกด้วยนา

      

      เอ้า… ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ยิ้ม ๆ ๆ ๆ ไว้ก็แล้วกัน ยิ้มไว้แล้วโลกจะยิ้มกับเราเองล่ะน่า

 

 

วันนี้คุณได้ยิ้มกว้าง ๆ หัวเราะจนพุงกระเพื่อมบ้างหรือยัง?

;)


วารวัน-ความฝัน

5 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 14 มิถุนายน 2010 เวลา 11:32 (เช้า) ในหมวดหมู่ ภาษา ร้อยกรอง ความคิด, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2081

 

 

วันพรุ่งยังอยู่ไกลอาจไม่เกิด

ปล่อยมันเถิดอย่าร้อนไปก่อนไข้

วันวานผ่านผันแล้วให้แล้วไป

อย่าผูกใจไปข้องทั้งสองวัน

แม้วันนี้อิ่มใจระรื่นจิต

 ขอหยุดคิดวันหน้า-หลังอย่าคลั่งฝัน

เรื่องที่แล้วไปแล้วก็แล้วกัน

 เรื่องที่ฝันยังไม่มา…อย่าอาวรณ์”

                              14 มิย.53

P11600411 


บันทึกแรกแนะนำตัว

11 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 13 พฤษภาคม 2010 เวลา 7:49 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2144

สวัสดีค่ะ

เป็นสมาชิกใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีเวลาได้ศึกษา ลองเขียนบันทึกนี้ก่อน

เป็นคนชอบเขียน มีความคิดมากมาย วุ่น ๆ อยู่เสมอ ๆ

เพื่อนเรียกว่า “นกอิสระ” เพราะปฏิเสธการผูกมัดและข้อจำกัดทางความคิด

อาชีพอิสระ ตกงานเป็นระยะ ๆ มีงานทำมากมายจนทำไม่ไหวในบางครั้ง

สนใจเว็บนี้เพราะชื่อ “ลานปัญญา” คาดหวังว่าจะมี “ปัญญา” หลากหลายให้เรียนรู้และตักตวง

เคยเป็นสมาชิกเว็บอื่นมาบ้าง ยังไม่ค่อยโดนใจ

หากมีอะไรแนะนำ ก็ยินดีทำ เพราะยังไม่ค่อยเข้าใจ

ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะ


บันทึกแรกของฉัน!

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 เวลา 11:19 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1057

ยินดีต้อนรับสู่ลานปัญญา

  • ท่านได้สร้างบล็อกของท่านเองแล้วที่นี่
  • บันทึกนี้เป็นข้อความทดสอบ
  • ท่านสามารถเข้า Dashboard หรือ Site Admin เพื่อลบบันทึกนี้ออกได้
  • ขอแนะนำให้ท่านเขียนบันทึกแนะนำตัวเองใหม่อีกบันทึกหนึ่ง เพื่อทำความรู้จักกับสมาชิกอื่นๆ
  • ทุกครั้งที่มีผู้มาให้ความเห็นใหม่ ระบบจะติดต่อกับท่าน ตามอีเมลที่แจ้งไว้ในตอนสมัคร ดังนั้นกรุณาดูอีเมลด้วย
  • คำแนะนำภาษาไทยอยู่ในบล็อกลานคู่มือบ้านลานปัญญา

ยินดีต้อนรับสู่ลานปัญญา



Main: 0.11348700523376 sec
Sidebar: 0.31638789176941 sec