สำเร็จ-สุข

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 6 กันยายน 2010 เวลา 10:27 (เช้า) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 2256

งานใหญ่ตัวตนต้องเล็ก

ต้องทำงานเพื่อละตัวตน

มีแต่การกระทำ แต่ไม่มีผู้กระทำ

เมื่อใดไม่มีผู้กระทำ เมื่อนั้น…ไม่มีทุกข์

อย่าคิดว่างานสำเร็จเพราะเรามีความสามารถ

แต่งานสำเร็จได้เพราะว่าเราใช้ความสามารถนั้น

อย่างไม่เป็นทุกข์ต่างหาก…

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

@@@ วันนี้เห็นและตระหนักขึ้นมาในใจเกี่ยวกับ คำว่า งานสำเร็จ ในอีกมิติหนึ่ง งานสำเร็จไม่ได้หมายถึงงานนั้นเสร็จสิ้น หรือได้ผลตามที่วางเป้าหมาย ตามที่พึงประสงค์เท่านั้น แต่ยังต้องหมายถึงการได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มศักยภาพของผู้ร่วมงานอย่างไม่มีความทุกข์หรือไม่สบายใจในระหว่างกระบวนการที่ได้ทำงานนั้นด้วย

@@@ จะมีประโยชน์อะไรหรือจะภาคภูมิใจได้อย่างไรกัน หากงานเสร็จสิ้นลง พร้อม ๆ กับการแตกทำลายและสูญเสียไปของ คุณค่า แห่งมิตรภาพและความเป็นมนุษย์ของคนทำงานนั้น

อูย…โจทย์ใหญ่จังนะ

แต่ก็ดีใจที่เห็นและตระหนักถึงโจทย์นี้ขึ้นมา


คนสอนคน

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 3 กันยายน 2010 เวลา 12:47 (เย็น) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 2333

ได้กราบนมัสการถามท่านสมณะเสียงศีลหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเลือกผู้ที่จะมาช่วยงานวิจัย ท่านชี้ให้ดูป้ายนี้

@@@ปัญหาที่กำลังพบก็คือต้องเลือกน้อง 2 คนจากที่มีให้เลือก 3 คน พิจารณาจากการทำงานที่ผ่านมา ไม่แตกต่างกันนักในด้านทักษะต่าง ๆ เช่น การพิมพ์ การติดต่อ การปรับตัว ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นในการทำงานในพื้นที่

บางครั้งก็ยากเหมือนกันที่จะแยกว่า ใครเป็น เรือแพที่ดี ไม่รั่ว เหมาะที่จะใช้งาน ยิ่งเรามีอคติรู้สึกเห็นใจ เมื่อบังเอิญได้ไปรู้ว่า น้องคนหนึ่งมีปัญหาเรื่องเงิน ครั้นจะตัดปัญหาเลือกไว้ทั้ง 3 คน ก็ดูจะเกินความจำเป็นของงานและเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายจนเกินไป

@@@ ก็เลยลองเรียกมาคุยทั้ง 3 คน ให้ทุกคนลองคิดและบอกว่าหากน้อง ๆ เป็นพี่ ซึ่งต้องเลือกคนมาช่วยงานโดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ความปลอดภัย และความเจริญงอกงามทางวิชาการแล้ว น้องคิดว่าพี่ควรเลือกใคร ให้เวลาคุยกัน 20 นาที

หลังจาก 30 นาทีผ่านไป (เกินเวลาที่ตั้งใจไว้ไปหน่อย) ได้ฟังน้อง ๆ คุยทีละคน… ดีใจที่เลือกใช้วิธีนี้ เพราะน้อง 3 คน ตัดสินกันเองเสร็จสรรพว่าใครควรมาทำงานวิจัยนี้

@@@ รายละเอียดขออนุญาตไม่เล่า… แต่ที่นำมาบันทึกไว้เพราะตกลงใจว่า เลือกน้องไปทำงานในพื้นที่ด้วย 2 คนตามที่น้อง ๆ ตกลงกันเอง และอีกคนหนึ่งก็ให้คอยเก็บตกงาน พิมพ์งาน ประสานงานให้ไม่ต้องลงไปในพื้นที่ด้วย โดยได้ค่าแรงตามปริมาณงานที่ทำ ซึ่งทั้ง 3 คนก็มีความสุขกับข้อเสนอนี้

@@@ ส่วนตัวก็มีความสุข ไม่ได้สนใจ Win-Win Situation อะไรทำนองนั้นหรอก แต่การที่น้อง ๆ ได้มีโอกาสประเมินและมองตัวเองอย่างเปิดใจ ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้และความงอกงามทางจิตวิญญาณของน้อง ๆ เองแล้ว

@@@

ยินดีและขอบคุณน้อง ๆ มาก ที่ได้ทำให้พี่รู้สึก

งอกงามเติบโตขึ้นเหมือนกัน

:-D


ประเมินผลแบบใช้ “ใจ”

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 2 กันยายน 2010 เวลา 10:47 (เช้า) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 2763

เมื่อ 29 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้ไปกราบนมัสการท่านสมณะเสียงศีล ชาตวโร ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ชุมชนปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม

@@@การไปกราบท่านในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 (อย่างเป็นทางการ) ตั้งใจนำความก้าวหน้าในการทำดุษฎีนิพนธ์ของตัวเอง และกรอบแนวคิด รวมทั้งขั้นตอนต่อจากนี้ในการทำวิจัยไปกราบเรียนให้ท่านได้ทราบ และอธิบายถึงประเด็นที่ต้องการขอความอนุเคราะห์จากท่าน และได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอย่างดี

ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากทั้งที่เป็นเอกสาร(ได้มาแล้วกว่า 3 ลังใหญ่) และข้อมูลจากการเล่าเรื่องงานในโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นด้านกสิกรรม การทำเกษตรไร้สารเคมี การหมักปุ๋ยชีวภาพ การฟื้นฟูดิน โดยโครงการที่ทำริเริ่มใหม่คือที่ “เนินพอกิน” อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

@@@ประเด็นที่ทำให้ต้องรีบบันทึกไว้คือ กระบวนการและวิธีการประเมินผล ผู้ที่มารับการถ่ายทอดความรู้จากท่าน ครั้งแรกที่คุยประเด็นนี้ท่านบอกว่าประเมินยาก เนื่องจากโครงการของท่านไม่สามารถคัดกรองและเลือกผู้มารับการอบรมได้ แต่เป็นลูกค้าที่มาตามโครงการพักชำระหนี้ของ ธกส. เป็นส่วนใหญ่ ท่านจึงใช้วิธีการให้กลุ่มที่มารับการอบรมนั้น ตั้ง เครือข่ายกันเอง จัด/คัดเลือก/คัดสรรค์ประธาน รองประธาน เลขา เหรัญญิก ฝ่ายวิชาการกันเอง ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2540 มีการตั้งกลุ่มเครือข่ายเช่นนี้ไปแล้วกว่า 200 กลุ่ม และจากการติดตามต่อเนื่องทุกปี พบว่ายังมีกลุ่มเครือข่ายเหล่านี้ที่มีการพัฒนาและทำกิจกรรมต่อเนื่องเกินกว่า 85% ของกลุ่มที่ตั้งขึ้น ท่านติดตาม/ประเมินผลโดยอ้างว่าจะไปเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ และมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ วิธีการตอน/ตัดต่อพันธุ์พืชใหม่ ๆ เมล็ดพันธุ์พืช และข่าวสารต่าง ๆ ไปให้กลุ่มเครือข่ายนั้น ๆ

@@@แน่ล่ะ…สมาชิกกลุ่มเครือข่ายนั้นก็มีความสุข อยากมาร่วม และไม่รู้สึกว่าถูกติดตาม/ประเมินผลหลังจากการไปอบรมมาแต่อย่างไรเลย…

ฟังแล้วผู้วิจัยตาโต…เพราะเกินความคาดหมายและยังทึ่ง ๆ กับวิธีการประเมินผลอันแยบยลแบบไทย ๆ ไม่ต้องอ้างทฤษฏีฝรั่งให้มึนงงเลย (นี่ไงล่ะ อ่านแต่ตำรา ไม่เคยมีประสบการณ์จริง…ฮา ๆ ๆ)

ตอนท้ายได้ขออนุญาตทิ้งประเด็นไว้ให้ท่าน หากท่านจะเขียนหรือบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร (เป็นวิธีการหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพ-การตอบประเด็นด้วยแบบสอบถามกึ่งโครงสร้าง) เพื่อที่ผู้วิจัยจะได้นำมาประกอบกับการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต และการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ของท่านให้สมบูรณ์ขึ้น

@@@

มีความสุขและสรุปได้ว่า…

การถ่ายทอดองค์ความรู้ของท่านเป็น การให้

ด้วยความรัก เมตตา และปรารถนาดีอย่างจริงใจ

เหมาะสมแล้วที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ครูภูมิปัญญาไทย


เปลี่ยนแปลง

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 7 สิงหาคม 2010 เวลา 5:18 (เย็น) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 1978

;-)

คนแม้เพียงหยิบมือ ถ้ามุ่งมั่น มีความคิด

และรับผิดชอบก็จะเปลี่ยนแปลงโลกได้

Margaret Mead

นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน

1234

งานวิจัยเชิงคุณภาพ/เชิงคุณลักษณะ (Qualitative research)นั้น มักถูกวิพากษ์ว่า เป็นงานวิจัยที่ไม่มีหลักการที่น่าเชื่อถือ วัดและประเมินผลไม่ได้ด้วยข้อมูลทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) และมีโอกาสสูงที่จะเจือด้วย อคติ ตามลักษณะของงานวิจัยที่มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ ตามบริบทและสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ จากลักษณะของงานวิจัยที่มีความเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ จึงไม่สามารถที่จะนำไปสู่การเป็นตัวแทนหรืออธิบายเรื่องเดียวกันในบริบทหรือพื้นที่อื่น ๆ ได้

Margaret Mead เป็นนักมานุษยวิทยา (ทำการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพ) กลุ่มแรก ๆ ที่ได้พยายามยืนหยัดและสร้างความชัดเจน เป็นปึกแผ่นให้กับงานวิจัยเชิงคุณภาพ และการต่อสู้กันทางด้านความคิดของค่ายการวิจัยทั้งสอง(การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ) ดำเนินมาเกินกว่าสามทศวรรษ และยังคงดำเนินต่อไปในบางประเด็น …

บันทึกนี้คงไม่เล่ารายละเอียดที่เกี่ยวกับการต่อสู้ทางความคิดของทั้งสองค่าย แต่มีสิ่งที่น่าสนใจคือ การต่อสู้ทางความคิดของทั้งค่ายการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพนี้ ยิ่งทำให้เกิดประโยชน์และความกว้างขวางยิ่งขึ้นของการวิจัยโดยรวม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อทำลายล้างหรือสร้างความโกรธเกลียดกัน จนอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันนิยมที่จะใช้การวิจัยทั้งสองประเภทนี้ร่วมกันในงานวิจัยหนึ่ง ๆ ซึ่งทำให้ได้เห็นและอธิบายถึงภาพของงานวิจัยได้ชัดเจนและเกิดประโยชน์กว่าการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเพียงอย่างเดียว

อ่านไปก็สนุกไป และได้ข้อคิดเล่น ๆ ขึ้นมา…

ข้อแรกคือ มนุษย์นั้นมีความเห็นต่างกันได้ แต่อย่าปิดใจ คิดเห็นดีงามในเรื่องอะไรว่าเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง แต่ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ฟังคนอื่น มองสิ่งรอบตัวบ้าง … อาจมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เคยตระหนักถึงมาก่อนเลยก็ได้ โลกเราพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าได้ ก็เพราะมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย…ไม่ใช่หรือ

ข้อต่อมาคือ หากมุ่งมั่น ตั้งใจ คิดดี เห็นชอบแล้วว่าดีว่าถูก จำนวนคนที่เห็นด้วยกับเราไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ขอให้ตั้งใจ อดทน และพยายามชี้ให้เห็นความจริงนั้นอย่างมีหลักการด้วยความจริงใจ…ไม่วันใดก็วันหนึ่ง…โลกก็ต้องหันมา พยักหน้า กับเราสักวัน

สรุปว่าเริ่มต้นตั้งใจอ่านเพื่อสิ่งหนึ่ง

แต่ลงท้ายกลับได้อีกสิ่งหนึ่ง…ซะนี่

:lol:

หากสนใจเรื่องของ Margaret Mead อ่านได้ที่  http://en.wikipedia.org/wiki/Margaret_Mead


โครงการฟื้นฟูสุขภาพของศีรษะอโศก

9 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 31 กรกฏาคม 2010 เวลา 12:00 (เช้า) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 10757

:-P

สืบเนื่องจากบันทึก สัมผัส “อโศก” ได้เล่าไว้ถึง โครงการฟื้นฟูสุขภาพ ที่จัดโดยครูขวัญดิน สิงห์คำและครูแก่นฟ้า แสนเมือง หลังจากรวบรวมและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม (จนมั่นใจ)แล้ว พิจารณาเห็นว่ามีหลักการอ้างอิงทางวิชาการจริง จึงนำมาบันทึกไว้ เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้สนใจและอาจเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

P20500644

โครงการฟื้นฟูสุขภาพ

ความเป็นมาของโครงการนี้ เนื่องจากมีชาวอโศกที่ป่วยและมีสุขภาพไม่ดี ได้ไปเข้าคอร์สการดูแลสุขภาพที่ประเทศมาเลเซีย จึงนำความรู้ดังกล่าวมาปรับประยุกต์และค้นคว้าเพิ่มเติม จนกลายเป็นโครงการดูแลสุขภาพด้วยวิถีธรรมชาติ (ไม่ใช่ยาซึ่งเป็นสารเคมีทุกชนิด) โดยก่อนที่จะเผยแพร่วิธีการนี้ ได้ทดลองกับชาวอโศกด้วยกันเอง ลองผิดลองถูก พัฒนา ปรับปรุงกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรที่ใช้ถึง 3 ปี ก่อนจะเปิดให้บริการกับบุคคลที่สนใจทั่วไป เมื่อปี 2552 เป็นครั้งแรก

หลักการสำคัญของกิจกรรมในโครงการนี้คือ การส่งเสริมและช่วยฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิม (Promotion/Rehabilitation) ซึ่งไม่ใช่การรักษา(Cure) บนพื้นฐานของการดูแลสุขภาพด้วยวิถีธรรมชาติแบบองค์รวม (Holistic Health Care) ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่า ร่างกายมีกลไกในการดูแล ปรับสภาพต่าง ๆ ให้อยู่ในภาวะสมดุลได้ด้วยตัวเอง การที่เกิดความเจ็บป่วย เนื่องมาจากการเสียสมดุลของร่างกาย ดังนั้นวิธีการคือ ต้องดูแล ช่วยเหลือให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ เยียวยารักษาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น

P20701488

ครูขวัญดิน สิงห์คำ

คราวนี้ลองมาดูตารางกิจกรรมกัน

ก่อนเริ่มโครงการ

- แนะนำสถานที่,วิทยากร/ทีมผู้ช่วยเหลือดูแล/กิจกรรมที่ต้องทำ

- ลงทะเบียน กรอกข้อมูลด้านสุขภาพ

- ตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจธาตุ

เจ้าเรือน วัดความเป็นกรด-ด่างน้ำลาย ฯลฯ

วันที่ 1-2-3

ในระหว่างวันควรดื่มน้ำข้าวกล้องงอก น้ำสมุนไพร น้ำด่างบ่อย ๆ เมื่อรู้สึกหิว อ่อนเพลีย หรือผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งทีมวิทยากร/ผู้ดูแล

รายละเอียดในระหว่างวัน

04.30-05.30

ตื่นนอน,ภารกิจส่วนตัว

05.30-06.00

ออกกำลังกายเดินอย่างน้อย 20 รอบพร้อม

อมน้ำมันมะพร้าวกลั้วในปาก

06.00-06.30

ดื่มน้ำข้าวกล้องงอก/น้ำสมุนไพร 5 แก้ว ดื่มไปเรื่อย ๆ

06.30-09.00

แช่เท้า 30 นาที,พอกหน้าด้วยสมุนไพร

ทำดีท็อกซ์ สวนล้างลำไส้

09.00-09.15

ดื่มน้ำขับพิษ 1 แก้ว

09.15-12.00

เช็คสุขภาพ นวด จัดกระดูก ฝังเม็ดผักกาด

(ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและสภาพของแต่ละคน)

12.00-12.15

ดื่มน้ำสมุนไพรขับพิษ 1 แก้ว

12.15-15.00

ชมวีดีทัศน์/ภาพยนตร์/ฟังบรรยายเกี่ยวกับสุขภาพ

15.00-15.15

ดื่มน้ำสมุนไพรขับพิษ 1 แก้ว

15.15-17.00

ชมวีดีทัศน์/ภาพยนตร์/ฟังบรรยายเกี่ยวกับสุขภาพ

17.00-18.00

พักผ่อนตามอัธยาศัย (ชมสวนสมุนไพร,สวนครัว)

ทำดีท็อกซ์ สวนล้างลำไส้

18.00-20.00

สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ/ฟังธรรม/นั่งสมาธิ

20.00-21.00

พักผ่อนตามอัธยาศัย

21.00-

เข้านอน

วันที่ 4

ช่วงเช้าจนเที่ยง เหมือนวันที่ 1-3

12.00-12.15

ดื่มน้ำมะละกอดิบ 1 แก้ว ช่วยให้ขับนิ่วในไตและถุงน้ำดี

13.00-13.15

ดื่มน้ำมะพร้าว ช่วยลดความปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

16.40-18.00

ทำดีท็อกซ์จนลำไส้สะอาด(อาจมากกว่า1ครั้ง)

18.00-18.15

รับประทานดีเกลือครั้งที่ 1

18.15-20.00

พักผ่อนตามอัธยาศัย

20.00-20.15

รับประทานดีเกลือครั้งที่ 2

20.15-22.00

ชมวีดีทัศน์/ฟังบรรยายเกี่ยวกับสุขภาพ/พักผ่อน

22.00-22.15

ดื่มน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาว 300 cc

22.15-

พักผ่อนตามอัธยาศัย หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรนอนตะแคงขวาหรือนอนหงายยกศีรษะสูง

หลัง 02.00

หากมีการขับถ่ายให้เริ่มเก็บสิ่งขับถ่ายไว้ในถังที่เตรียมไว้ เพื่อให้ทีมวิทยากร/ผู้ดูแลได้วินิจฉัยต่อไป

วันที่ 5

ช่วงเช้าจนถึง 10.30 น. ภารกิจเหมือนวันอื่น ๆ

10.30-11.00

ทำดีท็อกซ์ สวนล้างลำไส้ และเก็บสิ่งขับถ่ายไว้เพื่อการวินิจฉัยดูแล

11.00-

รับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ผักลวก ผลไม้ อาหาร ทานครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ

12.00-13.00

สรุปการเข้าร่วมโครงการ ฯ แนะแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อปรับสมดุล การใช้ชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี

13.00

ปิดโครงการ ฯ

P20801822

สวนสมุนไพร และสวนสำหรับเดินออกกำลังกาย

รายละเอียดในแต่ละวัน มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ตารางประจำของโครงการ ฯ คือ เริ่มโครงการในทุกวันที่ 5, 15 และ 25 ของเดือน (ยกเว้นมีงานเร่งด่วนของชุมชนและทีมวิทยากร)

///

หากพิจารณากิจกรรมต่าง ๆ จะเห็นว่าเน้นการสวนล้างลำไส้หรือที่เรียกกันว่า การดีท็อกซ์ เช้า-เย็น การอดอาหารเพื่อสุขภาพ (Fasting) การใช้สมุนไพร (13 ชนิด) ในการทำความสะอาดและกระตุ้นการทำงานของตับและถุงน้ำดีให้ทำงานได้เต็มที่ การแช่เท้าล้างพิษ การออกกำลังกาย การดูแลด้านจิตใจด้วยการฟังธรรม/นั่งสมาธิ

ลองมาดูกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

การทำดีท็อกซ์ (Detoxification) หรือการสวนล้างลำไส้ มีผลให้ทางเดินอาหารและลำไส้สะอาด ผลก็คือเมื่อทางเดินอาหารและลำไส้สะอาด ก็จะดูดซึมสารอาหาร วิตะมิน เกลือแร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สารพิษที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายไม่สมบูรณ์และคั่งค้างในระบบทางเดินอาหารถูกขับออกไป

///

การอดอาหารเพื่อสุขภาพ (Fasting) ศาสตร์ของFasting นี้ เน้นหลักการที่ว่าให้ร่างกายได้หยุดการรับสารพิษต่าง ๆ จากอาหารและจากกระบวนการสันดาปอาหาร (Metabolism) เป็นที่รู้กันดีว่า พลังงานร้อยละ 80 ที่เราใช้ในแต่ละวันนั้น เราใช้ไปกับกระบวนการย่อยอาหาร การกำจัดของเสียต่าง ๆ ที่เกิดจากกระบวนการย่อยอาหาร ดังนั้นเมื่อไม่ได้กินอาหาร ไม่มีกระบวนการสันดาปอาหาร ร่างกายก็มีเวลาและใช้พลังงานไปในการดูแล ฟื้นฟู เยียวยาร่างกายตัวเอง

เปรียบเทียบง่าย ๆ ให้เห็นชัดคือการอดอาหารนั้น เหมือนคนที่ทำงานประจำได้หยุดงานอยู่บ้าน เมื่อไม่ต้องทำงานประจำที่ทำทุกวัน (การกิน,กระบวนการย่อยสลาย,กำจัดของเสีย) จึงมีเวลาในการมาเก็บกวาดบ้าน นั่นคือ ร่างกายจะเยียวยาความสึกหรอ/ป่วยไข้ที่แฝงเร้นอยู่ได้

///

การทำความสะอาดและกระตุ้นการทำงานของตับและถุงน้ำดีด้วยน้ำยาสมุนไพร(13 ชนิด)ที่ดื่มวันละ 3 ครั้ง และน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาว ซึ่งถูกดูดซึมตรงเข้าไปยังตับและถุงน้ำดี ทำการเก็บกวาดไขมันและสารพิษ รวมทั้งนิ่วในถุงน้ำดีที่ถูกสมุนไพรกัดเซาะไว้ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา ให้ออกมาสู่ลำไส้ใหญ่และขับถ่ายออกมาในวันรุ่งขึ้น

หลักการนี้ใช้แนวคิดเรื่อง นาฬิกาชีวิตซึ่งเผยแพร่โดยอาจารย์สุทธิวัสส์ คำภา ที่กล่าวไว้ว่าถุงน้ำดีจะเปิดตอนห้าทุ่ม-ตีหนึ่ง การดื่มน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาวจะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับและถุงน้ำดีโดยตรง ส่งผลให้เก็บกวาดและทำความสะอาดตับและถุงน้ำดี ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

////

จากประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งเป็นคนติดกาแฟ ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว(เป็นอย่างน้อย)ทุกวัน หากไม่ดื่มจะปวดศีรษะ คิดอะไรไม่ออก หงุดหงิดโดยไม่มีเหตุอันสมควร แถมจากที่เคยทานอาหารวันละหลายมื้อ กลับไม่ได้ทานอะไรเลย ดื่มได้แต่น้ำสมุนไพรผสมน้ำผึ้งและน้ำด่างที่เตรียมให้เท่านั้น จึงเกิดอาการหิวมากจนตาลาย ปวดศีรษะ (เพราะไม่ได้ดื่มกาแฟ) ที่ตั้งใจจะไปเก็บข้อมูลงานวิจัยของตัวเองนั้น เป็นอันว่าพับไปอย่างสิ้นเชิง ยังดีที่ในวันต่อมาอาการหิวและอาการขาดกาแฟลดน้อยหายไป เริ่มคิดออก ทำงานได้ และจนวันที่ 3 จนถึงจบโครงการก็ไม่รู้สึกหิวหรือปวดศีรษะอีกเลย

ต้องบันทึกเพิ่มเติมไว้อีกประเด็นหนึ่งคือ รู้ได้อย่างไรว่าตับและถุงน้ำดีได้รับการกระตุ้นและทำความสะอาด นั่นคือ หลังจากการอดอาหารติดต่อกัน 4 วัน และได้มีการสวนล้างลำไส้เช้า-เย็น กากอาหารต่าง ๆ ที่คั่งค้างมาตลอดชีวิต (ที่ไม่เคยปัดกวาดล้างออกเลย) ย่อมมีน้อยหรือเหลือน้อยที่สุด ดังนั้นเมื่อวันที่ 4 ซึ่งทานดีเกลือ (มีคุณสมบัติเป็นยาถ่าย) และน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาวเข้าไป จึงตรงไปเก็บกวาดไขมันที่พอกตามเซลล์ตับ (อาการ “ไขมันพอกตับ”) รวมทั้งไปจัดการกวาดล้างนิ่วเม็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในถุงน้ำดีออกมาด้วย  ประจักษ์พยานคือ สิ่งขับถ่ายที่เก็บไว้จากการสวนล้างลำไส้ในตอนเช้าของวันสุดท้าย…

หากไม่ได้เห็นด้วยตาตนเองก็คงยากที่จะเชื่อแน่นอนก็คือ ไขมันย่อมลอยตัว สิ่งที่ออกมาเป็นหลักฐานของแต่ละคนจะบอกถึงพยาธิสภาพที่เป็นอยู่ ไขมันที่ออกมาจากตับจะมีเป็นก้อน ๆ เล็ก-ใหญ่ต่างขนาดกันไปลอยฟ่องอยู่ในถังที่เก็บสิ่งขับถ่าย มีไขมันเม็ดเล็ก ๆ ลอยเป็นแพอยู่ด้านบน ส่วนนิ่วในถุงน้ำดีนั้นมีลักษณะเป็นเม็ดขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยจนถึงเท่านิ้วหัวแม่มือ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ จะมีเซลล์สีขาวคล้าย ๆ แมงกะพรุนลอยอยู่ระหว่างน้ำและไขมันด้วย

สำหรับ ตัวเองนั้นสิ่งที่ออกมาจากลำไส้ทำให้ตกใจตัวเอง…เพราะเต็มไปด้วยก้อนไขมันจากตับก้่อนเล็กก้อนน้อยหลายขนาด มีเม็ดนิ่วสีเขียวเข้มเล็ก ๆ ติดมาด้วย (ซึ่งจากการตรวจร่างกายประจำปี ผลเลือดต่าง ๆ ไม่มีอาการผิดปกติหรือปัญหาใด ๆ เลย) และที่มีค่อนข้างมากก็คือ ไขมันเม็ดเล็ก ๆ ละเอียด ๆ ที่ลอยฟ่องอยู่จำนวนมาก ซึ่งไขมันเม็ดเล็ก ๆ นี้ครูขวัญดินบอกว่าบ่งบอกว่า หูมีปัญหา” อาจจะหูอื้อ หูตึง หรือการได้ยินไม่สมบูรณ์…ทึ่งเลย เพราะส่วนตัวมีปัญหาเรื่อง “การได้ยิน” จริงดังที่ครูว่า…

พี่ป้าน้าอาและวิทยากรหลายท่านบ่นว่า … อะไรกัน ดูสุขภาพก็ดีออก ตัวเล็กแค่นี้ ชอบกินแต่ผักผลไม้ แล้วทำไมไขมันมากมายขนาดนี้ล่ะนี่!!! ... ฮา ๆ ขำ ๆ บอกไปว่า…อย่าเชื่อสิ่งที่เห็นเชียวนะ… ^_^

////

หลังจากจบโครงการและเดินทางกลับบ้าน สิ่งที่ทำให้แปลกใจก็คือ ไม่นึกอยากดื่มกาแฟอีก ดื่มก็ได้ ไม่ดื่มก็ไม่เป็นไร ช่วงบ่าย ๆ จากที่มักจะง่วง ๆ ซึม ๆ หลังอาหารกลางวัน จนต้องดื่มกาแฟให้สดชื่น ก็ไม่ต้องดื่มอีกต่อไป ทำงานได้จนเย็นอย่างสบาย ปัญหาเรื่องหูอื้อ ปวดหูก็ทุเลาไปมาก และรู้สึกว่าร่างกายสดชื่นขึ้นกว่าเดิมจริง ๆ

///

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง…

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ค่ะ

;)

///

หากสนใจเข้าร่วมโครงการ ต้องโทรไปแจ้งกับคุณเล็ก เบอร์โทร 085 0240 582 ก่อนเนื่องจากรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนจำกัดในแต่ละรุ่น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ค่ะ (ยกเว้นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ของใช้อุปกรณ์ส่วนตัวบางรายการ ซึ่งต้องจัดหาซื้อเอง)


สัมผัส “อโศก”

3 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 26 กรกฏาคม 2010 เวลา 11:21 (เย็น) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 3729

1234

มีโอกาสได้สัมผัสกับ ชาวอโศก เป็นเวลา 5 วันเต็ม (16-20 กค.53)

ที่ชุมชนศีรษะอโศก อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นการลงไปสำรวจพื้นที่ซึ่งจะใช้เก็บข้อมูลในงานดุษฎีนิพนธ์ของตัวเอง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้เดินทางไปชุมชนนี้ เคยได้ไปเยี่ยม (แบบผ่าน ๆ ไม่ได้ค้างคืน) 3 ครั้ง เป็นการไปในฐานะกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการ ฯ ทำหน้าที่ประเมินผู้สมควรได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทยจากสำนักงาน ฯ และลงไปติดตามประเมินผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำนักงาน ฯ สนับสนุนงบประมาณให้ครูภูมิปัญญาไทย (จำนวนหนึ่ง)

ครูภูมิปัญญาไทยท่านหนึ่งในลานปัญญา คือ พ่อครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 ด้านเกษตรกรรม ค่ะ

ความรู้สึกครั้งนี้ไม่แตกต่างกับครั้งก่อน ๆ นัก เนื่องจากคุ้นเคยและมีความชื่นชมในตัวครูภูมิปัญญาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม…

1234

จะว่าไปแล้วโดยส่วนตัวมีความชื่นชมและเคารพยกย่อง ปราชญ์ชาวบ้าน ทุกท่าน แต่ละท่านที่ได้สัมผัส มีคุณสมบัติ ทั้งความดี ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความเสียสละ และความชำนาญในภูมิปัญญาไทยด้านต่าง ๆ มากน้อยหลากหลายแตกต่างกันไป แม้ปราชญ์หลายท่านจะไม่ได้รับการยกย่องให้เป็น ครูภูมิปัญญาไทย ก็ตามที

สำหรับชุมชนศีรษะอโศก มีผู้นำเสนอข้อมูลไว้แล้วจำนวนมาก (จึงไม่กล่าวถึงในบันทึกนี้) และมีครูภูมิปัญญาไทย 2 ท่านคือ ครูแก่นฟ้า แสนเมือง และครูขวัญดิน สิงห์คำ ผู้นำฝ่ายฆราวาสของชุมชนศีรษะอโศก ซึ่งทั้งสองท่านเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3

การไปสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ มีผลพลอยได้คือ ได้เข้าไปร่วมใน โครงการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่ครู ฯ ทั้งสองท่านจัดให้เป็นบริการสังคม โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ยกเว้นอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวบางชนิดที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องจัดการหาซื้อเอง

ครั้งแรกเพียงตั้งใจไปสำรวจและทำความคุ้นเคย(Rapport) กับพื้นที่/กรณีศึกษา และใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participant observation) ซึ่งเป็นวิธีการในการเก็บข้อมูลบางส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพ แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ประกอบกับมีความสนใจเป็นส่วนตัวด้านการดูแลสุขภาพตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งได้ศึกษาด้วยตนเองมาระยะหนึ่งแล้ว จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูสุขภาพด้งกล่าว (จะบันทึกถึงโครงการฟื้นฟู ฯ ภายหลัง) ซึ่งหากไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ฯ นี้ คงน่าเสียดายมาก ๆ

บันทึกนี้เกิดขึ้น เนื่องจากความประทับใจในวิถีของ ชาวอโศก หลาย ๆ คนที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกัน ชาวอโศกเป็นผู้ที่กินน้อย นอนน้อย ทำงานมาก และใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง แม้สมณะชาวอโศกจะเคยมีประวัติของการแตกแยกด้านแนวคิด ความเชื่อและวัตรปฏิบัติ จนแยกตัวออกมาจากมหาเถรสมาคม อันเป็นสถาบันหลักทางศาสนาของชาติ

ความแตกต่าง คงไม่ใช่สาเหตุหลักของ การแยกตัว (ประเด็นนี้จะไม่กล่าวถึงในบันทึกนี้) สำหรับสิ่งที่ได้สัมผัสสัมพันธ์ด้วยตนเองนั้น ต้องยอมรับว่าชื่นชมและประทับใจจนเกรงว่าจะเกิด อคติ ในการเก็บข้อมูล ส่งผลต่อคุณภาพของผลการวิจัย ซึ่งต้องระวังอย่างยิ่งในเรื่องของการตีความ/แปลความข้อมูลที่ได้มา…

1234

ปิดท้ายบันทึกนี้  ด้วยข้อความใน Field note (บันทึกภาคสนาม) ของตัวเองที่ว่า

…แม้เสื้อผ้าที่สวมใส่จะเป็นสีน้ำเงินหม่นมัวไม่สดใส เก่าๆ ปอนๆ แต่…ความสุกใสสะอาดจาก ภายในใจ ของชาวอโศกเหล่านี้ เปล่งประกายงดงามกระจ่างตากระจ่างใจจริง ๆ…”

1345

รอยยิ้มจากใจของพี่ ๆ ชาวราชธานีอโศกที่อายุกว่า 50 ปีแล้ว

///

น้อมคารวะคุณครูภูมิปัญญาไทยทุกท่านค่ะ

1234


ไม่รัก ไม่ชอบ ไม่ทำ

8 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 28 มิถุนายน 2010 เวลา 11:30 (เช้า) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 2477

ช่วงเช้าได้คุยกับ…

ครูขวัญดิน สิงห์คำ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ที่ชุมชนศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ  หลังการนัดหมายตารางเวลาการพูดคุยสัมภาษณ์แล้ว   ก็ชวนคุยถามไถ่เรื่องทั่ว ๆ ไป ครูขวัญดินเล่าว่ากำลังเขียนวิทยานิพนธ์ บทที่ 4  หัวข้อเกี่ยวกับการบูรณาการการเรียนรู้ ฯ  ซึ่งลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมาตั้งแต่ปี 2550  เล่ากันไปปรับทุกข์ปรับสุขกันตามประสาคนที่เรียนในระบบเหมือนกัน


ติดใจกับบทสนทนาที่ครูขวัญดินบอกว่า การเรียนปริญญาโท ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากเรียนนี้ ให้ประโยชน์มากเกินกว่าที่คาดคิดไว้ ได้รู้ว่าคนเราสามารถเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุดและยังมีอะไรอีกมหาศาลที่เรายังไม่รู้ (จากที่เคยคิดว่า… รู้แล้ว ๆ )

ครูเคยต่อต้านการเรียนในระบบ เพราะคิดว่าค่าเล่าเรียนแพง ความรู้ที่ตัวเองมีก็เยอะแยะ ซ้ำย้งเป็นความรู้จากการทำงานและปฏิบัติจริงอยู่แล้วไม่ใช่ความรู้แห้ง ๆ ไร้มิติจากทฤษฎีในหนังสือ  ใบปริญญาบัตรก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ลาภ ยศ สรรเสริญ เงินทอง ก็ไม่ใช่สาระของชีวิตของครูอยู่แล้ว จะไปเรียนเพื่ออะไร ไม่อยากเรียน  แต่…ขัดใจผู้ใหญ่ไม่ได้ เรียนก็เรียน (แล้วกัน)

จากที่ ม่รัก ไม่ชอบ ไม่ทำ ส่งผลให้เรียนไปก็ทุกข์ไป ขัดใจไป คอมพิวเตอร์ก็ใช้ไม่เป็น อะไรกันค่าเรียนแพง ๆ แต่ครูสอนว่าให้หาความรู้เอง อ่านเอง ต้องดูว่าคนอื่นคิดอย่างไร ว่าอย่างไร จากนั้นจึงมาบอกว่าแล้วเราคิดอย่างไร ทำไมต้องอ้างคนโน้นคนนี้ด้วย ว่ากันด้วยของจริง ๆ ไม่ดีกว่าหรือไง…


วันหนึ่งครูก็คิดขึ้นมาว่า สู้อุตส่าห์ทำงานในชุมชนมานาน ปฏิบัติธรรมมาก็มาก แค่นี้ยังขัดใจยังทุกข์อยู่ได้อย่างไรกัน ตัดสินใจเลิกทุกข์ ตั้งใจทำ ๆ ๆ ชอบก็ทำ ไม่ชอบก็ทำ ทำไปเรื่อย แล้วครูก็พบว่า แม้ไม่รักไม่ชอบ หากทำไปเรื่อย ๆ ตามกำลังสติปัญญา ก็สนุกดี เป็นอีกโลกหนึ่งที่น่าทึ่งไม่น้อย  ข้อสำคัญคราวนี้ครูรู้แล้วว่าจะสอนเด็กที่ไม่อยากเรียนให้อยากเรียนได้อย่างไร


ฟังครูขวัญดินเล่าแล้ว สะดุ้งเฮือก…

รามักจะ “เลือกทำ” เฉพาะในสิ่งที่รักที่ชอบ และไม่ยอมทำสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ ก็เพราะเราได้รับรู้มาว่า ให้เลือกทำเลือกเรียนสิ่งที่เรารัก เราจะมีความสุขและทำได้ดีน่ะสิ


อืม…จากนี้ไป ต้องลองเคล็ดสุดยอดวิชาของครูเสียหน่อย…


...หัดขัดอกขัดใจ ทำให้สิ่งที่เรา “ไม่รักไม่ชอบ” ให้ได้ ไม่ต้องดีที่สุดหรอก เพราะดีที่สุดไม่มี เวลาผ่าน บริบทที่แตกต่าง ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่เราทำงานของเราตรงหน้าทั้งที่รักที่ชอบและไม่รักไม่ชอบอย่างเต็มที่ก็แล้วกัน


ขอบคุณสุดยอดเคล็ดวิชาจากครูค่ะ

;)


ก็แค่อยากให้

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 13 มิถุนายน 2010 เวลา 12:21 (เย็น) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 2222

 

      มีเรื่องหนึ่งที่คิดขึ้นมาได้  เป็นเรื่องอุปนิสัยส่วนตัวซึ่งทำไปโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้สึกตัวว่าแปลกจากคนอื่น แต่เพื่อนบางคนเห็นแปลก และชี้ให้เห็น

       ตามปกติมักจะพกเศษสตางค์และแบงก์ย่อย ๆ ไว้ในกระเป๋ากางเกง กระโปรง หรือกระเป๋าที่ติดตัวเสมอ เนื่องจากมักจะหาของไม่ค่อยเจอยามเร่งรีบ บางทีก็ลืมกระเป๋าเงิน และบ่อยครั้งที่ถูกล้วงกระเป๋า

สมัยทำงานที่รพ.ศิริราช มักไปเดินหาของกินของใช้ที่  ”วังหลัง” ซึ่งมีคนพลุกพล่านและชุกชุมด้วยนักล้วงกระเป๋า จะโดนล้วงกระเป๋าบ่อยเสียจนชิน หนัก ๆ เข้า ก็เลยไม่ใส่เงินไว้ในกระเป๋าเงินมาก ๆ  เคยได้รับบัตรต่าง ๆ ในกระเป๋า (ที่ถูกล้วงไป)คืนทางไปรษณีย์ หลายครั้ง จนครั้งหลังสุดมีลายมือโย้ ๆ เย้ ๆ เขียนแนบมาว่า … “ระวังหน่อยนะ อย่าพกบัตรไว้ในกระเป๋ามาก ๆ หายไปแล้วลำบากไหม!!!”

สันนิษฐานได้ว่าคนล้วงก็จะเป็นคนเดิม ๆ ที่ล้วงกระเป๋าเราเป็นประจำ หลาย ๆ ครั้งเข้าถึงกับอิดหนาระอาใจ ทำไมมันซุ่มซ่าม ปล่อยให้ล้วงกระเป๋าได้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างนี้นะ ส่งบัตรคืนให้หลายครั้งแล้ว…ชักเบื่อแล้วนะ (ฮา ๆ)

        เมื่อมีเศษสตางค์ในกระเป๋ากางเกง ล้วงง่ายหยิบง่าย คราวนี้เมื่อเจอคนขอเงิน ขอทานอยู่ที่ไหน ก็มักจะล้วงให้อย่างสบายใจ จนล้วงกระเป๋าแล้วไม่มีเศษสตางค์เมื่อไหร่ก็เลิกให้…จบกัน  ทำอยู่เช่นนี้เรื่อยมา หลัง ๆ เพื่อน ๆ ที่เดินด้วยก็จะบอกว่า ไม่ควรให้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้เขาไม่ทำมาหากิน เสียนิสัย แล้วเดี๋ยวนี้ขอทานก็มักเป็น “ต่างชาติ” มาเป็นแกงค์ขอทาน ทำกันเป็นอาชีพ เป็นล่ำเป็นสัน เราให้เพราะเราสบายใจ คิดว่าได้บุญ (คิดว่าตัวเองทำดี ให้ทาน เป็นนางเอกหรือไง) แต่ความจริงกลับได้บาป เพราะทำให้เขาไม่คิดพึ่งตัวเอง ยิ่งเอาเด็ก ๆ (ที่ไร้เดียงสา) ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มานั่งขอทานด้วย แย่ไปอีก แล้วยังว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์มหภาค จะทำให้เกิดแรงงานแฝง ทำลายระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแรงร้าย…

 โดยสรุปแล้ว ไม่ควรให้เงินขอทาน ถ้าจะช่วย ควรช่วยให้เขาได้พึ่งตนเองอย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี มากว่าให้ตามกิเลสของตัวเองที่อยากให้!!!

 

ฟังเหตุผลของเพื่อนแล้วก็ร้องโอย…

    …ช่างคิดกว้างคิดไกลจริง ๆ เพื่อนเอ๋ย เรานี่ทำไปตามระบบประสาทอัตโนมัติ (มีสิ่งเร้าก็ตอบสนองไป)ไม่ได้คิดอะไรถึงผลดีผลเสียผลได้อะไรเลย หลัง ๆ พอจะควักเศษสตางค์ให้ขอทานก็หยุดนิดหนึ่ง แต่ก็ทำเหมือนเดิม … โธ่เอ๋ย ก็ยืนอยู่ตรงหน้าเขาแล้ว ตาดำ ๆ รออยู่อย่างมีความหวัง ให้มากให้น้อยก็ไม่เคยบ่นด้วย ให้เหอะ บาทสองบาทเองน่ะ…

มาย้อนคิว่าอะไรทำให้เราทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ แบบนั้น ทั้งที่ก็เห็นก็รู้ก็ตระหนักผลดีผลเสียทั้งภาพใหญ่ภาพย่อยที่เพื่อนชี้ให้เห็นนั้นแล้ว ยอมรับว่าไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเร่งกระบวนการนำคนและเด็ก ๆ มาขอทาน พอเจอสถานการณ์เดิม ก็…ทำแบบเดิมอีก แล้วยังสามารถหาเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ สนับสนุนความคิดความเชื่อ สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเองได้เป็นตุเป็นตะ หลอกตัวเองด้วยการแก้ตัวอ้อม ๆ แอ้ม ๆ ว่า…ฉันก็แค่ให้สิ่งเล็ก ๆ ที่ฉันให้ได้ ไม่เดือดร้อน ก็แค่ให้น่ะ ไม่ได้คิดอะไรมากมายสักหน่อยเลย (ให้เพราะอยากให้ เห็นว่าควรให้ความช่วยเหลือไม่ได้หรือไงเล่า)

 

         ไปอ่านเจอเรื่อง Mental model (ทฤษฏีรูปแบบความคิด/รูปแบบความเชื่อฝังใจ) ของ Kenneth James Williams Craik (K.J.W. Craik) (1914-1945) ซึ่งกล่าวโดยรวมสรุปย่นย่อ ก็คือ รูปแบบความคิด ที่เป็นพื้นฐานของพฤติกรรมมนุษย์ เป็นกระบวนการของความคิดที่ส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ของบุคคลต่อคนอื่น สิ่งแวดล้อมรอบตัว และการมองโลก เป็นความคิดรูปแบบที่ฝังใจ เป็นความเชื่อของบุคคล  Mental model ยังส่งผลดีคือทำให้บุคคลมีความมุ่งมั่น กระตือรือร้น เพราะมีภาพความคิดความเชื่อที่ชัดเจนและฝังใจในการจะไปสู่เป้าหมายของตน

แต่…ในขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังคือ การมีภาพความคิดความเชื่อที่ฝังใจนี้ หากเป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ถูกต้องเที่ยงตรง หรือขัดแย้งกับค่านิยมของสังคมที่ตนอยู่แล้ว ก็อาจส่งผลเสียทั้งในระดับบุคคลและสังคมได้

 

        Mental model นี้จึงน่าจะใช้สำหรับทำความเข้าใจและวิเคราะห์พฤติกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างไปจากเกณฑ์ปกติที่สังคมนิยมกัน (ไม่หมายรวมถึงบางพฤติกรรมบางสังคมถือว่าดี ยอมรับได้ แต่ในบางสังคมกลับเป็นสิ่งที่เสียมรรยาทอย่างร้ายแรง ยอมรับไม่ได้เลยก็มี) ว่าดีว่าถูกต้องหรือไม่ดีไม่ถูกต้อง

       คิดได้แล้วก็ยิ้ม…เข้าใจขึ้นมาว่า ที่คนเราคิดต่าง เห็นต่าง พูดต่าง ทำต่างกันไปอย่างที่บางทีเราไม่เข้าใจเขาหรือเขาไม่เข้าใจเรา ก็เพราะต่างมีกรอบของ Mental model นี้มาต่างกันนั่นเอง  นึกต่อไปว่า สำหรับในเด็กอายุไม่เกิน 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงของการสร้างระบบ Mental model เราคงต้องระวัง เพราะหากมีการสร้างกรอบความคิด/ความเชื่อที่ผิด ๆ หรือบิดเบี้ยวแล้ว ก็ให้น่าเป็นห่วงและเป็นอันตรายมากทั้งต่อตัวเขาเองในฐานะปัจเจกชนและต่อสังคมโดยรวม

        แล้วไม่ใช่เพราะเจ้า กรอบความคิด/ความเชื่อที่บิดเบี้ยว ไม่ตรงกับความเป็นจริงนี่หรอกหรือ ที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมอย่างที่เราคาดไม่ถึงมาแล้ว

 

แค่เรื่องอยากจะให้นี่…คิดต่อไปยาวเสียจริง…

 


ค้อนกับตะปู

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 6 มิถุนายน 2010 เวลา 11:33 (เช้า) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 2667

 

                ได้มีโอกาสโทรไปเรียนปรึกษา กับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (co-adviser) แต่เช้า คุยหลายหลากประเด็น เล่าถึงแผนงานที่จะทำ (อย่างจริงจัง) รีบเล่ารีบอธิบายในเวลาอันจำกัด อาจารย์ฟังเงียบ พอพูดจบ อาจารย์บอกว่า…

        ที่ทำและวางแผนมานี้ เห็นความตั้งใจและความละเอียดรอบคอบในการวางแผนที่จะทำแล้ว ให้ทำได้ต่อไปตามแผนเลย … นักเรียนโข่งฟังแล้วโล่งใจ

        ก่อนวางสาย อาจารย์ฝากคำคมของ  Abraham Maslow บิดาแห่งศาสตร์วิชานมุษย์นิยม (Humanint) (ขอบคุณข้อมูลจากคุณ logos) ที่ว่า

 

“…สำหรับคนที่มีแต่ “ค้อน” อย่างเดียวอยู่ในมือ ทุกอย่างที่ขวางหน้าก็คือ “ตะปู”

(If you only have a hammer, you tend to see every problem as a nail.)

ระวังด้วย…”

 

กลับมาพิจารณา ประโยคของอาจารย์นั้น น่าจะมีนัยที่ควรคิดต่อคือ

- ระวังการยึดติดกับวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้นในการทำงานวิจัย เพราะการทำวิจัยเชิงคุณภาพนี้ ไม่ใช่การพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้ แต่เป็นการ สร้างสมมุติฐานใหม่ขึ้น ต้องยืดหยุ่นและรู้จักการปรับประยุกต์เทคนิค วิธีการให้เหมาะกับสถานการณ์และข้อมูลในพื้นที่

 

- แผนงาน กลยุทธ์ที่นำเสนออาจารย์นั้น ยังค่อนข้างจะ “แข็ง” เกินไป ควรยืดหยุ่น ไม่ตายตัวกว่านี้ (ต้องลงพื้นที่ก่อน จึงจะรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง)

 

- และสุดท้ายคือ ระวังจะทำตัวเป็น “ค้อน” ที่เห็นอะไร ๆ เป็น “ตะปู” ไปเสียหมด (ข้อนี้น่าคิดต่อมาก ๆ)

 

ไม่ง่ายเลยนะนี่ … แต่ก็อีกล่ะ “ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก” ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ สบาย ๆ

หรอกนะ…จะบอกให้

 



Main: 0.10803890228271 sec
Sidebar: 0.033895015716553 sec