ก็แค่อยากให้

โดย freemind เมื่อ 13 มิถุนายน 2010 เวลา 12:21 (เย็น) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 2119

 

      มีเรื่องหนึ่งที่คิดขึ้นมาได้  เป็นเรื่องอุปนิสัยส่วนตัวซึ่งทำไปโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้สึกตัวว่าแปลกจากคนอื่น แต่เพื่อนบางคนเห็นแปลก และชี้ให้เห็น

       ตามปกติมักจะพกเศษสตางค์และแบงก์ย่อย ๆ ไว้ในกระเป๋ากางเกง กระโปรง หรือกระเป๋าที่ติดตัวเสมอ เนื่องจากมักจะหาของไม่ค่อยเจอยามเร่งรีบ บางทีก็ลืมกระเป๋าเงิน และบ่อยครั้งที่ถูกล้วงกระเป๋า

สมัยทำงานที่รพ.ศิริราช มักไปเดินหาของกินของใช้ที่  ”วังหลัง” ซึ่งมีคนพลุกพล่านและชุกชุมด้วยนักล้วงกระเป๋า จะโดนล้วงกระเป๋าบ่อยเสียจนชิน หนัก ๆ เข้า ก็เลยไม่ใส่เงินไว้ในกระเป๋าเงินมาก ๆ  เคยได้รับบัตรต่าง ๆ ในกระเป๋า (ที่ถูกล้วงไป)คืนทางไปรษณีย์ หลายครั้ง จนครั้งหลังสุดมีลายมือโย้ ๆ เย้ ๆ เขียนแนบมาว่า … “ระวังหน่อยนะ อย่าพกบัตรไว้ในกระเป๋ามาก ๆ หายไปแล้วลำบากไหม!!!”

สันนิษฐานได้ว่าคนล้วงก็จะเป็นคนเดิม ๆ ที่ล้วงกระเป๋าเราเป็นประจำ หลาย ๆ ครั้งเข้าถึงกับอิดหนาระอาใจ ทำไมมันซุ่มซ่าม ปล่อยให้ล้วงกระเป๋าได้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างนี้นะ ส่งบัตรคืนให้หลายครั้งแล้ว…ชักเบื่อแล้วนะ (ฮา ๆ)

        เมื่อมีเศษสตางค์ในกระเป๋ากางเกง ล้วงง่ายหยิบง่าย คราวนี้เมื่อเจอคนขอเงิน ขอทานอยู่ที่ไหน ก็มักจะล้วงให้อย่างสบายใจ จนล้วงกระเป๋าแล้วไม่มีเศษสตางค์เมื่อไหร่ก็เลิกให้…จบกัน  ทำอยู่เช่นนี้เรื่อยมา หลัง ๆ เพื่อน ๆ ที่เดินด้วยก็จะบอกว่า ไม่ควรให้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้เขาไม่ทำมาหากิน เสียนิสัย แล้วเดี๋ยวนี้ขอทานก็มักเป็น “ต่างชาติ” มาเป็นแกงค์ขอทาน ทำกันเป็นอาชีพ เป็นล่ำเป็นสัน เราให้เพราะเราสบายใจ คิดว่าได้บุญ (คิดว่าตัวเองทำดี ให้ทาน เป็นนางเอกหรือไง) แต่ความจริงกลับได้บาป เพราะทำให้เขาไม่คิดพึ่งตัวเอง ยิ่งเอาเด็ก ๆ (ที่ไร้เดียงสา) ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มานั่งขอทานด้วย แย่ไปอีก แล้วยังว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์มหภาค จะทำให้เกิดแรงงานแฝง ทำลายระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแรงร้าย…

 โดยสรุปแล้ว ไม่ควรให้เงินขอทาน ถ้าจะช่วย ควรช่วยให้เขาได้พึ่งตนเองอย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี มากว่าให้ตามกิเลสของตัวเองที่อยากให้!!!

 

ฟังเหตุผลของเพื่อนแล้วก็ร้องโอย…

    …ช่างคิดกว้างคิดไกลจริง ๆ เพื่อนเอ๋ย เรานี่ทำไปตามระบบประสาทอัตโนมัติ (มีสิ่งเร้าก็ตอบสนองไป)ไม่ได้คิดอะไรถึงผลดีผลเสียผลได้อะไรเลย หลัง ๆ พอจะควักเศษสตางค์ให้ขอทานก็หยุดนิดหนึ่ง แต่ก็ทำเหมือนเดิม … โธ่เอ๋ย ก็ยืนอยู่ตรงหน้าเขาแล้ว ตาดำ ๆ รออยู่อย่างมีความหวัง ให้มากให้น้อยก็ไม่เคยบ่นด้วย ให้เหอะ บาทสองบาทเองน่ะ…

มาย้อนคิว่าอะไรทำให้เราทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ แบบนั้น ทั้งที่ก็เห็นก็รู้ก็ตระหนักผลดีผลเสียทั้งภาพใหญ่ภาพย่อยที่เพื่อนชี้ให้เห็นนั้นแล้ว ยอมรับว่าไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเร่งกระบวนการนำคนและเด็ก ๆ มาขอทาน พอเจอสถานการณ์เดิม ก็…ทำแบบเดิมอีก แล้วยังสามารถหาเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ สนับสนุนความคิดความเชื่อ สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเองได้เป็นตุเป็นตะ หลอกตัวเองด้วยการแก้ตัวอ้อม ๆ แอ้ม ๆ ว่า…ฉันก็แค่ให้สิ่งเล็ก ๆ ที่ฉันให้ได้ ไม่เดือดร้อน ก็แค่ให้น่ะ ไม่ได้คิดอะไรมากมายสักหน่อยเลย (ให้เพราะอยากให้ เห็นว่าควรให้ความช่วยเหลือไม่ได้หรือไงเล่า)

 

         ไปอ่านเจอเรื่อง Mental model (ทฤษฏีรูปแบบความคิด/รูปแบบความเชื่อฝังใจ) ของ Kenneth James Williams Craik (K.J.W. Craik) (1914-1945) ซึ่งกล่าวโดยรวมสรุปย่นย่อ ก็คือ รูปแบบความคิด ที่เป็นพื้นฐานของพฤติกรรมมนุษย์ เป็นกระบวนการของความคิดที่ส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ของบุคคลต่อคนอื่น สิ่งแวดล้อมรอบตัว และการมองโลก เป็นความคิดรูปแบบที่ฝังใจ เป็นความเชื่อของบุคคล  Mental model ยังส่งผลดีคือทำให้บุคคลมีความมุ่งมั่น กระตือรือร้น เพราะมีภาพความคิดความเชื่อที่ชัดเจนและฝังใจในการจะไปสู่เป้าหมายของตน

แต่…ในขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังคือ การมีภาพความคิดความเชื่อที่ฝังใจนี้ หากเป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ถูกต้องเที่ยงตรง หรือขัดแย้งกับค่านิยมของสังคมที่ตนอยู่แล้ว ก็อาจส่งผลเสียทั้งในระดับบุคคลและสังคมได้

 

        Mental model นี้จึงน่าจะใช้สำหรับทำความเข้าใจและวิเคราะห์พฤติกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างไปจากเกณฑ์ปกติที่สังคมนิยมกัน (ไม่หมายรวมถึงบางพฤติกรรมบางสังคมถือว่าดี ยอมรับได้ แต่ในบางสังคมกลับเป็นสิ่งที่เสียมรรยาทอย่างร้ายแรง ยอมรับไม่ได้เลยก็มี) ว่าดีว่าถูกต้องหรือไม่ดีไม่ถูกต้อง

       คิดได้แล้วก็ยิ้ม…เข้าใจขึ้นมาว่า ที่คนเราคิดต่าง เห็นต่าง พูดต่าง ทำต่างกันไปอย่างที่บางทีเราไม่เข้าใจเขาหรือเขาไม่เข้าใจเรา ก็เพราะต่างมีกรอบของ Mental model นี้มาต่างกันนั่นเอง  นึกต่อไปว่า สำหรับในเด็กอายุไม่เกิน 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงของการสร้างระบบ Mental model เราคงต้องระวัง เพราะหากมีการสร้างกรอบความคิด/ความเชื่อที่ผิด ๆ หรือบิดเบี้ยวแล้ว ก็ให้น่าเป็นห่วงและเป็นอันตรายมากทั้งต่อตัวเขาเองในฐานะปัจเจกชนและต่อสังคมโดยรวม

        แล้วไม่ใช่เพราะเจ้า กรอบความคิด/ความเชื่อที่บิดเบี้ยว ไม่ตรงกับความเป็นจริงนี่หรอกหรือ ที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมอย่างที่เราคาดไม่ถึงมาแล้ว

 

แค่เรื่องอยากจะให้นี่…คิดต่อไปยาวเสียจริง…

 

« « Prev : ที่เรียกว่า…ชีวิต

Next : วารวัน-ความฝัน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 nuaor ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 เวลา 11:49 (เช้า)

    แค่เราคิดที่จะให้ เราก็มีความสุขแล้วนะค่ะ ถ้ายิ่งเราได้ให้ไปแล้ว เห็นคนรับมีความสุข เรายิ่งมีความสุข ยิ่งให้ ยิ่งได้นะค่ะ

  • #2 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 เวลา 4:57 (เย็น)

    วันก่อนมียายแก่ๆมาขอยืมตังค์ ไม่ให้บอกลูกแกด้วย เราก็นึกในใจเบื้องต้นว่าจะได้คืนไหมหนอ….แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าให้แกไป ถ้าไม่คืนก็ไม่เป็นไรถือว่าทำบุญให้กับแก เพราะรู้จักกันหลายปี เอากระเช้าของขวัญไปให้แกทุกปี แกอวยพรยืดยาวทุกปี นี่แกเอาเงินมาคืนเกือบครบแล้ว แกอวยพรให้มีเงินเป็นล้าน แกจะให้ดอกเบี้ยก็ไม่เอาบอกให้แกไว้ทำบุญ แต่ไม่ได้หมายความว่าใครขอยืมตังค์แล้วจะให้ เพราะบอกกับภรรยาว่าเหตุผลที่แกยกมาอ้างขอยืมตังค์น่ะ ผมไม่เชื่อหรอก แต่แกคงเดือดร้อนจริงๆน่ะ ตอนนี้ก็เลยเอาเงินที่แกมาคืนไปทำบุญกับเจ้าคณะอำเภอที่ตะกั่วป่า ไม่รู้เป็นไงนึกอยากทำบุญเฉยๆ คงเป็นเหมือน freemind ที่นึกอยากให้ก็ให้โดยไม่คิดอะไรนั่นแหละ…..สำคัญอยู่ที่ว่าเราให้แล้วสบายใจเราได้บุญตอนนั้น พอแล้ว…

  • #3 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 เวลา 7:51 (เย็น)

    น้องnuaorคะ

    จะว่าไป การให้แค่นี้ไม่ได้มากมายอะไร แล้วกุศลจิตก็ไม่ได้เกิดอะไรมากมายนัก เป็นการให้ตามที่อยากให้มากกว่า แม้จะรู้สึกไม่ค่อยดีกับการที่จะต้องรู้สึกผิดที่รู้ทั้งรู้ว่า การให้แบบนี้ไม่ได้ช่วยเขา แต่ก็ยังให้ตามความเคยชิน ดังที่ทฤษฏี Mental model ที่พี่ศึกษามาว่า เราทำอะไรมักจะเป็นเพราะเรามีความเชื่อฝังใจเสียมากกว่าการคิดและไตร่ตรองแล้วนั่นเองค่ะ

  • #4 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 เวลา 7:58 (เย็น)

    ขอบคุณประสบการณ์ดี ๆ จากท่าน อัยการชาวเกาะ ค่ะ

    เคยมีประสบการณ์คล้ายกันกับท่านค่ะ เพื่อนสนิทให้เซ็นค้ำประกันกู้สหกรณ์หนึ่งแสนบาท ตั้งแต่สมัยทำงานแรก ๆ เงินเดือนไม่กี่พันบาท เพื่อนลาออกไปและไม่ได้ส่งงวดเงินกู้ ร้อนถึงคนค้ำต้องไปจ่ายแทน…เสียใจมาก เพราะต้องจ่ายหนี้ที่ไม่ได้สร้าง และที่เสียใจมากกว่าก็คือ เสียเงินแล้วยังเสียเพื่อน ไปอีกด้วย เพราะเพื่อนไม่ติดต่อมาเลย

    หลายปีผ่านไปวันหนึ่งได้เบอร์ของเพื่อน จึงโทรไปหา พอรู้ชื่อเธอก็ตกใจมาก รีบบอกว่าไม่ได้ตั้งใจหนีหนี้ …ฯลฯ  บอกเพื่อนว่า … แค่คิดถึงเพื่อน ไม่ได้ตั้งใจทวงหนี้ เพราะเงินที่เสียไปแล้วก็แล้วไป แต่ไม่อยากเสียเพื่อนดี ๆ ไปอีกคนหนึ่ง… เพื่อนคนนี้กลับมาคบหากันอีกและทะยอยจ่ายหนี้ให้จนครบจำนวน…

    ดีใจที่ไม่เสียเพื่อน … และผลพลอยได้คือได้เงินคืนพร้อมกับคืน “ศักดิ์ศรี” ให้กับเพื่อนด้วยค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.083569049835205 sec
Sidebar: 0.040771007537842 sec