บรรจงพิมพ์

6 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 30 มิถุนายน 2010 เวลา 9:48 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2334

1234
นึกถึงตอนทำงานใหม่ ๆ

พิมพ์งานยังไม่คล่อง ต้องจิ้มทีละนิ้ว ค่อย ๆ จิ้มสองนิ้ว สามนิ้ว สี่นิ้ว … ต่างจากปัจจุบันที่ทุกคนต้องพิมพ์งานเอง ร่างงานในเครื่องคอมพิวเตอร์เอง One stop service ว่างั้นเถอะ


ที่ทำงานในขณะนั้น มีพนักงานพิมพ์ดีดอาวุโสคนหนึ่ง (ตอนนี้เกษียณไปแล้ว) พี่คนนี้เป็นคนใจดี พูดจาอ่อนหวาน อารมณ์ดี ทุกคนในสำนัก ฯ จะชอบให้พี่พิมพ์งานเพราะรวดเร็ว ผิดพลาดน้อย และไม่ค่อยปฏิเสธงาน (ที่ใครต่อใครยกมาให้พิมพ์ และขอเร็ว ๆ ขอด่วน ๆ)

นักวิชาการชอบนั่งเขียนงานตอนช่วงเช้า พอบ่าย ๆ ก็จะต้องรีบส่งงานให้หัวหน้าพิจารณา เพื่อรอส่งไปยังผู้ใหญ่อีกระดับหนึ่งพิจารณา ลงนาม อนุมัติ ไปตามขั้นตอนอันยาวเหยียด… (ของงานราชการไทย)


งานที่รอพิมพ์ มักจะประเดประดังกันในช่วงบ่าย ในขณะที่พนักงานพิมพ์มีเพียง 2 คน พี่คนพิมพ์ก็มักจะเกรงใจ เลือกพิมพ์งานให้พี่ ๆ อาวุโสกว่าเรา ทั้ง ๆ ที่เราส่งต้นฉบับไว้ให้ก่อน เลือกปฏิบัติอย่างนี้ได้ไง… ชักยั๊วะแล้วนะ…

น้อง พี่จ๋า ๆ หนูส่งก่อนนะ ทำไมไม่พิมพ์ให้ก่อนล่ะคะ

พี่ พิมพ์อยู่จ้า น้องจ๋า … หันมายิ้มเอาใจ มือก็พิมพ์ไป

น้อง พิมพ์อยู่อะไรล่ะ มันไม่ใช่ของหนูนี่นา หนูส่งคนแรกเลย
ทำไมไม่พิมพ์ให้ก่อนล่ะ …งอนละนะ…

พี่ โอ๋ ๆ พิมพ์จ้ะ ของน้องน่ะ เป็นคนน่ารัก ต้องพิมพ์ให้แบบสวย ๆ

น้อง พิมพ์สวย ๆ ยังไงอ่ะ … งง ๆ นิดหน่อย มามุขไหนนี่

พี่ ก็ต้องพิมพ์ช้า ๆ ตั้งใจ “พิมพ์แบบบรรจง” ผลงานก็จะได้น่ารัก
และสวย ๆ เหมือนเจ้าของต้นฉบับไงจ้ะ .. เสียงหวานเอาอกเอาใจ

น้อง “พิมพ์แบบบรรจง”…. ฮ่า ๆ ๆ โห พี่เข้าใจคิดจังแฮะ

พี่ จริงจ้ะ ของบางคนพี่ก็ “พิมพ์หวัด ๆ” ไม่ “พิมพ์บรรจง”แบบของน้องนะ

น้อง ได้เลยพี่ แหมปลื้มจริง ๆ รอต่อไปอย่างมีความสุข… หน้าบานหายงอนไปเลย


นี่เองสินะ วิธีการทำงานการจัดการกับปัญหาอย่างมีอารมณ์ขันและมองโลกในแง่ดี แค่เลือกคำพูดดี ๆ หยอดอารมณ์ขำ ๆ บรรยากาศตึงเครียดก็ผ่อนคลายลงได้แล้ว

12345

ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ อารมณ์ดี…
อย่างนี้เรียกการจัดการกับปัญหาแบบ “บรรจง ๆ”
ไม่ใช่ แบบ “หวัด ๆ” ไงล่ะ!!!

1234

แล้วพิมพ์ “แบบบรรจง” กับ พิมพ์ “แบบหวัด ๆ” นี่ คงคล้ายก้บการเขียนแบบบรรจง กับ เขียนแบบหวัด ๆ ล่ะสินะ…


เว้นวรรค

10 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 24 มิถุนายน 2010 เวลา 10:26 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 3266

วันนี้…

       คิดถึงคำว่า “เว้นวรรค”  โดนบ่นจากหัวหน้างาน เมื่อครั้งเข้าทำงานใหม่ ๆ ว่า  เขียนหนังสือติดเป็นพรืด อ่านยาก เว้นวรรคบ้างสิ

          เขียนหนังสือยังไงนี่ ไม่มีวรรค ไม่มีเว้น…

         ที่ควรเว้นก็ไม่เว้น ส่วนที่ไม่ควรเว้น ก็เว้นเสียจัง…

 

         ตอนหัดจัดอาร์ตเวิร์คหนังสือที่จะพิมพ์เผยแพร่เล่มแรก ๆ ก็ใส่ตัวหนังสือจนเต็มหน้า คิดแบบไม่รู้สีสาว่า ใส่ ๆ ไว้ให้เต็มหน้า จะได้ไม่เปลืองหน้ากระดาษ หนังสือไม่หนาเกินไป ประหยัดทรัพยากรโลกด้วยการไม่ใช้กระดาษมากไปด้วย

        หัวหน้าเรียกเข้าไปคุย สอนไปหัวเราะไป … คนเรานี่ทำอะไรต่างคนก็ต่างเหตุผล คิดเห็นว่าดีแล้วสิ จึงพูดจึงทำเช่นนั้น หารู้ไม่ว่าที่แท้อหังการ ตัวตนใหญ่โต

เหตุผลที่เราคิดเองเออเองว่าดีว่าถูก ใช่แน่แล้ว บางทีมันไม่ใช่ … พอมีคนแย้งเห็นต่าง เราก็ เอ๊ะ นายเป็นใครมาจากไหน(วะ)เนี่ย กวนอารมณ์เสียจริง ไปเลย ไปให้พ้น ๆ ฉันไม่สนใจแกเลย (เอาเข้าไป)

 

        หัวหน้าบอกว่า มานี่ ๆ … ปู่จะบอกให้… คนเราพูดน่ะยังต้องหยุดหายใจ ทำอะไรก็ต้องมีทิ้งช่วงมีพัก ตัวหนังสือในหนังสือก็เหมือนกัน เบียดเสียดยัดเยียดขนาดนั้น จะมีช่องพักสายตาที่ตรงไหน แล้วยังสอนต่อว่า รู้ไหมสิ่งที่ยากมากในการเขียนหนังสือก็คือ การรู้ว่าเราควรที่จะเว้นวรรคตรงไหน ขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่อไหร่  ถือเป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

 

ท่องไว้ ท่องไว้ … Space Space ….Space is peaceful

 

        มาคิดถึงตอนนี้ได้ยิ้มละมุนละไม อ้อ… เว้นวรรค/ช่องว่าง นี่ อย่าดูแคลนว่าไม่สำคัญ ในการเขียนหนังสือหากไม่มีการเว้นวรรค ก็จะอ่านยาก ลายตาและหากเว้นวรรคผิดที่  ความหมายก็อาจไปคนละเรื่องละราวกับที่อยากจะสื่อ

 

คิดต่อไปว่า…

       การใช้ชีวิตก็คงเป็นเฉกเช่นเดียวกัน หากอยากมีความสุข สนุก ไม่เคร่งเครียดและอยู่ได้กับบางสิ่งบางอย่างนาน ๆ อาจต้องเรียนรู้ศิลปะในการ “เว้นวรรค” เสียบ้าง

 

       ว่าแล้ววันนี้ “เว้นวรรค” เสียทีก็ดีเหมือนกัน 

 

       เมื่ออ่านหนังสือจบแล้ว ก็ควรปิดหน้งสือเล่มนั้นลง จะเปิดค้างเติ่งไว้ทำไม อ่านจบได้สาระข้อคิด ได้ความรู้แล้ว ก็ย่อยเสียให้ดี ส่งไปเป็นสารอาหารให้สมองและจิตใจ แล้วก็…

 

ขึ้นบรรทัดใหม่หรือย่อหน้าใหม่ไปเลย…

;)


วาดฟ้า วาดฝัน

7 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 เวลา 10:53 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 3191

 

“อยากจะวาดท้องฟ้า ก็วาดเถอะ

ถ้าทำเลอะก็จงลบและวาดใหม่

วาดอาทิตย์ส่องสว่าง ณ กลางใจ

ไล่ความมืดออกไปจากใจเธอ”

 

Dscn03488

 

 

       ชีวิตที่ปราศจากความฝัน ไม่กล้าคิด กล้าทำ กล้าหวัง คงหดหู่ ไร้สีสัน และไร้สุข ต้องฝันให้ไกล ฝันให้ใหญ่ อย่าหยุดฝัน คนที่ไม่มีความฝันก็คือ คนที่ “ตายแล้ว”

 

       อ๊ะ ๆ งั้นต้องฝันทุกวันล่ะสินะ ไม่งั้นกลัวตกกระแส (โลกาภิวัตน์) ฝันวันละหลายอย่าง ฝันระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว (เหมือนแผนงาน โครงการที่หน่วยงานทำเลยนะ)

 

       อ้อ…ฝันแล้ว ก็ “ทำ” ด้วยล่ะ เอาแต่ฝัน ไม่ทำเลย เหมือนโครงการระดับชาติ (หน้า) หลายโครงการ

 

       เอาล่ะสิ … ฝันแล้วทำแล้วประเมินผล ฝัน-ทำ-ประเมินผล ฝันใหม่-ทำอีก-ประเมินผล…เหมือนหนูถีบจักร เมื่อไหร่จะหยุดนะ (หยุดไม่ได้หรอก หยุดก็คือถอยหลังแล้ว)

 

เหนื่อยจัง…

 

พอตื่นขึ้นมาวันหนึ่ง ทำไมฟ้าก็เป็นสีเทาหม่น ๆ หมอง ๆ มัว ๆ ซึม ๆ โดยไม่รู้สาเหตุ ไม่อยากฝัน ไม่อยากทำ ไม่อยาก ๆ ๆ ๆ

 

        ตำราทางจิตวิทยา/จิตเวช เรียกว่าอาการซึมเศร้า (Depressive episode) อย่างเบา ๆ ซึ่งทุกคนมีโอกาสที่จะพบเจอกับอาการนี้ได้  บอกว่าต้องหากิจกรรมดี ๆ ทำ พบปะผู้คน ออกไปนอกบ้าน คุยกับเพื่อน คิดบวก ๆ ๆ อย่าหมกมุ่นกับความคิดและสิ่งแวดล้อมเดิม… และอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วนวิธี (นอกจากการใช้ยา)

 

        คุยกับหลวงพี่ (ที่เรียนด้วยกัน) ท่านบอกว่า เป็นอาการ “จิตตก” และสาเหตุที่แท้ของอาการนี้ก็คือ “การขาดสมาธิ” นั่นเอง

 

อ้อ… ที่ฟ้าเทา ๆ อารมณ์มัว ๆ ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุก็เพราะเราขาดสมาธิหรือนี่?

 

         หลวงพี่สอนต่อว่า จิตมันดิ้นรน ซัดซ่ายเพราะคิดหลายเรื่องมากเกินไป คิดมาก ๆ เข้า จิตก็เหนื่อย หมดกำลัง เลยจิตตก ให้พยายามตั้งมั่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมุ่งมั่น จะเกิดสมาธิ จิตก็มีกำลังตั้งมั่นขึ้น เป็นการยกจิตไม่ให้ตกลงไป

 

อ้อ…เราต้องจิตตกแน่แล้ว ก็ยุงมันตีกันในหัวเราทุกวัน ๆ ๆ

 

พอได้คำตอบ… ก็ยิ้มได้ หาย “จิตตก” ในทันทีทันใดที่รู้สาเหตุ…อา…ได้รู้อีกอย่างว่า การได้ “คำตอบ” ก็ช่วยให้เรามุ่งมั่น มีสมาธิ หายจิตตกได้ด้วยนะ

 

ตั้งใจใหม่อีกที…

คราวนี้จะ “วาดฟ้าวาดฝัน” ก็วาดทีละหน้า ทีละตอน

ทีละเฟรมก็แล้วกันนะ

 


คนเดียว ก็เหลือจะพอ

10 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 24 พฤษภาคม 2010 เวลา 9:34 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 2094

 

บันทีกนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะจ้วงจาบหรือกล่าวอ้างถึงนักการเมือง เป็นบันทึกความคิดของเจ้าของบันทึก ไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือความฝักใฝ่ทางการเมืองค่ะ

 

 

        เหตุการณ์ที่ได้ประสบ พบเห็นในช่วงที่ผ่านมา…

ทำให้หวนคิดไปถึงอาจารย์ที่เคารพตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมปลาย ท่านสอนวิชาภาษาอังกฤษ แต่มักจะมอบหมายงานให้นักเรียนไปอ่านและนำเสนอหน้าชั้น เรามักจะแอบนินทาท่านว่าชอบให้รายงานเด็ก ตัวเองสอนสบาย ๆ เวลาส่วนมากในห้องที่เหลือจากการมอบหมายงานแล้ว ท่านมักจะเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น จำได้ว่าท่านพูดถึงว่า

 

       ในสังคมใด ๆ ก็ตาม ต้องการ “คนดี” มาก ๆ  หน้าที่ของเราคือต้องช่วยสนับสนุนคนดีให้ทำหน้าที่ของเขาได้  ส่วน คนเลว” นั้น แม้มีเพียงคนเดียวก็ทำให้สังคมในหมู่ชนปั่นป่วน วุ่นวายเสียหายได้มากมาย  ดังนั้นครูจึงชอบใช้เวลาในชั้นสอนให้พวกเราเป็น   ”คนดี” ซึ่งไม่มีวิชานี้ในตารางสอนเลย ส่วนเนื้อหาวิชาการนั้น จะหาอ่าน หาเรียนที่ไหนก็ได้

 

        จำได้ว่าตอนฟังอาจารย์นั้น ยกมือทำหน้าทะเล้นถามอาจารย์ว่า งั้นแสดงว่า “คนเลว” มีศักยภาพและความสามารถมากกว่า “คนดี” ใช่ไหม เพราะเทียบกันตัวต่อตัวแล้ว คนเลวทำอะไรได้มากกว่าคนดีอย่างเทียบกันไม่ติด (แล้วจะมาพร่ำสอนให้เราเป็น คนดี ทำไมกัน)

 

       อาจารย์ตอบว่า ก็ขึ้นกับว่าเราจะมองแง่มุมไหน หากเทียบการกระทำ โดยไม่คิดว่าอะไรดี อะไรเลว ก็อาจบอกได้ว่าคนเลวมีศักยภาพและความสามารถมากกว่าคนดี แต่ต้องดู “ผล” ของการกระทำเป็นหลัก เพราะทำอะไรได้มากแค่ไหน หากเป็นการทำร้ายตัวเองและคนอื่น ทำร้ายสังคมประเทศชาติแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นคนที่มีศักยภาพหรือมีความสามารถหรอก…

 

       วันนี้เพิ่งนึกถึงประเด็นนี้ของคุณครูได้…นึกรักคุณครูจับใจ อยากให้มีคุณครูที่สนใจและตั้งใจสอนให้นักเรียนเป็น “คนดี” มากกว่าสอนเพียงวิชาการในหนังสือ … ด้วยหวังลมแล้ง ๆ ว่า

 

 

       …สังคมประเทศชาติของเราจะได้ดีขึ้นกว่านี้!!!

 

 

 


อย่าเชื่อสิ่งที่เห็น

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 18 พฤษภาคม 2010 เวลา 10:35 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 2123

 

      จำได้ตอนเป็นเด็กนักเรียน ในวัยนั้นเรามักจะเลี่ยงหลบ ไม่สบตากับครูที่ดุ ๆ แถมท้ายด้วยการแอบเม้าท์ตั้งสมญานามให้คุณครูลับหลังต่าง ๆ นานา

 

คุยกับเพื่อน ๆ น่าแปลกที่หลังจบออกมาแล้ว คราใดที่เรากลับเข้าไปในโรงเรียน เราต้องเร่งรี่เข้าไปสวัสดี ไปกอดคุณครูที่ดุและเรามักจะเลี่ยงเสมอ ๆ และด้วยความรู้สึกที่ดีด้วยนะ ไม่ต่างจากการเข้าไปหาคุณครูใจดีหรือนางฟ้าของเราตอนยังเป็นนักเรียนอยู่

 

เรานิยามความรู้สึกนี้ว่า “รู้สึกเอี่ยม ๆ” คือ ไม่กลัว รักและเข้าใจที่ท่านต้องคอยดุว่า จ้ำจี้จ้ำไชเรา และยังรู้สึกขอบคุณอย่างมากมายที่ท่านได้คอยกำราบเราให้ตั้งใจเรียน อยู่ในกฎระเบียบ ไม่ให้กลายเป็นเด็กเกเรและไม่ได้เรื่องได้ราว

 

ครั้นพอมาทำงาน โลกเปลี่ยนไป เราต้องพบเจอคนหลากหลาย  เราต้องหัดเรียนรู้ความแตกต่างของ “คน” บางคนก็ดูดุ เคร่งเครียด (แน่นอนเราย่อมไม่อยากเข้าใกล้) บางคนใจดี อบอุ่น (แหงล่ะ เราต้องชอบเข้าใกล้)  

 

      ยิ่งผ่านเวลาและประสบการณ์ไปอีก เราก็ยิ่งอัศจรรย์ใจว่า ไม่ใช่อย่างที่เรา “เห็น” หรือ “ตัดสิน” ไว้ก่อนหน้านี้เสียทุกครั้งหรอกนะ

 

เคยไหม …คนบางคน มีแต่คนบอกว่าใจดี อบอุ่น เป็นกันเอง แต่เรากลับรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ถามว่าเกิดอะไรขึ้น … คิด ๆ ๆ ๆ หาคำตอบ เราไปทำอะไรให้เขาไม่พอใจนะ เอ…รึว่า ไอ้คำว่า “ศรศิลป์ไม่กินกัน” นี่ จะมีจริงเสียละมัง… ถามเลยไปถึงคนที่เคยคุ้น สนิทสนมกัน ช่วยกันคิด วิเคราะห์แบบผิด ๆ ถูก ๆ ตามใจตามจริตตัวเอง…

 

ได้คำตอบว่า…คนบางคนเขาเลือกจะดี จะอบอุ่นเฉพาะกับคนที่เขาประเมินว่า “ซูฮก” เขาเท่านั้น หากไม่สวามิภักดิ์ ยอมลงให้ ดีครับ(ค่ะ) ถูกครับ(ค่ะ) เขาก็จะไม่สนใจหรือยอมรับเราอะไรกับเราหรอก…

 

เอ๊ะ…ไม่ยักจะเหมือน “ครู” เมื่อยามที่เราเป็น “นักเรียน” เลยแฮะ!!!

 

งั้น หากจะไม่ “รุ่ง” ในหน้าที่การงานเพราะ ไม่เป็นที่โปรดปรานของผู้ใหญ่ ก็คงต้องทำใจ ยอมรับ ก็จะทำไงได้ ยังหาข้อที่จะ “ซูฮก” ไม่ได้นี่ คงไม่ใช่ว่าท่านจะไม่มีข้อดีหรอก แต่เราไม่ได้เจอะเจอสัมผัสกับ มุมดี ๆ ของท่านพอที่เราจะซูฮกได้ต่างหากเล่า

 

ข้อสรุปของบันทึกนี้… “อย่าเชื่อสิ่งที่เห็น บางทีก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป”

 



Main: 0.0312180519104 sec
Sidebar: 0.0328049659729 sec