สองคำถาม

โดย freemind เมื่อ 8 กันยายน 2010 เวลา 9:50 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 2749

8-O

@@@ในการเรียนรู้ เราก็ต้องสอนเด็กให้มีวิจารณญาณ พอเด็กรับข้อมูลต่าง ๆ เข้ามา เด็กจะต้องรู้จักตั้งคำถาม 2 คำถามในทันทีว่า ดีสำหรับเราหรือไม่ และดีสำหรับทุกคนหรือไม่ ถ้าดีทั้งสองอย่างก็เอาไปใช้ได้เลย แต่ถ้าไม่ดีต้องปฏิเสธมัน อย่าไปสนใจข้อมูล รู้จักปล่อยวาง นี่คือการที่เราใช้วิจารณญาณ สมมติเราคิดว่าสิ่งนี้ไม่ดีสำหรับเรา เราก็จะส่งแรงเสริมเข้าไป ครั้งต่อไปมันจะตีความได้เองว่าใช้ไม่ได้ เพราะเราได้ใส่ข้อมูลเข้าไปใหม่แล้ว…

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส

@@@ พบข้อความนี้ในหนังสือ อัจฉริยะบนเส้นทางสีขาว ที่ครอบครองไว้นานแล้ว หยิบมาปัดฝุ่นพลิก ๆ เปิด ๆ เป็นอาหารสมองยามเช้าพร้อมกาแฟ

@@@ โดนใจกับข้อความนี้… มนุษย์เราหากขาด วิจารณญาณคงทำให้อยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลนี้ได้ยาก และการเรียนรู้ที่มีวิจารณญาณนี้ มีส่วนช่วยกำหนดให้มนุษย์รู้จักกำกับความคิด/ความเห็น/คัดสรรสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ได้

@@@ บางทีนะ…ถ้าเราหลาย ๆ คน (คงเป็นไปไม่ได้ที่จะ ทุกคน) เรียนรู้พร้อมทั้งใช้วิจารณญาณว่าสิ่งที่กำลังเรียนรู้นี้ ดีสำหรับเราหรือไม่ และดีสำหรับทุกคนหรือไม่ โลกนี้จะสงบสุขขึ้นอีกอักโขเลย

ไม่แปลกใจกับตัวเองแล้ว เพราะแม้จะเคยอ่านหนังสือบางเล่มแล้ว พออ่านอีกครั้ง (หรือหลายครั้ง) ก็ต้องพบประเด็นที่โดนใจ ด้วยกำลังครุ่นคิดอยู่ในเรื่องนั้น

@@@ อาจอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ว่า เมื่อเราตั้งใจ มุ่งมั่นครุ่นคิดต่อสิ่งนั้น สิ่งนั้นย่อมปรากฏขึ้นต่อ ผัสสะ ของเรา และหากกล่าวในแง่ของจิตวิทยาสมัยใหม่ที่กำลังฮิตติดตลาด เช่นเรื่อง พลังดึงดูด (Law of Attraction) ที่มีหลักการว่าสิ่งที่เราครุ่นคิดอย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง คิด พูด ทำซ้ำ ๆ จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแก่เรานั่นแหละ

ส่วนตัวแล้วคิดว่ามีข้อควรระวังด้วยว่า บางคนก็เข้าใจผิดเพราะเอาแต่คิด ๆ พูด ๆ แล้วก็หวังว่าจะเกิดผลตามที่ตัวเองคิดและพูดซ้ำ ๆ (โดยไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงจัง) แล้วจะได้ผลนั้น (เป็นไปได้ไง) เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

……ว่าแล้วก็ได้แต่ยิ้ม (อย่างปลง ๆ ตัวเอง) พุทธศาสนาได้กล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรสักหน่อยเลย แต่เราไม่ได้ศึกษาค้นคว้า เลยต้องไปเที่ยวอ้างจิตวิทยาสมัยใหม่ของฝรั่ง เสียเงินเสียเวลาต้องไปเข้าคอร์สอบรมกันแพง ๆ ถึงสิงคโปร์บ้าง อเมริกาบ้าง นั่นเพราะเราติดนิสัยที่จะ คว้า มากกว่าการ ค้น นั่นเอง

@@@ ขึ้นต้นเป็นเรื่องการเรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณ แต่ลงท้ายบ่นอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็พอจะดึงให้เกี่ยวกันได้บ้างว่า…หากเรามีวิจารณญาณที่ถูกตรงแล้ว เราก็จะรู้ว่าควร ค้นคว้า มากกว่าแค่ คว้า นั่นไง

จบได้เหมือนกันแฮะเรา…

;-)

ปล. ภาพประกอบบันทึกนี้เป็นภาพ “ซากของตลาดสามย่านเก่า” ความจริงก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องในบันทึกแต่ดึงมาเกี่ยวกันได้เพราะคิดว่า “สังคมทุนนิยม” นั้น สนใจแต่ว่าอะไรดีสำหรับเรา และละเลยคำถามที่ว่าอะไรดีสำหรับทุกคน

« « Prev : อยู่ดีมีสุข

Next : WATCH » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 sompornp ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 กันยายน 2010 เวลา 4:47 (เย็น)

    แวะตามมาเก็บคำถามสองคำถามไว้ในใจค่ะ
    คิดถึงจัง
    พี่เอง

  • #2 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 กันยายน 2010 เวลา 8:43 (เย็น)

    พี่ที่รัก

    บางคำถามมีคำตอบ บางคำถามก็ไม่มีคำตอบ…งงงงงงงงงงงงงงงไหมคะ…55555….

    หนุ่มเมืองจันท์บอกว่า ปัญหามีสองอย่าง คือ ปัญหาที่แก้ได้ กับปัญหาที่แก้ไม่ได้…
    เจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียเวลา เสียกำลังใจไปแก้นะจ้ะ

    คิดถึงและส่งกำลังใจไปให้ค่ะ
    น้องเอง

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 กันยายน 2010 เวลา 2:31 (เย็น)

    การเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต ช่างถามนั้น ทำให้ผู้นั้นมีโอกาสเข้าถึงความจริงมากกว่า…
    มีตัวอย่างมากมาย

    เกษตรกรในพื้นที่ของพี่ เช่นพ่อแสน ท่านอายุก็มากแล้ว แต่การปฏิบัติของท่านนั้นสอนเรามากมายจริงๆ
    เช่น ท่านถามตัวเองว่า ทำไมคนเราต้องกินอาหารหลายๆอย่าง คุณพยาบาล คุณ อสม คุณหมอ ก็อธิบายอย่างยืดยาว
    แล้วท่านก็สรุปเบื้องต้นว่า งั้น พืชก็คงต้องการอาหารหลายอย่าง

    ข้อสังเกตอีกคือ ทำไมพืชในป่าถึงเจริญงอกงาม ไม่เห็นมีใครไปใส่ปุ๋ยเลย
    อ้อ..เขาเติมให้กันและกันเอง ใบไม้ของต้นไม้สารพัดชนิด มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป เมื่อหล่นลงดินปนเปกันมากมายทับถมย่อยสลายแล้ว ก็กลายเป็นอาหารชั้นเลิศของพืชเองนั่นแหละ นี่คือที่มาของสวนป่าครอบครัว…. ต้องปลูกพืชสารพัดชนิดให้เป็นเหมือนป่าไปเลย เพราะต่างอิงอาศัยกันและกัน

    ดูตำหรับยาโบราณซิ ไม่ใช่ใช้พืชชนิดเดียว แต่มีใบไม้หลายชนิด มีกิ่ง มีเปลือก มีฯลฯ นั่นคือตำหรับยา หากใส่นี้มากแก้สิ่งนั้น หากใส่โน้นมากแก้สิ่งนี้

    เหล่านี้มาจากการสังเกต การถาม การค้นคว้าทั้งนั้น คนโบราณไม่มีโรงเรียนเรียนสักกะหน่อย เน๊าะ..

    พ่อแสนได้รับรางวัลมากมาย รวมทั้งจาก DTAC ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งเดียวในจังหวัดมุกดาหาร

  • #4 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 กันยายน 2010 เวลา 7:26 (เย็น)

    พี่บางทรายคะ

    โลกทุกวันนี้ดำรงอยู่ได้ มีวิวัฒนาการเจริญขึ้น ผู้คนมีความสุขสบายในการดำรงชีวิตมากขึ้น ก็เพราะคนรุ่นก่อน ๆ ท่านเป็น “นักตั้งคำถาม”…จริงไหมคะ

    เพราะสงสัย/ตั้งคำถาม ทำให้เกิดการค้นคว้าหาคำตอบ นำไปสู่สิ่งใหม่ ซึ่งก็อนุมานได้ว่าทำให้โลกเจริญขึ้น … จนเมื่อคนรุ่นหลัง ๆ หลงลืมที่จะตั้งคำถามที่สอง คือ “สิ่งที่คิดที่ทำดีสำหรับทุกคนหรือไม่”.. มัวแต่คิดถึงคำถามที่หนึ่งคือ “ดีสำหรับเราหรือไม่”… เลยทำให้โลกโกลาหลวุ่นวายกัน

    ปราชญ์ชาวบ้าน/ผู้รู้ท้องถิ่นนั้นท่านอยู่กับธรรมชาติ จึงเห็นและเข้าใจสรรพสิ่ง นั่นคือการเข้าถึง “ธรรมะ”

    ชื่นชมพ่อแสนอย่างยิ่งค่ะ การตั้งคำถาม/ตอบคำถามนี้ทำให้น้องคิดไปถึงปราชญ์อีกท่านหนึ่งทางใต้ จำไม่ผิดน่าจะอยู่สงขลา ชื่อ “ป๊ะหรน หมัดหลี” เป็นชาวมุสลิมที่ได้รับการยกย่องเป็น “ครูภูมิปัญญาไทย” ของสภาการศึกษา เจ้าของทฤษฎี “เกษตรธาตุสี่” ท่านจะหยอดเมล็ดพันธุ์พืชหลาย ๆ ชนิด (จำไม่ได้ว่าอะไรบ้าง) น้องถามด้วยความไม่รู้ว่า หยอดลงไปหลุมเดียวหลายเม็ดหลายพันธุ์แล้วมันไม่แย่งอาหารกันหรือ/จะโตหรือ… ท่านหัวเราะตอบว่า… “พืชมันไม่เหมือนคน” มันไม่แย่งกันหรอก….

    แล้วไอ้ที่หยอดลงไปนี่ ก็ต้องสังเกตรู้แล้วว่ามันอยู่ด้วยกันได้ ไม่แย่งทำร้ายทำลายกัน เพราะพืชแต่ละชนิดก็มี “ธาตุ” ประจำตัว เช่น กล้วย จะเป็นธาตุน้ำ ในดินแห้งแล้ง ดินเสื่อมโทรม ต้องไปลงปลูกกล้วยก่อน เพื่อปรับดิน ทำให้ดินดีขึ้น ทุเรียน/ลองกอง/สะตอ ต่างก็มีธาตุที่ช่วยเกื้อกูลกัน (จำไม่ได้ว่าอะไรธาตุอะไรค่ะ) จึงปลูกไว้ด้วยกันในหลุมเดียวกันได้ เป็นต้น

    น้องมั่นใจว่า คงยังมีผู้รู้อีกมากมายที่มีองค์ความรู้่เช่นนี้ หน้าที่นักวิชาการ/NGO/ผู้่ที่มีความรู้ที่เกี่ยวข้อง ก็น่าที่จะได้ช่วยกันค้นหา นำมาเผยแพร่ ทำบันทึกไว้ไม่ให้สูญหายไปนะคะ

    ส่งเบอร์โทรคุณแก่นฟ้าไปให้ทางเมลแล้วนะคะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.070739984512329 sec
Sidebar: 0.044084072113037 sec