ตัวสับไก
คุยกับเพื่อนเก่าที่คบหากันมาตั้งแต่เรียนมัธยม คุยมากมายหลายเรื่อง สมัยเรียนด้วยกันเพื่อนคนนี้เรียนเก่งระดับต้น ๆ ของห้อง เข้าเรียนคณะที่มีชื่อเสียงในมหาวิทยาลัยจบด้วย เกียรตินิยมอันดับ 2 หลังแต่งงานมีครอบครัวไม่ได้ทำงาน แต่ทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ดูแลครอบครัวและลูกเล็ก ๆ อีก 2 คน อยู่ในวัยกำลังซน
เพื่อนเล่าถึงความรู้สึกของการเป็น “แม่บ้าน” ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องทำหน้าที่นี้เลย และยังบอกว่าความรู้ในห้องเรียน จากตำราที่หามาอ่านและศึกษาใช้เกือบไม่ได้เลยกับการรับบทบาทเป็น “แม่บ้าน” ยิ่งฟังยิ่งทึ่ง ชีวิตของการเป็นแม่บ้านที่เพื่อนเล่านี้ เป็นงานหนักและสำคัญราวกับ “แม่ทัพ” ในการศึกทีเดียว
หลังคุยกันกลับมาคิดต่อว่า ความจริงการที่เรามี “ความรู้” ในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ต่อให้รู้มากเพียงใด เราต้องเข้าใจด้วยว่า “ความรู้นั้นจะนำไปใช้ในชีวิตจริง” ได้อย่างไร และยังต้องรู้ไปให้ลึกกว่าการใช้ความรู้นั้นอีกว่า เมื่อนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริงแล้ว … จะเกิด “ผล” อย่างไรในการใช้ความรู้นั้น
คิดเลยเถิด…ไปถึงบางเรื่องราว เรามีความรู้มากมาย ใช้ความรู้นั้น แต่คนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะสามารถคาดได้ถึง “ผล” ที่จะเกิดตามมาอย่างแม่นยำ…
มันเป็นเพราะอะไรนะ?
เรื่องของเพื่อนทำให้คิดต่อว่า เราใช้สิทธิ (Right/Authority) ของการมีความรู้และใช้ความรู้นั้น แต่เราไม่ค่อยเคยคำนึงถึง ภาระหน้าที่ (Duty/Mission) นัก เราจึงมักจะเอะอะ บ่นว่ายามที่เราเห็นคนอื่นไม่ได้อย่างใจของเรา การมองเพียงแง่มุมของตัวเองและมุมที่ตนเองคิดว่าดีว่าใช่ โดยไม่ได้มองว่า จริง ๆ แล้วจากสิทธิที่เรามีและใช้นั้น เราต้องเคารพ “ภาระหน้าที่” ซึ่งเป็นของคู่กันกับ “สิทธิ” นั้นด้วย…
การที่เราตระหนักในภาระหน้าที่ของเรา ทั้งต่อตนเองและคนอื่น สังคมและโลก ช่วยส่งเสริมให้เรามองเห็น “ผล” ที่จะตามมาได้ชัดได้ง่ายขึ้นมากเลย
เอาล่ะ…พอจะเข้าใจบ้างแล้วว่า “ตัวสับไก” ของการมีความรู้ ใช้ความรู้เป็น และสามารถมองเห็นผลที่จะเกิดได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพคือ การตระหนักและให้ความสำคัญกับ “ภาระหน้าที่” ของเราควบคู่ไปด้วยกันนี่เอง
คิดได้แล้วยิ้มเลย…ลองทำดูสักทีน่าจะดีนะ
« « Prev : โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ
Next : โครงการฟื้นฟูสุขภาพของศีรษะอโศก » »
4 ความคิดเห็น
การอยู่บ้านไม่ได้เป็นข้อจำกัดหรอกนะครับ มีเวลาหนึ่งชั่วโมง ก็ทำงานหนึ่งชั่วโมงได้
เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำว่า เราใช้สิทธิ (Right/Authority) ของการมีความรู้และใช้ความรู้นั้น แต่เราไม่ค่อยเคยคำนึงถึง ภาระหน้าที่ (Duty/Mission) ผมไปพูดให้คนในแวดวงเกี่ยวข้องกับเด็กว่าช่วยเพิ่มเรื่องหน้าที่ให้หน่อยเหอะ อย่ามัวแต่พูดถึงเรื่องสิทธิกันนักเลย เด็กเดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าหน้าที่ของตัวจะต้องทำอะไรบ้างกันแล้ว
เห็นด้วยกับคุณLogos ค่ะ
สถานที่ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการทำงาน…
อยู่ที่ความมุ่งมั่นและตั้งใจต่างหาก
ท่านอัยการชาวเกาะคะ
ปัจจุบันเราเรียกร้อง “สิทธิ” แต่ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับ “ภาระหน้าที่” มุ่งแต่จะได้จะำทำตามใจตัวเองถ่ายเดียว เมื่อผู้ใหญ่เป็นเช่นนี้ เด็กก็ย่อมเลียนแบบผู้ใหญ่นั่นเองค่ะ
งั้นทางที่ดีเรามาปรับที่ผู้ใหญ่ก่อนดีกว่านะคะ
ขอบคุณค่ะ