คิดต่าง
อ่าน: 24631234
เดินผ่านไปมาแถวสีลมช่วงเย็นเป็นประจำ ภาพที่สะดุดตาคือ มีนักศึกษา กลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างที่ถือแผ่นกระดาษติดภาพกิจกรรมในค่ายพัฒนาชนบท ค่ายอาสาสร้างห้องน้ำ ค่ายสร้างโรงเรียน ฯลฯ และมีการถือกล่องรับเงินบริจาค เพื่อสมทบทุนในการไปค่ายต่าง ๆ น้อง ๆ ทั้งผู้หญิงผู้ชายจะช่วยกันตะโกนเชิญชวนให้ช่วยบริจาค … บางกลุ่มจะมีโทรโข่ง เครื่องขยายเสียงด้วย บ้างก็มีกลองเล็ก ๆ ตีให้จังหวะเป็นที่ครึกครื้น…สังเกตดูก็เป็นนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบัน ทั้งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมหาวิทยาลัยราชภัฎต่าง ๆ
คิดไปถึงสมัยที่เป็นนักศึกษา บ้าการไปค่ายมาก จนขึ้นชื่อว่าเป็น “เจ้าแม่ค่าย” วันศุกร์บ่ายต้องไปสำรวจ(Survey)ค่าย ต้องโดดเรียนวิชาบ่ายวันศุกร์ ใช้วิธีเข้าไปนั่งหลังห้อง พอเช็คชื่อเสร็จก็หายแวบไป กลับจากค่ายเช้าวันจันทร์ ง่วงมากขอไปนอนพักนิ๊ดเดียว หลับยาว…จนเที่ยง วิชาเช้าวันจันทร์ไม่ได้เรียนตามเคย ตื่นมากินข้าวเที่ยงด้วยความหิวโหย อิ่มมากหลับต่ออย่างไม่ตั้งใจ สรุปรวมแล้ววันจันทร์ก็ไม่ได้เรียนไปอีก 2 วิชา โชคดีที่ตอนสอบ ได้เพื่อนดีช่วยติว เลยพอรอดตัวมาได้ …ฮา ๆ (มีเพื่อนดีเป็นศรีแก่ตัว)
การไป “ค่าย” ก็คือการลงปฏิบัติจริง เห็นของจริง ได้มีประสบการณ์ในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ได้เห็นสภาพความเป็นจริงของชีวิต ได้ตระหนักรู้ว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าเราอีกมาก มีคนที่เสียสละทำงานเพื่อส่วนรวมโดยไม่เคยได้รับการยกย่องหรือรางวัลใด ๆ มีคนเล็กคนน้อยที่ก้มหน้าก้มตาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้สังคมโดยไม่เคยป่าวประกาศให้ใครรู้อีกมหาศาล
นิสิตนักศึกษาในวัยเรียน เป็นวัยที่มีพลังด้านกายภาพล้นเหลือ มีพลังความคิดแปลกใหม่ มองโลกในแง่บวก โลกสดใส ชีวิตยังไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีภาระใด ๆ จึงสมควรที่จะได้ไปค่ายเพื่อได้รับประสบการณ์ตรงอันทรงคุณค่า (ซึ่งหาไม่ได้ในห้องเรียนหรอก)
หลายคนไปค่ายกลับมาแล้ว…พฤติกรรมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะมุมมองและความคิดเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลมาจากการได้มองได้เห็นสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยมองเคยเห็นแบบเดิม ๆ
สรุปโดยรวม ๆ การไปค่ายทำให้ “เห็นต่างคิดต่าง” พฤติกรรมจึงต่างไปจากเดิม
หันมามองการมาระดมทุน ขอรับบริจาคของเด็กรุ่นใหม่ อดจะเปรียบเทียบกับสมัยที่ตัวเองยังทำค่ายไม่ได้… ครั้งแรกที่ทำค่ายจะมีเงินสำรองการทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่พอกับค่ายใช้จ่ายทั้งหมด ต้องมีการระดมทุนเพิ่ม โดยวิธีการต่าง ๆ จำได้ว่าที่ทำก็เช่น
- เขียนโครงการ แล้วขอเข้าพบผู้บริหารของบริษัท เพื่อชี้แจงและขอสปอนเซอร์สนับสนุน บางที่ได้เงิน บางที่ได้ของกินของใช้ และที่คิดว่ามีคุณค่าอย่างประมาณค่าไม่ได้ก็คือ ได้การฝึกความกล้า ฝึกการนำเสนอแนวคิด และสร้างความมั่นใจในตัวเองในการที่จะไปบอกเล่าและขอการสนับสนุนจากผู้ใหญ่
- การทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขายบัตรการกุศลฟังดนตรี เล่นละครหาเงินสมทบทุนค่าย การทำกระเป๋าถัก พวงกุญแจ ทำการ์ดอวยพร ฯลฯ สุดแต่ใครมีฝีมือและความชำนาญทางใด ก็ช่วยกันทำและนำไปขายกับเพื่อน ๆ ได้เงินมาอีกทางหนึ่ง กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกลุ่ม การทำบัญชี คำนวณต้นทุน กำไร และการวางแผนงานและการลงทุน
- การขอเงินสนับสนุนจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะทำ ฟังดูน่าจะง่าย แต่สำหรับตัวเองและบางคนแล้วเป็นวิธีที่ยากมาก เพราะที่บ้านไม่สนับสนุนและไม่เชื่อใจในการให้ลูกหลานของตนไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร (เด็กกรุงเทพฯนี่นะ)
1234นึกขัดข้องหมองใจตงิด ๆ เมื่อมองสิ่งที่เด็ก ๆ ทำกันอยู่ ทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือน้องเอ๋ย มายืนตะโกนปาว ๆ ขอเงิน ๆ คิดอย่างอื่นไม่ได้หรือไงนะ…
หงุดหงิดหน่อย ๆ แล้ว ลองเข้าไปคุยดูดีกว่า ถามว่ามาจากไหน น้องก็บอกชื่อสถาบัน ถามกิจกรรมที่ตั้งใจจะไปทำ คิดว่าจะได้ประโยชน์อะไร ฯลฯ แล้วคิดอย่างไรจึงมาระดมทุนเช่นนี้ คำตอบก็คือ เงินไปค่ายไม่พอ พวกหนู(ผม) เลยต้องหาเงินเพิ่ม ถามต่อว่าคิดว่านอกจากมายืนรับบริจาคอย่างนี้ จะทำอะไรได้บ้าง (ที่มันน่าจะสร้างสรรค์กว่านี้น่ะ…คิดในใจ) ทั้งกลุ่มอึ้งไปนิดหนึ่ง มองหน้ากันเลิ่กลั่ก มาท่าไหนนี่ อีกคนตอบว่า ก็เห็นรุ่นพี่เขาทำแบบนี้กันมาตลอดนี่คะ พวกหนูก็ทำตามน่ะค่ะ…. (แป๋ว!!!)
1234
เดินจากเด็กกลุ่มนั้นมาอย่างหงอย ๆ…
1234...รู้สึกหดหู่ขึ้นมาจับใจ สงสารเยาวชนคนรุ่นใหม่ เมื่อคิดได้แบบเดิม ๆ ที่รุ่นพี่ทำต่อ ๆ ตาม ๆ กันมา สิ่งที่จะทำต่อไปเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ก็คงไม่วายเป็นเช่นที่ว่า … คิดต่อไปอีกว่า ไปค่ายน่ะ จุดประสงค์ก็เพื่อให้ “เห็นต่างคิดต่าง” จะได้ “เห็นถูกคิดถูก” ไม่ใช่หรือ? แล้วนี่มาเริ่มนับหนึ่งผิดเสียแล้ว จะนับต่อไปถูกได้อย่างไรกันเล่า มันก็คงผิดไปทั้งกระบวนการอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
1234
อย่าไปเลยค่าย…น่ะ
ถ้าไม่ปรับความคิดที่จะพึ่งตนเองก่อนไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
ไปค่ายก็คงไม่ได้อะไรหรอก…
« « Prev : มนุษย์
Next : มิตร 6 คน » »
8 ความคิดเห็น
น่าจะบอกเขาด้วย ช่วยให้(ใจ)กระจ่าง
ปัจจุบัน การไปค่าอาสาของเด็ก ๆ มีกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไป (อาจไม่ทุกสถาบัน) ยกตัวอย่างเช่น
1) นิสิตนักศึกษาที่จะไปค่าย จะได้รับเงินตอบแทน เป็ฯเงินที่รัฐบาลหรือส่วนงานได้รับการสนับสนุน ดังนั้น น้อง ๆ ก็จะดูว่า ค่ายไหนที่ให้ค่าตอบแทนก็จะไปกัน (รัฐบาลที่ผ่านมาให้เงินสนับสนุน)
2) วัตถุประสงค์การไปค่ายเปลี่ยนจากการเห็นคุณค่าในความเป็นตัวตน และการให้ เป็นการมองเรื่องเงินเป็นหลัก ไปต้องมีเงิน ไปต้องมีทุน เรื่องเอาแรงงานเข้าร่วมมีน้อยกว่าเดิม จะเป็นการไปให้ความรู้ (ทั้งที่ไปให้ หรือไปเอาความรู้…ไม่แน่ใจ) ไม่ได้เป็นการร่วมด้วย ช่วยกัน ร่วมแรงร่วมใจ วัตถุประสงค์ วิธีการ กระบวนการเปลี่ยนไปเยอะ เคยเสนอให้มีการนำรุ่นพี่ที่เคยออกค่ายสมัยก่อนมาเล่าเรื่องการออกค่ายให้น้อง ๆ เพื่อให้น้อง ๆ เห็ฯกระบวนการ และได้เรียนรู้ แต่ก็มีการโต้แย้งของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ในเหตุผลส่วนตัว ความเปลี่ยนแปลงด้านวัตถุเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เปลี่ยนแปลงในจิตใจนั้น มันต้องเปลี่ยนตามยุคสมัยหรือไม่ (ก็เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจ)
3) ของแถม….ปัจจุบันเรามองและแสวงหาแต่สิทธิของเรา มีการเรียกร้องสิทธิเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน เช่นสิทธิของผู้ป่วย สิทธิของความเป็นมนุษย์ สิทธิในการได้สิ่งต่าง ๆ ที่เราแสวงหา แต่จะมีกี่คนที่จะพูดและกล่าวถึง “หน้าที่” บ้าง หน้าที่ในความเป็นมนุษย์ หน้าที่ของพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ลูก หน้าที่ของการอยู่ร่วมในสังคม หน้าที่…….
แลกเปลี่ยนเรียนยรู้ เล่าสู่กันฟังค่ะ
คิดถึงหลายวันแล้วค่ะ
ความจริงทำอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการ ขั้นตอนการทำ
การคุยกัน วางแผนก่อนทำ ต้องรู้ว่า เจ้าเป็นไผ จะทำอะไร? ทำไปทำไม? เพื่ออะไร?…….
จะทำอย่างไร? ทำไปก็ประเมินไปคือมีสติอยู่ตลอดว่าทำอะไรอยู่ ได้ผลเป็นอย่างไร?
การสะท้อนหลังจากเสร็จกิจกรรม ไม่ว่าจะได้ผลดี หรือไม่ได้ผลก็ได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ทำ
ทำถูก ได้ผลดีก็ได้เรียนรู้ ทำผิด ทำไม่ได้ผลก็ได้เรียนรู้……
เดี๋ยวนี้เจอนักศึกษาจะออกค่าย เขียนหนังสือขอบริจาคพร้อมกับแนบรายการของที่ต้องใช้set ละกี่บาทมาด้วย
ซองจะระบุชื่ออาจารย์เป็นรายคน…ที่สำคัญอาจารย์ที่ปรึกษาค่ายและกิจการนักศึกษาเซ็นชื่อกำกับมาในจดหมายด้วย
…
นึกถึงค่ายสมัยก่อนที่เคยทำ และที่เคยทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาค่ายเมื่อสิบกว่าปีก่อน…กว่าจะค่อยๆเติมความคิดให้เขาจนเขามองเห็นว่าแก่นของการออกค่ายที่เริ่มตั้งแต่การวางแผนค่ายฯลฯ….ในตอนนั้นนักศึกษาเขาเสนอความคิดจัดละครเวที เพื่อหาเงินไปค่าย…เพื่อนคณะอื่นๆก็มาช่วยกัน…สุดท้ายเป็นงานใหญ่ประจำปีที่คนรอชม ทำอยู่สองสามปี ก็เปลี่ยนชุดการบริหารจัดการ…แนวคิดแบบนี้ก็ตกกระป๋องไปตามสมัย………ขอร่วมนึกถึงความหลังแบบคนแก่คนหนึ่งค่ะ
พี่ที่รัก
จะว่าไปน้องก็อยากแจงให้เด็ก ๆ เขาฟังให้กระจ่างใจ… ทั้งน้อง ๆ และตัวเอง…
แต่ประเมินแล้ว น้องกลุ่มนี้ย้ังไม่พร้อมจะรับฟังความคิดแตกต่างไปจากที่เขาได้รับมา ก็เลยคิดเองว่า “เมื่อลูกศิษย์พร้อม ครูจะปรากฎขึ้นเอง” (เซนว่าไว้เช่นนี้)
ความจริงมาคิดดูที่เราหงุดหงิดกับน้อง ๆ ก็เพราะเราเอากรอบความคิดของเราไปตัดสินเขา น้อง ๆ อาจยังไม่ได้คิดอะไรมากมาย เพียงแต่ลองทำ ลองผิดลองถูก … ก็เป็นสิทธิ์ของเด็ก ๆ ที่จะเรียนรู้ไม่ใช่หรือ?
แต่…เราควรตั้งคำถามกับตัวเราเองให้ฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ เกิดก่อน เห็นก่อน ผ่านประสบการณ์มาก่อน เราน่าจะมีวิธีการอะไรที่จะสอนให้เด็ก ๆ ได้เห็น ได้คิด ได้เติบโตเต็มศ้ักยภาพของเขาต่างหากเล่า
ข้อ 1-2 เรืิ่อง เงินและวัตถุประสงค์ในการไปค่ายนั้น คงต่างกันไปแต่ละแห่ง และคงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเพียงรับและขับเคลื่อนให้ทันกาลอย่างเหมาะสม…ก็น่าจะพอ
ส่วนของแถมข้อ 3 … อาจต้องคุยกันยาววววววววว…… เพราะเดี๋ยวนี้คนลืมกันไปแล้วว่า “สิทธิ” น่ะ มันมาพร้อม “หน้าที่” จะเลือก เรียกร้องเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ไงกัน
คิดถึงเลยคุยยาว…..
ขอบคุณข้อคิดดี ๆ จากอ.จอมป่วนค่ะ
กระบวนการสำคัญจริงด้วยค่ะ…
อ่านข้อคิดเห็นของอ.จอมป่วนแล้ว ยิ้มออก …
ทำถูก ได้ผลดีก็ได้เรียนรู้ ทำผิด ทำไม่ได้ผลก็ได้เรียนรู้…
จะเอาเป็นเอาตายอะไรกับเด็ก ๆ มากมาย เราก็เคยเป็นเด็กมา่ก่อนนี่นา
พี่สร้อยคะ
5555….แสดงว่าน้องนี่เป็นพวกรุ่นเก่าล้าสมัยแล้ว…เพราะทำเหมือนที่พี่สร้อยว่าเลยค่ะ
บางครั้งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เจตคติเปลี่ยน การกระทำ พฤติกรรมย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งก็คงต้องยอมรับ ปรับตัวตามไป….แต่สิ่งหนึ่งที่น้องห่วงก็คือ กระแสของบริโภคนิยมที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน และไม่มีวี่แววว่าจะลดลงเลย…
ขอบคุณข้อคิดและประสบการณ์ที่พี่นำมาแลกเปลี่ยนค่ะ
อ้าว “เจ้าแม่ค่าย” ยังงี้ต้องเจอะกันหน่อย อิอิ
เรื่อง “เจ้าแม่ค่าย” นี่ เป็นการสถาปนากันเองของเพื่อน ๆ ค่ะ เป็นหัวหน้าชั้นปี1 เลยต้องทำทุกอย่างที่คนอื่นไม่อยากทำค่ะ (ความจริงชอบลุยทั้งที่กระหม่อมบาง)
การไป survey ค่ายจะเหนื่อยและต้องสมบุกสมบัน ต้องไปนอนบ้านชาวบ้าน บางมื้ออิ่มเกือบท้องแตก บางมื้อหาทางออกจากป่าไม่ได้…อดไปเลย…สนุกค่ะ
ตามไปอ่านที่ GTK แล้วค่ะ อ่านได้อย่างราบรื่นเห็นบรรยากาศ สนุกจังค่ะ เพิ่งรู้จักคำว่า “ค่ายจร” จะว่าไปก็คงคล้ายกับการไปสำรวจค่ายอย่างนั้นหรือเปล่าคะ เพียงแต่การสำรวจค่าย เป็นการลงไปเตรียมความพร้อมในพื้นที่ก่อนมีค่ายจริง แต่ค่ายจรเป็นการลงไปลุย พบกับประสบการณ์ตรงเลย
ขอบคุณพี่บางทรายที่นำประสบการณ์มาแบ่งปันค่ะ