ที่เรียกว่า…ชีวิต
หาก… “ชีวิต” เปรียบได้กับ”การเดินทาง”
เราต้องเดินทางไปตาม “เส้นทางชีวิต”
บางครั้งเส้นทางราบเรียบ รื่นรมย์ สดใส สวยงาม
บางคราเส้นทางขรุขระ ขมขื่น มืดมน น่าเกลียด
บางทีเราอาจเลือกเส้นทางได้ตามใจ…ที่อยากให้เป็น
หลายทีเราไม่อาจเลือก…เส้นทางที่เราเผชิญนั้นเราไม่ชอบ
“ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก”
ทุกครั้งที่เอ่ยอ้างและระลึกถึงประโยคนี้ คนที่ได้ฟังจะร้อง โอย…มองโลกแง่ร้ายเสียจริงนะ
และความคิดลึก ๆ ในจิตใต้สำนึกของตัวเอง ก็เห็นด้วยกับข้อความที่คนอื่นว่านั้นเสียด้วยซี…
คิดว่า ยากลำบาก เป็นทุกข์… มันก็เป็นเช่นนั้นตามที่คิด
คิดว่า สนุกสบาย เป็นสุข… มันก็เป็นเช่นนั้นตามที่คิด
ชักจะสับสนแฮะ… ตกลงมันเป็นไงกันแน่
ขี้เกียจถามใครต่อใครแล้ว ถามไปก็เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง ก็เวียน ๆ วน ๆ อาจผ่านความรู้สึกนั้นมาได้ แล้วก็จะวนเข้าสู่ วัฏจักรเดิมอีก ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ซ้ำอีก ซ้ำซาก
ถามและตอบตัวเองนี่ล่ะ…
ใช่หรือไม่ที่ว่า ผู้คนล้วนทุกข์ เจ็บปวด สับสน และซ่อนเร้นสิ่งที่เป็นบาดแผลอยู่ในใจ
ทุกวันเราอาจหลอกล่อตัวเอง ด้วย กิจกรรมต่าง ๆ หนังสือ ดนตรี อาหาร การท่องเที่ยว เปลี่ยนสถานที่แปลกใหม่ ผู้คนที่เราได้พบ … เป็นการเปลี่ยน “อิริยาบถ” เพื่อบดบัง “ความทุกข์หรือความยากลำบาก” ให้เราได้ “ผ่อน” และ “ผ่าน” ความทุกข์ยาก อันเป็นสัจธรรมของชีวิต ทุกคนล้วนดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากบ่วงความยากลำบากด้วยนานาวิธีการ
เรามักเกลียดทุกข์…รักความสุข
แต่… ในที่สุดแล้ว “ความเปล่ากลวง” อันเป็นผลจากความทุกข์ ก็ยังคงอยู่กับเรา เราไม่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดพร่องในใจได้ด้วยอะไรเลย…
และหากเรามุ่งหมายที่จะค้นหา “สิ่ง” ที่จะมาเติมเต็ม ความเปล่ากลวงนั้น เราคงต้องใช้เวลากับสิ่งนั้นเกือบทั้งชีวิตเป็นแน่
เราเป็นใครกัน จะเปลี่ยนสัจจะนั้น…
ถ้าอย่างนั้น...ก็ยอมรับมันเสียไม่ดีหรือ ก็มันเปล่ากลวง ก็มันเป็นความยากลำบาก ก็มันเป็นเช่นนั้นอยู่ชั่วกาลนานมาแล้ว ยอมรับเส้นทางที่ดูเหมือนจะเจ็บปวด ไม่น่าอภิรมย์ เพื่อการงอกงามและเติบโต ซึ่งเป็นเส้นทางแห่งปัจเจก ของใครก็ของใคร เหมือน-ต่างไปตามบริบทชีวิต…
ดังนั้นแล้ว หน้าที่ของเราที่ทำได้ก็คือ การยอมรับ เรียนรู้ บ่มเพาะ สร้างสมดุลเพื่อการเติบโตงอกงามของจิตวิญญาณโดยการใช้ “ความรัก” เป็นเครื่องมือ ดังที่ นพ.เอ็ม.สก็อต เปค จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง The Road Less Traveled (วิทยากร เชียงกูลแปลในชื่อภาษาไทยว่า “บทเรียนชีวิตทีจิตแพทย์อยากบอกให้โลกรู้”) เป็นหนังสือที่น่าอ่านและอ่านสนุกเล่มหนึ่งดังที่คุณ Logos แนะนำไว้
รู้สึกเบิกบาน (แบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ) ถามตัวเองซะอีกคำถามหนึ่งว่า….
แล้วเธอ…กล้าพอหรือยังที่จะก้าวไปบนเส้นทางชีวิตที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เลือกนั้น?
กล้าไหมล่ะ?
4 ความคิดเห็น
เส้นทางชีวิตย่อมมีวิบากรรมอยู่แล้ว
ถ้ายอมรับความจริงก็จบ
อาจจะสนุกกับการที่จะอยู่กับความจริง
เหมือนพวกที่แข่งรถวิบาก แข่งจักรยาน รถยนต์ข้ามทวีป
เรียนรู้ที่จะสู้สิ่งยาก ก็จะสอบผ่านไปสู่ชัยชนะ
นักแข่งวิบากไม่มีใครกลัวความลำบาก อยากแต่จะเอาชนะ
เส้นชัยชีวิตถ้าไม่ผ่านความวิบาก ก็มีแต่พวกเอ๋อเท่านั้นละครับ แคว๊กๆ
ชีวิตมีขึ้นมีลง ขึ้นอยู่ว่าเราจะปรับตัวและยอมรับมัน และปฏิบัติในสิ่งที่เป็นปัจจุบันได้ไหมเท่านั้นล่ะ nuaor ลองคิดเล่น ๆ นะค่ะ แม้ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว มนุษย์ก็ยังดำรงชีพอยู่ ชีวิตถ้ามันเหนื่อยนักก็พักบ้างนะค่ะ ขอบคุณสำหรับแนะนำหนังสือดี ๆ นะค่ะ จะติดตามหาอ่านดูค่ะ ส่วนมากจะอ่านพวก how to กะหนังสือธรรมะ อิอิ
พ่อครูบาคะ
โดนใจดำอย่างแรง … ถ้ายอมรับความจริงก็จบ…5555….
เส้นชัยจะมีค่าอะไร หากไม่ผ่านวิบากชีวิต
หนังสือเล่มนี้ซื้อมาแล้วก็ทิ้งไว้ อ่านเป็นหย่อม ๆ เล่มหนาเนื้อหา 360 หน้าค่ะ พอเห็นการแนะนำจากคุณ Logos เลยนึกได้ว่าเราก็มีอยู่ เลยตะลุยอ่าน ยิ่งอ่านยิ่งสนุกค่ะ
จุดใหญ่ใจความก็คือจิตแพทย์ท่านนี้บอกว่า ชีวิตเป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนย่อมมีประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้วันดีคืนร้ายก็เกิดวิกฤติทางอารมณ์ขึ้น เราจึงป่วย แต่คนที่ “กล้าหาญ” พอที่จะยอมรับว่าตัวเองต้องได้รับการเยียวยาทางจิตใจ … ก็นับว่ามีโอกาสที่จะพ้นจากความเจ็บป่วยทางจิตนั้นได้ค่ะ
น้อง nuaorคะ
ช่วงนี้ชีวิตพี่ไม่ได้เหนื่อยหนักอะไรหรอกค่ะ และเห็นด้วยกับที่น้องว่า ชีวิตมันก็มีฤดูกาลของมัน ทั้งร้อน ฝน แล้ง หนาว สุข ทุกข์ ยุ่ง ว่าง เบื่อ สนุก คละเคล้ากันไป
เขียนบันทึกไว้ตามใจ ตามความคิดหลังจากได้อ่านหน้งสือเล่มนี้จบ…
ขอบคุณค่ะ