คุณภาพที่ปลายน้ำ

6 ความคิดเห็น โดย Suchada เมื่อ 22 กุมภาพันธ 2009 เวลา 7:12 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2170

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเจอตัวเป็นๆ ของพี่ฉลวย กระเหว่านาค ตัวแทนคนปลายน้ำเจ้าของวลี “ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย” ที่เห็นกันในภาพยนตร์รณรงค์เพื่อการอนุรักษ์น้ำ SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต … จากแม่ค้าขายอาหารในโรงเรียนอนุบาลเล็กๆ พี่ฉลวยใช้เวลาเกือบสิบปี เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ในชุมชน ฟังเรื่องของเธอแล้วรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจและมีความหวัง สังคมไทย มีคนจิตสำนึกดี คิดดี ทำดีอยู่ในที่ต่างๆ มากมาย

พี่ฉลวย กระเหว่านาค

เรื่องที่พี่ฉลวยมาเล่าให้ชาว SCG ฟังคือ การพลิกฟื้นสายน้ำของชุมชนจากเดิม ที่เน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น จนกลายเป็นน้ำใสสะอาด แนวคิดของเธอคือ การเป็นคนปลายน้ำนั้นไม่สามารถไปควบคุมต้นน้ำได้ แม้ว่าน้ำจากต้นทางจะมาอย่างไร คนปลายน้ำก็ต้องพยายามดูแลน้ำในคลองบริเวณชุมชนไม่ให้แย่ไปกว่าเดิมและช่วยกันหาวิธีทำให้ดีขึ้นให้ได้ด้วยตัวเอง

เธอเริ่มต้นโดยการลงทุนซื้อรถเข็นด้วยทุนของตัวเองเพื่อใช้เก็บขยะ ต่อมาก็ชักชวนคนในชุมชน ลงเก็บขยะในคลอง “ย้อนกลับไปสักสิบปีก่อน คลองเส้นนี้จะเต็มไปด้วยขยะ จะโทษชาวบ้านก็ไม่ได้เพราะมันเป็นวิถีของเขามานมนาน” เมื่อถามว่าทำอย่างไรจึงเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้ พี่ฉลวยบอกว่า เธอใช้วิธีทำให้เขาเห็นจนรู้สึกเกรงใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เธอเล่าว่า ในช่วงแรกคนที่มาช่วยเก็บขยะนั้น พอรู้สึกเหนื่อยก็จะเริ่มบ่นและด่าคนทิ้ง ฝ่ายคนทิ้งก็ย้อนกลับว่า “ใครใช้ให้มาเก็บ” ก็ยิ่งทำให้ทะเลาะกัน เครียดไปใหญ่ จนเธอต้องบอกกับคนที่บ่นมากๆ ว่า “ใครเหนื่อยก็กลับบ้านไปพัก ถ้าทำแล้วบ่น อย่ามาทำเลย” สุดท้ายก็เหลือไม่กี่คนที่ตั้งหน้าตั้งตาเก็บขยะโดยไม่ต่อว่าใคร (ทั้งทางวาจาและทางใจ) นานๆ เข้า ชาวบ้านก็เกิดความเกรงใจ จากเดิมที่ทิ้งขยะลงคลองกันอย่างเปิดเผย ก็เปลี่ยนเป็นทิ้งแบบแอบๆ (เป็นเรื่องธรรมชาติที่ ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครอยากเก็บขยะไว้กับตัว) แต่คนทำก็ไม่ละความเพียร เก็บต่อไปโดยไม่ปริปาก ชาวบ้านที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของลำคลองก็เริ่มเห็นใจ มีคนอาสามาช่วยมากขึ้น คนที่ไม่มาช่วยด้วยแรงกายก็ยอมจ่ายเงินค่าเก็บขยะให้กรรมการชุมชน

เพื่อให้มีการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่ลำคลอง พี่ฉลวยและทางชุมชนได้ช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมในการประดิษฐ์เครื่องดักไขมันและบ่อพักน้ำเป็นตัวจัดเก็บไขมัน และบ่อดูดซึมช่วยแยกเศษอาหารไม่ให้ไปอุดตันท่อระบายน้ำ การพัฒนานี้ใช้เวลาถึง 3 ปี  เศษอาหารที่ดักไว้ยังนำมาทำน้ำหมักชีวภาพได้อีกต่างหาก

ในการใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้วิธีเปิดปล่อยตามจุดต่างๆ รอบบริเวณชุมชน เพราะถึงแม้คนในชุมชนบางปรอกมีการจัดการเกี่ยวกับน้ำเน่าเสียลงคลองแล้ว แต่น้ำเสียจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากท่อระบายน้ำในตลาดสดเทศบาล ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่หมู่บ้านใกล้เคียง ก็จะไหลมาลงคลองบางปรอก ช่วงน้ำลงขยะในน้ำจะส่งกลิ่นเหม็น แต่พอปล่อยน้ำหมักลงไปตามจุดต่างๆ ช่วงเวลาน้ำขึ้นกลิ่นเหม็นก็จางลง

ตอนนี้กำลังสนใจเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพค่ะ เพิ่งรู้ว่ามีมากมายหลายสูตรและนำไปใช้ได้สารพัดประโยชน์ เช่นถ้าจะใช้เป็นปุ๋ยสำหรับไม้ดอก มีเคล็ดลับคือเอากลีบดอกไม้ใส่ลงไปด้วยจะมีฮอร์โมน นอกจากนี้ยังใช้เป็นน้ำยาล้างห้องน้ำได้ด้วย เป็นการช่วยทำให้น้ำที่ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำดีขึ้นอีกทางหนึ่ง

ที่ SCG Paper เราก็เริ่มมีการทดลองทำแบบง่ายๆ โดยใช้กากเปลือกส้มที่เป็นเศษเหลือจากการทำน้ำส้มคั้นเสริฟในห้องประชุม มาเป็นวัตถุดิบหลัก … เมื่อเช้าไปตลาด ผ่านร้านขายน้ำส้มคั้นก็ลองไปทาบทามขอเปลือกส้มที่เหลือมาทดลองทำใช้ที่บ้าน แม่ค้าขายน้ำส้มฟังแล้วสนใจ “พี่ทำใช้ได้แล้ว มาสอนหนูด้วยนะ” … ไม่แน่นา อีกหน่อยร้านขายน้ำผลไม้ อาจจะมีน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกส้มและเศษผลไม้ มาวางขายข้างๆ เป็นการเพิ่มความสะดวก รณรงค์ให้คนหันมาสนใจใช้ น้ำหมักชีวภาพแทนสารเคมีกันมากขึ้น  ^_^


ข้าวใหม่ ปลามัน ของขวัญวันวาเลนไทน์

22 ความคิดเห็น โดย Suchada เมื่อ 15 กุมภาพันธ 2009 เวลา 9:05 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4257

สัปดาห์ที่ผ่านมาวุ่นวายกับการขายข้าวสำหรับเป็นของขวัญในเทศกาลวาเลนไทน์ จนไม่เป็นอันทำอะไร  สนุกจริงๆ เวลาที่ได้ทำอะไรที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับงานในหน้าที่ แต่เป็นเรื่องที่รู้สึกว่ามีคุณค่าและีน่าจะเป็นประโยชน์ ข้าวใหม่ปลามัน

เราตั้งชื่อโครงการนี้ว่า โครงการนำผลผลิตที่ดีจากท้องทุ่งสู่ครัวคนเมือง ตั้งใจให้เป็นหนึ่งในโครงการรับผิดชอบต่อสังคมของ SCG โดยในเบื้องต้นนี้ก็ทดลองทำเล็กๆก่อน เริ่มจากสินค้าข้าว

ที่มาของเรื่องนี้เกิดจากการพาพนักงานจากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ SCG paper  ไปเข้าค่ายเรียนรู้ที่สวนป่าฯ หลายคนติดใจในความหอม นุ่ม อร่อยของข้าวต้มร้อนๆ และถามกันว่าเป็นข้าวพันธุ์อะไร จะหาซื้อได้ที่ไหน … สุดท้าย พ่อครูบาฯ ก็เลยฝากโจทย์จากชุมชนเป็นการบ้านก่อนกลับ จะออกแบบกล่องบรรจุสินค้าอาหารหรือพืชผักต่างๆ ให้เหมาะต่อการขนส่ง ปลอดภัย ประหยัดและคงความสดของอาหารได้นานที่สุดได้อย่างไร …. กระดาษจะมีส่วนช่วยยกระดับการดำรงวิถีไทย ให้อยู่ได้ อยู่ดี อยู่รอด อย่างไร

เสียงตอบรับจากคนที่ได้ลองลิ้มชิมรสความหอม นุ่ม อร่อย ของข้าวต้มร้อนๆ  ที่ทดลองนำมาขายในหมู่คนกันเองช่วงเทศกาลปีใหม่ทำให้เกิดโครงการต่อเนื่องมาถึงวันวาเลนไทน์ โดยเราคิดว่าน่าจะดีและเป็นไปได้ ที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการให้ช้อคโกแล้ตและดอกกุหลาบ มาเป็นการให้ข้าวแทน …. ข้าวพิเศษที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้ช่วยเหลือกันอย่างพอเพียง ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลผลิตในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน อิ่มท้อง อิ่มใจ ทั้งผู้ให้และผู้รับ

การเดินทางไปยังสวนป่าฯเพื่อดูแลการบรรจุข้าวลงกล่องในระหว่างวันที่ 7-9 ก.พ. ทำให้ได้เรื่องราว การเรียนรู้มากมาย เช่น

  • ราคาข้าวเปลือกที่ปรกติชาวนาขายให้โรงสี ถูกมากๆ เมื่อเทียบกับราคาข้าวที่เราซื้อกันในท้องตลาดปัจจุบัน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีการประกันราคา แต่ในความเป็นจริง เมื่อชาวนาขนข้าวไปหน้าโรงสีแล้ว หากเขารับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกัน ก็จำเป็นต้องขาย (เพราะไม่คุ้มกับค้าใช้จ่ายในการขนกลับ และที่สำคัญ …. มีหนี้สินที่รอการชำระอยู่ ต้องรีบขาย)
  • การฝัดข้าวต้องใช้ทักษะและความชำนาญ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นับวันจะสูญหายไป เพราะปัจจุบันในโรงสีขนาดใหญ่มีอุปกรณ์ที่ช่วยคัดแยกข้าวที่ทันสมัย ทำให้ไม่ต้องมาคัดแยกด้วยมือ
  • ข้าวที่มาจากโรงสีเล็กดีตรงที่ สามารถสีครั้งละน้อยๆ หากกะปริมาณให้สามารถรับประทานภายใน 15 วันหลังขัดสี ข้าวจะคงความสดและหอม ไม่ต้องกังวลเรื่องมอด จึงไม่ต้องใส่ยากันมอดเหมือนในโรงสีใหญ่

การฝัดข้าว

สุดท้าย  เก็บภาพบรรยากาศการขายข้าวใน SCG มาฝากค่ะ งานนี้เราวัดผลความสำเร็จเป็นรอยยิ้มและความสุขใจของคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ชาวนาที่เอาข้าวมาให้เราขาย ไปจนถึงคนที่ได้รับประทานข้าวต้มร้อนๆ หอม อร่อยในวันวาเลนไทน์ โดยรวมก็น่าจะได้ประมาณ 1,000 คน ซึ่งล้วนชื่นมื่นกันถ้วนหน้า ทำให้มีกำลังใจที่จะก้าวต่อไป และ ต่อไป …..

บรรยากาศลองชิม



เปิดลานคุณภาพ

9 ความคิดเห็น โดย Suchada เมื่อ 10 กุมภาพันธ 2009 เวลา 9:51 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1755

สวัสดีค่ะ …แอบอ่านมาเนิ่นนาน อยากเข้ามาร่วมแจม แต่ด้วยความที่ไม่คุ้นเคยกับการเขียนบล้อกก็เลยรู้สึกเคอะเขิน จนเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา มีโอกาสไปนั่งอยู่ในบรรยากาศการเรียนรู้ที่สวนป่าฯ ร่วมกับ ป้าจุ๋ม พี่หมอเจ๊ น้าอึ่งออบ อาจารย์แป๋ว อาจารย์ขจิต ครูคิม ครูปู คุณคอนดักเตอร์ น้องสายลม ความเคอะเขินก็ค่อยจางลง รู้สึกประทับใจจริงๆ ค่ะ กับการต้อนรับที่อบอุ่นและเป็นกันเองของทุกๆ คน ไม่น่าเชื่อว่าเจอกันครั้งแรกก็รู้สึกคุ้นเคยเหมือนรู้จักกันมานาน (แต่ที่จริงเราแอบรู้จักทุกคนฝ่ายเดียวมาตั้งนานแล้วล่ะ)

หลังจากตกลงใจเปิด ลานออกกำลัง ร่วมกับคุณหมอสุชาดา ก็รู้สึกฮึกเหิม เริ่มติดใจ อยากจะเปิดบ้านใหม่ไว้แบ่งปันบอกเล่าเรื่องราวการเรียนรู้จากประสบการณ์  ตั้งชื่อว่าลานคุณภาพ เพราะเป็นคนทำงานในแวดวงคุณภาพมาเนิ่นนาน ก็หวังว่าจะมีเรื่องที่เป็นประโยชน์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกๆ ท่านในที่นี้

ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านคุณภาพ เราเชื่อว่าทุกอย่างพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ตอนนี้กำลังร่วมกับพ่อครูบาฯ และทีมงานจิตอาสาใน SCG ทำ “โครงการนำผลผลิตที่ดีจากท้องทุ่งสู่ครัวคนเมือง” เริ่มต้นที่ผลผลิตข้าว ยังจำได้สมัยเด็กๆ เคยได้ยินเสียงเพลง “กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ” ไม่รู้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะเคยได้ยินกันไหม ในเบื้องต้น โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยดีขึ้น เรื่องระดับมหภาค มีคนพูดถึงและทำกันเยอะแล้ว …. สิ่งที่เรากำลังคิดจะทำก่อนในตอนนี้ อาจจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของระดับจุลภาค เริ่มเล็กๆ จากไม่กี่คน เก็บเกี่ยวความรู้ระหว่างทาง ตัววัดความสำเร็จก็แสนจะเรียบง่าย ไม่มีตัวเลขให้ปวดหัว วัดกันที่รอยยิ้มและความสุขของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

เรื่องข้าวนี่ ยิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องก็ยิ่งมีเรื่องที่คิดไม่ถึงโผล่มาเรื่อยๆ แต่สนุกตรงที่ พออยากรู้อะไรก็มักจะบังเอิญไปเจอคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ  คุยไปคุยมาได้ทั้งความรู้ได้ทั้งเพื่อน ที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้นคือ มีโจทย์ใหม่มาให้อยากหาความรู้เพิ่มเรื่อยๆ ไม่น่าเชื่อว่าเรากินข้าวมาตั้งแต่จำความได้แต่มีความรู้เรื่องข้าวน้อยมากๆ เดี๋ยวนี้เวลาตักข้าวเข้าปากแต่ละคำ เคี้ยวและกลืนด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม ….



Main: 0.034596920013428 sec
Sidebar: 0.036004066467285 sec