คุณภาพที่ปลายน้ำ

โดย Suchada เมื่อ 22 กุมภาพันธ 2009 เวลา 7:12 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2134

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเจอตัวเป็นๆ ของพี่ฉลวย กระเหว่านาค ตัวแทนคนปลายน้ำเจ้าของวลี “ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย” ที่เห็นกันในภาพยนตร์รณรงค์เพื่อการอนุรักษ์น้ำ SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต … จากแม่ค้าขายอาหารในโรงเรียนอนุบาลเล็กๆ พี่ฉลวยใช้เวลาเกือบสิบปี เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ในชุมชน ฟังเรื่องของเธอแล้วรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจและมีความหวัง สังคมไทย มีคนจิตสำนึกดี คิดดี ทำดีอยู่ในที่ต่างๆ มากมาย

พี่ฉลวย กระเหว่านาค

เรื่องที่พี่ฉลวยมาเล่าให้ชาว SCG ฟังคือ การพลิกฟื้นสายน้ำของชุมชนจากเดิม ที่เน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น จนกลายเป็นน้ำใสสะอาด แนวคิดของเธอคือ การเป็นคนปลายน้ำนั้นไม่สามารถไปควบคุมต้นน้ำได้ แม้ว่าน้ำจากต้นทางจะมาอย่างไร คนปลายน้ำก็ต้องพยายามดูแลน้ำในคลองบริเวณชุมชนไม่ให้แย่ไปกว่าเดิมและช่วยกันหาวิธีทำให้ดีขึ้นให้ได้ด้วยตัวเอง

เธอเริ่มต้นโดยการลงทุนซื้อรถเข็นด้วยทุนของตัวเองเพื่อใช้เก็บขยะ ต่อมาก็ชักชวนคนในชุมชน ลงเก็บขยะในคลอง “ย้อนกลับไปสักสิบปีก่อน คลองเส้นนี้จะเต็มไปด้วยขยะ จะโทษชาวบ้านก็ไม่ได้เพราะมันเป็นวิถีของเขามานมนาน” เมื่อถามว่าทำอย่างไรจึงเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้ พี่ฉลวยบอกว่า เธอใช้วิธีทำให้เขาเห็นจนรู้สึกเกรงใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เธอเล่าว่า ในช่วงแรกคนที่มาช่วยเก็บขยะนั้น พอรู้สึกเหนื่อยก็จะเริ่มบ่นและด่าคนทิ้ง ฝ่ายคนทิ้งก็ย้อนกลับว่า “ใครใช้ให้มาเก็บ” ก็ยิ่งทำให้ทะเลาะกัน เครียดไปใหญ่ จนเธอต้องบอกกับคนที่บ่นมากๆ ว่า “ใครเหนื่อยก็กลับบ้านไปพัก ถ้าทำแล้วบ่น อย่ามาทำเลย” สุดท้ายก็เหลือไม่กี่คนที่ตั้งหน้าตั้งตาเก็บขยะโดยไม่ต่อว่าใคร (ทั้งทางวาจาและทางใจ) นานๆ เข้า ชาวบ้านก็เกิดความเกรงใจ จากเดิมที่ทิ้งขยะลงคลองกันอย่างเปิดเผย ก็เปลี่ยนเป็นทิ้งแบบแอบๆ (เป็นเรื่องธรรมชาติที่ ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครอยากเก็บขยะไว้กับตัว) แต่คนทำก็ไม่ละความเพียร เก็บต่อไปโดยไม่ปริปาก ชาวบ้านที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของลำคลองก็เริ่มเห็นใจ มีคนอาสามาช่วยมากขึ้น คนที่ไม่มาช่วยด้วยแรงกายก็ยอมจ่ายเงินค่าเก็บขยะให้กรรมการชุมชน

เพื่อให้มีการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่ลำคลอง พี่ฉลวยและทางชุมชนได้ช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมในการประดิษฐ์เครื่องดักไขมันและบ่อพักน้ำเป็นตัวจัดเก็บไขมัน และบ่อดูดซึมช่วยแยกเศษอาหารไม่ให้ไปอุดตันท่อระบายน้ำ การพัฒนานี้ใช้เวลาถึง 3 ปี  เศษอาหารที่ดักไว้ยังนำมาทำน้ำหมักชีวภาพได้อีกต่างหาก

ในการใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้วิธีเปิดปล่อยตามจุดต่างๆ รอบบริเวณชุมชน เพราะถึงแม้คนในชุมชนบางปรอกมีการจัดการเกี่ยวกับน้ำเน่าเสียลงคลองแล้ว แต่น้ำเสียจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากท่อระบายน้ำในตลาดสดเทศบาล ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่หมู่บ้านใกล้เคียง ก็จะไหลมาลงคลองบางปรอก ช่วงน้ำลงขยะในน้ำจะส่งกลิ่นเหม็น แต่พอปล่อยน้ำหมักลงไปตามจุดต่างๆ ช่วงเวลาน้ำขึ้นกลิ่นเหม็นก็จางลง

ตอนนี้กำลังสนใจเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพค่ะ เพิ่งรู้ว่ามีมากมายหลายสูตรและนำไปใช้ได้สารพัดประโยชน์ เช่นถ้าจะใช้เป็นปุ๋ยสำหรับไม้ดอก มีเคล็ดลับคือเอากลีบดอกไม้ใส่ลงไปด้วยจะมีฮอร์โมน นอกจากนี้ยังใช้เป็นน้ำยาล้างห้องน้ำได้ด้วย เป็นการช่วยทำให้น้ำที่ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำดีขึ้นอีกทางหนึ่ง

ที่ SCG Paper เราก็เริ่มมีการทดลองทำแบบง่ายๆ โดยใช้กากเปลือกส้มที่เป็นเศษเหลือจากการทำน้ำส้มคั้นเสริฟในห้องประชุม มาเป็นวัตถุดิบหลัก … เมื่อเช้าไปตลาด ผ่านร้านขายน้ำส้มคั้นก็ลองไปทาบทามขอเปลือกส้มที่เหลือมาทดลองทำใช้ที่บ้าน แม่ค้าขายน้ำส้มฟังแล้วสนใจ “พี่ทำใช้ได้แล้ว มาสอนหนูด้วยนะ” … ไม่แน่นา อีกหน่อยร้านขายน้ำผลไม้ อาจจะมีน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกส้มและเศษผลไม้ มาวางขายข้างๆ เป็นการเพิ่มความสะดวก รณรงค์ให้คนหันมาสนใจใช้ น้ำหมักชีวภาพแทนสารเคมีกันมากขึ้น  ^_^

« « Prev : ข้าวใหม่ ปลามัน ของขวัญวันวาเลนไทน์


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 กุมภาพันธ 2009 เวลา 8:09 (เย็น)

    สนใจเรื่องน้ำหมักชีวภาพ เจอกันที่สวนป่าไว้คุยกันเน้อ

  • #2 Suchada ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 กุมภาพันธ 2009 เวลา 9:24 (เช้า)

    ขอบคุณค่ะพี่ตา แล้วเจอกัน ^_^ 

  • #3 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 กุมภาพันธ 2009 เวลา 10:42 (เช้า)

    ควมมุ่งมั่นความตั้งใจ ลงมือทำเหมือนการการทำงานที่เป็นปกติ เหมือการดำเนินชีวิตที่เป็นธรรมชาติ ย่อมชนะอุปสรรค์โดยธรรมชาติ ปัญหาถูกละเลยจนกลายเป็นความธรรมดา สำหรับผู้ที่เห็นแก่ตัว หากผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นละเลยไม่ใส่ใจเห็นที่จะลำบาก ตัวอย่างการยกย่องคุณฉลวยผ่านการโฆษณาทางทีวี เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนดีออกมายืนในสังคมให้ คนดีๆ มีกำลังใจ พี่เห็นว่าภาครัฐมีหน้าที่โดยตรง ในการในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของสังคมชุมชน ที่ตนเองรับผิดชอบ ทั้งๆที่แย่งกันเข้ามาเป็นผู้บริหารการปกครองท้องถิ่นทุกระดับ แต่ไม่เคยแ่ย่งกันร่วมด้วยช่วยกัน แบบสหเฮด ในการแก้ปัญญหา น้ำเน่าเสียในพื้นที่ ที่ตัวของเอง ถ้าหากไม่คนอย่างคุณฉลวย อบต. ต่างๆ จะมีจิตคิดแก้ปัญหาน้ำเน่าไหมหนอ ราษฎรคือผู้นำในการแก้ปัญหาชุมชนที่แท้จริงค่ะ การแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียคือความรับผิดชอบของทุกคนในชุมชนค่ะ

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 กุมภาพันธ 2009 เวลา 8:43 (เย็น)

    มาบอกน้องดาว่า ไปสวนป่าคราวนี้ อาจจะมีเซอไพรส์นะน้อง

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:10 (เย็น)

    เห็นด้วยกับพี่หลินครับ

  • #6 สิทธิรักษ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 เวลา 12:45 (เช้า)

    น่าสนใจมากครับ……..

    ช่วยบอกสูตรหลายๆสูตรหน่อยครับ คงจะนำไปต่อยอดได้


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.33750796318054 sec
Sidebar: 0.024652004241943 sec