คุณภาพที่ปลายน้ำ
อ่าน: 2183สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเจอตัวเป็นๆ ของพี่ฉลวย กระเหว่านาค ตัวแทนคนปลายน้ำเจ้าของวลี “ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย” ที่เห็นกันในภาพยนตร์รณรงค์เพื่อการอนุรักษ์น้ำ SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต … จากแม่ค้าขายอาหารในโรงเรียนอนุบาลเล็กๆ พี่ฉลวยใช้เวลาเกือบสิบปี เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ในชุมชน ฟังเรื่องของเธอแล้วรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจและมีความหวัง สังคมไทย มีคนจิตสำนึกดี คิดดี ทำดีอยู่ในที่ต่างๆ มากมาย
เรื่องที่พี่ฉลวยมาเล่าให้ชาว SCG ฟังคือ การพลิกฟื้นสายน้ำของชุมชนจากเดิม ที่เน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น จนกลายเป็นน้ำใสสะอาด แนวคิดของเธอคือ การเป็นคนปลายน้ำนั้นไม่สามารถไปควบคุมต้นน้ำได้ แม้ว่าน้ำจากต้นทางจะมาอย่างไร คนปลายน้ำก็ต้องพยายามดูแลน้ำในคลองบริเวณชุมชนไม่ให้แย่ไปกว่าเดิมและช่วยกันหาวิธีทำให้ดีขึ้นให้ได้ด้วยตัวเอง
เธอเริ่มต้นโดยการลงทุนซื้อรถเข็นด้วยทุนของตัวเองเพื่อใช้เก็บขยะ ต่อมาก็ชักชวนคนในชุมชน ลงเก็บขยะในคลอง “ย้อนกลับไปสักสิบปีก่อน คลองเส้นนี้จะเต็มไปด้วยขยะ จะโทษชาวบ้านก็ไม่ได้เพราะมันเป็นวิถีของเขามานมนาน” เมื่อถามว่าทำอย่างไรจึงเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้ พี่ฉลวยบอกว่า เธอใช้วิธีทำให้เขาเห็นจนรู้สึกเกรงใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เธอเล่าว่า ในช่วงแรกคนที่มาช่วยเก็บขยะนั้น พอรู้สึกเหนื่อยก็จะเริ่มบ่นและด่าคนทิ้ง ฝ่ายคนทิ้งก็ย้อนกลับว่า “ใครใช้ให้มาเก็บ” ก็ยิ่งทำให้ทะเลาะกัน เครียดไปใหญ่ จนเธอต้องบอกกับคนที่บ่นมากๆ ว่า “ใครเหนื่อยก็กลับบ้านไปพัก ถ้าทำแล้วบ่น อย่ามาทำเลย” สุดท้ายก็เหลือไม่กี่คนที่ตั้งหน้าตั้งตาเก็บขยะโดยไม่ต่อว่าใคร (ทั้งทางวาจาและทางใจ) นานๆ เข้า ชาวบ้านก็เกิดความเกรงใจ จากเดิมที่ทิ้งขยะลงคลองกันอย่างเปิดเผย ก็เปลี่ยนเป็นทิ้งแบบแอบๆ (เป็นเรื่องธรรมชาติที่ ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครอยากเก็บขยะไว้กับตัว) แต่คนทำก็ไม่ละความเพียร เก็บต่อไปโดยไม่ปริปาก ชาวบ้านที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของลำคลองก็เริ่มเห็นใจ มีคนอาสามาช่วยมากขึ้น คนที่ไม่มาช่วยด้วยแรงกายก็ยอมจ่ายเงินค่าเก็บขยะให้กรรมการชุมชน
เพื่อให้มีการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่ลำคลอง พี่ฉลวยและทางชุมชนได้ช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมในการประดิษฐ์เครื่องดักไขมันและบ่อพักน้ำเป็นตัวจัดเก็บไขมัน และบ่อดูดซึมช่วยแยกเศษอาหารไม่ให้ไปอุดตันท่อระบายน้ำ การพัฒนานี้ใช้เวลาถึง 3 ปี เศษอาหารที่ดักไว้ยังนำมาทำน้ำหมักชีวภาพได้อีกต่างหาก
ในการใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้วิธีเปิดปล่อยตามจุดต่างๆ รอบบริเวณชุมชน เพราะถึงแม้คนในชุมชนบางปรอกมีการจัดการเกี่ยวกับน้ำเน่าเสียลงคลองแล้ว แต่น้ำเสียจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากท่อระบายน้ำในตลาดสดเทศบาล ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่หมู่บ้านใกล้เคียง ก็จะไหลมาลงคลองบางปรอก ช่วงน้ำลงขยะในน้ำจะส่งกลิ่นเหม็น แต่พอปล่อยน้ำหมักลงไปตามจุดต่างๆ ช่วงเวลาน้ำขึ้นกลิ่นเหม็นก็จางลง
ตอนนี้กำลังสนใจเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพค่ะ เพิ่งรู้ว่ามีมากมายหลายสูตรและนำไปใช้ได้สารพัดประโยชน์ เช่นถ้าจะใช้เป็นปุ๋ยสำหรับไม้ดอก มีเคล็ดลับคือเอากลีบดอกไม้ใส่ลงไปด้วยจะมีฮอร์โมน นอกจากนี้ยังใช้เป็นน้ำยาล้างห้องน้ำได้ด้วย เป็นการช่วยทำให้น้ำที่ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำดีขึ้นอีกทางหนึ่ง
ที่ SCG Paper เราก็เริ่มมีการทดลองทำแบบง่ายๆ โดยใช้กากเปลือกส้มที่เป็นเศษเหลือจากการทำน้ำส้มคั้นเสริฟในห้องประชุม มาเป็นวัตถุดิบหลัก … เมื่อเช้าไปตลาด ผ่านร้านขายน้ำส้มคั้นก็ลองไปทาบทามขอเปลือกส้มที่เหลือมาทดลองทำใช้ที่บ้าน แม่ค้าขายน้ำส้มฟังแล้วสนใจ “พี่ทำใช้ได้แล้ว มาสอนหนูด้วยนะ” … ไม่แน่นา อีกหน่อยร้านขายน้ำผลไม้ อาจจะมีน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกส้มและเศษผลไม้ มาวางขายข้างๆ เป็นการเพิ่มความสะดวก รณรงค์ให้คนหันมาสนใจใช้ น้ำหมักชีวภาพแทนสารเคมีกันมากขึ้น ^_^