แลกเปลี่ยนประสบการณืผ่านบล็อก : 2. จงเป็นแก้วมหัศจรรย์ที่เติมน้ำเท่าไรก็ไม่มีวันเต็ม

16 มีนาคม 2009 / 4 ความคิดเห็น » / โดย สิงห์ป่าสัก

อ่าน: 357

          ได้เขียนประเด็นแรกไปแล้วที่บันทึก  : 1. จงรักษาความมุ่งมั่น  วันนี้ขอแลกเปลี่ยนอีกเรื่องหนึ่ง  ที่อยากจะบอกกับน้องๆ นักส่งเสริมการเกษตร หรือน้องๆ ที่ทำงานในหน่วยงานอื่นที่เป็นการเริ่มต้นทำงานใหม่เหมือนกันก็คือ
          เราต้อง  ” เป็นแก้วมหัศจรรย์ที่เติมน้ำเท่าไรก็ไม่มีวันเต็ม “  ประเด็นนี้สำคัญมาก ไม่เฉพาะแต่คนที่ทำงานใหม่ๆ เหมือนน้องๆ  หรือแม้แต่คนที่ทำงานมานมนาน  บางคนนานจนใกล้จะเกษียณ หรือบางคนแม้ปลดระวางไปแล้ว  ก็มักจะพานพบเสมอๆ  </strong>
          เพราะเมื่อไรก็ตาม   เมื่อเราเป็นแก้วที่มีน้ำเต็ม ก็เหมือนกันคนที่

ยึดติดอยู่กับความรู้เดิม-ประสบการณ์เดิมของตนเองมากจนเกินไป 
เชื่อมั่นในความสมารถของเองสูงมากจนเกินไป  (ย้ำว่ามากจนเกินไปนะครับ)
คิดว่าตัวเรานั้นเก่งแล้วไม่มีใครเทียมทาน  
ไม่ยอมรับหรือไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่น  ที่ต่างจากความคิดเห็นของเรา
ไม่รับรู้โลกรอบตัวที่ปรับและเปลี่ยนไปตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง
        เราก็จะขาดโอกาสที่จะได้รับสิ่งดีที่จะผ่านเข้ามาในวงจรชีวิตของเรา  ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้เรื่องราวดีๆ  โอกาสที่จะได้ต่อยอดความรู้ของเรา   และอะไรอีกมากมายที่เราจะหมดโอกาส  แม้แต่การพัฒนาตนเอง   เพราะเราเป็นน้ำที่เต็มแก้วเสียแล้ว  รับหรือเติมอะไรอีกไม่ได้  สิ่งต่างๆ ก็มีแต่จะล้นออกมานอกแก้วไปเสียหมด

        น้องๆ นักส่งเสริมการเกษตร จงระลึกอยู่เสมอนะครับว่า  การสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับชีวิตหรือการเรียนรู้ของคนเรานั้น   สามารถทำได้ตลอดเวลา   ทุกขณะ  และตลอดไป  เพียงแต่ขอให้เราเปิดใจยอมรับ และเปิดรับเพื่อที่จะรับรู้  แล้วนำสิ่งดีๆ ที่พานพบเหล่านั้น  มาปรับปรุงและพัฒนาตัวของเราเอง  เพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรอันเป็นอาชีพที่รักของเรา   ส่งผลให้เรามีขีดความสามารถที่จะทำงานได้ในทุกสภาวะ  และทุกสถานการณ์  แม้ว่าโลกรอบตัวเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  ก็ไม่ให้ทำเป็นข้อจำกัดในการทำงานของพวกเรา

       ” จงเป็นแก้วมหัศจรรย์  ที่เติมน้ำเท่าไรก็ไม่มีวันเต็มให้ได้นะครับ”

 

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ</strong>




แลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านบล็อก : 1. จงรักษาความมุ่งมั่น

11 มีนาคม 2009 / 4 ความคิดเห็น » / โดย สิงห์ป่าสัก

อ่าน: 333
          เมื่อวันที่ 16  ก.พ.  ที่ผ่านมา  มีนักส่งเสริมการเกษตรมีบรรจุใหม่มาปฏิบัติงานที่สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 4 คน  ในตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับ ปฏิบัติการ  (ซี 3 เดิม)  นักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่นี้  นับว่าโชคดีหน่อย  เพราะว่าท่านเกษตรจังหวัดแจ้งว่าทางกรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายให้มีการฝึกงาน-สอนงานก่อนที่สำนักงานเกษตรจังหวัด  35 วันทำการ  และลงไปฝึกงานในพื้นที่(สำนักงานเกษตรอำเภอที่บรรจุ) อีก 10 วันทำการ  ก่อนที่จะกลับไปเติมเต็มในภาพรวมที่กรมส่งเสริมการเกษตรอีกระยะหนึ่ง

          การสอนงานนั้น  ผมและทีมงานก็มีประสบการณ์บ้างนิดหน่อย  เพราะเราได้ลองใช้เครื่องมือนี้มาตั้งแต่ปี 2548  พอจะมีประสบการณ์บ้างเล็กน้อย  แต่การสอนงานนั้นมีตัวแปรมากมาย ซึ่งคงจะไม่ขอนำมาบันทึก  หากท่านใดสนใจ ก็สามารถเข้ามา ลปรร.ผ่านบล็อกนี้ได้ หรือเป็นการส่วนตัว  เพราะบางประเด็นนั้นเกินกว่าที่เราจะควบคุมได้

          เมื่อวานผมได้มีโอกาสคุยกับน้องๆ 2 คน ที่มาช่วยผมออกแบบและสรุปข้อมูลจากแบบสอบถามในการวิจัยเพื่อหาแนวทางพัฒนาการปลูกกล้วยไข่ของจังหวัด   ที่เรากำลังศึกษาและเก็บข้อมูลกันอยู่   ผมได้ถามและบอกน้องๆ เขาไปในประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญต่ออาชีพนักส่งเสริมการเกษตรเป็นเรื่องแรกก็คือ……

          “การรักษาความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความรู้สึกที่ดีๆ ต่ออาชีพนักส่งเสริมการเกษตรให้คงอยู่ในตัวเราตลอดไป…”

          คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่าวันที่เราสอบบรรจุ หรือสอบทำงานได้นั้น   ช่างเป็นความรู้สึกที่แสนจะวิเศษที่สุด   เป็นความรู้สึกที่ดี   และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง   ดังนั้นความรู้สึกที่ดีๆ ต่ออาชีพใหม่ โดยเฉพาะน้องๆ ที่มาทำงานเป็นนักส่งเสริมการเกษตรนั้น  ขอให้รักษาความมุ่งมั่น  ความรู้สึกที่ดีๆ และความตั้งใจที่จะทำงานในอาชีพนี้ ให้อยู่กับตัวเราให้นานที่สุด  คือให้อยู่กับเราตลอดไป  อย่าให้หดหาย  เพราะหากเราขาดความมุ่งมั่นและความรู้สึกที่ดีๆ   จะส่งผลต่อพลังใจ  พลังกาย  ที่จะทำงานในอาชีพนี้

         แม้วัน  เวลา  จะเปลี่ยนแปลงไป  ประสบการณ์หรือสิ่งที่เราได้พานพบ  จะมีมากขึ้น  ได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมาย  แต่ตราบใดที่เรายังทำงานในอาชีพนักส่งเสริมการเกษตร  เราต้องรักษาความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่จะทำงาน  และความรู้สึกที่ดีต่ออาชีพนักส่งเสริมการเกษตรให้อยู่กับตัวเราตลอดไป  




เราอยู่ได้ด้วยคนอื่น…จงรักผู้อื่น

14 มกราคม 2009 / 5 ความคิดเห็น » / โดย สิงห์ป่าสัก

อ่าน: 351

วันนี้ได้รับหนังสือ “ยศ ทรัพย์ อำนาจ เป้าหมายหรือมรรควิธี” โดย ท่าน ว.วชิรเมธี จากน้าอึ่งอ๊อบ คนสวย แซ่เฮ น้าอึ่งอ๊อบ ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างมาก ….การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง ดังนั้นก็เลยขอบันทึกต่อ เพื่อเป็นขอบคุณน้าอึ่งอ๊อบ และเป็นการแลกเปลี่ยนกับชาว G2K ทุกๆ ท่าน เป็นการตอบแทนครับ……เป็นคำกล่าวสั้นๆ ครับว่า

“เราอยู่ได้ด้วยคนอื่น” นะครับ แตขยายความเพิ่มเติมว่า………..

เพราะในทุกขณะที่เราอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคม เราคงได้พบเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ไม่ว่าจะมองในมิติใดก็ตาม ผู้คน ที่เรียกกันว่ามนุษย์นั้นล้วนมีความแตกต่าง และต้องมีความหลากหลาย ไม่มีใครที่เหมือนกันไปเสียทุกอย่างทั้งกายและจิต…. แม้แต่คู่แฝดที่เกิดมาจากท้องแม่เดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรยอมรับก็คือ คนเรานั้นอยู่ในโลกใบนี้เพียงคนเดียวไม่ได้ เพราะ ” เราอยู่ได้ด้วยคนอื่น “
การผลิตอาหาร เราก็ต้องพึ่งพาคนอื่น แม้บางท่านจะบอกว่าทำนาเอง แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็ต้องให้คนอื่น หรืออาศัยคนอื่นอยู่ดี บางคนร่ำรวยเงินทอง แต่ก็ยังกินข้าวที่คนอื่นปลูกให้อยู่ดีในการหุงหาข้าวปลา-อาหาร เราก็ต้องพึ่งพาคนอื่นไม่มากก็น้อย คนกินก็พึ่งคนทำ คนทำก็พึ่งพาคนกิน ลูกก็ต้องพึ่งพาพ่อแม่ ฯลฯ
ไม่ว่าใกล้-ไกล จะมากหรือน้อยเราก็ได้อาศัยและพึ่งพาคนอื่น
สุดท้ายของบันทึกนี้ อยากให้ทุกๆ คน เห็นความสำคัญของคนอื่นให้มากๆ เพราะคนเรา

* จะอยู่ได้ก็ด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกัน
* เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ดังภาษิตที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกัน….”
* ให้ความสำคัญกับคนอื่นบ้าง โดยเฉพาะคนใกล้ตัว/รอบๆ ตัว
* ลดความสำคัญของตัวเองลงบ้าง ลดความเป็นตัวตนของเรา
* อย่าให้ความต่างของชาติ ภาษา ความรวย-จน ยศ-ตำแหน่งหัวโขนต่างๆ และฐานะในสังคม กลุ่มคน การศึกษา ฯลฯ มาแยกคนเราออกจากกัน
* เมื่อเห็นความสำคัญของคนอื่น เราก็จะมองเห็นคนอื่นอยู่ในสายตา
* เมื่อเห็นคนอื่น ก็จะฟังคนอื่น
* สุดท้ายหากเราเข้าใจและเห็นความเชื่อมโยง เราก็จะ…..รักคนอื่นมากขึ้น
เมื่อเรารักคนอื่น….คนอื่นก็จะรักเรา สังคมก็จะเกิดสันติสุข………….

คนเดียวก็เปรียบเหมือนเทียนเล่มเดียวที่ให้แสงสว่างได้ไม่มากนัก แต่หากนำเทียนมาจุดรวมกัน ย่อมให้แสงสว่างได้มากกว่าเทียนเล่มเดียว………

สิงห์ป่าสัก




ใจสะอาด…

3 ตุลาคม 2008 / 1 ความคิดเห็น » / โดย สิงห์ป่าสัก

อ่าน: 191

ใจสะอาด…
บันทึกนี้เป็นของฝากที่เป็นบทกลอนครับ เป็นของนักส่งเสริมการเกษตรรุ่นพี่ๆ เขียนไว้ ผมไปเจอเขาทิ้งไปแล้วเห็นว่ามีสาระดี เลยปัดฝุ่นนำมาแขวนใหม่ ไว้ที่ห้องทำงานของผมเอง
“คนที่มีนิสัย ไม่สะอาด
ถึงเก็บกวาดอย่างไรก็ไร้ผล
ความสะอาดต้องมีในสันดานคน
ทุกแห่งหนจึงสะอาดชาติรุ่งเรือง”

ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด นอกจากเพื่อการ ลปรร. ครับ




ผู้นำกับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน

2 ตุลาคม 2008 / 3 ความคิดเห็น » / โดย สิงห์ป่าสัก

อ่าน: 381

อ่านบันทึกของอาจารย์ประพนธ์ ที่ gotoknow.org ชื่อบันทึก Leadership – ภาวะผู้นำ กับการสร้างความแตกต่าง แล้ว เลยนำมาคิดต่อ และนำสิ่งที่คิดต่อนั้นมาเรียบเรียง รายละเอียดก็เขียนตามสิ่งที่เคยพบพบเห็น มุมมองอาจจะอยู่ในวงจำกัดหรือให้น้ำหนักแก่หน่วยงานของรัฐ เพราะอยู่และเห็นอยู่ในวงการนี้มากที่สุด อาจจะไม่ถูกต้องหรือตรงใจท่านผู้อ่านมากนัก/บางท่านก็ต้องกราบขออภัย

เท่าที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าภาวะผู้นำนั้น ไม่ได้ขีดกรอบหรือขีดวงจำกัดอยู่แต่ผู้บริหารขององค์กรเท่านั้นที่จะมีภาวะผู้นำ เราๆ ท่านๆ ทุกคนต่างล้วนมีอยู่ในตัวในตน และเป็นผู้นำกันได้ทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งแห่งหน ก็การเป็นผู้นำตนเองนั่นก็แบบหนึ่งที่ทุกคนสามารถเป็นได้ เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ / ในหรือนอกระบบ คือมีได้ในทุกระดับไม่ว่าจะในระดับบุคคล-ปัจเจก นำในระดับกลุ่ม-ฝ่าย จนถึงนำองค์กรในระดับที่สูงขึ้นไป

แต่จากประสบการณ์อันน้อยนิดที่อยู่ในวงการ-ระบบงานของรัฐนั้น ผมคิดว่าการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ไปสู่ทิศทางที่ถูกที่ควร หรือสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับองค์กรได้นั้น ผู้บริหารในทุกระดับ(ที่เป็นทางการ)ควรจะมีภาวะของผู้นำ-ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวสูงตามไปด้วย(ตามบทบาทและความรับผิดชอบ) เพราะวัฒนธรรมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐนั้น ยังดำเนินอยู่อย่างเดิมและเหนียวแน่น คือการทำงานตามระบบ มีสายงานการบังคับบัญชาที่ตายตัว สิ่งใหม่แม้จะเป็นสิ่งที่ดี-ถูกต้องและเป็นวิธีการใหม่ๆ ที่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาปรับวิธีการทำงาน หากไม่เป็นไปตามระบบ หรือสอดคล้องกับรูปแบบที่มีอยู่เดิมแล้ว หรือคนคิดไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูงแล้วไซร้…ยากที่จะสามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้

จึงไม่แปลกเลยที่เรามักจะเคยได้ยินคนทำงานบ่นเสมอว่า “มีความสุขมากหากได้ทำในสิ่งที่เขา(คนอื่น)ไม่ได้สั่ง(คิดเอง)…แต่ไม่มีความสุขมากนักกับงานที่ต้องทำตามเขาสั่ง(ทำให้เสร็จๆ)” อาจจะอ่านแล้วงง ทั้งๆ ที่เป็นการทำงานเหมือนกัน ขออธิบายเพิ่มเติมว่าที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าคนทำงานทุกคนนั้นล้วนมีความสามารถที่จะคิด-วิเคราะห์งาน แล้วนำไปสู่การปฏิบัติได้เองทุกคน แต่ไม่สามารถที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้-ปรับเปลี่ยนงานที่ทำอยู่ได้ (แต่บรรลุเป้าหมายของงานตามหน้าที่ไม่บกพร่อง น่าจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำในหลายๆ ด้าน) โดยธรรมชาติคนเราไม่ต้องการการควบคุม ชอบการเป็นอิสระ และเราก็จะได้ยินผู้มารับบริการหรือคนทั่วๆ ไปบ่นเสมอว่า

*งานล่าช้า
*ยังไม่ปรับปรุงวิธีการทำงานกันเลย
*ไม่มีรูปแบบที่หลากหลายเหมือนบริษัท-หรือหน่วยงานอื่นที่เคยไปใช้บริการมา
*งานมักจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่สามารถทำแทนกันได้ คนนั้นไม่อยู่คนนี้ก็ทำให้ไม่ได้
*ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้เราสามารถที่จะแก้ได้ แม้อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง และจะทำให้เกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องโยงไปหาผู้นำอีกนั่นแหละครับ เพราะนอกจากคนทำงานจะเป็นผู้นำในระดับบุคคลกันแล้ว ในงานของหน่วยงานนั้นผู้นำองค์กรมีความสำคัญอย่างสูงมากต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร เพราะจุดสูงสุดนี้สามารถที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาได้ใหม่ และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล-กลุ่มคนได้นั้น ล้วนอยู่ที่ผู้นำ/ผู้บริหารแทบทั้งสิ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมองแต่มุมภายในนั้นยังไม่น่าจะเพียงพอ สิ่งที่ต้องปรับไปคู่ขนานกันก็คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบมาจากภายนอกด้วย(คิดต่อ) จึงจะส่งผลในทางบวกต่อการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรด้วย

นั่นคือมุมมองที่นำมาคิดต่อและเรียบเรียงเพราะ “นายเลือกลูกน้องไม่ได้ และลูกน้องก็เลือกเจ้านายไม่ได้” นี่คือความเป็นจริงของหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำ/ผู้บริหารที่เก่งๆ ก็มีมากมายแต่ลูกน้องอาจตรงกันข้าม หรือลูกน้องทำงานดีแต่เจ้านายไม่ใส่ใจงานก็มี

แต่ข้อสรุปสุดท้ายเราก็คงหันกลับมาที่ตนเองนั่นแหละครับ เพราะหากทุกคนพัฒนาตนเอง เรียนรู้และปรับปรุง-พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ปัญหาและข้อขัดข้องต่างๆ ก็คงแก้ไขได้ไม่ยากเย็น การสร้างวัฒนธรรมใหม่ไม่ใช่เรื่องยากในการทำงานในองค์กร ที่สรุปเช่นนี้ก็เพราะว่า “เราเปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้…นอกจากการเปลี่ยนแปลงตัวเอง” หากทุกคนเปลี่ยนแปลงตนเอง (ในทางที่ถูก-ดี) คงจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับสังคมแห่งนี้อีกมากมาย

วันนี้เราอาจจะยังหาส่วนผมผสมของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ลงตัว แต่หากว่าทุกคนไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาแล้ว วัฒนธรรมใหม่ของการทำงานคงจะมาถึงหน่วยงานเราได้สักวัน

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ

2 ตุลาคม 2551




มองต่างมุม กับการผลิตพืชปลอดภัย

1 ตุลาคม 2008 / 2 ความคิดเห็น » / โดย สิงห์ป่าสัก

อ่าน: 191

ผมทำงานในบทบาทของงานส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมักจะตกเป็นจำเลยของสังคมทุกครั้งหากมีปัญหาเกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตร แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้กระทำโดยตรง เช่น
* พืชบางชนิดมีผลผลิตล้นตลาด-ขาดตลาด
* สินค้าการเกษตรมีราคาถูก-แพง
* เกษตรกรมีการใช้สารเคมีมาก
* ฯลฯ มากมาย
การที่ถูกตำหนิหรือว่ากล่าวอย่างใด พวกเราก็คงไม่คิดที่จะโต้แย้ง เพราะมันคงไม่เกิดประโยชน์หรือผลดีอะไรขึ้นมา ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าส่วนมากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากพวกเราเลยแม้แต่นิดเดียว
ในการผลิตพืชเพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานหันมาสนใจ และทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกษตรกรลด ละ เลิกใช้สารเคมีกันมาก เหตุผลก็คือเพื่อความปลอดภัยอะไรประมาณนั้น ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานส่งเสริมการเกษตรของพวกเราก็จะมีโครงการต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการจะทำให้มีการผลิตพืชที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน
ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นวิธีการที่ดี แต่หากจะให้สำเร็จ ส่งผลไปถึงการเลิกใช้สารเคมีของเกษตรกรกันทั้งหมดนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก แม้เราจะทุ่มเททรัพยากรกันหมดทั้งประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้เลยก็ตาม เหตุผลก็คือการทำงานปัจจุบัน เราทำงานกันแบบแยกส่วน ทำกับบางกลุ่ม บางหน่วยงานเท่านั้น ต้นตอและสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข หากคิดอีกมุมหนึ่ง แบบตรงกันข้าม…มองต่างมุม ก็จะพบเห็นว่าสิ่งที่อยู่นั้นมีจุดอ่อนและสมควรได้รับการแก้ไขในหลายประเด็น

รณรงค์แต่คนปลูกแต่ไม่ได้รณรงค์คนกิน-คนซื้อเลย
เราจะพบเห็นโดยทั่วไปว่าคนปลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ใช้สารนี้ดี สารนี้ไม่ดี ฯลฯ แต่เราไม่เคยรณรงค์เพื่อชักจูงให้คนกิน-คนซื้อเลยว่าควรทำอย่างไร เลือกซื้อเฉพาะสินค้าแบบไหน ประเด็นนี้ผมมีข้อมูลยืนยันจากการไปสอบถามคนปลูกผัก และปลูกพืชทั่วไปหลายพื้นที่ว่าพวกเขาไม่อยากใช้กันอยู่แล้วสารเคมี หรือบางคนไม่ใช้แต่กลับพบว่าคนซื้อไม่ซื้อผลผลิตของเขาเพราะใบไม่สวย ไม่อวบ…อิอิ

เราไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ประเด็นนี้ผมคิดเองนะครับ (บางทีอาจจะทำไม่ได้) สิ่งที่ผมมองก็คือ ในเมื่อเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าสารเคมีบางชนิดไม่ปลอดภัย และสารเคมีเหล่านั้นล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ…ทำไมเราไม่งดการนำเข้า เท่านี้ก็จะแก้ปัญหาได้ ระยะแรกอาจมีปัญหาบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาวเราน่าจะสามารถปรับตัวได้ หรือว่ามันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนรู้ว่าบุหรี่-เหล้าไม่ดี แต่กลับมีการตั้งโรงงานกันอย่างถูกต้อง แถมบางอย่างรัฐเสียเองเป็นผู้ผลิต-จำหน่าย
แค่ 2 ประเด็นนี้ก็พอจะทุเลาหรือแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ไปได้ ยังมีอีกหลายช่องทางหากเราเอาจริงเอาจังกับมันแล้วปัญหาเรื่องการผลิตพืชให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมก็คงจะลดลงได้บ้าง
คิดเล่นๆ ครับ ท่านผู้ผ่านมาจะเพิ่มเติมก็ขอเชิญเลยครับ




บันทึกแรก ลานป่าสัก

10 กรกฏาคม 2008 / 7 ความคิดเห็น » / โดย สิงห์ป่าสัก

อ่าน: 77

โดยธรรมชาติทุกคนคือคนดี และหากจะถามต่อไปว่าแล้วเราเกิดมาทำไม
ผู้รู้ท่านสรุปว่าเราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่
ดังนั้นเราทุกคนล้วนต้องเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
เพื่อที่จะทำให้เราได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง
ให้สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดีทีสุด
ส่วนช่องทางหรือวิถีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นย่อมมีหลากหลาย
นี่ก็คงเป็นอีกทางหนึ่งที่เราจะสามารถแลกเปลี่ยน-แบ่งปันกันได้แบบพี่แบบน้อง ลานดิน บนพื้นดินที่เราจะสามารถเข้าถึงกันได้อย่างเท่าเทียม……
คอยติดตามเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในลานป่าสักแห่งนี้ต่อไปนะครับ

คำสำคัญ: ,




Hello world!

10 กรกฏาคม 2008 / 1 ความคิดเห็น » / โดย สิงห์ป่าสัก

อ่าน: 96

Welcome to ลานปัญญา. This is your first post. Edit or delete it, then start blogging!




Main: 0.077975988388062 sec
Sidebar: 1.5318639278412 sec