จะเขียนเรื่องนิสัยคนไทยแล้วก็พยายามรวบรวมความคิดอยู่พักหนึ่ง พอดีมีเรื่องไฟไหม้ซานติก้าผับ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 จึงได้โอกาสพูดเรื่องนิสัยแรก งานนี้ตายไปประมาณ 60 คนทันที บาดเจ็บอีกหลายร้อย เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นตอนกำลังเค้าดาวพอดี เพราะไหม้จากพลุเค้าดาวนั่นแหละ ผมรู้จากข่าววันรุ่งขึ้นเพราะหลับไปตั้งแต่สองทุ่มแล้ว
ผมวิเคราะห์ว่าคนไทยมีนิสัย ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อหนึ่งคือ “ไม่เป็นไร”
ข้อดี) สมมุติว่าทำเงินหาย หาไม่เจอจริงๆ ก็ “ไม่เป็นไร” จะได้ดำเนินชีวิตต่อได้ หรือ มีคนมาแซงคิวเรา คนไทยก็ว่า “ไม่เป็นไร” เขาคงมาตอนเราไม่เห็น ถ้าเป็นอะไรที่ไม่ทำให้เสียหน้า (เช่นขับรถปาดหน้า) คนไทยจะคิด “ไม่เป็นไร” ได้ง่ายมาก
ข้อเสีย
- มีปัญหาเห็นๆ อยู่ไม่แก้ เพราะ “ไม่เป็นไร” หรอก “ช่างมัน” “ไว้ก่อน” นึกถึงเรื่องที่คนข้ามสะพานไม้แล้วเหยียบตะปู เจ็บแต่ก็ไม่คิดจะทำอะไรกับตะปูนั้น มีคนบอกว่าคนไทยไม่มีจิตวิญญาณสาธารณะ จะสนใจแต่คนรอบตัวกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ถ้าตะปูนั้นอยู่หน้าบ้านคงถูกจัดการแน่นอน
- ปัญหาเล็กๆ ในข้อแรกนั้น เมื่อไม่แก้ก็จะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ เป็นวิธีคิดที่ตรงข้ามกับ safety first และกฎของเมอร์ฟี่ อย่างสิ้นเชิง ฉะนั้น ถึงแม้เราจะรู้ว่าจะสร้างสถานบันเทิง ต้องมีระเบียบความปลอดภัยอย่างไรบ้าง แต่ก็ “ไม่เป็นไร” คงไม่โดนหรอก
- เมื่อปัญหาเกิดเป็นปัญหาจริงๆ ก็ยังจะไม่แก้อีก ผมว่า “วัวหายล้อมคอก” เป็นวิธีคิดที่ดี เพราะเราคงคิดวิธีที่วัวจะหายได้ไม่หมดตั้งแต่แรก แต่เมื่อพบวิธีหนึ่งแล้วก็ล้อมเสีย ผ่านไปเรื่อยๆ วัวก็จะหายน้อยลง แต่ปัญหาของคนไทยคือ วัวหายแล้ว ก็ “ไม่เป็นไร” หรอก คงจะไม่เกิดอีกหรอก แทนที่จะรีบแก้ทันที ปัญหาอย่างซานติก้าเคยเกิดมาแล้ว แต่ราชการก็ไม่เคยเข้มงวดในเรื่องการป้องกันไฟไหม้ในสถานบันเทิงเลย เห็นสนใจอายุคนเข้าผับมากกว่า ผมว่างานนี้คนที่ต้องรับผิดชอบนอกจากเจ้าของแล้วก็คือ กทม. ด้วย
ความไม่เป็นไรอยู่ในนิสัยของพวกเราทุกคน รวมทั้งผมด้วย (ไม่งั้นคงอธิบายออกมาไม่ได้) คนส่วนน้อยที่พ้นจากปัญหานี้ไปได้ก็จะประสบความสุขความเจริญมากกว่าคนที่เหลือจนเป็นที่แปลกใจ ประเด็นหนึ่งคือคนไทยไม่เข้าใจกฎของเมอร์ฟี่นะ ที่ว่าอะไรที่มันจะเสียได้มันจะเสีย หรือที่พูดตลกๆ ว่า วันไหนที่ไม่เอาร่มออกไปฝนจะตก หรือ ฆ้อนจะตกใส่หัวแม่โป้งเท้าเสมอ
คนไทยมองกฎของเมอร์ฟี่เป็นเรื่องตลกเสมอ ไม่ได้นำไปใช้เหมือนฝรั่ง ซึ่งใช้คำพูดนี้เตือนใจว่าจะต้องระวังช่องโหว่ในทุกอย่างให้ดีที่สุด จนพวกเรามองว่าน่ารำคาญ ผมสังเกตว่าคำขวัญแบบนี้ของไทยไม่มี เพราะมันไม่อยู่ในวิธีคิดของเราเลย เราไม่เคยมองว่าตะปูที่สะพานจะต้องโดนเหยียบแน่ๆ หรือ เครื่องคอมที่รวนอยู่มันจะต้องเสียในวันที่เราต้องการไฟล์สำคัญจากมัน ถ้าเราเลิก “ไม่เป็นไร” และหันมาคิดแบบ “กฎของเมอร์ฟี่” แทน แบบ “safety first” แบบ “วัวหายล้อมคอกก็ยังดี” ชีวิตคงมีเรื่องให้เสียหายเจ็บปวดน้อยลง
ฝืนความเป็นไทยกันเถอะครับ
มกราคม 2nd, 2009 at 20:27
มายกมือเห็นด้วย ต้องช่วยกันทำครับ อิอิ
มกราคม 2nd, 2009 at 22:18
1. ลักษณะเช่นนี้ ฝรั่งจึงสรุปว่าสังคมไทยเป็นสังคม Loosely structure ท่านที่สนใจหรือเรียนมาทางสังคมวิทยามานุษยวิทยา จะตั้งเป็นประเด็นใหญ่ถกกันเลยครับ
2. ไทยเรามีคำกล่าวทำนองนี้หลายเรื่องเหมือนกัน เช่น “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ที่ขอนแก่นพยายามสร้างคำใหม่ว่า “คนไทยมีวินัยคือไทยแท้” คำนี้มาติดที่สี่แยกหน้าศาลากลาง แต่ตลกจนขำไม่ออก เพราะยังมีรถมอเตอร์ไซด์ผ่าไฟแดงทุกวันตรงสี่แยกที่มีป้ายนี้ติดอยู่….จริงไม่ว่าขอนแก่น ที่ไหนๆก็เหมือนกัน เพราะผมก็เห็นภาพแบบนี้เสมอ
3. มีอีกคำหนึ่งที่ผมกุมขมับอยู่ครับเพราะชาวบ้านที่ผมทำงานอยู่ด้วยนั้นมีลักษณะที่เรียกว่า “วีรชนเอกชน” คำนี้เป็นศัพท์ที่ฝ่ายซ้ายนิยมใช้กันหลัง 14 ตุลา และคนในป่าใช้กันมาก หมายถึงบุคคล กลุ่มคน ชนเผ่าใดๆที่มีความเป็นอิสระเสรี แบบเอาแต่ความคิดตนเอง ไม่สนใจกฏระเบียบ ข้อบังคับ แม้แต่กลุ่มของตนเอง ตัวเองคิดอย่างไรก็เอาอย่างนั้น…. คนในป่าพยายามวิภาควิจารย์คนที่มีลักษณะเช่นนี้ และพยายามให้คนนั้นขจัดลัทธินี้ออกไปจากตัวเขาเสีย แต่ก็มิใช่เรื่องง่าย เหมือนที่ผมประสบอยู่ในปัจจุบันในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานพัฒนาชาวบ้าน แล้ววันหลังจะเขียนบันทึกนี้ครับ…
มกราคม 3rd, 2009 at 2:04
เวลาใครทำเรื่อง safety first คนไทยก็จะบอกว่า ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ตีตนไปก่อนไข้ ซะงั้น
ดีแล้วค่ะ ที่มาชวนกันทำ
ช่วยกันทำ เริ่มที่ตัวเราก่อนแหละดีค่ะ
สวัสดีปีฉลูค่ะ
มกราคม 6th, 2009 at 20:44
เรื่องธรรมดา ธรรมดา…
ไม่แน่ใจว่าความเป็นแบบไทยๆ หรือไม่ ?
เจริญพร