ส.ค. 25
ในเมื่อท่านมีอำนาจไม่จำกัดและมีความดีงามสูงสุด
ทำไมโลกจึงยังมีความชั่วร้ายและทุกข์ระทม
ในเมื่อท่านเป็นผู้ออกแบบและสรรค์สร้างสรรพสิ่ง
ทำไมมวลมนุษย์จึงมีความบกพร่องทั้งร่างกายและจิตใจ
ในเมื่อท่านหยั่งรู้ในสรรพสิ่งตลอดเวลาและจักรวาล
ทำไมมนุษย์ต้องเผชิญบททดสอบที่ท่านย่อมรู้ผลลัพธ์ล่วงหน้า
ในเมื่อท่านเป็นผู้สร้างมนุษย์
ทำไมทุกคนไม่ถูกสร้างให้มีความสุขและทำความดีตลอดเวลา
ทำไมทุกคนไม่ถูกสร้างให้รู้จักและเชื่อมั่นในตัวท่านตั้งแต่แรก
ทำไมคนเช่นข้าจึงต้องถูกลงโทษชั่วนิรันดร์เมื่อสิ้นชีพ
แม้เพียรทำความดีสุดชีวิต เพียงเพราะไม่รู้จักท่าน
หรือแท้จริงท่านเป็นบางสิ่งที่เราบางคนไม่มีทางเข้าใจ
เพราะเราถูกสร้างให้ไม่มีวันเข้าใจ
หรือแท้จริงเราเป็นลูกที่ถูกท่านทอดทิ้ง
ให้ต้องรับผิดชอบชะตาชีวิตของตัวเอง
ด้วยตัวของตัวเอง.
เม.ย. 24
ที่มาของบันทึกนี้คือการไปคอมเมนต์ที่ “Middle Class Again” และควรอ่านบทความนี้ก่อนอ่านต่อ “เมื่อผู้กำกับ “รักแห่งสยาม” เขียนจดหมายตอบน้องเรื่องผลกระทบจากเหตุการณ์ 10 เมษายน”
ไม่คุยเรื่องประเด็นแนวคิดทางการเมืองที่ต่างกันนะครับ เพราะจุดยืนก็แตกต่างกันไปและถกกันบ่อยอยู่แล้ว เอาประเด็นที่ผมไม่สบายใจดีกว่า เพื่อเลี่ยงความกำกวมและลดความรู้สึก ผมขอเรียก middle class ที่ไม่มีจุดยืนว่า passive citizen ส่วน middle class ที่มีจุดยืนไม่ว่าแดงหรือเหลืองหรือหลากสีว่า active citizen ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงหรือคนชั้นล่างไม่ใช่ citizen
ผมชอบบทความของคุณชูเกียรตินะครับ อธิบาย mindset ของคนเสื้อแดงได้ครบถ้วนกระชับดีสมกับเป็นศิลปิน ใครอ่านก็จะเข้าใจความคิดของคนเสื้อแดงได้ไม่ยาก ส่วนที่ผมไม่ชอบ คือการใช้ความสามารถทางภาษา เช่นการประชดประชันเพื่อถ่ายทอดทัศนคตินอกเหนือไปจากความต้องการที่จะสื่อข้อมูล ผลร้ายคือหากคนเสื้อแดงอ่านก็ยิ่งตอกย้ำความคับแค้นใจและความเกลียดชังที่มีต่อคนชั้นกลาง ไม่ว่าจะ passive หรือ active
หากคนชั้นกลางอ่านก็จะรู้สึกคับแค้นใจที่ได้ทราบว่าในสายตาคนเสื้อแดงนั้นเหยียดหยามและดูถูกคนชั้นกลางคือพวกเขาขนาดนั้น คนเสื้อแดงบางคนอาจจะนึกภาพความรู้สึกนี้ไม่ออก แต่คนชั้นกลางที่อ่านอยู่คงเข้าใจดี มันเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับที่คนเสื้อแดงอธิบายว่าคนชั้นล่างจะรู้สึกเมื่อโดน passive citizen ดูถูก และผมยืนยันได้ว่า active citizen ที่พยายามทำความเข้าใจคนเสื้อแดงจะรู้สึกแบบนั้น เสียใจหรือไม่ก็โกรธ ผลคือเพิ่มความเกลียดชังที่มีต่อคนเสื้อแดงทั้งที่ตัวเองกำลังพยายามทำความเข้าใจเขาอยู่ ผมเชื่อว่าคุณชูเกียรติเขียนบทความเดียวกันโดยไม่รุนแรงในทางภาษาได้ แต่ด้วยอารมณ์กรุ่นตามเหตุการณ์ขณะเขียนก็ย่อมถ่ายทอดไปแบบนั้น หรือมันเป็นเทรนด์งานเขียนของคนเสื้อแดงก็ไม่แน่ใจ
ประเด็นของผมคือเหลืองได้ริเริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ แต่อาศัยความเกลียดชังเป็นเชื้อเพลิง เหลืองจึงเคลื่อนมวลชนโดยสร้างความเกลียดชังต่อเป้าหมายอย่างรุนแรง เพื่อให้การจัดการสำเร็จ ซึ่งก็สำเร็จพร้อมกับความเกลียดชังที่เหลืองมีต่อแดงตามไปด้วย เมื่อแดงเริ่มต้นเคลื่อนไหว แทนที่จะปฏิเสธวิธีการของเหลืองกลับใช้วิธีเดียวกัน สร้างความเกลียดชังของมวลชนต่ออำมาตย์และคนชั้นกลาง วงจรลบนี้เมื่อหมุนไปเราจึงมาถึงวิกฤติ คนเสื้อแดงมักตำหนิฝ่ายตรงข้ามเสมอว่าใช้ทุกวิธีเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อคนเสื้อแดง แต่คนเสื้อแดงโดยไม่รู้ตัวก็ทำแบบเดียวกัน มันไม่ทำให้การกระทำนี้ถูกต้องมากขึ้นด้วยการพูดว่าเหลืองก็ทำหรือเป็นคนเริ่ม ใครสร้างความเกลียดชังหรือเห็นค้วยกับความรุนแรงและการเสียชีวิตต่างก็ผิดเหมือนกัน
หากเลิกโทษว่าอีกฝ่ายสร้างความเกลียดชังต่อตัวเอง ระวังไม่ให้ตัวเองสร้างความเกลียดชังมากขึ้น วงจรบวกก็จะเริ่มต้นขึ้น อย่าถือว่าการที่เขาตำหนิข้อเสียของเราอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นการทำให้คนเกลียดชังเรา มิฉะนั้นการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย ผมยอมรับว่าในสถานการณ์รุนแรงแบบนี้ สิ่งที่ผมเสนอนั้นทำได้ยากแม้แต่ตัวผมเองหลังจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดเสื้อสีชมพู แต่เมื่อความตึงเครียดลดลง ในระยะยาวถ้าเชื่อมั่นในแนวคิดนี้ผมเชื่อว่าเป็นไปได้
ทุกคนรู้ดีว่าประเทศไทยจะไม่เป็นเหมือนเดิมอีก แต่จะดีขึ้นหรือเลวลงก็ขึ้นกับว่าพวกเราจะเปลี่ยนกรอบความคิดหรือจะทำไปตามเดิม
ส.ค. 09
ผมเริ่มตั้งสมมุติฐานอย่างหนึ่งว่าคนไทยมองความถูกผิดในลักษณะที่แตกต่างจากชาวตะวันตก แน่นอนว่าจริงๆ แล้วมันจะต้องต่างกันอยู่แล้วเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่ประเด็นตรงนี้คือคนไทย (สำรวจจากตัวเองด้วย) มองความถูกผิดเป็นเรื่องสัมพัทธ์เอามากๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมแปลกๆ หลายอย่าง อย่างสำนวนที่ว่า “เกลียดตัวกินไข่” “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” “เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” หรือ นิทานที่แม่ปูสอนลูกปูให้เดินตรงๆ เป็นต้น
ต้องออกตัวบ่อยๆ ว่าที่เอาเรื่องพวกนี้มาคิดมาคุยกันทั้งที่เป็นเรื่องน่าเบื่อก็เพื่อที่จะทำความเข้าใจตัวเอง และปัญหาของทีมงานในบริษัท และการที่หัวข้อเป็นเรื่องนิสัยคนไทยเพราะว่ากำลังทำความเข้าใจปัญหาสากลของคนไทยที่ไม่ใช่ปัญหาสากลของชาวตะวันตก เพื่อใช้ในการปรับปรุงตัวเองและคนใกล้ตัว ไม่ใช่เป็นการมองว่าฝรั่งดีกว่าหรือแย่กว่าคนไทย แต่เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงข้อดีของคนไทย หรือข้อเสียของฝรั่ง ที่มีประโยชน์กว่าคือการเข้าใจข้อเสียของตนเอง และข้อดีของผู้อื่น อ่านต่อ… »
ส.ค. 08
ที่มา http://qa.buu.ac.th/form/common/QA2.ppt
ทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลง
คนไทยมักจะยึดติดกับความเคยชินแบบเดิมๆ เคยทำมาอย่างไรก็จะทำอยู่อย่างนั้น ไม่ค่อยมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง และถ้าฝรั่งเอาวิธีใหม่ๆ เข้ามาทำให้พวกเขาต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม ก็จะถูกมองว่าเป็นการสร้างความรำคาญให้พวกเขา มักจะไม่ค่อยได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่หรือไม่ก็ถึงกับถูกต่อต้านก็มี อ่านต่อ… »
ม.ค. 02
จะเขียนเรื่องนิสัยคนไทยแล้วก็พยายามรวบรวมความคิดอยู่พักหนึ่ง พอดีมีเรื่องไฟไหม้ซานติก้าผับ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 จึงได้โอกาสพูดเรื่องนิสัยแรก งานนี้ตายไปประมาณ 60 คนทันที บาดเจ็บอีกหลายร้อย เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นตอนกำลังเค้าดาวพอดี เพราะไหม้จากพลุเค้าดาวนั่นแหละ ผมรู้จากข่าววันรุ่งขึ้นเพราะหลับไปตั้งแต่สองทุ่มแล้ว
ผมวิเคราะห์ว่าคนไทยมีนิสัย ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อหนึ่งคือ “ไม่เป็นไร” อ่านต่อ… »
ต.ค. 19
สามปีแล้วที่บริษัทเราร่วมจัดงาน software freedom day โดยสองปีที่ผ่านมาจะจัดเป็นบูตภายในตึกคอมศรีราชา (ด้วยความเอื้อเฟื้อสถานที่โดยตึกคอมศรีราชา) ปีนี้เกิดอยากเกะกะด้วยอารมณ์แบบม็อบนิยมเลยไม่จัดบูต แต่ใช้เดินรณรงค์ แจกแผ่น โบรชัวร์ และพูดคุยอธิบายความหมายของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแทน เป็นรูปแบบตามจิตวิญญาณดั่งเดิมของ software freedom day โดยตระเวณกันภายใน ม.บูรพา และตึกคอมพัทยา เหตุเกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา มีรูปที่ถ่ายเก็บกันไว้เป็นหลักฐาน
ต.ค. 18
ที่เกิดนึกจะเขียนบล็อกขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยคืออย่างนี้ครับ ในช่วงสามปีที่ผ่านมาผมเริ่มบริษัทที่ปรึกษาเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ศรีราชา ทำหน้าที่ช่วยเหลือองค์กรในการเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส บริษัทมีเว็บหลายเว็บ แต่ผมไม่เคยคิดจะเขียนบล็อกเพราะมีความรู้สึกว่าไม่มีเวลาเขียนหนังสือ เพราะเขียนช้า จนกระทั่งพักหลังๆ สังเกตตัวเองว่ามีเรื่องบางเรื่องที่ชอบเล่าหรือบ่นให้พวกน้องๆ ในบริษัทฟัง ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นความหมกหมุ่นที่ทำให้สนใจในปัญหานี้ เพราะตัวผมเองก็มีปัญหานี้ น้องๆ ก็มีกัน ดูคนทั่วไปก็มี แล้วก็เป็นปัญหาในการทำงานมาก เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในที่ทำงานของผมเลย
ปัญหาที่ว่าคือเรื่อง “นิสัยคนไทย” ซึ่งแปลว่าปัญหาแบบนี้เป็นปัญหาเฉพาะในที่ทำงานหรือบ้านเมืองคนไทย ไม่ใช่ปัญหาสากลทั่วไป ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่ว่าฝรั่งมันดีกว่าเรา หรือว่ามันไม่มีปัญหานะครับ แต่ว่าปรกติปัญหาสากลเราก็มักจะมีทางแก้ที่มีการเรียนรู้มาเป็นอย่างดี ปัญหาลักษณะนิสัยของฝรั่งก็มักจะมีหนทางแก้หรือไม่ก็แค่ทำความเข้าใจ แต่ปัญหาจาก “ความเป็นไทย” โดยเฉพาะในที่ทำงานดูจะเป็นอะไรที่ “ตามมีตามเกิด” องค์กรที่จัดการเรื่องนี้ได้ดีก็จะมาจากประสบการณ์ หรือเกิดจาก “ตัวบุคคล” ของผู้บริหารที่เข้าใจนิสัยคนไทย มากกว่าที่จะมีหลักการให้เลียนแบบได้
เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าถกเถียง เลยขอยกขึ้นมาจั่วหัวไว้ก่อน ลองค้นดูในเน็ตพอจะมีข้อมูลให้อ้างอิงได้บ้างตามที่ลอกมาไว้ข้างล่าง อ่านต่อ… »
ความเห็นล่าสุด