ที่เกิดนึกจะเขียนบล็อกขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยคืออย่างนี้ครับ ในช่วงสามปีที่ผ่านมาผมเริ่มบริษัทที่ปรึกษาเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ศรีราชา ทำหน้าที่ช่วยเหลือองค์กรในการเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส บริษัทมีเว็บหลายเว็บ แต่ผมไม่เคยคิดจะเขียนบล็อกเพราะมีความรู้สึกว่าไม่มีเวลาเขียนหนังสือ เพราะเขียนช้า จนกระทั่งพักหลังๆ สังเกตตัวเองว่ามีเรื่องบางเรื่องที่ชอบเล่าหรือบ่นให้พวกน้องๆ ในบริษัทฟัง ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นความหมกหมุ่นที่ทำให้สนใจในปัญหานี้ เพราะตัวผมเองก็มีปัญหานี้ น้องๆ ก็มีกัน ดูคนทั่วไปก็มี แล้วก็เป็นปัญหาในการทำงานมาก เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในที่ทำงานของผมเลย
ปัญหาที่ว่าคือเรื่อง “นิสัยคนไทย” ซึ่งแปลว่าปัญหาแบบนี้เป็นปัญหาเฉพาะในที่ทำงานหรือบ้านเมืองคนไทย ไม่ใช่ปัญหาสากลทั่วไป ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่ว่าฝรั่งมันดีกว่าเรา หรือว่ามันไม่มีปัญหานะครับ แต่ว่าปรกติปัญหาสากลเราก็มักจะมีทางแก้ที่มีการเรียนรู้มาเป็นอย่างดี ปัญหาลักษณะนิสัยของฝรั่งก็มักจะมีหนทางแก้หรือไม่ก็แค่ทำความเข้าใจ แต่ปัญหาจาก “ความเป็นไทย” โดยเฉพาะในที่ทำงานดูจะเป็นอะไรที่ “ตามมีตามเกิด” องค์กรที่จัดการเรื่องนี้ได้ดีก็จะมาจากประสบการณ์ หรือเกิดจาก “ตัวบุคคล” ของผู้บริหารที่เข้าใจนิสัยคนไทย มากกว่าที่จะมีหลักการให้เลียนแบบได้
เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าถกเถียง เลยขอยกขึ้นมาจั่วหัวไว้ก่อน ลองค้นดูในเน็ตพอจะมีข้อมูลให้อ้างอิงได้บ้างตามที่ลอกมาไว้ข้างล่าง
ระบบอุปถัมภ์เป็นแกนหลักของสังคมไทย
- ยึดตัวบุคคล
- ขาดหลักการ
- ขาดอุดมการ
- ไม่แบ่งแยกกันระหว่าง Public + Private
- ขาดจิตรสำนึกต่อส่วนรวม (Public Mind / Spirit)
- ขาดความดีงามของสาธารณะ (Public Good)
- ขาดผลประโยชน์ต่อส่วนรวม (Public Interest)
- ขาดการรับผิดชอบต่อส่วนรวม (Public Responsibility)
- ขาดการตรวจสอบสาธารณะ (Public Accountability)
- ขาดความเสมอภาค (Social Equity)
- ขาดความยุติธรรม (Social Justice)
- ลักษณะของคนไทยชอบเล่นพรรคเล่นพวก / ไม่สามัคคี
- สามัคคีเฉพาะกลุ่ม ไม่สามัคคีในภาพรวม
- ประจบสอพลอ
ศาสตราจารย์ Ruth Benedict ได้ทำการศึกษาวิจัยญี่ปุ่นก่อนแล้วเลยมาศึกษาสังคมไทยทำการแต่งหนังสือ “ Thai Culture and Behavior ” พบว่า
- คนไทยเฉย ,เฉื่อยชา
- คนไทยรักสนุก ,รักสบาย ,และคนไทยใจเย็น
- คนไทยไม่ทำอะไรรุนแรง
- คนไทยผู้ชายมักจะเป็นผู้นำ คือจะมีสมรรถนะทางสังคมไม่เท่ากัน
ทีมงานศาสตราจารย์ Sharp และคณะ Professor Herbert Phillips จากมหาวิทยาลัย Cornell ได้เข้ามาวิจัยชนบทไทยพบว่า พฤติกรรมของคนไทยเป็นเช่นนี้
- คมไทยชอบมีปฎิสัมพันธ์สูง (Take Pleasure in Social Interaction)
- สังคมราบเรียบ (Social Harmony)
- คนไทยไม่ชอบขัดแย้ง ,ไม่ชอบการเผชิญหน้า (Avoid Face – to -Face Conflict)
- คนไทยใช้เครื่องสำอางทางสังคม (Social Cosmetic)
- คนไทยเป็นอิสระทางจิต (Psychic Independent)
- คนไทยเป็นปัจเจกบุคลสูง (High Individual)
- คนไทยมีความเกรงใจ ไม่ทำการฉีกหน้าคนอื่น
- คนไทยไม่ชอบผูกพันในระยะยาว ชอบงานเฉพาะกิจ
- คนไทยรักสนุก ทำให้อารมณ์ดี
- คนไทยไม่ชอบการวางแผน ชอบเป็นนักปฏิบัติ
- คนไทยชอบแก้ปัญหา ไม่ชอบป้องกันปัญหา
John F Embree เขียนบทความชื่อ “Thailand The Loosely Structured Social System”
- คนไทยยืดหยุ่นสูงมาก (Flexibility)
- คนไทยเข้าใจกฎระเบียบ กติกา แต่ไม่ปฏิบัติตาม ชอบละเมิดและผู้ละเมิดก็ไม่ถูกสังคมลงโทษ
- คมไทยชอบตามใจตนเองสูง ขาดระเบียบวินัย (Individualism)
- คนไทยเป็นคนเกรงใจ รักสงบ
- คนไทยไม่ชอบผูกพันระยะยาว ชอบทำงานเฉพาะกิจ และไม่ชอบทำงานกลุ่ม
แต่คนไทยก็อยู่ได้และมีจุดเด่นคือ
- สามารถอยู่รอดได้ โดยไม่เป็นเมืองขึ้นใคร (Survival)
- รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ,ผสมกัน , มีบูรณาการสูง (High Social Integration)
ตุลาคม 18th, 2008 at 22:53
ขอบคุณมากครับสำหรับบทความดีๆ
สงกะสัยน่ะครับ ฝรั่งมาวิจัยนิสัยคนไทย แล้วทีคนไทยไม่สนใจรู้นิสัยคนไทยมั่งเลยเหรอครับ มีวิจัยนิสัยคนไทยโดยคนไทยมั่งไหมครับ ? อิอิ
ตุลาคม 19th, 2008 at 0:01
ยินดีต้อนรับครับ
การเหมารวมกันไปนั้น เป็นไปเพื่อความง่ายในการเข้าใจของคนที่พอใจจะไม่สนใจในรายละเอียด แต่ต้องการจะรู้สึกเหมือนกับว่าเข้าใจครับ แม้การเหมารวมจะดูเข้าท่าเมื่อมองภาพจากไกลๆ แต่เวลามามองไปในรายละเอียดแล้ว จะพบว่ามีข้อยกเว้นต่างๆ มากมาย
ทั้งนี้เป็นเพราะสังคม ไม่ว่าเล็ก-ใหญ่ จะมีความแตกต่างเสมอ ถ้าเพียงแต่ยอมรับว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน รับเขาแบบที่เขาเป็น ก็จะไม่วุ่นวายใจครับ
การยอมรับแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าใครนึกจะทำอะไรก็ทำ แต่ว่าการอยู่ร่วมกัน ก็น่าจะมีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าไม่มี จะเรียกว่า “ร่วม” กันได้อย่างไรล่ะครับ
รูปจากบันทึกที่ให้ไว้ รูปบนแม้จะหันหน้าเข้าหากัน ปรองดองเป็นอย่างยิ่ง แต่มุมมองกลับสวนทางกัน 180° ส่วนรูปล่าง แม้จะมองไปยังประตูด้วยเว็คเตอร์ที่ต่างกัน แต่กลับสามารถเดินออกประตูไปได้ทั้งคู่ครับ
ตุลาคม 19th, 2008 at 12:07
ยินดีต้อนรับครับ
น่าสนใจที่รวบรวมผลการศึกษาวิจัยนี้มาไว้
ท่านที่เรียนมาทางสังคมวิทยา มานุึษยวิทยาจะต้องผ่านผลงานวิจัยนี้มาทั้งนั้น เพราะบังคับเรียน
พูดกันยาวครับเรื่องนี้
อีตาเอมบรี่นั้นมาศึกษาที่บ้านบางชันใกล้ๆกรุงเทพฯ เมื่อหลายสิบปีก่อนนู้น…เป็นงานวิจัยไม่ใช่บทความเฉยๆด้วย ประเด็นคือ
- เรายอมรับข้อสรุปนี้แค่ไหน ดูเหมือน Logos จะอธิบายเรื่องนี้ไว้เป็นที่เข้าใจแล้ว
- ประเด็นที่สำคัญที่มองในแง่คนนักการศึกษา นักพัฒนาสังคม คือ ทั้งหมดนั้นหากยอมรับกัน(จะแค่ไหน อย่างไรก็ตาม) ความสำคัญอยู่ที่สาเหตุมาจากอะไร
หลายท่านสรุปเปรี้ยงไปเลยว่าเพราะสังคมเรานับถือศาสนาพุทธ และคำสอนของศาสนามีส่วนสร้างเอกลักษณ์ “บางอย่าง” ดังกล่าวมานั้น บางคนบอกว่าเพราะ “เผ่าพันธุ์” หรือ DNA ของคนในแถบตะวันออกนี้ ??? บางคนก็ว่า….
บางคนเสนอว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น การอยู่ในสังคมก็ต้องสร้างกฏกติกาที่เข้มแข็ง…. แต่ไม่ว่าจะแข็งอย่างไร ปรากฏการณ์ที่เห็นบ่อยๆคือ การละเมิดกฏกติกานั้นๆ ตั้งแต่ระดับรากหญ้าชาวบ้านทั่วๆไปจนถึงรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี..ตัวอย่างมากมาย ง่ายๆออกไปตามถนนก็เห็นคนผ่าไฟแดงทุกวี่วัน ฝรั่งมันก็ผ่าไฟแดงเหมือนกันแต่จำนวนน้อยกว่ามาก….เพราะอะไร…ทำไม… อะไรคือความแตกต่าง มันเป็นเพราะการอบรมสั่งสอนทั้งในระบบและนอกระบบ หรือเป็นสันดานที่ติดมากับ DNA
โดยส่วนตัวผมยอมรับข้อสรุปเหล่านี้ค่อนข้างมาก เพราะในภาระหน้าที่รับผิดชอบก็เผชิญปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้มาตลอด ซึ่งบางเรื่องส่งผลกระทบต่องานมากทีเดียว แต่ลึกๆเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ดีงาม ที่ถูกต้องแบบไทยๆ (ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบสากลเอาฝรั่งเป็นตัวตั้งนั้นไม่ใช่ ) สามารถสร้างได้ พัฒนาได้
ผมเคยเข้าไปกินอาหาร “แดกด่วน” ขออภัยครับ.. และสังเกตุว่าสิ่งที่พนักงานในร้านปฏิบัตินั้นเป็นมาตราฐานที่ไปร้านนี้ที่ไหนๆก็เหมือนกันหมด และที่สำคัญ พนักงานนั้นก็ “บักเสี่ยวคักๆ” (เป็นคำล้อเล่นสนุกๆนะครับมิได้หมายความเชิงดูถูก) ก็เด็กอีสานกินปลาแดก กินส้มตำแซบๆทั้งน้าน ทำไมทำได้ล่ะ และทำได้ดีด้วย น่าที่จะอยู่ีที่……………
อีกประการที่สำคัญ สิ่งแวดล้อมตะวันออกแตกต่างจากตะวันตก วัฒนธรรมตะวันออกแตกต่างจากตะวันตก วิถีชีวิตแตกต่างกัน ..ฯลฯ ลักษณะอุปนิสัยจึงแตกต่างวกัน และสังคมแบบนี้ก็ดำเนินมาเป็นพันปี ผมมิได้ตั้งใจจะกล่าวว่าดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อองค์ประกอบเป็นเช่นนั้นจึงสร้างความเป็นตะวันออกเช่นนี้
แต่เมื่อสังคมโลกเป็นหนึ่งเดียว จึงมีมุมมองตะวันตกมองตะวันออก ตะวันออกมองตะวันตก ด้วยฐานที่แตกต่างกัน และมักจะมีนัยในการอธิบายว่าของตัวเองเป็นมาตรฐานกว่าด้วยซ้ำไป
ผมคิดว่ามีหลายอย่างตะวันออกต้องพัฒนา มิใช่ปฏิเสธข้อสรุปนั้น หรือยอมรับข้อสรุปนั้นแล้วก็มองไปที่แบบตะวันตกเป็นเป้าหมายที่ต้องเดินไปหา มิใช่ เป้าหมายตะวันออกต้องเป็นแบบตะวันออก อยู่บนฐานตะวันออก ซึ่งหลายอย่างอาจจะเข้าไปเหมือนตะวันตก หรือเข้าใกล้มาตรฐานตะวันตก แต่ก็อาจจะมีสิ่งที่แตกต่างกันตรงข้ามก็ได้
เช่น ลูกฝรั่งไปเยี่ยมพ่อที่แก่แล้วที่บ้าน เพราะมัมไปทำงานหาเงินตัวเป็นเกลียว ในสังคมทุนนิยมที่แข่งขัน ไม่ค่อยมีเวลาไปเยี่ยมเยือน เมื่อไปเยี่ยมพ่อบังเกิดเกล้า ต่างก็ดีใจ ลูกขอกินกาแฟตามนิสัยตะวันตก เมื่ออิ่มเอมการพูดคุยกันเพียงพอแก่เวลาที่เร่งรัดแบบตะวันตกแล้ว ลูกขอลาพร้อมกับควักเงินใส่ในกระป๋องแล้วบอกพ่อว่า นี่ค่ากาแฟ พ่อพยักหน้า แล้วลูกก็จากลาไป…?????….. เรื่องแบบนี้สังคมไทยจะไม่มีเด็ดขาด มีแต่เอาเงินไปให้พ่อแม่ไว้ใช้จ่าย รักษาเนื้อตัว…..
ข้อวิจัยต่างๆนั้นดีครับ แต่เอาเป็นกระจกส่องตัวเรา เพื่อนร่วมงาน และสังคมเรา พร้อมกับหาทางลดจุดบกพร่อง จุดด้อยแบบสังคมตะวันออกของเรา…..
ผมเองก็กุมขมับเมื่อพบลักษณะเฉพาะของคนชนเผ่าในแนวทางการพัฒนาสังคมใหม่ที่เอาสิ่งใหม่ๆเข้าไป แต่ก็ยอมรับความเป็นเขา….เพียงมองหาลู่ทางว่า ทาวออกที่ดีที่สุดคืออะไรครับ
ขอบคุณที่หยิบประเด็นใหญ่นี้มาแลกเปลี่ยนกันครับ
ตุลาคม 19th, 2008 at 19:33
มาต้อนรับสมาชิกใหม่ค่ะ และยินดีกว่านั้นคือได้อ่านบันทึกดีๆด้วยสิคะ ^ ^
เห็นด้วยว่าการรู้จักนิสัยคนไทยโดยคนไทย นั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นวิจัยจากต่างชาติซึ่งน่าคิดว่าทำไม และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือตามที่คุณ knownone ยกมาดูเค้าจะเห็นคนไทยมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่เหมือนกันนะคะ เพราะมีทั้งขี้เกรงใจ ใจดี ไม่ชอบมีเรื่องแต่ชอบละเมิดกฎ..ไม่มีความเสมอภาคในสังคม
สิ่งสำคัญคือภาพรวมที่มองทำให้คนไทยตระหนักหรือไม่ และรู้ตัวหรือเปล่าว่าอย่างน้อยในสายตาของนักวิจัยต่างชาติเค้าเห็นเราเป็นแบบนั้น อิอิอิ
แต่โดยส่วนตัวที่ทำหน้าที่นักจิตวิทยามานานพอควร กลับเห็นว่าคนไทยก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากชาติอื่น เพียงแต่เราขาดการจัดการที่ดีให้เกิดความปรองดองและมองภาพเดียวกันแบบที่คุณ knownone กล่าวมาตามข้างล่างนี้แหละค่ะ
แต่ปัญหาจาก “ความเป็นไทย” โดยเฉพาะในที่ทำงานดูจะเป็นอะไรที่ “ตามมีตามเกิด” องค์กรที่จัดการเรื่องนี้ได้ดีก็จะมาจากประสบการณ์ หรือเกิดจาก “ตัวบุคคล” ของผู้บริหารที่เข้าใจนิสัยคนไทย มากกว่าที่จะมีหลักการให้เลียนแบบได้..
ตามที่ยกคำกล่าวของคุณ knownone มาจะเห็นว่าจุดสำคัญอยู่ที่ผู้บริหารและบุคลากรที่อยู่ด้วยกันนะคะว่าจะสามารถ ” จัดการ ” ได้ดีเพียงใด เพราะไม่มีใครรู้ดีกว่าคนในองค์กรว่าปัญหาคืออะไร ( ดูที่สาเหตุของการเกิดปัญหามากกว่า ” ใคร ” น่ะค่ะ ) และควรทำอย่างไรเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น
มีคำกล่าวจากวงน้ำชาที่ห้องนั่งเล่นของชร.ว่า “การลงรายละเอียดมากเกินไปทำให้งานเสีย”..แต่ถ้าดูเฉพาะภาพรวม กรอบกว้างๆจะทำให้ได้ผลงานที่ดี.. ดูเป็นความขัดแย้งกับความเคยชินในการทำงานของเรานะคะ ที่มักจะเน้นในรายละเอียด กระบวนการ ขั้นตอนการทำงานที่เป็นเรื่องของระบบมากกว่า ” คน ”
ในระบบมีคนนี่คะ ถ้าเราเข้าใจและเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง คือ มนุษย์ผิดพลาดได้ เรียนรู้สื่อสารกันได้ ให้อภัยกันได้และพัฒนาได้ รวมทั้งสิ่งสำคัญที่สุดคือเห็นความเป็นมนุษย์ในผู้อื่น เห็นความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์กับมนุษย์ และชี้ให้ผู้อื่นเห็นว่าทุกปัญหามีทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งทางวาจาและการกระทำ การอยู่ร่วมกันคงจะไม่มีปัญหามากมายนะคะ
กำแพงที่สำคัญที่สุดคือกำแพงใจของพวกเราทุกคนนี่แหละค่ะที่จะช่วยทำให้ปัญหาบานปลายหรือไม่มีปัญหาเลยก็ได้ทั้งนั้น..ขอบคุณสำหรับบันทึกชวนคิดบันทึกนี้นะคะ
มกราคม 29th, 2009 at 20:38
คนไทยชอบว่าคนรู้มากที่สุดทำของเสีย
กรกฏาคม 31st, 2009 at 20:01
เยี่ยมมาก
มกราคม 13th, 2010 at 15:17
ขอบคุณสำหรับความรู้ มีประโยชน์มากเลย