การใช้พลังงานของนักวิ่ง

โดย จอมป่วน เมื่อ 16 August 2008 เวลา 9:55 am ในหมวดหมู่ วิ่ง, สุขภาพ, ออกกำลังกาย #
อ่าน: 12701

 

บทความนี้ตั้งใจจะพูดถึงสองเรื่อง  เรื่องแรกการฝึกความเร็วทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นและฝีเท้าดีขึ้นได้อย่างไร  เรื่องที่สองเป็นเรื่องชนกำแพง 

 

        เคยเล่าให้ฟังว่าการวิ่งไม่ควรวิ่งเหมือนกันทุกวัน  ใน 1 อาทิตย์ ให้พัก  วิ่งเร็ว  และวิ่งยาวอย่างละ 1 วัน  ในวันที่วิ่งเร็ว  ไม่ว่าจะเป็น Intervals, Tempo Runs หรือ Fartlek  จะมีช่วงที่วิ่งเร็วมาก ( 85-90% ของชีพจรสูงสุด - Maximum Heart Rate )  ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนจำนวนมากเกินกว่าที่ร่างกายจะจัดหาได้ทันต่อความต้องการ  จึงต้องใช้ไกลโคเจนที่สะสมอยู่ในร่างกายโดยไม่ใช้ออกซิเจน  - Lactic Acid System  ( Anaerobic )  ซึ่งจะเกิดของเสีย ( กรดแลกติค ) ขึ้นเป็นจำนวนมาก

 

        การฝึกแบบนี้จะทำให้การทำงานของปอดและหัวใจดีขึ้นสามารถจัดหาออกซิเจนมาใช้ได้มากขึ้น  รวมทั้งทำให้ร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อสามารถทำลายกรดแลกติคที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น  ทั้งยังทำให้ร่างกายทนต่อสภาพที่มีกรดแลกติคได้ดีขึ้น  ฝีกบ่่อยๆก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นและฝีเท้าดีขึ้น

 

        ชนกำแพง ( Hit the wall )  ศัพท์นักวิ่งหมายถึงการหมดสภาพ  ไม่สามารถวิ่งต่อได้  เกิดจากการที่ร่างกายใช้ไกลโคเจนที่สะสมไว้ในร่างกายจนหมด  ส่วนมากเป็นเพราะวิ่งเร็วเกินไป  พบในนักวิ่งมาราธอน  มักจะเจอกำแพงที่ระยะทาง 32-35 กม. ซึ่งนักวิ่งมาราธอนจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง  แต่นักวิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอนก็อาจเจอได้เช่นกัน

 

        การที่จะวิ่งได้ไกลหรือนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความเร็วที่วิ่งด้วย  ถ้าวิ่งเร็วมากๆ  เกิน 85-90% ของชีพจรสูงสุด  ร่างกายก็จะใช้ไกลโคเจนที่สะสมอยู่ในร่างกายโดยไม่ใช้ออกซิเจน  - Lactic Acid System  ( Anaerobic )  ซึ่งประสิทธิภาพต่ำและให้พลังงานค่อนข้างน้อย  จะทำให้ไกลโคเจนที่สะสมไว้ในร่างกายหมดเร็ว  การใช้ไกลโคเจนแบบใช้ออกซิเจน  มีประสิทธิภาพกว่าแบบไม่ใช้ออกซิเจน  - Lactic Acid System  ( Anaerobic )  ถึง 18 เท่า และของเสียน้อยกว่า

 

        ถ้าลดความเร็วลงอีก  ร่างกายก็จะใช้ออกซิเจน- O2 System ( Aerobic )   แต่ใช้พลังงานจาก 2 แหล่งคือจากไกลโคเจนและจากไขมัน  ถ้าความเร็วสูง ( 80% ของชีพจรสูงสุด ) ก็จะใช้ไกลโคเจนมาก  ใช้ไขมันน้อย ( ไกลโคเจน 75% ไขมัน 25% )   ถ้าลดความเร็วลงอีก ( 70% ของชีพจรสูงสุดก็จะใช้ไขมันมาก  ใช้ไกลโคเจนน้อย ( ไกลโคเจน 25% ไขมัน 75% )  ดังนั้นถ้าควบคุมความเร็วไม่ดีก็จะทำให้ไกลโคเจนหมดก่อนที่จะวิ่งครบระยะ  อย่าลืมว่าไกลโคเจนในร่างกายมีเพียง 375 กรัม  ( นักวิ่งอาจมีถึง 450 กรัมซึ่งสามารถใช้วิ่งเต็มที่ได้เพียง  1500-1800 แคลอรี  หรือได้ระยะทางเพียง 32-35 กม. เท่านั้น

 

        การใช้ไขมันเป็นพลังงานก็จำเป็นต้องใช้กลูโคสซึ่งได้มาจากไกลโคเจนในกระบวนการสังเคราะห์พลังงานด้วย  ดังนั้นถ้าไกลโคเจนหมด  ก็ไม่มีกลูโคส  ทำให้ไม่สามารถใช้ไขมันที่มีอยู่อีกมากมายเป็นพลังงานได้

         ในการวิ่งระยะไกล  ฮาล์ฟมาราธอนหรือมาราธอน  สภาพร่างกายของนักวิ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน  อยู่ที่การฝึกซ้อม  ถ้านักวิ่งประเมินความสามารถของตัวเองไม่ถูกต้อง  วิ่งช้าเกินไป  ก็อาจแพ้ในการแข่งขัน  ถ้าวิ่งเร็วเกินไป  ไกลโคเจนที่สะสมไว้ในร่างกายเกิดหมดขึ้นมาก็จะหมดสภาพ ( ชนกำแพง )    สู้นักวิ่งที่เพียงเข้าร่วมการแข่งขันให้ครบระยะทางตามความสามารถของตัวเอง   ไม่ได้มุ่งหวังที่จะชนะเลิศ  ไม่ต้องการถ้วยรางวัลหรือเงินรางวัล  นักวิ่งเหล่านี้ก็จะวิ่งสบายๆ  ไม่มีความกดดัน  ก็ไม่ค่อยจะชนกำแพงครับ      

 

« « Prev : การใช้พลังงานในการวิ่ง-มือใหม่หัดวิ่ง

Next : ความปลอดภัยในการวิ่ง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

494 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.7903718948364 sec
Sidebar: 0.33202004432678 sec