แรงงานขั้นต่ำ

โดย อุ๊ยสร้อย เมื่อ พฤษภาคม 1, 2012 เวลา 10:02 (เช้า) ในหมวดหมู่ การเรียนรู้ชีวิต #
อ่าน: 3082

วันนี้ 1 พฤษภาคม 2555 เป็นวันแรงงาน

ทำให้ระลึกถึงคำที่ไม่เห็นด้วยอยู่คำหนึ่งคือ คำว่า “แรงงานขั้นต่ำ”

ไม่ทราบว่าใครบัญญัติคำนี้ค่ะ
ท่านที่บัญญัติคงนึกไม่ถึงว่า คำๆ นี้มันทำให้เกิดผลในหลายทาง

ที่อยากนำมาเสนอผลของคำๆ นี้ ว่าตัวเองคิดอย่างไร และทำไมไม่ชอบค่ะ

ขั้นต่ำ ขั้นสูง …มันคือการเรียงลำดับที่มีความหมายในทางเปรียบเทียบ

พอพูดว่าขั้นต่ำ …ก็แสดงว่าไม่ใช้เรื่องที่เลอเลิศ ผลทางจิตวิทยามันทำให้คนรู้สึกว่าไม่อยากอยู่ใน “ขั้นต่ำ” เพราะใครๆ ก็อยากเป็น “somebody” คือการมีตัวตน มีบางอย่างที่คนอื่นยอมรับ

และเจ้า “บางอย่าง” นี้ก็จะทำให้เกิดการกระทำหลายๆอย่าง

ทำไมครอบครัวไทยส่วนใหญ่ อยากให้ลูกเรียน “สูงๆ ทางปริญญา” เพื่อจะได้ไม่ต้องทำงาน “แรงงานขั้นต่ำ”
ทำไมคนที่ไม่มีงานอาชีพหารายได้จึงขวนขวายเข้าสู่ระบบการแข่งขันเพื่อจะเข้าไปสู่ลู่วิ่งเพื่อเป็น “คนทำงานใส่สูท นั่งห้องแอร์ เช้าจิบกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์ สายๆประชุม บ่ายๆตีกอล์ฟ ค่ำๆหลีสาวจับไก่”

ทำไมคนเรียนจำนวนหนึ่ง…(ไม่อยากใช้คำว่าจำนวนมาก) อยากเรียนในมหาวิทยาลัย ด้วยภาพลักษณ์ของการเรียนแบบสบายๆ ในห้องแอร์ นั่งฟังและนำเสนอรายงาน(ที่ก๊อบมา) แต่งตัวสวย เข้าเรียนสาย บ่ายเดินห้าง ค่ำเข้าเทค ดึกนั่งแชด

ทำไมงานที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ทำอาหารเอง ซักผ้าเอง ถูพื้นเอง ปลูกผักเอง ก่อไฟเอง..ฯลฯ ถูกมองว่า “ยี้ สกปรก …ลูกไม่ต้องทำ..หาแรงงานต่างชาติมาทำแทน”

แม่ยุคหนึ่งประมาณปี พ.ศ.2530-2540 จำนวนมากกลายเป็นทาสของลูกเพราะยังต้องทำเองแทนลูก…แต่แม่อีกยุคหรือยุคใหม่นี้ กลายเป็นเลี้ยงลูกด้วยห้าง กินในห้าง กินแล้ววางจานชามไม่ต้องล้าง เพราะเป็นเรื่องที่แม่ก็ทำไม่เป็น และเพราะเป็นงานของ “แรงงานขั้นต่ำ”

ทำไมไม่มีเงินก็ต้องเรียกร้อง ทำไมอยากได้เงินก็เรียกร้อง ทำไมขายของไมได้ราคาก็เรียกร้อง ทำไมของประกันราคาซื้อแล้วเก็บเน่าในโกดังให้คนอื่นชี้หน้าเรียกร้อง

แม้แต่งานการเรียนการสอนพยาบาล…ทำไมอาจารย์บ่นว่าสอนยากขึ้นทุกวัน สาระพัดจัดการประชุมเพื่อเพิ่มการสอนให้หลากหลาย ในทุกอีที่มีในโลก อีครู อีเครื่อง และสาระพัดอีที่จะตามมา เพื่อสร้างสถานการณ์จำลองแทนการนำไปเข้าสนามจริง ….ก็เพราะครูเองก็ไม่อยากเหนื่อย?? ไม่อยากเผชิญกับความเป็นจริงของคนไข้ ญาติคนไข้

หรือเพราะว่าพื้นฐานของทั้งครูและนักเรียนใกล้เคียงกัน คือ “ไม่อยากทำงานแรงงานขั้นต่ำ” เลยอยากหลีกเลี่ยงงานดูแลความสุขสบายของคนไข้ ที่ต้องอาบน้ำเช็ดตัวสระผม การขับถ่าย การป้อนอาหารอย่างใจเย็นอดทนและระวังการสำลัก ฯลฯ ที่เป็นหัวใจที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ของการเป็นพยาบาล…แต่หนีไปทำงานเอกสาร นั่งอยู่กับคอมทั้งวัน และทิ้งงานเหล่านั้นในมือของลูกจ้าง แรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมระยะสั้น…จนทำให้เกิดข้อกังขาว่า ” พยาบาลไม่ต้องเป็นวิชาชีพก็ได้เพราะมัวไปทำงานที่ไม่ได้ดูแลคนไข้” และเป็นที่มาของการวิพากษ์อย่างแพร่หลาย

แล้ว “แรงงานขั้นต่ำ” นั้น มันขั้นต่ำตรงไหน

ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว งานของการพึ่งพาตัวเอง ประหยัดอดทน อดออม งานของการเกื้อกูลคนอื่น เหล่านี้คืองานที่ยกพื้นฐานจิตใจของตัวเอง ถ้ามองเป็น

ขณะที่ “แรงงานขั้นสูง” นั้นมันขั้นสูงอย่างไร

ถ้างานนั้นมันเป็นวิถีของการคิดคดโกงเอาประโยชน์ส่วนตน นั่งหาทางหาช่องว่าง ลบล้างกฎธรรมชาติ กีดกัน เบียดเบียนธรรมชาติ

แล้วอย่างนี้เอง จึงเป็นที่มาของการที่ไม่ชอบคำว่า “แรงงานขั้นต่ำ” นี้

หน้าปกหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ฉบับปกอ่อน ของท่านพุทธทาส เขียนไว้ว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

“งาน” จึงเรื่องของสติ สมาธิ และปัญญา …อย่างนี้แล้ว ยังจะควรเรียกงานของการพึ่งพาตัวเองและเกื้อกูลผู้อื่นนั้นว่า เป็นแรงงานขั้นต่ำ ได้อยู่อีกหรือคะ

« « Prev : ปรองดองหรือต่อรอง

Next : ไปเรียนวันแรก: โครงการนิสิตแพทย์ฯ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

270 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.1317660808563 sec
Sidebar: 0.018773078918457 sec