ตั้งแต่กล้องถ่ายภาพ กล้องถ่ายวิดีโอ มีราคาถูกลงแต่คุณภาพดีขึ้น เช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีพวก Blog, VDO Sharing ใช้งานง่ายและแพร่หลาย จึงได้เกิดแนวคิดของ “นักข่าวพลเมือง” หรือ Citizen Journalist บูมขึ้นมา ใครๆก็เป็นนักข่าวได้เพราะสามารถทำตัวเป็นสื่อและหาทางเผยแพร่ได้ไม่ยาก ถ้าประเด็นดีๆและแหลมคม สื่อหลักจะสามารถมาเล่นต่อได้อีก
เช้าวันนี้ (25 สิงหาคม 2554) ผมไปประชุมที่ไทยพีบีเอส ประเด็นในการประชุมก็เป็นเรื่องนึง แต่ผมก็มีไอเดียแฝงขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งที่ได้มีโอกาสนำเสนอในโต๊ะประชุม และในเบื้องต้นก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ที่มาของไอเดียนี้ผมก็ท้าวความถึงกรณีตามหา “น้องพอมแพม” หลังจากถูกโจรจับไปเป็นขอทาน 20 วัน จนเจอตัว ซึ่งต้องให้เครดิต มูลนิธิกระจกเงา ที่ติดประกาศและประชาสัมพันธ์รูปน้องพอมแพมผ่านสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และรายการสถานีประชาชนทางไทยพีบีเอส ที่นำเสนอภาพน้องพอมแพม และติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งชาวสังคมออนไลน์โซเชียลมีเดียก็ช่วยกับ Retweet ในทวิตเตอร์ ในที่สุดก็ได้ออกสื่อใหญ่ รายการข่าวสามมิติ เผยแพร่ภาพน้องพอมแพมและภาพสเก็ตซ์คนร้าย ตามที่มูลนิธิกระจกเงาขอความอนุเคราะห์
มีคนมากมายมาช่วยกัน และล่าสุดก็มี “พลเมืองดี” ช่วยชี้เบาะแสจนสามารถได้ตัวน้องคืนมาได้
“พลเมืองดี” ภาพนี้น้องๆจับหน้าจอไว้ได้ โดยมีข้อความ sms ขึ้นมาอวยพรพอดี อ่านแล้วขนลุกเลย
ประเด็นที่ผม “ขายไอเดีย” และเน้นมากในวันนี้จนถูกแซวก็คือ การที่พ่อแม่คนไหนทำลูกหาย รับรองว่ากินไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นแน่แท้ รายนี้ยังโชคดีแค่ 20 วันที่ตามหาลูกจนไม่ได้ไปทำงาน แต่บางรายตามกันเป็นปีๆอยู่หลายปีทีเดียว วันนี้ผมไปประชุมโดยมีน้องก้อยไปด้วย ซึ่งก่อนที่ก้อยจะมาทำงานร่วมกันกับผมที่บริษัท เคยเป็นหัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายของมูลนิธิกระจกเงามาก่อน มีประสบการณ์อยู่หลายปี แล้วจึงออกมาสมัครงานใหม่ ผมเห็นทักษะการทำงานแล้วเสียดายในความสามารถมากจึงชวนมาทำงานร่วมกันได้สักพักแล้วครับ และก็ได้เรียนรู้จากก้อยมาเรื่อยๆ ประกอบกับที่ Kapook ก็ทำงานเรื่องคนหายประสานกับทางกระจกเงามาหลายปี
โดยมีไอเดียต่อยอดมากจากโครงการหนึ่งที่รับปาก พี่หมอจ๊วด นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ เอาไว้ด้วยว่าจะไปช่วยในแคมเปญของแพทย์สภา ที่มองกรณีของน้องพอมแพมว่า น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการให้สังคมมาช่วยกันสอดส่องหาเด็กที่ถูกนำไปขอทานหรือทำในสิ่งที่มิชอบ ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีจริงๆผมรีบตกปากรับคำขอลุยด้วยทันที จึงเป้นที่มาของการนำไปขยายผลต่อด้วยการคุยกับไทยพีบีเอส เพราะเชื่อว่าบทบาทและเครือข่ายของที่นี่น่าจะช่วยให้แคมเปญใหญ่ๆสามารถบรรลุผลนำเสร็จแน่ๆ
เวลาที่เราได้ยินคำว่า “พลเมืองดี” ผมมักจะคิดถึง “แท็กซี่” เราะเราเห็นตามข่าวว่าชอบมีแท็กซี่พลเมืองดี เก็บเงินหรือของส่งคืนผู้โดยสารได้เสมอๆ บางครั้งเงินเป็นจำนวนมากทีเดียว หรือดูข่าวว่าน้องหมาได้เงินบริจาคเป็นสิบๆล้าน คิดได้เลยว่านี่ไม่ใช่งานเล็กๆแล้ว หากเราร่วมมือกันทั้งสังคม ปัญหาเด็กหายย่อมแก้ได้แน่ๆ ดีกว่าปล่อยให้เป็นภาระของคนไม่กี่คนที่ขาดแคลนทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ แต่สู้ด้วยใจล้วนๆเพราะพ่อแม่ของเด็กยังไม่เลิกหวัง!
ผมเลยรีบเขียนบันทึกนี้ไว้เพื่อกันลืม และเพื่อเป็นการเปิดโครงการนี้ด้วยศัพท์ใหม่ที่ปิ๊งขึ้นมาได้ยามดึก คือ
“นักสืบพลเมือง (Citizen Detective)” ใครๆก็สามารถเป็นนักสืบได้ ศัพท์นี้ไม่ใหม่มีคนเคยใช้แล้ว แต่ไม่แพร่หลายเอาเสียเลย เราสามารถสร้างเครือข่ายนี้ออกไปได้ทั่วประเทศหรือทั่วโลก นอกจากจะช่วยเรื่องเด็กหายได้แล้ว ยังสามารถช่วยเรื่องอื่นๆได้อีกมากมาย นักสืบภาคสนามแค่มีโทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้ ยิ่งเป็น Smartphone ที่มี GPS ยิ่งแจ๋ว หรือแค่กล้องถ่ายรูปพกพา ก็สามารถเป็นได้ ส่วนภาคสืบค้นข้อมูลด้านหลัง ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย และทีมงานมืออาชีพเกาะติดอย่างศูนย์ข้อมูลคนหาย กระจกเงา และผู้ใจดีที่สนับสนุนรางวัลนำจับหรือการดำเนินงานในพื้นที่ เครือข่าย Taxi พลเมืองดีที่มีอยู่อีกมาก สื่อมวลชนใจดีอีกมากมาย ฯลฯ
แนวคิด “นักสืบพลเมือง” หากเกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างกว้างขวางของคนในสังคม โอกาสที่พ่อแม่ที่รอคอยที่จะพบลูกที่หายไป ก็จะมีความหวังขึ้นอีกมาก และน่าจะขยายตัวไปช่วยเหลือสังคมได้อีกในหลายๆประเด็น
ผมเคยลองเป็นนักสืบพลเมืองเล่นๆมาแล้ว จากคำแนะะนำของคุณตฤณ ตันธเศรษฐี พบว่า ต้องรีบไปหาซื้อมือถือใหม่ดีกว่า (ฮา…) ต้องเป็น Andriod แบบ Dual-Core เนื่องจากแบบคอร์เดียวเวาเดินถ่ายรูปไปเยอะๆแล้วเครื่องมันร้อนมาก
ขอปิดท้ายด้วย ทวีตสาระความรู้ ของคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) ที่กลับมาดูแลมูลนิธิกระจกเงา และวันนี้ได้ทวีตข้อความดีๆ
ที่ผมควรจะรีบบันทึกไว้ก่อนที่จะลืมมันไป ขอบคุณครับ
1. ซีรีย์ เด็กหาย เด็กขอทาน ณ บัดนาว
2/ ปัญหาคนหายมีอยุ่ทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขาดการติดต่อ ต่อเมื่อระบบสื่อสารดีขึ้น ฐานข้อมูลทางทะเบียนดีขึ้น การขาดการติดต่อจึงน้อยลง
3/ กรณีแจ้งความคนหาย ที่ ตร มักอ้างว่าให้ครบ 24 ชม ก่อนนั้น ไม่ได้เป็นระเบียบอะไร แต่เป็นธรรมเนียมที่ ตร มักอ้างขึ้นมา
4/ ในสหรัฐ ทุกรัฐจะมีศูนย์คนหายซึ่งเป็นหน่วยของรัฐท้องถิ่น เนื่องจากมีปัญหานี้ค่อนข้างมากโดยเฉพาะเด็กหาย
5/ ปัญหาเด็กหายส่วนใหญ่ในสหรัฐเป็นเรื่องการแย่งชิงการดูแลบุตร เนื่องจากครอบครัวหย่าร้าง แต่หลายรายเป็นอาชญากรรม
6/ ในยุค Internet บูมใหม่ ๆ เราจะได้รับ forward mail จากฝรั่ง มีรูปและเรื่องราวของเด็กหาย ผู้ปกครองรวมตัวกันทำเวบคนหายในเวลาต่อมา
7/ สำหรับเมืองไทย ระบบของ สตช คือ มีฐานข้อมูลบุคคลพลัดหลง แต่เป็นแค่ระบบบันทึก ไม่มีกลไกในการติดตาม
8/ ตอนนี้การรับแจ้งคนหาย เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ 2 แห่งคือ สตช และ ศูนย์ประชาบดี (พม) แต่ที่รู้กัน กลไกรัฐส่วนใหญ่ตั้งรับและมีความจำกัด
9/ คนหาย มีหายจากหลายสาเหตุ มีตั้งแต่หนีออกจากบ้าน ยันถูกฆาตกรรม
10/ กรณีเด็กขนาดเล็กที่หายไป มีหายตั้งแต่ใน รพ เอาไปขายในมาเลย์ ตอนนี้เอาไปนั่งขอทาน
11/ แนวโน้มการนำเด็กมานั่งขอทานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เด็กกลายเป็นอุปกรณ์ในการนั่งขอทานเพราะเรียกความน่าสงสารได้
12/ การนำเด็กมาขอทาน ผิดทั้ง พรบ ขอทาน และ พรบ คุ้มครองเด็ก
13/ ขอทานส่วนใหญ่ที่มีการนำเด็กมานั่งเป็นขอทานต่างด้าว บางคู่เป็นแม่ลุกกัน แต่บางคู่ไปเช่าหรือซื้อมา ส่วนใหญ่เป็นขบวนการอยุ่เป็นทีม
14/ ทุก 2 ใน 3 จุดที่มีการขอทาน จะมีเด็กนั่งอยู่ เด็กไม่ควรถูกนำมาเป็นเครื่องมือค้ามนุษย์ การให้เงินเด็กขอทานเป็นการเพิ่มจำนวนเด็กข้างถนน
15/ ครั้งหนึ่งตอนผมไปดูงานที่สหรัฐ เกิดกรณีเด็กหาย สำนักข่าว CNN ทำรายงานสดภายในไม่ถึง 1 วัน และมีการนำ ฮ.ติดตามค้นหาเด็กถ่ายทอดสด
16/ บริษัทขายนมสำหรับเด็ก บริจาคพื้นที่ข้างกล่องนม โดยนำรูปเด็กที่หายตัวติดไว้ที่ข้างกล่อง เป็นการทำ CSR ที่น่าสนใจ
17/ มูลนิธิกระจกเงาเคยติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังสถานีโทรทัศน์ของรัฐ เพื่อขอนำรุปเด็กหายไปประชาสัมพันธ์ แต่ได้รับคำตอบว่า ต้องมีค่าใช้จ่าย
18/ ศูนย์ข้อมูลคนหายในประเทศไทยเพิ่งปิดตัวลงด้วยข้อจำักัด แต่ปัญหาคนหายยังมีอยู่ทุกวันไม่เคยหมด คนทำงานต้องโยกคนทำงานมาหนุนไว้
19/ กรณีน้องแพม วัย 3 ขวบ หายไปจากชุมชน 20 วัน พ่อแม่เป็นกรรมกร ไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตปกติสุขได้ เดินหน้าหาลูกอย่างเดียว
20/ หลังเหตุการณ์ พค 53 มีการแจ้งคนหาย และยังสาปสูญอีกสิบกว่าคน (เท่าที่แจ้ง) วันก่อนเจอคนที่เขาอยู่ด้วยมาหา ขอให้ช่วยติดตาม ร่างก็เอา
21/ ประเทศไทยควรมีศูนย์ข้อมูลและติดตามคนหายอย่างเป็นระบบ โดยรัฐเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านไปแจ้งบันทึกประจำวันแล้วจบ
22/ การติดตามคนหายเป็นเรื่องที่ต้องมีทักษะ การค้นหาร่องรอยและตั้งสมมุติฐานที่ใกล้เคียงข้อเท็จจริง ช่วยทำให้การติดตามคนหายมีความเป็นไปได้จริง
23/ ที่น่าเศร้าคือ เสื้อแดงคนหนึ่งเป็นอดีตสมาชิกของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ชื่อ “เป็ด” เป็นลูกนายตำรวจ หายไป 1 ปียังหาไม่เจอ พ่อแม่หมดหนทาง
24/ พลังของภาคประชาสังคมสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้กลไกรัฐในการติดตามคนหาย การที่สื่อให้ความสำคัญและให้พื้นที่ในการลงข่าว ช่วยได้หลายเคสแล้ว
25/ ในกรณีน้องแพม มีการนำภาพถ่ายเอกสารไปติดตามเสาไฟฟ้าและวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บนเส้นทางที่เราคิดว่าคนร้ายต้องผ่าน ได้รับความสนใจจาก ปชช
26/ คำขวัญของ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงาคือ “การรอคอยต้องมีวันสิ้นสุด” แต่ในโลกแห่งความจริง อาจไม่เป็นเช่นนั้น
27/ “หยุดทำบุญในธุรกิจบาป” คือการรณรงค์ของโครงการยุติธุรกิจขอทานเด็ก
RT @MyraSangawong: @nuling แต่เด็กที่เมกาหายบ่อย ซุปเปอร์มาร์เกตนึงติดรูปไว้ไม่ต่ำกว่า 20 ต่อแห่งคะ
RT @sunit: ถ้าพี่สนใจเดี๋ยวเชื่อมให้ครับ คือ Face recognition + social media ถามถ่ายตามจุดขอทานต่างๆ = ระบบค้นหาคนหายโดย ปชช. // สนใจ
iwhale ปรเมศวร์ มินศิริ @nuling @Drittaporn เมื่อเช้าผมไปคุยงานที่ไทยพีบีเอส มีแนวคิดจะเชื่อมงานเรื่องเด็กหายกันได้อย่างเป็นระบบเผื่อสนใจครับ // สนใจครับ
RT @iwhale: @nuling จะขออนุญาตนำ ซีรีย์ เด็กหาย เด็กขอทาน ไปใส่ไว้ด้วยนะครับ (พร้อมเครดิต) // ยินดี และขอบคุณมากครับ
RT @iwhale: “@Neaw_NBC: ผบช.ภ.2สั่งทุกโรงพักชลบุรีล่าตัวชายหญิงลักพาตัวพอมแพมคาดอยู่ในพื้นที่ #smsTV3″
กรณีน้องแพม ต้องยอมรับว่าทาง ปชป เขาไวกว่า โดยเขาติดต่อเสนอตัวให้รางวัลแก่คนที่พบตัวเด็ก 2 หมื่นบาท ก่อนเรื่องนี้ไปถึงมือรัฐบาล
มูลนิธิกระจกเงา แถลงข่าวถอดบทเรียน กรณีน้องแพม เด็กหาย 10 โมงเช้า พรุ่งนี้ ที่มูลนิธิกระจกเงา ซ.วิภาวดี 44