เห็นอะไร ทำอะไรที่ Thai Sikh International School

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 25 ตุลาคม 2009 เวลา 10:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1128

   23-24-25 ตุลาคม  ผมมีรายการอบรมครูต่างชาติซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 7 แล้ว  ความแตกต่างจากที่เคยทำมาได้แก่

  • เป็นการออกไปจัดนอกมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก
  • ผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 31 คนเป็นครูต่างชาติที่สอนในโรงเรียนเดียวกัน
  • ครูทุกคนเป็นคนอินเดีย ไม่ได้มาจากหลากหลายชาติ หลายวัฒนธรรมอย่างที่ผ่านมา
  • ครูทุกคล้วนมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทาง Education

    เมื่อวานนี้ (23 ตค.) ผมออกจากจันทรเกษมตั้งแต่หกโมงเศษๆ ด้วยเป็นวันหยุดรถตู้ที่ทางโรงเรียนจัดมารับ จึงวิ่งฉลุยไปถึงที่หมายคือ Thai Sikh International School ตั้งแต่ 7.45 น. ประทับใจมากๆตั้งแต่อัธยาศัยไมตรีของคนขับรถ ต่อเนื่องไปถึงฝ่ายบริหารที่มารอให้การต้อนรับขับสู้อย่างอบอบอุ่นและเป็นกันเองอย่างยิ่ง  ผมและทีมงานนั่งทานกาแฟและของว่างได้สักพักก็อดไม่ได้ ต้องไปเก็บภาพความงามอย่างมีสาระมาฝาก เพราะสังเกตตั้งแต่แรกเข้ามาแล้วว่า มีอะไรน่าสนใจไม่น้อยเลย นี่ไงครับ

   

      ความงามและความสะอาดของอาคารสถานที่

 

ข้อความดีๆเพื่อเตือนจิต สะกิดใจ ที่ติดไว้บนผนังและเสาหน้าอาคาร 

    ถึงเวลา 8.45 น. ก็มีพิธีเปิดเล็กน้อย  โดยท่านรองคณบดีฝ่ายบริหาร คือผศ.ประไพ  บวรฤทธิเดช กล่าวรายงานถึงจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและความเป็นมาของโครงการ ตามด้วยการกล่าวเปิดงานโดยท่านอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน  เสร็จพิธีผมก็คว้าไมค์มาทักทายผู้เข้ารับการอบรมที่นั่งกันเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ นิ่ง จนรู้สึกว่าจะอึดอัดเล็กน้อย  ก็เลยบอกว่าน่าจะผ่อนคลายด้วยการกระจายกันนั่งเป็นกลุ่ม เป็นวงตามโอกาสที่เราจะจัดการให้เกิดการเรียนรู้แบบสบายๆ และผ่อนคลาย

พิธีเปิด ตามด้วยกิจกรรมการเรียนรู้รายการแรก
    รายการแรกว่าด้วยเรื่อง Related Regulations and Professional Ethics ซึ่งอาจารย์ติ๊ก วิลาวัณย์ จารุอริยานนท์ รับผิดชอบร่วมกับผม  ผมปล่อยให้อาจารย์ติ๊กคุยแบบ Introduction ไปสักพักก็เปลี่ยนกิจกรรมโดยให้ไล่นับ 1-6 เพื่อแบ่งกลุ่มแบบ Random เป็น 6 กลุ่ม มอบให้แต่ละกลุ่มอ่านเนื้อหาในเอกสารกลุ่มละหัวข้อไม่ซ้ำกัน  ผ่านไป 30 นาทีก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอสาระที่สรุปได้ต่อกลุ่มใหญ่  พบว่าผู้เข้าอบรมทำได้ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสรรค์สื่อ Graphic มาช่วยทำให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมและเห็นความเชื่อมโยงของส่วนย่อยที่นำเสนอว่า เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างไร  มีทั้งการใช้สื่อ Visualizer เพื่อนำเสนองานที่เขียนบนกระดาษ A-4  ใช้ Powerpoint และ การพูดสรุปปากเปล่า โดยไม่มี Visual Media ใดๆ 

    ส่วนหนึ่งของการวิจารณ์ ให้ข้อคิด แทนที่ผมจะไปบอกกลุ่มที่ไม่ใช้สื่อว่าน่าจะได้ใช้สื่อช่วยบ้าง อย่างน้อยเพื่อให้เห็นประเด็นที่สรุปมา  ผมกลับเลือกใช้วิธีอ้อมๆ  แบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น  กล่าวคือ ผมบอกว่าดีใจที่นอกจากได้เห็นการสรุปและนำเสนอสาระกันได้อย่างดี เข้าใจง่ายแล้ว ในแง่ของการเลือกใช้สื่อก็มีความหลากหลายดีมาก  และบอกว่าการนำเสนอข้อมูลที่เป็นสื่อกราฟิก หรือทำให้ข้อความที่เป็นหัวข้อ เป็นประเด็นสำคัญปรากฏบนจอนั้น ช่วยให้ผู้ฟังติดตามและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลาในการถ่ายทอดได้  แต่ก็เตือนย้ำว่าถ้ามากไปก็ไม่น่าสนใจเพราะผู้ฟังจะไม่ได้คิด เนื่องจากทุกอย่างมันชัดหมดแล้ว  ส่วนการให้ฟังอย่างเดียวแม้จะเสี่ยงกับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ก็มีส่วนดีคือ ช่วยให้ผู้ฟังมีความตั้งใจ มีสมาธิที่จะติดตามเรื่องราวมากกว่าการใช้สื่อช่วย  เพราะไม่ถ้าตั้งใจฟังก็จะไม่รู้เรื่อง 

     สรุปแล้วการจะใช้สื่อแบบไหน อย่างไรก็ต้องปรับตามความเหมาะสม  สื่อเทคโนโลยีช่วยให้ ง่าย และ เร็ว แต่หลายครั้ง ความง่ายและเร็ว ทำให้ ผู้เรียนขาดโอกาสเรียนรู้ ขอให้ระมัดระวัง ..

     แอบสอนการใช้สื่อไปเรียบร้อย ในแง่มุมที่ผมห่วงมาตลอด  เพราะสังเกตเห็นมามาก ว่าครูใช้ประสิทธิภาพของสื่อ คือ ความเร็ว และ ความง่าย มาทำลายโอกาสแห่งการเรียนรู้แบบไม่รู้ตัว อย่างน่าเสียดาย  กลายเป็น สื่อกลับมาทำให้ผู้เรียนอ่อนด้อย และอ่อนแอ  ซึ่งไม่น่าจะปล่อยให้เกิดขึ้น

 


ทำไม “มนุษย์น้ำลาย” จึงแพร่หลายและขายดี

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 23 ตุลาคม 2009 เวลา 9:32 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1067

     ดร.แสวง  รวยสูงเนิน ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์น้ำลายไว้ในบันทึกหนึ่ง  ผมอ่านแล้วเกิดอาการคัน  จึงไปเสริมไว้ดังนี้ …   

     มนุษย์น้ำลาย ไม่ว่าจากสายวิชาชีพใด หรือร่ำเรียนมาทางศาสตร์แขนงไหน ที่เราเห็นกระจายพันธุ์อยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองนั้นน่าจะมาจากหลายเหตุครับ

        เท่าที่นึกออกตอนนี้ได้แก่ ..

  • เหตุที่มาจากระบบ เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ที่ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คนเข้มแข็งและพึ่งตัวเองได้ .. พวกเขาพล่ามจนคนเพลิน และหลงรอคอยการช่วยเหลือของอัศวินม้าขาว .. เลยได้ก้าวสู่การเป็น “นักเสวยผล” โดยไม่นิยม “การสร้างเหตุ” ไปโดยไม่รู้ตัว .. เขานิยมการฟังสิ่งที่ลื่นๆ ระรื่นหู จนเคลิ้มไป ในความเพ้อฝัน .. มนุษย์น้ำลาย จึงดำรงเผ่าพันธุ์ และอ้วนพีอยู่ได้ .. เป็น Supply ที่แปรไปตาม Demand นั่นเองครับ
  • เหตุมาจาก ระบบการให้การศึกษา หรือการจัดการเรียนการสอนที่ผิดพลาดมายาวนาน .. สอนให้จดจำเป็นหลัก เรื่องความคิดในเชิงเหตุผล หรือตรรกะ เอาไว้ทีหลัง ทำกันอยู่เยี่ยงนี้มายาวนาน  การเรียนรู้อย่างอุดมทุกข์แลไร้ความหมาย จึงเกิดขึ้นในทุกระดับ  สอนกันแบบพราหมณ์ร่ายเวทย์ คือ “ท่องจำ แล้ว บอกต่อ” คนจำได้มากและพูดคล่องจึงอยู่ในตำแหน่ง “คนเก่ง” มายาวนาน พูดได้ทุกเรื่อง ขออย่าให้ทำก็แล้วกัน  มันจะสะดุดทันที .. การสอนว่ายน้ำอยู่บนบก หรือ การสอนปลูกผักบนกระดานดำ จึงว่ากันไปได้นานๆเสมอ .. เก่งศีลธรรมคือท่องศีลห้าได้ ก็ยังเห็นชื่นชมกันอยู่นี่ครับ 


ควรเรียน-สอนกันอย่างไรในระดับอุดมศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 19 ตุลาคม 2009 เวลา 2:00 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1228

    ก่อนอื่นขออย่าได้คาดหวังว่าบันทึกนี้จะมีคำตอบเบ็ดเสร็จต่อคำถามที่ว่า “ควรเรียน-สอนกันอย่างไรในระดับอุดมศึกษา” นะครับ  เพราะผมไม่อาจหาญไปแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร และขอให้ใครเชื่อและทำตาม  เพียงแค่อยากนำเสนอสิ่งที่คิดได้หลังจากมีเรื่องให้ต้องคิด อันเนื่องมาจากการพูดคุยกึ่งให้คำปรึกษากับนักศึกษาปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมเครื่องกลคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหาเรื่องการทำโครงงานหรือ Project

    น้องสะใภ้ผมซึ่งเป็นเพื่อนของแม่ของนักศึกษาคนนั้น เป็นคนโทรมาขอให้ผมช่วยแนะนำหน่อย ผมก็รับปากด้วยความเต็มใจ  ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ร่ำเรียนมาทางสาขาดังกล่าว  แต่ก็เชื่อว่าคงพอจะแนะนำอะไรๆในระดับหลักการ และวิธีคิดได้บ้าง  พร้อมกับจะได้เรียนรู้ว่า ความเป็นไปในการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ในมหาวิทยาลัยใหญ่ของรัฐที่ “หลาน” คนดังกล่าวร่ำเรียนอยู่นั้นเป็นอย่างไร

    เท่าที่รับทราบ ปัญหาอยู่ที่ว่าอาจารย์ผู้สอนไม่อยากให้ทำโครงงานอันเป็นงานกลุ่ม 3 คน นำเสนอเค้าโครงเข้าไป  ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการศึกษาประสิทธิภาพการแพร่กระจายความร้อนของท่ออะไรสักอย่างหนึ่ง ที่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง  อาจารย์ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ  ไม่มีคุณค่าต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง  ถามไปถามมาก็ได้ทราบความจริงว่า อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาคนนี้เป็นผู้คิดโครงการให้  และเห็นบอกว่าอาจารย์ดังกล่าวไม่ถนัดหรือไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำงานในลักษณะการประดิษฐ์คิดค้น ทำแต่งานวิจัยแบบทดลอง  ส่วนอาจารย์ผู้สอนถนัดอีกแนวหนึ่ง

    ผมถามว่าทำไมไม่คิดโครงการกันเอง  พร้อมแนะนำว่า การทำงานถ้าจะให้สนุกต้องทำสิ่งที่เราเห็นคุณค่าในผลของงานนั้นๆ และการจะได้มาซึ่งโครงงานดีๆมีคุณค่าควรจะได้ เริ่มจากปัญหา  คือมองไปรอบๆตัวว่ามีเรื่องใดของผู้คนในสาขาวิชาชีพใดที่ยังเป็นปัญหา ต้องการวิธีการปฏิบัติใหม่ๆเพื่อแก้ หรือลดปัญหาดังกล่าว  โดยใช้ความรู้ในศาสตร์ที่เรากำลังศึกษาอยู่  พร้อมยกตัวอย่างว่า  เมื่อผมเรียนรู้ว่า ทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งที่จะเป็นปัญหามากในอนาคต  เกษตรกรจะต้องเดือดร้อน วุ่นวายเพราะจัดการอย่างไม่เหมาะสมกับเรื่องการใช้น้ำ  ประกอบกับการเรียนรู้ว่ามีผลงานวิจัยจนผลงานเครื่องกระจายน้ำฝอยแบบ ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อย และใช้ปริมาณน้ำน้อย และมีจำหน่ายในราคาประหยัด เพียงประมาณชุดละ 300 บาท  ผมก็คิดว่าสมควรเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานในบางส่วนเพื่อให้มีการนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และมีความสะดวกและประหยัดในการติดตั้ง จึงเริ่มคิดค้น ดัดแปลงเครื่องจ่ายกำลังไฟฟ้า และระบบควบคุมเวลาการทำงานให้กับระบบกระจายน้ำฝอยดังกล่าว  จึงเริ่มทำงานไปด้วยความสนุกและความหวังว่า ผลงานที่คิดค้น ดัดแปลงแต่ละรุ่น จะได้มีโอกาสช่วยให้ผู้คนได้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัด และลงทุนไม่สูงมากเกินไปในการซื้อหาอุปกรณ์ที่เราผลิต และนำมาติดตั้งใช้งานด้วยตัวเอง  แถมด้วยตัวอย่างเรื่องอื่นๆเพื่อตอกย้ำว่า เรื่องที่ผมทำ  ล้วน เริ่มจากการมองให้เห็นปัญหา ก่อนเสมอ  ตามด้วยการ มองให้เห็นสาเหตุของปัญหา  และการกำหนดให้ได้ว่า เป้าหมายหรือผลจากการทำงานนั้นๆเราจะได้ผลลัพธ์อะไรออกมา ชนิดที่ช่วยให้ผู้อื่นพ้นความทุกข์ ความยากลำบากได้  ตามด้วยการ กำหนดวิธีการหรือขั้นตอนว่าจะทำอะไรเป็นลำดับไปอย่างไร  จนกระทั่งได้ผลงานตามที่คาดหวัง  และย้ำว่า  ด้วยวิธีคิดดังกล่าวนั่นเอง  ทำให้ผมสนุกกับงานทุกชิ้นทุกเรื่องที่ทำ  โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งการ ควบคุม กระตุ้นหรือคอยเสริมกำลังใจ  เนื่องด้วยในกระบวนการดังกล่าวมันมี ยาเร่ง ยาชูกำลังอยู่เรียบร้อยแล้ว  ทำไปพร้อมกับได้เปล่งคำว่า “ถูกต้อง - พอใจ” ให้กับตัวเองได้ไปเรื่อยๆ  ทั้งยังสามารถ พักผ่อนไปกับการทำงาน ได้เสมอ

    แนะนำเสร็จผมก็บอกว่าให้ลองไปคุยกับเพื่อนอีก 2 คนดูอีกครั้งโดยใช้แนวทางดังกล่าวในการคิดโครงงานที่จะทำ  ได้ผลอย่างไรให้โทรมาคุยใหม่  ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับโทรศัพท์ครับ

    จากกรณีดังกล่าวทำให้ผมคิดต่อและเห็นว่าระบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษานั้น ..ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดการเรียนกันไปแบบไร้ความหมายและเป้าหมาย เพราะจะก่อให้ เกิดความเบื่อหน่าย และไม่อาจก้าวไปถึงความรู้จริง หรือสติปัญญาในศาสตร์ที่เรียนได้ มักจะวนเวียนอยู่ในระดับ จำได้ บอกได้ว่า อะไรเป็นอะไร เสียมาก มีส่วนน้อยที่ไปถึงการตอบโจทย์ได้ว่า ทำไม ? และ อย่างไร ? 

   และเพื่อให้ การเรียนอย่างทนทุกข์ทรมาน ลดน้อยลง  ก็ไม่ควรไปหลงเพลินกับการเรียนทฤษฎี(ล้วนๆ)มากเกินไปไปจนผู้เรียนอ่อนล้า  ควรให้นักศึกษาได้ออกจากห้องสี่เหลี่ยมไปสู่โลกภายนอกที่เป็นจริง เป็นธรรมชาติ เพื่อสัมผัส สภาพจริงที่มีปัญหาต่างๆแฝงเร้นอยู่ให้มากขึ้น  ให้มีโอกาสได้ฝึกคิด ฝึกมองอะไรๆที่เชื่อมโยงอยู่กับชีวิตจริงของผู้คนในสังคมไปตามลำดับ ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในปีแรกๆ  ไม่ใช่รอว่าเอาไว้ให้ถึงปีสุดท้ายค่อยออกไปหาประสบการณ์ภาคปฏิบัติ 

    ถ้าเปรียบพวกเขาเป็นต้นไม้  ก็อยากให้เขาได้ออกจากกระถาง มาสัมผัสพื้นดินจริงๆดูบ้าง  เขาจะได้ไม่แขวนลอยด้วยความเสี่ยงอยู่กลางอากาศ  แบบรอคอยการป้อนน้ำและอาหารจากผู้อื่นเสียบ้าง

    ได้สัมผัสดินบ่อยๆ อีกหน่อยเขาจะรู้สึกเองว่า การมีรากหยั่งลงในพื้นแผ่นดินที่เป็นธรรมชาตินั้น จะทำให้เขาสามารถดำรงตนอยู่อย่างมั่นคง ปลอดภัย ช่วยตัวเองและเผื่อแผ่ เกื้อกูลต่อผู้อื่นได้ และค้นพบคุณค่าของตนเองได้ ในที่สุด


เรื่องของความสุข

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 12 ตุลาคม 2009 เวลา 5:31 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรม #
อ่าน: 1153

ความจริงมีอยู่ว่า ….
         ทุกคน รักสุข เกลียดทุกข์
ความสุขมีได้หลายความหมายและหลายระดับ 
      1 . สุขคือพอใจเมื่อได้สิ่งที่ต้องการ (รักตนเอง) 
      2 . สุขคือพอใจเมื่อได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น (รักตนเองและผู้อื่น)
      3 . สุขคือภาวะของจิตที่ถอนตนเสียได้จากความพอใจ และไม่พอใจในโลก
         ( เห็นทุกอย่างตามเป็นจริง  เมตตากรุณาต่อทุกสรรพสิ่ง ไม่มีตัวตน เรา-เขา ) 
        มนุษย์ส่วนมาก โดยเฉพาะในโลกแห่ง วัตถุนิยม และ บริโภคนิยม เช่นปัจจุบัน จะ
หลงติดอยู่กับความสุขแบบที่หนึ่ง จึงต้องมีชีวิตที่ทุรนทุราย เสาะแสวงหาสิ่งที่ชอบที่พอ
ใจให้ตัวเองอย่างไม่รู้จบสิ้น ความหล่อ ความรวย ความสวย ความไพเราะ ความน่ารัก
น่าสัมผัส คือสิ่งที่ดึงดูดให้คนเหล่านั้นวิ่งตาม ได้มาแล้วก็คุ้นชิน เบื่อหน่าย เกิดความ
อยากที่แปลกใหม่มาทดแทนให้ได้เหน็ดเหนื่อย ดิ้นรน เสาะแสวงสิ่งปรนเปรอความสุข
มากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนจบสิ้นชีวิตไปก็ไม่น้อย   สุขแบบนี้ ผู้มีปัญญาล้วนหยั่งเห็นว่าแท้
จริงคือทุกข์นั่นเอง เพราะเราต้องเหน็ดเหนื่อยวิ่งตามหามันอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสิ่ง
เหล่านั้นล้วนมีความเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอนอยู่ในตัวทั้งสิ้น อีกทั้งจิตใจคนก็พัฒนา
ความอยาก ความปรารถนายิ่งๆขึ้น ไม่รู้จบสิ้นเช่นกัน   การแสวงสุขแบบนี้ยังเป็นการ
บั่นทอนโอกาสของการแสวงหาและสั่งสมความรู้ที่เป็นประโยชน์  เมื่อขยับขึ้นไปสนใจ
ความสุขระดับที่สองก็จะทำอะไรได้ไม่มาก เพราะขาดทุนสำรอง คือความรู้ความ
ชำนาญในเรื่องที่จะช่วยเหลือผู้อื่น   อยากอนุเคราะห์ช่วยเหลือใครก็ทำได้แค่คิด  เพราะ
ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะช่วย   จะถอยหลังกลับไปแก้ไขก็ทำไม่ได้อีกแล้ว 
        สุขแบบที่สองเป็นการพัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง   เป็นเรื่องของคนที่เห็นความไร้
สาระของการแสวงหาความสุขในแบบที่หนึ่ง และมองความสุขว่าอยู่ที่การควบคุมใจไม่
ให้ฟุ้งซ่านลุ่มหลงไปกับสิ่งไร้สาระ   แต่จะให้ความสำคัญกับความกตัญญูกตเวที ความ
รักความเมตตา เอื้ออาทรต่อกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ   แสวงหาวัตถุแต่ไม่ลุ่มหลงวัตถุ  ใช้
วัตถุเพื่ออำนวยประโยชน์ตนและเอื้อเฟื้อผู้อื่นให้ได้พ้นความทุกข์ยากต่างๆ    เห็นสุข
จากการให้ มีค่ากว่าการรับ    โลกจะน่าอยู่ขึ้นอีกไม่น้อย หากมีคนกลุ่มนี้อยู่ด้วยกันมากๆ
เพราะต่างฝ่ายต่างปรารถนาจะเป็นผู้ให้    ความขัดแย้งจะมีน้อย   สิ่งที่เรียกว่าความรักจะ
สูงค่าขึ้นทันที 
        สุขแบบที่สาม  แม้ว่ายากจะไปได้ถึง ก็ควรได้ตั้งเป็นเป้าหมายของชีวิตเอาไว้ เพราะ
เป็นสุขที่ปราศจากทุกข์ใดมารบกวน   เป็นสุขที่เรียกว่า โลกุตรสุข หรือสุขที่อยู่เหนือโลก
เป็นภาวะของจิตที่หยั่งเห็นแจ่มแจ้งในสัจธรรมทั้งปวง    เห็นชัดแจ้งว่าทุกอย่างล้วนเกิด
จากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และเป็นกระแสแห่งการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง   ด้วยการ เกิดขึ้น
ตั้งอยู่ และดับไปทั้งสิ้น  ไม่มีสัตว์ - บุคคล - ตัวตน - เรา - เขา ที่ไหน  เป็นเพียง
สมมุติที่กำหนดกันขึ้นมา   เห็นความไม่มี “ตัวฉัน” อย่างแจ่มแจ้ง สิ่งที่เป็น “ของฉัน
ก็ ไม่มี  ไม่ต้องตื่นเต้นกับการได้มา หรือโศกเศร้ากับการสูญเสียใดๆ    จิตเป็นอิสระอย่างยิ่ง
สามารถอยู่อย่าง ” สงบเย็น และ เป็นประโยชน์ ” ได้เสมอ  เมตตาธรรมเต็มเปี่ยม  อุดม
ด้วยพลังสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะใช้ชีวิตอุทิศตัวเพื่อประโยชน์ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ 
        ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมขบวนการเลื่อนชั้นความสุขให้ชีวิตกันเถิด โดยรีบหลีก
เร้นออกมาจากสุขระดับที่หนึ่งโดยเร็ว  อย่ามัวเสียเวลากับมันเพราะมันเป็นจอมล่อหลอกให้
เราหลงติดกับดัก    อยู่ตรงนั้นนานไปมีแต่จะขาดทุนและรังแต่จะทำให้ชีวิตของเราว่าง
เปล่า   รีบขยับมาอยู่ขั้นที่สอง   พัฒนาความรู้ความสามารถ และจิตใจให้ “รักผู้อื่น” กัน
ได้มากยิ่งๆขึ้นเถิด   ในที่สุด แม้เราจะไม่เรียกร้อง แต่รอบตัวเราจะเริ่มเห็นมีแต่คนที่รักและ
ปรารถนาดีต่อเราอยู่ทั่วไป    ส่วนจะขยับไปใกล้หรือถึงสุขระดับที่สามกันมากน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับศรัทธาและวิริยะที่แต่ละท่านมี เป็นสำคัญ

Mothai-117 



Main: 0.674644947052 sec
Sidebar: 0.1065661907196 sec