Handyman … เจ้าเป็นไผ (๓)
อ่าน: 1318ครูผู้ลิขิตชีวิต
เมื่อผมจบ ป.4 จากโรงเรียนวัดใกล้บ้าน และทางบ้านกำลังตัดสินใจว่าจะให้เรียนต่อหรืออยู่บ้านช่วยพ่อแม่ และพี่ๆทำนาทำไร่ดี ครูใหญ่ และครูที่โรงเรียนต่างบอกพ่อ แม่ ว่าควรให้ผมเรียนต่อ เพราะผมเรียนดี สอบได้ที่ 1 ได้คะแนน 89 % พ่อและแม่ก็เลยเห็นด้วยตามนั้น จึงเป็นโอกาสให้ผมได้เรียนต่อ เป็น นักเรียน ป.5 รุ่นแรก ที่โรงเรียนพุทธนิคม อ.ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี โดยพ่อได้ตัดสินใจให้ไปอยู่ วัดชยาราม กับท่านอาจารย์ พระครูสุธนธรรมสาร ผู้ที่ท่าน อาจารย์พุทธทาส บอกว่าคือ เพื่อนตาย ของท่าน ความจริงผมมีบ้านพี่ชาย น้าชาย และญาติอีกหลายคนที่จะให้ไปอยู่ด้วยได้ แต่พ่อคงเห็นว่า วัดชยาราม น่าจะเหมาะกับลูกคนสุดท้องอย่างผม มากกว่าก็เป็นได้ ผมจึงได้ไปเป็น เด็กวัด และยอมรับว่าที่นั่นท่านอาจารย์พระครูสุธนธรรมสาร ได้กลายเป็นครูที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผมเป็นอย่างมาก ( รายละเอียดได้กล่าวถึงไว้บ้างแล้วใน บันทึกนี้ ) แต่ก็ไม่มาก และหลากหลายเท่ากับสิ่งที่ครูในดวงใจที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีต่อผม
ก่อนเข้าโรงเรียนใหม่ ผมจำเป็นต้องเข้าร้านถ่ายรูปเป็นครั้งแรก เพื่อถ่ายรูปติดเอกสาร ในตลาดไชยาตอนนั้นร้านถ่ายรูปมีอยู่ 2 ร้าน คือร้าน ศิลป์ฟ้า และร้าน วงศ์สุวรรณ ผมตัดสินใจใช้บริการของร้านที่สองครับ และด้วยเหตุที่ผมเป็นเด็กบ้านนอกที่บ้าเรื่องช่าง เรื่องเทคโนโลยีมาก เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอได้เห็นกล้องใหญ่ในร้าน เห็นช่างภาพ ถอด-ใส่แผ่นฟิล์มเข้ากล้อง กดปุ่มให้ไฟแฟลชทำงาน ก็ให้รู้สึกตื่นเต้น อยากเป็นช่างภาพ และถ่ายรูปเก่งแบบนั้นบ้าง ยิ่งตอนเดินลงบันไดจากชั้นสองลงมาและได้เห็นช่างคนเดิมนั่งใช้พู่กันบรรจงแต่งฟิล์ม อย่างใจเย็นอยู่ที่โต๊ะข้างบันได ก็ยิ่งนึกศรัทธาเพิ่มมากขึ้น อยากเป็นเช่นที่ช่างภาพคนนั้นเป็นเหลือเกิน เป็นไปได้ใคร่อยากเป็นลูกศิษย์ให้ช่วยสอน
และแล้วผมก็ได้เข้าเรียนเป็นนักเรียน ป.5/1 ในโรงเรียนใหม่สมความตั้งใจ แต่ที่เหลือเชื่อก็คือผมได้ครูประจำชั้นชื่อ นายสุวรรณ สุวรรณรักษ์ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน ช่างภาพเจ้าของร้าน วงศ์สุวรรณ ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วนั่นเอง
ผมนั้นนอกจากเรื่องเทคโนโลยี เครื่องยนต์กลไกแล้ว ผมรู้สึกชอบภาษาอังกฤษไม่น้อย แต่ก็ไม่เคยเรียนมาก่อน อักษร 3 ตัวแรกที่ผมรู้จักก่อนเข้าเรียนป.5 คือ D D T ส่วน A B C เพิ่งมารู้จักทีหลัง จากครูสุวรรณ ครูประจำชั้นของผมนั่นเอง เพราะท่านสอนวิชาภาษาอังกฤษและทำหน้าที่ครูประจำชั้นของพวกเราด้วย ผมรู้สึกสนุกมาก และเล่นกับภาษาอังกฤษด้วยความชื่นชอบ จากหนังสือแบบเรียนอังกฤษเล่มแรกในชีวิต ชื่อ The Oxford English Course for Thailand ที่มีรูปพระปรางค์วัดอรุณฯ อยู่บนปกหน้า โดยมีครูสุวรรณที่ผมศรัทธา เป็นผู้สอน จำได้ดีว่าครู เป็นคน พูดน้อย ยิ้มง่าย ใจเย็น และที่แน่ๆ เป็นช่างภาพมืออาชีพ ที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี และยังสอนวิชาภาษาอังกฤษที่ผมรัก อีกด้วย
อยู่มาวันหนึ่งครูสุวรรณได้ทำให้ผมตื่นเต้นมากอีกแล้วครับ ขณะที่พักกลางวันและเพื่อนๆกำลังออกไปทานข้าว ผมเห็นครูทำอะไรบางอย่างกับสิ่งแปลกใหม่ของครู มันคือวิทยุขนาดจิ๋ว กล่องสีแสดๆ ที่ เล็กขนาดว่าพกใส่กระเป๋าเสื้อได้เลยทีเดียว ที่ผมเคยเห็นมาแต่เดิมนั้นวิทยุล้วนเครื่องใหญ่ต้องวางบนหิ้งบนชั้น เป็นเครื่องที่ใช้หลอดสุญญากาศ และใช้ถ่านไฟฉายก้อนใหญ่ถึง 72 ก้อน ลังถ่านที่อยู่ภายนอกเครื่อง โตกว่าตัวเครื่องรับวิทยุเสียอีก (ดู บันทึกนี้ เพิ่มเติมได้ครับ) ที่ทันสมัยที่สุดก็เครื่อง Philips ใช้ Transistor เครื่องแรกของครูใหญ่โรงเรียนเก่า ที่ใช้ถ่านเพียง 6 ก้อนเท่านั้น ก็ใช้งานได้แล้ว และที่ทำให้ผมงงมากจนต้องยืนดูอยู่ห่างๆ (เพราะกลัวครูเหมือนเด็กทั่วไปในตอนนั้น) คือ ครูสุวรรณ ใส่หูฟัง ( Earphone ) ตัวเล็กนิดเดียวเข้าไปในหูข้างหนึ่ง โดยเราเองไม่ได้ยินเสียงอะไรด้วยเลย ผมทึ่งและคิดคาดเดาว่าเสียงมันจะเป็นอย่างไรหนอ น่าจะบี้ๆแบนๆ พอฟังรู้เรื่องกระมัง และก็ยืนดูอยู่ไม่ยอมไปไหน ครูสุวรรณยิ้มและกวักมือเรียกให้เข้าไปพร้อมกับถอดหูฟังดังกล่าวมาแหย่ในหูผม .. โอ้โฮ มันชัดเหมือนลำโพงใหญ่ๆเลยนี่นา มันทำได้อย่างไร ผมตื่นเต้นและ อยากแกะดูข้างในยิ่งนัก ผลจากประสบการณ์ที่ ครูใส่ใจให้ความกรุณา แก่ตัวผมคราวนั้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากทำวิทยุเป็น ถึงขนาดเดินเท้าจากวัดชยารามไปสวนโมกข์ระยะทาง 4-5 กม. ได้บ่อยๆ เพื่อซักถามและเรียนรู้เรื่องวิทยุกับ ท่านจรูญ พระสวนโมกข์ที่ สนใจและเก่งกาจเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีอย่างหาตัวจับได้ยาก และมีผลให้ผมสามารถสั่งชิ้นส่วนจากบริษัทไทยวิทยุที่กรุงเทพฯมาประกอบเครื่องรับวิทยุขายได้ในขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น หูฟังที่ทำจากตลับยาหม่องตราถ้วยทอง ที่ผมดัดแปลงสร้างขึ้นก็มีเสียงดัง ฟังได้ แม้จะไม่ชัดเจนดีนัก ครูสุวรรณไม่ได้สอนผมเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีครูสุวรรณ ผมไม่เชื่อว่าผมจะมีโอกาสทำสิ่งเหล่านั้นได้ในขณะนั้น ท่าน ไม่ได้สอน แต่ท่านรัก เมตตาและใส่ใจผม สิ่งที่ท่านให้คือแรงขับสำคัญอย่างยิ่ง
« « Prev : Handyman … เจ้าเป็นไผ (๒)
Next : Handyman … เจ้าเป็นไผ (๔) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "Handyman … เจ้าเป็นไผ (๓)"