Handyman … เจ้าเป็นไผ (๒)

โดย handyman เมื่อ 7 มีนาคม 2009 เวลา 4:23 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1082

   ต่อครับ .. ตอนนี้คือ .. ชีวิตเด็กวัด

   บ้านผมอยู่ห่างตัวอำเภอไชยาไปทางตะวันตกประมาณ ๙ กิโลเมตร  จบป.๔ ที่โรงเรียนใกล้บ้านแล้วก็ต้องมาเรียนต่อในตัวอำเภอ เป็น ป. ๕ รุ่นแรก  ถนนยังไม่มี  จะเดินไป-กลับวันละ ๑๘ กิโลเมตรก็คงไม่ไหว  จึงต้องมาอาศัยอยู่ในตัวอำเภอเพื่อเรียนต่อ  ความจริงเราก็มีบ้านพี่ชายคนโตซึ่งแต่งงานมีครอบครัวอยู่ไม่ไกลอำเภอ  และบ้านน้าชายที่ใกล้ชิดเหมือนพ่อคนที่สองอยู่ใกล้ตลาดไชยา  แต่คุณพ่อกลับให้ผมไปอยู่วัด  เป็นเด็กวัด  ที่พิเศษยิ่งขึ้นไปอีกคือเลือกเอาวัดชยารามที่มีท่านพระครูสุธนธรรมสารเป็นเจ้าอาวาส (ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่าคือเพื่อนตายของท่าน) วัดอื่นมีทำไมไม่ให้เราไปอยู่ ผมคิดเช่นนี้ทุกครั้งที่เห็นเพื่อนๆที่อยู่วัดเหล่านั้น อยู่กันค่อนข้างสบาย เที่ยวเตร่ได้ค่อนข้างมาก ไม่ต้องลำบากเหมือนที่วัดของเรา  พ่อเป็นคนพูดน้อย ไม่ได้บอกเหตุผลอะไร  แต่คาดเดาได้ในตอนหลังว่าคงจะให้ผมได้เข้ามารับการฝึกความแข็งแกร่งและความเป็นคนที่สมบูรณ์ในสำนักนี้เป็นแน่  ความที่ผมเป็นลูกคนสุดท้องด้วยกระมังที่ทำให้พ่อตัดสินใจเช่นนั้น  เพราะอยู่บ้านทำอะไรก็เหยาะๆแหยะๆ  ไม่ค่อยต้องรับผิดชอบกับอะไรจริงจังมากนัก เดี๋ยวก็แม่บ้าง  พี่สาวบ้าง  พี่ชายบ้างช่วยกันโอ๋ 

    ที่วัดชยารามผมเริ่มแปลกใจว่าทำไมเด็กวัดทั้งที่เป็นรุ่นพี่และรุ่นเดียวกันจึงมีแต่ลูกครู และข้าราชการเป็นส่วนมาก  ลูกผู้พิพากษาก็มี  นึกอีกทีพ่อเราแม้จะเป็นชาวนาก็นับว่ามีวิสัยทัศน์ที่ไม่ธรรมดาเหมือนกัน คิดอะไรแบบเดียวกับพ่อแม่ของเพื่อนๆเหล่านั้น

    ชีวิตและความเป็นอยู่ที่วัดชยาราม ทรหด  หรืออาจเรียกตามความรู้สึกในตอนนั้นว่า “โหดมาก” ก็ได้  ทุกหัวค่ำต้องสวดมนต์ทำวัตร เป็นบทสวดแบบแปลตามแบบฉบับของสวนโมกข์  แม้ว่าจะสวดตอนหัวค่ำแต่ก็สลับวันกันไประหว่างบทสวดทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น แรกๆก็ใช้หนังสือ  แต่ตอนหลังก็จำกันได้เกือบทุกคน  สวดมนต์เสร็จต้องมารวมตัวกันอ่านหนังสือ  ทำการบ้านที่โรงฉันโดยมีท่านอาจารย์พระครูสุธนคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด  ผมเคยโดนไม้เรียวฟาดก้น เหตุเพราะท่านเดินเข้ามาหาแล้วถามว่าอ่านอะไร  ผมตอบว่าเป็นหนังสือ เสรีภาพ (นิตยสารของสำนักงานข่าวสารอเมริกันในสมัยนั้น) ท่านพร่ำสอนว่าควรทำอะไร อย่างไร ก่อนลงไม้เรียวที่ก้นผม พร้อมด้วยคำว่า เสรีภาพ ๓ ครั้งตามเสียงไม้เรียว  เจ็บและจำครับ  ไม่ได้โกรธเพราะท่านไม่ได้ใช้อารมณ์   ตอนเช้าทุกคนต้องตื่น ตี ๕ มาอ่านหนังสืออีกรอบ  ท่านจะเดินตรวจไปทุกกุฏิที่พวกเราอยู่ หากยังไม่ตื่นก็จะใช้ด้ามไม้กวาดกระทุ้งที่พื้นห้องเพื่อปลุก  บางคนขี้เซามากโดนฟาดด้วยไม้เรียวทั้งๆที่อยู่ในมุ้งก็มี

   ท่านอาจารย์พระครูสุธนฯ ขยันมากๆ  มีฝีมือในการก่อสร้าง  และเป็นนักอ่าน  นักฟัง และติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เสมอ  คอยอบรมสั่งสอนพวกเราทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่นหลังสวดมนต์ในวันพระ  ที่ว่าไม่เป็นทางการเช่นตอนเราไปขอลาท่านกลับไปเยี่ยมบ้าน จำได้ว่าครั้งหนึ่งไปลากลับบ้านในขณะที่ท่านอยู่บนหลังคาส้วม กำลังง่วนอยู่กับการซ่อมเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา  พนมมือจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีก กว่าท่านจะบอกว่าไปเถอะ เพราะก่อนถึงประโยคนั้นท่านจะสอนเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว  การสำนึกในบุญคุณพ่อแม่  ให้รู้จักทำงานแบ่งเบาภาระท่าน และ โทษของความขี้เกียจเป็นต้น  คำฮิตติดหูคือ “อย่าเห็นแก่ตัว” ท่านเน้นย้ำอยู่เสมอ เรื่องความไม่เห็นแก่ตัวนี้ไม่ได้อบรมกันด้วยการบอกกล่าวเท่านั้น  ท่านจะนำพวกเราทำงานหนักอยู่เสมอเช่นขุดดิน  ลอกคูคลองทางเดินเข้าหมู่บ้าน  ขุดสระน้ำ  ซ่อมแซมถนน  แทบทุกคืนวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่หัวค่ำท่านจะนำพวกเราออกทำงานดังกล่าว โดยใช้ตะเกียงเจ้าพายุเป็นเครื่องให้ความสว่างในการปฏิบัติการ “เอาเหงื่อล้างอัตตา” ตามแบบฉบับของสวนโมกข์  ท่านย้ำบ่อยๆว่ากินข้าวของเขา ต้องรู้จักทำอะไรทดแทนบุญคุณ  นอกจากนี้กิจวัตรหลักของพวกเราอีกอย่างคือการเดินเท้าไปสวนโมกข์  ระยะทางประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ขาไปก็หอบหิ้วของไปช่วยเสริมที่โรงครัวสวนโมกข์  ทั้งอาหารแห้งและพืชผักที่มี  โดยเฉพาะดอกขี้เหล็กที่มีมากที่วัดของเรา  ขากลับบางทีก็มีสะตอจากสวนโมกข์ติดมือมาเลี้ยงพระที่วัดชยาราม  กิจกรรมที่ทำที่สวนโมกข์ได้แก่การจัดเรียงหินตามทางเดินขึ้นเขาพุทธทอง  เทปูนในงานก่อสร้างตามจุดต่างๆ  รวมทั้งโรงมหรสพทางวิญญาณที่เพิ่งจะก่อสร้างในตอนนั้น การไปล่องแพไม้ซุงมาใช้ในการก่อสร้างพวกเราก็ได้ทำ การเลื่อยไม้ซุงเป็นแผ่นไม้กระดานก็ได้ทำ  แรกๆก็เมื่อยแขนมาก  แต่นานๆเข้าก็เริ่มชิน 

    นอกจากการต้องมีวินัย และต้องทำงานหนัก หลากหลายรูปแบบแล้ว  ทุกวันพระเด็กวัดชยารามต้อถือศีลอุโบสถ งดอาหารเย็น จำได้ว่ามีครั้งหนึ่งผมอ่อนเพลียมากจนแทบจะออกไปเดินปิ่นโตตอนเช้าไม่ไหว  อาหารเย็นของพวกเราในวันปกติเป็นเมนูที่หลายท่านอาจไม่เชื่อ  หรือฟังแล้วอาจรู้สึกผะอืดผะอมขึ้นมาก็ได้  แต่รับรองว่าเป็นเรื่องจริง  ไม่ได้ปรุงแต่งครับ  คือเราจะเอากับข้าวทุกอย่างที่เหลือมาจากตอนกลางวันเทรวมกันในหม้อใบใหญ่ มีทุกอย่าง เช่นน้ำพริก แกงจืด แกงเผ็ด ของทอด และยำสารพัดชนิด นำมาต้มรวมกัน  บางทีก็คั้นกะทิใส่เพิ่มและเติมน้ำปลาเข้าไปด้วย  เราเรียกกันว่า “แกงรวม” เสร็จสรรพก็ตักราดข้าวแบ่งปันกันกินในหมู่อารามบอยของวัดนี้ .. กินเพื่ออยู่  กินเพื่อรับประโยชน์จากการกินครับ

Post to Twitter Post to Plurk Post to Yahoo Buzz Post to Delicious Post to Digg Post to Facebook Post to MySpace Post to Ping.fm Post to Reddit Post to StumbleUpon

« « Prev : ควันหลง “ตีแตกอีสาน”

Next : Handyman … เจ้าเป็นไผ (๓) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "Handyman … เจ้าเป็นไผ (๒)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.42034292221069 sec
Sidebar: 0.15850591659546 sec