โลก-ปรองดอง

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 28 กรกฏาคม 2010 เวลา 9:31 (เช้า) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ต้นไม้ #
อ่าน: 2797

โลก …. อังคาร กัลยาณพงศ์

โลกนี้มิอยู่ด้วย

มณี เดียวนา

ทรายและสิ่งอื่นมี

ส่วนสร้าง

ปวงธาตุต่ำกลางดี

ดุลยภาพ

ภาคจักรพาลมิร้าง

เพราะน้ำ แรงไหน ฯ

ภพนี้มิใช่หล้า

หงส์ทอง เดียวเลย

กาก็เจ้าของครอง

ชีพด้วย

เมาสมมุติจองหอง

หินชาติ

น้ำมิตรแล้งโลกม้วย

หมดสิ้น สุขศานต์ ฯ

โคลงบทนี้ โดนใจจริง ๆ …

อันเนื่องมาจากการไปพักอาศัยในศีรษะอโศก ชุมชนพึ่งตนเอง เป็นชุมชนของคนกินอาหารมังสวิรัติ กินทุกอย่างที่ตนเองปลูก ปลูกทุกอย่างที่ตนเองกิน ชาวอโศกยึดมั่นในคำของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า

อาหารเป็นหนึ่งในโลก

ดังนั้นอาหารหลักของชาวอโศกคือ พืช ผัก ผลไม้ และเขาเหล่านั้น คิดว่าต้องสร้างอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคเอง

ชาวอโศกปลูกพืชผักผลไม้ โดยไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีทุกประเภท แต่ผลิตปุ๋ยชีวภาพขึ้นใช้เอง มีการพัฒนาปรับปรุงสูตรปุ๋ยต่าง ๆ ที่ปลอดภัยและใช้ได้ผลดี เมื่อเหลือจากการใช้ภายในชุมชนแล้ว จึงจะแจกจ่าย และขายในราคาต่ำเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ

ครูแก่นฟ้า แสนเมืองเล่าว่า แรก ๆ มุ่งพัฒนาปรับปรุงปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพก็เพื่อนำมาใช้กับพืชผักผลไม้ที่ต้องกินต้องใช้ ต่อมาคนเข้ามาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ต่าง ๆ สนใจจึงแบ่งปันไปให้ใช้ หลัง ๆ มีกลุ่มเกษตรกรสนใจมากขึ้น จึงสอนและเผยแพร่ความรู้ด้านกสิกรรมไร้สารพิษ เน้นให้ลดการใช้สารเคมี เพื่อคุณภาพของผักผลไม้และสุขภาพของเกษตรกรเอง รวมทั้งยังช่วยลดรายจ่ายจากการต้องซื้อปุ๋ยเคมีจากบรรษัทยักษ์ใหญ่อีกด้วย

แต่…สิ่งซึ่งคนต่างถิ่น เช่นตัวเองต้องเผชิญและสู้รบตบมือด้วยก็คือ แมลงต่าง ๆ ทั้งแมลงวัน แมลงหวี่ แมลงหางแข็ง มด ยุงที่อุดมสมบูรณ์มากมาย เพราะเป็นชุมชนที่ไม่ได้ใช้สารเคมีใด ๆ เลยนี่เอง

วันแรกที่ไปเกือบแย่…เพราะโดนแมลงตอมเสียจนนั่งไม่ติด (สงสัยผิดกลิ่น) พอย่ำเย็นยุงก็ออกมาเป็นกองทัพ ปวารณาตัวรับศีลห้า มีข้อปาณาติบาต ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อูย…ตบยุงก็ไม่ได้ จะไหวมั๊ยนี่เรา…

จัดการหายากันยุงและแมลงสูตรตะไคร้ทาตัว ค่อยทุเลาไปบ้าง สังเกตดูแมลงต่าง ๆ ไปตอมกลุ่มคนที่มาใหม่ … ฮา ๆ (คงเริ่มชินกับกลิ่นเรา คนมาใหม่ก็ผิดกลิ่นอีก)

ลองคุย(แกมบ่นเล็ก ๆ) กับครูภูมิปัญญาไทย ครูขวัญดิน สิงห์คำ ว่าทำไมมด แมลงต่าง ๆ มากมายจัง อ่านหนังสือไม่ได้เลย…

ครูขวัญดิน หัวเราะท่องโคลงท่อนหนึ่งให้ฟังว่า…

ภพนี้มิใช่หล้า

หงส์ทอง เดียวเลย

กาก็เจ้าของครอง

ชีพด้วย

ฟังแล้วอึ้งไปนิดหนึ่ง ครูบอกต่อว่า นกหนู มดแมลงก็เป็นเจ้าของโลกนี้เช่นเดียวกับเรา เพียงแต่เราอยู่ได้นานกว่าเขา เขาอยู่เพียงไม่กี่เดือนกี่วัน เราเองก็ควรปรับตัวให้เข้ากับเขา ยอมรับเขาด้วย ต้องปรองดองอยู่ร่วมกันอย่างไม่เบียดเบียนกัน จะได้มีความสุขกันถ้วนหน้า

จริงด้วยสินะ…โลกนี้เป็นสมบัติของสรรพสิ่ง เรามิใช่เจ้าของโลกแต่เผ่าพันธุ์เดียวเสียหน่อยเลย ทั้งพืชพันธุ์ไม้ สัตว์เล็กสัตว์น้อย และมนุษย์ ก็ล้วนเป็นเจ้าของและเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายกับเราด้วยกันทั้งนั้น

1234

ดีใจที่วันต่อ ๆ มา แมลงและยุงเริ่มเป็นมิตรกับเรา…

ไม่ค่อยมาไต่ตอมรบกวนอีกแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อย

:-D

1234


วัชพืช

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 27 มิถุนายน 2010 เวลา 2:10 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ต้นไม้, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3900

เช้าวันหยุด

มีโอกาสชักชวนหลานตัวน้อย ๆ  ร่วมกันรดน้ำต้นไม้  เก็บกวาดใบไม้ใบหญ้า และช่วยกันทำความสะอาดบ้าน (ถือโอกาสสอนวิชาประสบการณ์ชีวิตให้เด็ก ๆ ด้วยเลย)


สังเกตเห็นว่าส่วนที่เด็ก 3 คน ชอบมาก คือการรดน้ำต้นไม้ การได้เห็นต้นไม้แปลก ๆ  เสียงถามเซ็งแซร่ไม่มีใครฟังคำตอบ นอกจากยิงคำถามเป็นชุด ๆ

นี่ต้นอาไรค้า ไม่เคยเห็น…

นี่สวย ๆ มีลูกเล็ก ๆ ด้วย…

นี่อาม่าบอกว่าเป็นยาต้มแก้ร้อนใน…

ดอกสวยมากคร้าบบบบบ พี่น้องงงงง…


เจ้าคนโต ยื่นหน้ามาถามและให้มาดูว่า นี่เรียกว่าต้นอะไร (ตั้งค่าหัว รางวัลไว้สำหรับคนที่สามารถจดรายชื่อพืชพันธุ์ไม้บนดาดฟ้าทั้งด้านหน้าด้านหลังได้มากที่สุด) ในขณะที่ก้มหน้าก้มตาจดในกระดาษยู่ยี่อย่างตั้งอกตั้งใจ


ต้นที่ชี้ให้ดูเป็นพืชล้มลุก มีดอกเล็ก ๆ สีม่วงสวย มีทั้งที่ยังไม่บานและบานเต็มที่แล้ว… อ้อ ไม่รู้ชื่อหรอก แต่เป็นวัชพืชประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ปลูกแต่ขึ้นเอง

โดนถามต่อว่า วัชพืชคืออะไร? ก็เลยให้การบ้านว่าไปหาในพจนานุกรมแล้วกัน ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จะเลี้ยงพิซซ่าตอนเที่ยงนี้ เด็ก ๆ ขมีขมัน สนุกสนาน แม้จะหน้าแดงเหงื่อเต็มตัว


นั่งอ่านผลงานเด็ก ๆ …

วัชพืช

[วัดชะพืด] น. พืชที่ไม่ต้องการ เช่นหญ้าคาในแปลงข้าว.(ป. วชฺช + พีช).

(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

วัชพืช [n.] weed


เคยฟังอาจารย์สอนภาษาอังกฤษเล่าว่าวัชพืชนี้ บางทีเรียกว่า “unloved plant”  คือเป็นพืชที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ต้องการ เพราะไม่ได้ปลูกแต่ขึ้นเองแม้จะหากินเก่ง ทนทาน ไม่ต้องการการประคบประหงมดูแล แต่ที่คนปลูกต้นไม้ไม่ชอบก็เพราะมักทำให้พืชชนิดอื่นตายหรือไม่เติบโตเท่าที่ควร  ลองค้นรากศัพท์ต่อ

วัชชะ

[วัดชะ] น. สิ่งที่ควรละทิ้ง; โทษ, ความผิด. (ป. วชฺช; ส. วรฺชฺย, วรฺชฺช).


คำว่า “วัชพืช“  มาจาก วัช หรือ วัชชะ แปลว่า “สิ่งที่ควรละทิ้ง” ซึ่งเมื่อรวมกับคำว่า พืช เป็น “วัชพืช” จึงมีความหมายว่า “พืชที่ควรละทิ้ง

เด็ก ๆ ร้อง อ้าวงั้นต้องถอนทิ้งหรือเปล่าคะ คุณครูสอนว่าปลูกพืชต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ตัดหญ้า ถอนวัชพืช พืชที่เราปลูกจะได้โตเร็ว ๆ


อาล่ะสิ จะตอบเด็ก ๆ ว่าไงดีนะ….

ความจริงพืชพันธุ์ไม้นั้น เขาก็อยู่ของเขา พึ่งพิงอิงอาศัยกันอย่างสงบสุข แต่มนุษย์ต่างหากยกเอาความต้องการของตนไปให้คุณค่าว่า สิ่งนี้เป็นพืชมีค่า เป็นพืชเศรษฐกิจ ชนิดนี้ปลูกแล้วขายได้ราคาดี ส่วนชนิดนี้ไม่มีค่า เพราะตีเป็น “มูลค่า” ไม่ได้ พาลเรียกว่าเป็น “วัชพืช” ไปเสียเลย


พืชก็คือพืชนั่นแหละ… แม้ต่างพันธุ์ต่างเชื้อสายกัน…


คิดเลยไปถึง ข้อสอบที่ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ สอบไล่ก่อนจบออกมาคือ “พืชอะไรที่ทำยาไม่ได้?” คำตอบที่ท่านตอบคือ ไม่มีพืชอะไรที่เป็นยาไม่ได้…


ความจริงวัชพืชก็มีประโยชน์เหมือนกัน เช่น “หญ้าขนมเทียน” ที่มักขึ้นตามไร่พริก เพราะหญ้าชนิดนี้ เขานำมาตำ คั้นเอาน้ำผสมแป้งทำขนมเทียน ทำให้ขนมไม่ติดใบตอง หรือ “หญ้าขจรจบ“  ซึ่งเป็นวัชพืชในไร่ข้าวโพด ตอนที่หญ้าขจรจบยังไม่มีดอกใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เมื่อต้นแก่แห้งก็นำไปทำเยื่อกระดาษได้อีก

แม้แต่วัชพืชบางชนิดที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ก็ยังช่วยปกคลุมดินให้คงความชุ่มชื้น ป้องกันการเสียน้ำหน้าผิวดินได้ไม่มากก็น้อยด้วย รวมความว่าถึงอย่างไรก็ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ของดิน-น้ำได้นั่นไง


บอกเด็ก ๆ ที่กำลังเคี้ยวตุ้ย ๆ ต่อว่า เห็นไหม … ทุกสรรพสิ่งล้วนมี “คุณค่า” อยู่ในตน และ  ”คุณค่า” ที่ว่านี้ก็ระวังด้วย อย่าด่วนตัดสิน เพราะคุณค่า บางครั้งก็เป็นคนละส่วนกับ “มูลค่า” คนบางคน เรื่องบางเรื่อง ของบางสิ่งตีราคาค่างวดเป็น “ตัวเงิน” ไม่ได้ แต่มีมูลค่ามหาศาลที่ไม่อาจเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้เลย


ธรรมชาติแสดงสัจธรรม

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 19 พฤษภาคม 2010 เวลา 1:02 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ต้นไม้ #
อ่าน: 2899

 

     ระยะนี้ ต้นมะลิ ที่พี่สาวเพียรทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยง แข่งกันออกดอกเสียเต็มต้นเอาใจเจ้าของ … สร้างความสุขและชื่นชมให้กับพี่สาวผู้บำรุงเลี้ยง ด้วยการเก็บ “น้ำซาวข้าว” ไว้รดต้นมะลิทุกวัน

 

 

       ทุกเช้า พี่ก็จะเก็บ ๆ แล้วไปปักแจกันถวายพระ ไว้ที่โต๊ะทั้งในห้องนอน โต๊ะในบ้าน … จนมีกลิ่นอบอวลไปทั่วบริเวณ

 

     เย็นวันหนึ่ง พี่สาวบ่นว่า ดูสิบานหอมอยู่วันเดียว ก็ไม่หอมแล้ว… สีหน้าและน้ำเสียงที่เคยเปี่ยมสุขตอนเก็บดอกบานมาใส่แจกัน หุบลงอย่างผิดหวัง

     ฟังแล้วยิ้ม… โห พี่สาวเราจะให้ดอกมะลิบานตลอดกาลนานไม่โรยราเลยหรือ จะเป็นไปได้อย่างไรกันล่ะ

     คิดไปยิ้มไป เกิดแล้ว ก็ตั้งอยู่ชั่วครู่หนี่ง และในที่สุดก็ต้อง ดับไปตามเหตุปัจจัย มิใช่หรือ? อะไรจะคงทนอยู่ตลอดไปเล่า

 

        หลวงปู่ชา  สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง กล่าวไว้ในเรื่อง “สองหน้าของสัจธรรม” ว่า…

“คนเราไม่รู้จักคิดย้อนหน้าย้อนหลัง เห็นแต่หน้าเดียวไปเลย จึงไม่จบสักที ทุกอย่างมันก็ต้องมีสองหน้า มีความสุขเกิดขึ้นมาก็อย่าลืมทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นมาก็อย่าลืมสุข มันเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน”

 

ธรรมชาติสอนใจ แสดงสัจธรรมให้เราประจักษ์อยู่ทุกวี่วัน…

 

      วันนี้ดอกมะลิที่เคยบานส่งกลิ่นหอมอบอวลกลับแห้งหายหอม วันพรุ่งนี้ก็จะมีดอกใหม่บานขึ้นมาอีก แทนดอกเก่าที่โรยราไปเสมอ



Main: 0.036938190460205 sec
Sidebar: 0.037890911102295 sec