โลก-ปรองดอง
โลก …. อังคาร กัลยาณพงศ์ |
|
|
|
๏ โลกนี้มิอยู่ด้วย |
มณี เดียวนา |
ทรายและสิ่งอื่นมี |
ส่วนสร้าง |
ปวงธาตุต่ำกลางดี |
ดุลยภาพ |
ภาคจักรพาลมิร้าง |
เพราะน้ำ แรงไหน ฯ |
|
|
๏ ภพนี้มิใช่หล้า |
หงส์ทอง เดียวเลย |
กาก็เจ้าของครอง |
ชีพด้วย |
เมาสมมุติจองหอง |
หินชาติ |
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย |
หมดสิ้น สุขศานต์ ฯ |
|
|
โคลงบทนี้ โดนใจจริง ๆ …
อันเนื่องมาจากการไปพักอาศัยในศีรษะอโศก ชุมชนพึ่งตนเอง เป็นชุมชนของคนกินอาหารมังสวิรัติ กินทุกอย่างที่ตนเองปลูก ปลูกทุกอย่างที่ตนเองกิน ชาวอโศกยึดมั่นในคำของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า
“อาหารเป็นหนึ่งในโลก”
ดังนั้นอาหารหลักของชาวอโศกคือ พืช ผัก ผลไม้ และเขาเหล่านั้น คิดว่าต้องสร้างอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคเอง
ชาวอโศกปลูกพืชผักผลไม้ โดยไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีทุกประเภท แต่ผลิตปุ๋ยชีวภาพขึ้นใช้เอง มีการพัฒนาปรับปรุงสูตรปุ๋ยต่าง ๆ ที่ปลอดภัยและใช้ได้ผลดี เมื่อเหลือจากการใช้ภายในชุมชนแล้ว จึงจะแจกจ่าย และขายในราคาต่ำเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ
ครูแก่นฟ้า แสนเมืองเล่าว่า แรก ๆ มุ่งพัฒนาปรับปรุงปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพก็เพื่อนำมาใช้กับพืชผักผลไม้ที่ต้องกินต้องใช้ ต่อมาคนเข้ามาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ต่าง ๆ สนใจจึงแบ่งปันไปให้ใช้ หลัง ๆ มีกลุ่มเกษตรกรสนใจมากขึ้น จึงสอนและเผยแพร่ความรู้ด้านกสิกรรมไร้สารพิษ เน้นให้ลดการใช้สารเคมี เพื่อคุณภาพของผักผลไม้และสุขภาพของเกษตรกรเอง รวมทั้งยังช่วยลดรายจ่ายจากการต้องซื้อปุ๋ยเคมีจากบรรษัทยักษ์ใหญ่อีกด้วย
แต่…สิ่งซึ่งคนต่างถิ่น เช่นตัวเองต้องเผชิญและสู้รบตบมือด้วยก็คือ แมลงต่าง ๆ ทั้งแมลงวัน แมลงหวี่ แมลงหางแข็ง มด ยุงที่อุดมสมบูรณ์มากมาย เพราะเป็นชุมชนที่ไม่ได้ใช้สารเคมีใด ๆ เลยนี่เอง
วันแรกที่ไปเกือบแย่…เพราะโดนแมลงตอมเสียจนนั่งไม่ติด (สงสัยผิดกลิ่น) พอย่ำเย็นยุงก็ออกมาเป็นกองทัพ ปวารณาตัวรับศีลห้า มีข้อปาณาติบาต ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อูย…ตบยุงก็ไม่ได้ จะไหวมั๊ยนี่เรา…
จัดการหายากันยุงและแมลงสูตรตะไคร้ทาตัว ค่อยทุเลาไปบ้าง สังเกตดูแมลงต่าง ๆ ไปตอมกลุ่มคนที่มาใหม่ … ฮา ๆ (คงเริ่มชินกับกลิ่นเรา คนมาใหม่ก็ผิดกลิ่นอีก)
ลองคุย(แกมบ่นเล็ก ๆ) กับครูภูมิปัญญาไทย ครูขวัญดิน สิงห์คำ ว่าทำไมมด แมลงต่าง ๆ มากมายจัง อ่านหนังสือไม่ได้เลย…
ครูขวัญดิน หัวเราะท่องโคลงท่อนหนึ่งให้ฟังว่า…
ภพนี้มิใช่หล้า |
หงส์ทอง เดียวเลย |
กาก็เจ้าของครอง |
ชีพด้วย |
ฟังแล้วอึ้งไปนิดหนึ่ง ครูบอกต่อว่า นกหนู มดแมลงก็เป็นเจ้าของโลกนี้เช่นเดียวกับเรา เพียงแต่เราอยู่ได้นานกว่าเขา เขาอยู่เพียงไม่กี่เดือนกี่วัน เราเองก็ควรปรับตัวให้เข้ากับเขา ยอมรับเขาด้วย ต้องปรองดองอยู่ร่วมกันอย่างไม่เบียดเบียนกัน จะได้มีความสุขกันถ้วนหน้า
จริงด้วยสินะ…โลกนี้เป็นสมบัติของสรรพสิ่ง เรามิใช่เจ้าของโลกแต่เผ่าพันธุ์เดียวเสียหน่อยเลย ทั้งพืชพันธุ์ไม้ สัตว์เล็กสัตว์น้อย และมนุษย์ ก็ล้วนเป็นเจ้าของและเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายกับเราด้วยกันทั้งนั้น
1234
ดีใจที่วันต่อ ๆ มา แมลงและยุงเริ่มเป็นมิตรกับเรา…
ไม่ค่อยมาไต่ตอมรบกวนอีกแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อย
1234
Next : โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ » »
2 ความคิดเห็น
แนวคิด “ดอกไม้หลากสี” ของพ่อกันยา แห่งกุดบาก ก็สอดคล้องกับโคลงข้างต้นครับ
ท่านว่า คนเราหลายคนก็หลายแบบ เพียงแต่เราต้องรู้จักนำเอาส่วนดีของแต่ละคนมาใช้เจือจุนกัน
เปรียบดั่งการร้อยมาลัยดอกไม้ไหว้พระ
หากไม่สอดสีเขียวของใบแพงพวยสลับ หากไม่ห้อยปลายด้วยตุ้มดอกรัก มีแต่กลีบกุลาบอย่างเดียวก็ไม่สมบูรณ์
ผมเองก็ยึดแนวทาง อโศก ในเรื่องเกษตรอินทรีย์ และอาศัยไปกินเจร้านชาวอโศกบ่อยๆครับ
“ดอกไม้หลากสี” เป็นแนวคิดที่น่ายกย่องอย่างยิ่งค่ะ
หากโลกนี้มีแต่ดอกกุหลาบหรือดอกไม้ชนิดใดชนิดเดียว แม้จะงดงามปานใด … ก็คงจืดเจื่อนไป เพราะขาดความหลากลายแตกต่าง
คนก็เช่นกัน…ต่างคิดต่างทำต่างเป้าหมาย คงไม่ได้หมายถึงใครผิด-ถูก ดี-เลว
ระยะหลังไม่มีโอกาสไปเยือน กุดบาก เลยค่ะ รู้จักแต่พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว ซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาไทย ค่ะ
พ่อกันยาคงเป็น ผู้นำรุ่นต่อมา…
ร้านอาหารของอโศกเป็นร้านอาหารคุณภาพ เนื่องจากผักผลไม้ และเครื่องปรุงต่าง ๆ ล้วนแต่ปลอดสารเคมีและผลิตกันเองในชุมชน แม้ร้านจะไม่หรูหรา จานชามไม่ประณีต แต่น้ำใสใจจริงทำให้อาหารอร่อยขึ้นมากมาย… จริงไหมคะ
ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนค่ะ