สัมผัส “อโศก”
1234
มีโอกาสได้สัมผัสกับ “ชาวอโศก” เป็นเวลา 5 วันเต็ม (16-20 กค.53)
ที่ชุมชนศีรษะอโศก อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นการลงไปสำรวจพื้นที่ซึ่งจะใช้เก็บข้อมูลในงานดุษฎีนิพนธ์ของตัวเอง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้เดินทางไปชุมชนนี้ เคยได้ไปเยี่ยม (แบบผ่าน ๆ ไม่ได้ค้างคืน) 3 ครั้ง เป็นการไปในฐานะกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการ ฯ ทำหน้าที่ประเมินผู้สมควรได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทยจากสำนักงาน ฯ และลงไปติดตามประเมินผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำนักงาน ฯ สนับสนุนงบประมาณให้ครูภูมิปัญญาไทย (จำนวนหนึ่ง)
ครูภูมิปัญญาไทยท่านหนึ่งในลานปัญญา คือ พ่อครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 ด้านเกษตรกรรม ค่ะ
ความรู้สึกครั้งนี้ไม่แตกต่างกับครั้งก่อน ๆ นัก เนื่องจากคุ้นเคยและมีความชื่นชมในตัวครูภูมิปัญญาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม…
1234
จะว่าไปแล้วโดยส่วนตัวมีความชื่นชมและเคารพยกย่อง “ปราชญ์ชาวบ้าน” ทุกท่าน แต่ละท่านที่ได้สัมผัส มีคุณสมบัติ ทั้งความดี ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความเสียสละ และความชำนาญในภูมิปัญญาไทยด้านต่าง ๆ มากน้อยหลากหลายแตกต่างกันไป แม้ปราชญ์หลายท่านจะไม่ได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูภูมิปัญญาไทย” ก็ตามที
สำหรับชุมชนศีรษะอโศก มีผู้นำเสนอข้อมูลไว้แล้วจำนวนมาก (จึงไม่กล่าวถึงในบันทึกนี้) และมีครูภูมิปัญญาไทย 2 ท่านคือ ครูแก่นฟ้า แสนเมือง และครูขวัญดิน สิงห์คำ ผู้นำฝ่ายฆราวาสของชุมชนศีรษะอโศก ซึ่งทั้งสองท่านเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3
การไปสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ มีผลพลอยได้คือ ได้เข้าไปร่วมใน “โครงการฟื้นฟูสุขภาพ” ซึ่งเป็นโครงการที่ครู ฯ ทั้งสองท่านจัดให้เป็นบริการสังคม โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ยกเว้นอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวบางชนิดที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องจัดการหาซื้อเอง
ครั้งแรกเพียงตั้งใจไปสำรวจและทำความคุ้นเคย(Rapport) กับพื้นที่/กรณีศึกษา และใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participant observation) ซึ่งเป็นวิธีการในการเก็บข้อมูลบางส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพ แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ประกอบกับมีความสนใจเป็นส่วนตัวด้านการดูแลสุขภาพตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งได้ศึกษาด้วยตนเองมาระยะหนึ่งแล้ว จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูสุขภาพด้งกล่าว (จะบันทึกถึงโครงการฟื้นฟู ฯ ภายหลัง) ซึ่งหากไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ฯ นี้ คงน่าเสียดายมาก ๆ
บันทึกนี้เกิดขึ้น เนื่องจากความประทับใจในวิถีของ “ชาวอโศก” หลาย ๆ คนที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกัน ชาวอโศกเป็นผู้ที่กินน้อย นอนน้อย ทำงานมาก และใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง แม้สมณะชาวอโศกจะเคยมีประวัติของการแตกแยกด้านแนวคิด ความเชื่อและวัตรปฏิบัติ จนแยกตัวออกมาจากมหาเถรสมาคม อันเป็นสถาบันหลักทางศาสนาของชาติ
ความแตกต่าง คงไม่ใช่สาเหตุหลักของ “การแยกตัว” (ประเด็นนี้จะไม่กล่าวถึงในบันทึกนี้) สำหรับสิ่งที่ได้สัมผัสสัมพันธ์ด้วยตนเองนั้น ต้องยอมรับว่าชื่นชมและประทับใจจนเกรงว่าจะเกิด “อคติ” ในการเก็บข้อมูล ส่งผลต่อคุณภาพของผลการวิจัย ซึ่งต้องระวังอย่างยิ่งในเรื่องของการตีความ/แปลความข้อมูลที่ได้มา…
1234
ปิดท้ายบันทึกนี้ ด้วยข้อความใน Field note (บันทึกภาคสนาม) ของตัวเองที่ว่า
“…แม้เสื้อผ้าที่สวมใส่จะเป็นสีน้ำเงินหม่นมัวไม่สดใส เก่าๆ ปอนๆ แต่…ความสุกใสสะอาดจาก “ภายในใจ” ของชาวอโศกเหล่านี้ เปล่งประกายงดงามกระจ่างตากระจ่างใจจริง ๆ…”
1345
รอยยิ้มจากใจของพี่ ๆ ชาวราชธานีอโศกที่อายุกว่า 50 ปีแล้ว
///
น้อมคารวะคุณครูภูมิปัญญาไทยทุกท่านค่ะ
1234
« « Prev : มาเพิ่ม “กำลังใจ” กันเถอะ
3 ความคิดเห็น
คนที่บ้านก็เคยไปศึกษามาบ้างมาเล่าให้ฟังอยู่ ตัวเองก็เคยใกล้ชิดบ้าง
ชื่นชม และคิดว่า “อโศก” คือระบบ ธรรมคอมมูน ในรูปแบบปัจจุบันที่พึ่งตัวเองได้ คล้ายๆ คิบบุช และโมชาร์ปของอิสราเอล
และเป็นรูปแแบบหนึ่งของการอยู่รอดที่พึงประสงค์
กรณีนี้เห็นชัดเจนว่า การเดิน การเคลื่อนตัวไปของชุมชนอโศกนั้นมีแก่นแกนที่หลักธรรมและการปฏิบัติจริงจัง เคร่งครัด โดยมีศรัทธาเป็นเนื้อในที่เชื่อมอยู่..
ขอบคุณพี่บางทรายค่ะ พี่สรุปไว้ได้ชัดเจนและเป็นประโยชน์มากค่ะ
กรณีของชาวอโศก มีงานวิจัยหลายชิ้นที่นำไปเทียบเคียงกับชุมชน/คอมมูนคิบบุชและโมชาร์ปของอิสราเอลค่ะ เพียงแต่จุดเริ่มต้น กระบวนการ และผู้นำต่างกัน…
น้องเคยได้ทุนไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาสตรี ที่อิสราเอลเกือบ 3 เดือน หากจำไม่ผิดน่าจะช่วงปี 2544 เสียดายที่ตอนนั้นไม่ได้สนใจจริงจังกับรายละเอียดของคิปบุชและโมชาร์ป แม้จะได้เข้าไปดูงานในโมชาร์ปหลายแห่งก็ตาม
จากคอมเม้นท์ของพี่ ทำให้คิดว่าน่าจะไปค้นหาข้อมูลมาเพื่อเทียบเคียงและอธิบายในงานวิจัยของตัวเองค่ะ
ขอบคุณพี่มาก ๆ อีกครั้งค่ะ
[...] สัมผัสอโศก ได้เล่าไว้ถึง โครงการฟื้นฟูสุขภาพ [...]