บทส่งท้าย…ควันหลง..

ไม่มีความคิดเห็น โดย ป้าหวาน เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2009 เวลา 14:05 ในหมวดหมู่ ความรู้เพื่อประชาชน, ด้านสุขภาพ #
อ่าน: 2153

มาตอบเรื่อง ข้อสรุปนะคะ

น่าเสียดายที่เวลามีน้อย หรือพูดอีกอย่างเรื่องราวมีมากกว่าเวลา
ที่ประชุมเริ่มประชุมประมาณบ่ายโมง เพราะประชุมมาจาก
รพ.น้ำพอง ช่วงเช้า แล้วค่ะ
เริ่มประชุมไม่นาน พนักงานโรงแรมต้องเอาเก้าอี้มาเสริม หลายรอบ หลายแถว
พูดกันตลอด ไม่มีเบรค ไม่มีใครออกไปพัก ประชุมกันจน 17.30 น.จึงจบการประชุม
มีเรื่องราว และผู้คนมากจริงๆ

สำหรับท่านที่มาเสนอตัวอย่าง เช่น
รพ.สมเด็จพระยุพราขด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย (นพ.ภักดี สืบนุการณ์ )
อบต.ที่จังหวัดยโสธร (กองทุน รพ. 2 บาท)
สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ( นพ.วุฒิไกร มุ่งหมาย )
เจ้าอาวาสวัดคำประมง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร (พระภิกษุปพนพชร จิรธัมโม)
รพ.ศูนย์ขอนแก่น (นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ )
รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (นพ.ภิเศก ลุมภิกานนท์)
รพ.อุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ ขอนแก่น (นพ.อภิสิทธิ์ พญ. ทานทิพย์ ธำรงวรางกูร)

แต่ละท่านถูกขอให้พูดสั้นๆ แต่กระนั้นเวลาก็ยังไม่เพียงพอค่ะ
แต่ละเรื่องที่แต่ละท่านได้หยิบยกมาเสนอนั้น มีเนื้อหาสาระมาก มีประโยชน์มาก
(ท่านที่สนใจอาจติดตามค้นหาทางอินเตอร์เนตเพิ่มเติม
โครงการแต่ละโครงการมีรายละเอียดอีกมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยค่ะ )
จึงใช้เวลาจนเกือบ 17.00 น.

การสรุปจึงมีเพียงสั้นๆค่ะ
ท่านปลัดกระทรวง ได้กล่าวสรุป และกล่าวเกี่ยวกับงานที่ท่านดูแลว่า
ท่านสนใจและพยายามจะส่งเสริมสนับสนุน และ
คงต้องดำเนินการกันเป็นลำดับต่อๆไป ทางด้านกฎระเบียบต่างๆก็จะเร่งดูแล
ท่าน นพ.มงคล ณ.สงขลา ประธานโครงการฯได้กล่าวว่า
ปัญหาในการสาธารณสุขนั้น มีความแตกต่างกันอยู่ในแต่ละภาค แต่ละพื้นที่
การแก้ปัญหาก็ย่อมจะแตกต่างกันด้วย ก็จะเร่งดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริมกันต่อไป

คงสรุปได้สั้นๆเพียงเท่านี้ค่ะ เรื่องสำคัญๆกระทรวงคงไม่สามารถสรุปในเวลาสั้นๆได้

จะมีการประชุมกันอีกค่ะ ความคืบหน้าคงปรากฎในการประชุมครั้งต่อไปค่ะ


ควันหลงจากงาน:ขับเคลื่อนแผนแม่บทกำลังพลด้านสุขภาพการสร้างสุขภาวะภาคอีสาน (ต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น โดย ป้าหวาน เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 เวลา 5:25 ในหมวดหมู่ ความรู้เพื่อประชาชน, ด้านสุขภาพ #
อ่าน: 1493

มาถ่ายทอดต่ออีกนิดหน่อยนะคะ

การเข้าถึงชุมชน ชาวบ้าน ขอถ่ายทอดย่อๆ 2ตัวอย่างค่ะ

ท่านผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ท่านได้เล่าว่า
เมื่อท่านมาทำหน้าที่ใหม่ๆ ท่านทำงานอยู่แต่ในโรงพยาบาล
และท่านก็ได้พบคนไข้ ได้ตรวจ ได้รักษา ท่านเข้าใจว่าได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว
จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านได้คุยกับคนไข้ คุยไปมา ท่านได้ชวนคนไข้ว่า
วันหลังมาคุยกันใหม่ คนไข้บอกว่าไม่ได้มาหรอก มาไม่ได้
แต่ถ้าท่านว่างก็ไปคุยกับเขาที่บ้านได้ และเมื่อท่านออกมานอก รพ.
ได้พบแม่ค้า ได้คุยกับชาวบ้าน ท่านจึงได้ทราบว่า ผู้คนที่ท่านได้พบใน รพ.
นั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ยังมีชาวบ้านอีกมากที่ต้องการการดูแล รักษา
แต่ไม่ได้ไป รพ. ยึ่งได้เรียนรู้ ท่านยิ่งได้พบความยากลำบากของคนไข้ ปัญหาของชาวบ้าน
ท่านจึงได้พบว่า ควรมีการออกมาดูแลในชุมชนด้วย การให้คำแนะนำ
ให้การปรึกษา ให้การรักษาเบื้องต้น การติดตามการรักษา ไม่จำต้องทำที่ รพ.
จากนั้นท่านก็ส่งทีมออกมาเรียนรู้ กลับไปฝึกปฏิบัติ และออกมาให้การดูแลชาวบ้าน
ในที่สุด บุคคลากรใน รพ.ก็ร่วมกันปฎิบัติในแนวทางสู่ชุมชนด้วย
สิ่งที่ท่านทำนั้น หลายๆรพ.ก็อาจทำอยู่แล้ว แต่ที่นำมาเล่าคือ
เล่าถึงแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่น การปรับเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ เริ่มต้นที่ใจ
และนำมาปฎิบัติจริง แล้วขยายต่อ

ท่านผอ.รพ อุบลรัตน์ ก็มีงานประสานกับชาวบ้าน ผสมผสานทั้งทาง
การเกษตร สมุนไพร ภูมิปัญญาชาวบ้าน จากคำพูดติดตลกของท่านว่า
“กลายเป็นเรื่องกล้วยๆ” คือท่านใช้การปลูกกล้วยแก้ปัญหาจริงๆ
ป้าหวานสนใจ ก็เลยไปค้นดูในอินเตอร์เนต พบโครงการของท่านอีกมากมาย

ยังมีอีกหลายท่านที่เป็นตัวอย่าง น่ายกย่องอีกหลาย รพ. ที่ไม่สามารถนำมาถ่ายทอดได้หมด
ในที่นี้ จึงขออภัยในความไม่สมบูรณ์ไว้ด้วยค่ะ

การเรียนรู้ที่ดี คือ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ

ท่าน นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ดี คือ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ
อย่างเช่น การเดิน เราอยากเดินเป็น ต้องไปหัดเดิน ไม่ใช่เรียนรู้ว่า กล้ามเนื้อชิ้นไหนบ้าง
กี่ชิ้นที่ใช้ในการเดิน กระดูกกี่ข้อ ข้อไหนบ้าง
ประทับใจป้าหวานและอ.ดร.แสวงมากๆค่ะ ดร.แสวงได้ยกตัวอย่างเช่นกันว่า
การทำนา ต้องเรียนรู้ของจริงด้วย ไม่ใช่เรียนแต่ในตำรา
การถ่ายทอดนี้หวังจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง
อาจมีการพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่อๆไปค่ะ

ขอจบการถ่ายทอดเท่านี้นะคะ
Everything has its beauty but not everyone sees it.
ช่องว่างระหว่างอุดมคติกับความจริงก็มีสิ่งให้ต้องเรียนรู้อยู่มากมาย
พยายามคิดถึงตอนจบที่มีความสุขเข้าไว้…
สองบรรทัดสุดท้าย ขอยืมมาจาก ลานเวลา ค่ะ ขอบคุณค่ะ


ควันหลงจากงาน:ขับเคลื่อนแผนแม่บทกำลังพลด้านสุขภาพการสร้างสุขภาวะภาคอีสาน (ต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น โดย ป้าหวาน เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2009 เวลา 18:35 ในหมวดหมู่ ความรู้เพื่อประชาชน, ด้านสุขภาพ #
อ่าน: 1659

ความต้องการพยาบาลชุมชน และแนวทางการผลิต

เนื่องจากเสียงจาก รพ.ต่างๆ ต่างต้องการพยาบาลเพิ่มขึ้น
เดิมทีการผลิตและการกระจายของพยาบาล มีส่วนกลางได้พยายามผลิต
และส่งไปตามพื้นที่ต่างๆ แต่ก็ยังไม่พอเพียง อาจเกิดจากการย้าย หรือ
บางส่วนเข้าไปอยู่ในภาคเอกชน บางส่วนเลือกท้องถิ่นที่ต้องการอยู่เป็นต้น
การกระจายจึงไม่เป็นไปตามแผนการผลิต

การผลิตเพิ่ม และความต้องการ ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ ตำแหน่ง
เกี่ยวกับ กระบวนการผลิตที่จะต้องเพิ่มผู้สอน เพิ่มต้นทุน เพิ่มอุปกรณ์ เพิ่มสถานที่
และ เพิ่มงบการเงินส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ทั้งระเบียบราชการต่างๆอีกด้วย

จากการประสานความร่วมมือ ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งแพทย์
ทั้งพยาบาล ทั้งสถาบันการศึกษา ทั้งสำนักงานสาธารณสุข
และทั้งชุมชนเจ้าของพื้นที่ ได้มีการประสานงานร่วมมือ ร่วมใจกันแก้ป้ญหาดังกล่าว

ฝ่ายชุมชนต้องการอะไร ต้องการพยาบาลชุมชน คนบริบาล
เพื่อแบ่งเบาภาระแพทย์และพยาบาลที่ รพ.และเพื่อสุขภาพของชุมชน
ทาง รพ.ตระหนัก ถึงปัญหานี้ และเกิดการศึกษาว่า ชุมชนต้อง
พึ่งพาชุมชนเอง ดังที่ผอ.รพ.น้ำพองได้กล่าวว่า เราต้องการส่งคนดี
ในชุมชนไปเรียน ให้กลับมาเป็นคนเก่ง และ
มาพัฒนาท้องถิ่นของตนด้วยความผูกพันทางใจ เต็มใจ

รพ.อื่นๆก็เช่นเดียวกัน

แพทย์ผู้บริหารแต่ละท่านมีความสามารถอย่างยิ่ง ท่านได้คำนวณ
แผนการผลิตที่เยี่ยมยอด ต้องการกี่คน ใช้เวลาผลิตนานเท่าไร
ต้องใช้ต้นทุนเท่าไร มีข้อจำกัดที่จุดใดบ้าง

ฝ่ายสภาการพยาบาลและ สาธารณสุขจังหวัดซึ่งต้องดูแลเรื่องการผลิต
ก็ได้ร่วมมือร่วมใจช่วยกันไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัด ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ จนลุล่วง
ผลิตพยาบาลที่มีคุณภาพออกมาตามความต้องการของชุมชนจนได้

ตัวอย่าง เทคนิคของท่านผอ.รพ. ต่างๆเช่น หาทุนโดยบางรพ.มีทุนเพียงพอ
แต่ท่านมีวิธีบริหารให้คุ้มทุนอย่างน่าทึ่ง  บางรพ. ท่านได้รับการสนับสนุนจากชุมชน
จัดตั้งกองทุนโดยชาวบ้านร่วมกันลงขัน คนละสองบาทต่อเดือน เป็นต้น
และบางรพ. ก็ได้ใช้การเกษตรเข้ามาช่วย เช่น ผอ.รพ.อุบลรัตน์
ได้คำนวณแล้ว สนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกกล้วย และกลุ่มที่ต้องการรับทุน
จะนำกล้วยนั้นไปขาย ต้นทุนให้คนปลูก หวีละ 5บาท กำไรให้คนขาย หวีละ 5 บาท
ตลาดคือรพ. ชุมชน และเครือข่าย รายได้ต่อเดือนก็สามารถนำมาเป็นทุนส่งพยาบาลเรียนได้
คุณหมอประเวศได้กล่าวว่า ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ไม่ต้องรองบประมาณของราชการ
เพียงอย่างเดียว ขณะนี้มีพยาบาลชุมชน ได้สำเร็จโดยการผลิตจากชุมชน มาแล้วค่ะ

นอกจากพยาบาลชุมชน ก็มีทันตาภิบาลด้วยนะคะ

ขอชื่นชมและยกย่องทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องค่ะ
ถ้าบทความนี้ขาดตกบกพร่อง ประการใดขออภัยเป็นอย่างสูงค่ะ


ควันหลงจากงาน:ขับเคลื่อนแผนแม่บทกำลังพลด้านสุขภาพการสร้างสุขภาวะภาคอีสาน

ไม่มีความคิดเห็น โดย ป้าหวาน เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2009 เวลา 16:02 ในหมวดหมู่ ความรู้เพื่อประชาชน, ด้านสุขภาพ #
อ่าน: 2647

19 พ.ย.ที่โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส พร้อมด้วยคณะกรรมการกำลังพลด้านสุขภาพแห่งชาติ (สช.)เปิดเวทีจุดประกาย “ขับเคลื่อนแผนแม่บทกำลังพลด้านสุขภาพการสร้างสุขภาวะภาคอีสาน” โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมงานด้วยกัน เพื่อจัดทำแผนแม่บทกำลังคนด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับประชากรใน 19 จังหวัดภาคอีสาน โดยมีบุคลากรทางด้านสาธารณสุข 19 จังหวัดอีสานเข้าร่วม

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณะสุข กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอีสานเผชิญปัญหาการขาดแคลน แพทย์ พยาบาล มากที่สุด โดยทั่วทั้งภาคมีแพทย์ 4,028 คน ขณะที่ภาคกลางและ กทม.มีแพทย์รวม 12,422 คน เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว สัดส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากรของภาคอีสานสูงกว่าประมาณ 8 เท่า ขณะที่สัดส่วนของพยาบาล 1 คนต่อประชากรก็สูงกว่าประมาณ 3-4 เท่าเช่นกัน

ขอขอบคุณภาพและข่าว และโปรดอ่านรายละเอียด จาก:
http://76.nationchannel.com/playvideo.php?id=66042

เก็บตกควันหลงมาเล่าสู่กันฟังค่ะ ขอเล่าย่อๆในแต่ละตอนที่ประทับใจผู้เขียนนะคะ

จากที่ทราบกันดีว่า แพทย์และบุคคลากรไม่พียงพอ การบริการที่โรงพยาบาลแน่นขนัด
เดิมทีเราหลงทาง ฝากความหวังเรื่องสุขภาพดี ไว้กับแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้น
เหมือนตั้งความหวังไว้บนยอด แต่ไม่ได้คิดถึงฐานราก ( นพ.ประเวศ วะสี )

ปัจจุบันเราได้เรียนรุ้และระดมความรู้ความสามารถ การศึกษา การวิจัย มากมาย
เราได้ทราบว่า เราต้องเรียนรู้จากพื้นที่ วางแผนจากพื้นที่
ว่าพื้นที่มีความต้องการอย่างไร มีปัญหาอย่างไร ขาดอะไร
ไม่ใช่ใช้ส่วนกลางเป็นตัวตั้ง หรือ ใช้วิชาชีพเป็นตัวตั้ง

จาก การศึกษาของแพทย์ผู้บริหาร รพ.หลายๆท่าน ท่านพบว่า
ความต้องการของชุมชนนั้นมีหลายระดับ และปัญหานั้นก็มีหลายระดับ
แต่ส่วนหนึ่งที่ชัดเจนคือ ขุมชนต้องการการดูแลที่มีความรู้ มีคุณภาพ
และประหยัด ทั้งเงินและเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คำตอบไม่ได้อยู่ที่แพทย์
หรือ รพ.เพียงอย่างเดียว พบว่าเมื่อการแก้ไขเบื้องต้นยังขาดแคลน
การรับบริการจึงมากระจุกตัวอยู่ที่ รพ.และมีอาการมากแล้วจึงมา
การแก้ไขส่วนหนึ่งจึงมุ่งไปที่การให้การดูแลชุมชน ในพื้นที่ ถึงที่บ้าน ที่ชุมชน
พบว่ามีประชาชนที่ต้องการการดูแลที่ไม่ซับซ้อนจำนวนมาก แพทย์ผู้ใส่ใจจึงทราบว่า

หนทางหนึ่งคือ ไปเรียนรู้จากภูมิปัญญาของชาวบ้านหรือจากปราชญ์
ซึ่งคนกลุ่มนี้อาศัยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ
ใช้ระบบสุขภาพของประชาชน ทำให้เกิดมีความสุข
มีสุขภาวะดีทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา
ทำให้อัตราการตาย อัตราการป่วยน้อยลง อัตราที่จะต้องมาโรงพยาบาลน้อยลง
( รพ.อุบลรัตน์ ขอนแก่น )

อีกหนทางหนึ่งคือ ส่งคนเข้าไปในพื้นที่ คนที่เข้าไปนี้สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง
ให้คำแนะนำ ดูแลรักษาเบื้องต้น ติดตามการรักษา
ให้บริการที่ไม่ซับซ้อน ที่ไม่จำเป็นต้องไป รพ.
บุคคลากรที่เหมาะสมนี้คือ พยาบาลชุมชน และ คนบริบาล

แนวทางนี้ส่งผลพัฒนาทั้งชุมชนและพัฒนาการวางแผนงานการสาธารณสุขด้วย
โปรดติดตามต่อค่ะ…



Main: 0.086784839630127 sec
Sidebar: 0.061359167098999 sec