ผมเริ่มตั้งสมมุติฐานอย่างหนึ่งว่าคนไทยมองความถูกผิดในลักษณะที่แตกต่างจากชาวตะวันตก แน่นอนว่าจริงๆ แล้วมันจะต้องต่างกันอยู่แล้วเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่ประเด็นตรงนี้คือคนไทย (สำรวจจากตัวเองด้วย) มองความถูกผิดเป็นเรื่องสัมพัทธ์เอามากๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมแปลกๆ หลายอย่าง อย่างสำนวนที่ว่า “เกลียดตัวกินไข่” “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” “เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” หรือ นิทานที่แม่ปูสอนลูกปูให้เดินตรงๆ เป็นต้น
ต้องออกตัวบ่อยๆ ว่าที่เอาเรื่องพวกนี้มาคิดมาคุยกันทั้งที่เป็นเรื่องน่าเบื่อก็เพื่อที่จะทำความเข้าใจตัวเอง และปัญหาของทีมงานในบริษัท และการที่หัวข้อเป็นเรื่องนิสัยคนไทยเพราะว่ากำลังทำความเข้าใจปัญหาสากลของคนไทยที่ไม่ใช่ปัญหาสากลของชาวตะวันตก เพื่อใช้ในการปรับปรุงตัวเองและคนใกล้ตัว ไม่ใช่เป็นการมองว่าฝรั่งดีกว่าหรือแย่กว่าคนไทย แต่เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงข้อดีของคนไทย หรือข้อเสียของฝรั่ง ที่มีประโยชน์กว่าคือการเข้าใจข้อเสียของตนเอง และข้อดีของผู้อื่น
ความถูกผิดสำหรับคนไทยเป็นเรื่องสัมพัทธ์
ผมเข้าใจว่าเราทุกคนเข้าใจกันดีว่าอะไรถูกอะไรผิด มันไม่น่าแปลกใจว่าที่เห็นคนไม่มีจริยธรรมทำผิด เพราะเขาปฏิเสธจริยธรรมไปเลย แต่ที่น่าแปลกคือพวกเราที่เป็นคนดีตามสมควรกลับสามารถทำสิ่งที่ผิดได้อย่างหน้าตาเฉย แถมกลับรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ทำอย่างนั้นเสียด้วย ลองนึกดูเหตุผลเลยเริ่มเข้าใจว่า ความถูกผิดในบางระดับ สำหรับคนไทยแล้วเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับบริบทหลายอย่าง
ถ้าไม่มีใครรู้ ความถูกผิดไม่สำคัญ
คนไทยไม่กลัวกฎหมาย แต่คนไทยกลัวตำรวจ บางทีทั้งๆ ที่ทำถูกกฎหมายก็ยังกลัวตำรวจอยู่ดีเพราะเป็นนิสัย พวกเรารู้ว่าที่ถูกควรจะข้ามสะพานลอยเสมอถ้ามีอยู่ใกล้ๆ แต่ถ้าหากว่าไม่มีใครรับรู้ว่าเราทำอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ถูกก็ได้ เช่นถ้าไม่มีตำรวจ ก็แปลว่าวิ่งข้ามถนนได้ แต่หากวันไหนเดินไปกับลูก หรือแฟนที่เพิ่งคบกัน วันนั้นก็อาจจะต้องทำดีเป็นพิเศษด้วยการพาเขาข้ามสะพานลอย
อีกตัวอย่างที่น่ารักมากคือการฝ่าไฟแดงในเวลาที่ถนนว่าง ผมเคยเจอคนไทยที่บ่นว่าไม่เข้าใจว่าคนขับรถฝ่าไฟแดงกันได้ยังไง เพราะถึงแม้จะทำได้อย่างปลอดภัย อย่างไรมันก็ผิด กรณีนี้ทำให้ผมเข้าใจว่า คนไทยบางคนก็มีความรู้สึกว่าความถูกผิดเป็นเรื่องสากลอยู่เหมือนกัน แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นคนส่วนน้อยหรือเปล่า หลายคนที่ผมรู้จักจะไม่ขับรถฝ่าไฟแดงเวลาอยู่ในกรุงเทพฯ (เพราะจับจริง) แต่เวลาขับในต่างจังหวัดกลับทำเป็นมองไม่เห็นเวลาที่ไฟเพิ่งจะแดงไปได้ไม่นาน บางคนเรียกมันว่า “ไฟชมพู” ซึ่งแปลว่ายังไปได้อยู่ตราบใดที่ยังไม่มีรถ พี่ชายผมเพิ่งซื้อ GPS ติดรถรุ่นใหม่มาพร้อมฟีเจอร์จะเตือนว่าไฟแดงไหนในกรุงเทพฯ ที่มีกล้องวงจรปิด แสดงว่าคนกรุงเทพฯ เองก็ชอบฝ่าไฟแดงเหมือนกัน ถ้าทำได้โดยไม่ถูกจับ
พวกพ้อง ถูกเสมอ
ความถูกผิดของพวกเรายังขึ้นกับว่า ประเด็นนั้นเป็นของคนใกล้ตัวหรือคนอื่น เช่น สมมุติว่าเราไปกินข้าว แล้วโต๊ะข้างๆ ส่งเสียงดัง เพื่อนของเราเดินไปต่อว่าจนทะเลาะกัน แล้วเพื่อนเราไปทำร้ายร่างกายเขาจนเกิดการต่อสู้ มีแนวโน้มมากที่เราจะเข้าข้างเพื่อนเรา โดยให้เหตุผลว่าโต๊ะนั้นส่งเสียงดังทำให้เกิดเรื่อง ทั้งที่ความจริงแล้วเพื่อนของเราต่างหากที่ไปทำร้ายร่างกายเขาก่อน ในทางตรงข้าม ถ้าเรานั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง เรื่องราวและเหตุผลก็จะกลายเป็นอีกแบบ เช่น กินข้าวอยู่ดีๆ อีกโต๊ะหนึ่งก็เดินมาทำร้ายโดยไม่พูดพล่ามทำเพลง
วิธีคิดแบบนี้เข้าใจว่าเกิดจากการที่เรามีรากฐานมาจากสังคมเกษตรที่มีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ได้ยินว่าเมื่อก่อน โจรจะไม่ปล้นคนในหมู่บ้านตัวเอง หนักกว่านั้นก็คือ คนในหมู่บ้านก็โอเคกับการที่มีโจรอยู่ในหมู่บ้าน ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะคอยสั่งสอนว่า “จะไปปล้นบ้านไหนก็ไปเหอะ อย่ามาปล้นบ้านตัวเองก็แล้วกัน” กลายเป็นว่า บางอย่างจะผิดเมื่อทำกับพวกพ้อง แต่จะถูกหากทำกับคนอื่น วิธีคิดแบบนี้คงติดมาจนถึงสมัยนี้ ทำให้ความถูกผิดของเรามันกลายเป็นเรื่องสัมพัทธ์ไป
ตัวอย่างในยุคนี้ก็คือ ในบางพื้นที่ ประชาชนจะรักมาเฟียที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง แล้วทำประโยชน์ให้กับท้องที่ แม้จะรู้ว่าเขาทุจริตโกงกินเข้ากระเป๋าตัวเองมากเพียงใด แต่ตราบใดที่เขายังใส่ใจกับการดูแลสุขทุกข์ของประชาชนในท้องถิ่น ชาวบ้านก็จะเลือกเขากลับมาเสมอ แม้กระทั่งเมื่อมีคดีความตัดสินชัดเจนถึงความผิดของนักการเมืองคนนั้น ชาวบ้านก็ยังคงเลือกญาติพี่น้องเครือข่ายของเขาเข้ามาอยู่ดี และในความคิดของชาวบ้านตรงนั้นก็คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ทำให้การตีความความถูกผิดของการคอรัปชันก็กลายเป็นเรื่องสัมพัทธ์ไปในเมืองไทย
ประโยชน์ระยะสั้น สำคัญกว่า ประโยชน์ระยะยาว
นิสัยคนไทยอย่างหนึ่งที่แม้แต่คนไทยด้วยกันก็ยังเบื่อ ก็คือความมักง่าย คนที่เคยทำงานกับฝรั่งก็คงจะรู้สึกอย่างหนึ่งว่าพวกนี้เรื่องมาก “มากๆ” บางทีเรื่องมากจนน่ารำคาญ แต่ก็เป็นเพราะเราไม่คุ้นกับการทำงานแบบนั้น ในขณะที่ฝรั่งเองก็จะงงกับการทำงานของคนไทยที่มักจะทำแบบง่ายๆ ไม่ใส่ใจเต็มที่ ทำจนเสร็จแล้วก็พอใจ เพื่อนฝรั่งของผมคนหนึ่งซึ่งรับไม่ได้กับการทำงานของช่างซ่อมรถของไทย เล่าให้ฟังว่า เขาเห็นกับตาว่าช่างขันน้อตเพียงแค่ 3 ตัว ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ 4 รู แล้วก็ให้เหตุผลว่าเท่านี้ก็อยู่แล้ว เชื่อว่าคนไทยหลายๆ คนก็มีความคิดแบบนี้ติดอยู่แม้ว่าจะไม่หนักขนาดช่างคนนี้ก็ตาม เพราะบางครั้งเราก็เลือกที่จะทำให้งานมันเสร็จด้วยวิธีอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และผลก็คืองานที่ออกมาก็ไม่สมบูรณ์แบบ 100% แล้วงานแบบนี้แหละที่วันหนึ่งมันจะเกิดปัญหาขึ้น เคยไหมที่ยิ่งรีบทำอะไรไปลวกๆ แล้วปรากฏว่าผลสุดท้ายเสียหายต้องเสียเวลามากขึ้นไปอีก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือการโกหกเพื่อแก้ตัวไปเฉพาะหน้า เมื่อเราทำผิดแล้วถูกจับได้ มีแนวโน้มพอสมควรที่เราอาจจะโกหกหรือบิดเบือนความจริงเล็กน้อย เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยที่ไม่สนใจว่า หลังจากนี้แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่นจะต้องโกหกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปกปิดเรื่องนี้ เรียกว่า “ไปตายเอาดาบหน้า” พวกเราทุกคนรู้ว่าการโกหกเป็นเรื่องไม่ดี แต่ปรากฏว่า เมื่อคราวจำเป็น เรากลับอนุญาตให้ตัวเองโกหกได้ (และถ้าเล่าให้เพื่อนฟัง เขาก็จะถือเป็นเรื่องปรกติ) แสดงว่าความถูกผิดของการโกหกเป็นเรื่องสัมพัทธ์ ถ้ามีประโยชน์การโกหกก็เป็นเรื่องยอมรับได้ คงเพราะการพูดโกหกมักจะไม่มีผลร้ายในทันที (ถ้าไม่ถูกจับโกหกได้) แต่ในระยะยาวแล้ว สิ่งที่โกหกไปมักจะต้องแว้งกลับมากัดเราเสมอ
ประโยชน์ส่วนตัว สำคัญกว่า ประโยชน์ส่วนรวม
เคยเห็นนักวิชาการบอกว่า สังคมไทยไม่มีแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณสาธารณะ เนื่องจากในอดีตเรามีแต่แนวคิดเรื่องชุมชน แนวคิดเรื่องประเทศเป็นสิ่งใหม่ซึ่งเพิ่งมีได้ไม่นาน ถ้าจะขยายต่อไปอีกก็คงจะพูดได้ว่า แนวคิดเรื่อง (รับผิดชอบ) โลกก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งได้ยินกันไม่กี่ปีนี้เอง ฉะนั้นกรอบความคิดใหม่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะซึมซับไปทั่วสังคม
คนเมืองกล่าวหาคนชนบทว่ารับเงินจากนักเลือกตั้งที่หวังจะเข้าไปฉ้อโกง ในขณะที่ประชาชนทั่วไปต่างประณามข้าราชการที่รับสินบทเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจนำเงินจากภาษีของประชาชนไปเข้ากระเป๋า แต่ถ้าเพื่อนเรารอซื้อของอยู่กลางคิวที่ยาวมาก แล้วเราก็จะต้องไปเข้าคิวเดียวกัน เราจะเข้าไปท้ายคิวหรือไปต่อท้ายเพื่อนที่กวักมือเรียกอยู่ และถ้าเราตัดสินใจไปต่อท้าย เราจะทำเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูก หรือเพราะว่าอายคนที่ต่อแถวอยู่หลังเพื่อนเรา ผมเชื่อว่าฝรั่งก็เห็นแก่ตัวไม่ต่างจากเรา แต่ในหัวเขามีแนวคิดเรื่องประเทศอีกอย่างที่เขาต้องดูแล ขณะที่ในความคิดของพวกเราหลายๆ คน กลับนึกไม่ออกว่าประเทศคืออะไร แถมเรายังทำลายชุมชนไปแล้ว และยังเกลียดวัฒนธรรมของตัวเองอีก เราจึงแทบไม่เหลือ “ส่วนรวม” อะไรให้ใส่ใจเท่าใด
ผู้มีอิทธิพล ถูกเสมอ
บ้านเรายังคงระบบอุปถัมภ์เอาไว้อย่างเข้มข้นแม้ว่าจะเลิกทาสไปตั้งนานแล้ว เข้าใจว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าความคิดแบบนี้จะค่อยๆ จางไป ผมทำความเข้าใจระบบอุปถัมภ์อย่างง่ายๆ ว่าเป็นสังคมที่มีความรู้สึกสองแบบ คือความรู้สึกว่าต้องพึ่งคนอื่นถึงจะอยู่ได้ กับความรู้สึกต้องการให้คนอื่นพึ่งมากๆ แล้วจะรู้สึกดี ความคิดลักษณะนี้ทำให้ความถูกผิดถูกบิดเบือนไปตามบทบาท ไม่สามารถดำรงอยู่ด้วยตัวเองได้ ถ้าเราอยู่ในบทบาทที่ต้องพึ่งใคร ความถูกผิดก็จะเอนไปทางคนนั้น ถ้าเรากำลังถูกพึ่ง เราก็รู้สึกว่าความถูกต้องจะต้องเอนมาข้างเรา
ฝรั่งมีคำพูดว่า “เจ้านายถูกเสมอ” เป็นคำตลกๆ เพื่อประชดเจ้านายที่ทำแบบนั้น แต่ในเมืองไทยเจ้านายเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะฝรั่งที่ปรกติมักจะเชื่อมั่นในความคิดตัวเองแต่ก็มักจะให้เกียรติรับฟังความคิดเห็นลูกน้องได้ดี ต่างกับเจ้านายคนไทยที่ไม่ค่อยมั่นใจความคิดตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถทนลูกน้องที่คิดเห็นไม่เหมือนตัวเองได้ ผลก็คือลูกน้องคนไทยก็มักจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นแม้รู้ว่ากำลังจะเกิดปัญหาขึ้นก็ตาม เรื่องนี้ในบริษัทสมัยใหม่คงจะไม่เป็นกันแล้ว แต่ในองค์กรภาครัฐที่ยังใช้ระบบราชการอยู่ลักษณะนี้จะเห็นได้ชัดเป็นอย่างมาก ลองนึกถึงความคิดของข้าราชการที่ถูกกำหนดนโยบายบางอย่างที่ไม่เข้าท่า เห็นด้วยหรือไม่ นโยบายนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ถูกใช้ในการทำงานของเขา จนกลายเป็นกรอบความคิดของเขาไป เวลาที่เราต้องติดต่อกับราชการในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ขาย เราก็มักจะต้องพบกับเรื่องที่ไม่ถูกต้องเป็นประโยชน์เลยอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่มีทางทำให้เจ้าหน้าที่คนนั้นเข้าใจได้เลย จนต้องถือเป็นหลักอย่างหนึ่งว่า ถ้าพูดกับคนไหนไม่รู้เรื่อง ก็ให้ไปพูดกับหัวหน้าเขาแทน
สิ่งที่ทำกันมาก่อน ถูกแล้ว
คงเพราะวัฒนธรรมของเราที่ให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมประเพณี จนกลายเป็นแนวโน้มที่ทำให้เราชอบคิดว่าทำตามแบบเดิม ดีกว่าที่จะคิดอะไรใหม่ โดยที่ไม่ต้องพิจารณากันเลยว่าบริบทที่ทำให้เกิดวิธีปฏิบัติแบบเดิมนั้นเป็นอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บ้านเราถ้ามีใครเสนออะไรใหม่ที่เชื่อว่าดีกว่าของเก่า ก็มักจะต้องมีการคัดค้านกันอย่างหนัก โดยที่เมื่อดูเหตุผลที่ค้านกันแล้วก็จะพบสาระส่วนใหญ่เพียงเพราะรู้สึกปลอดภัยกับการทำอะไรแบบเก่า ทำให้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมทั้งในระดับประเทศ และระดับองค์กร เพราะแนวโน้มก็คือ อะไรที่ต่างจากของเดิม “ผิด” โดยที่ไม่ต้องประเมิน
สิ่งที่ทุกคนทำกัน ถูกต้อง
สังคมตะวันตกดูจะชอบคนที่คิดอะไรแตกต่าง จนถือเป็นตัววัดอันหนึ่งในความสำเร็จของธุรกิจคือความสามารถในการสร้างความแตกต่างและนวัตกรรม ในบ้านเรา ถ้ามีใครเสนอหรือทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่นก็จะถูกเพ่งเล็งทันทีด้วยข้อหาต่างๆ ทั้งในกลุ่มเล็กๆ อย่างทีมงาน ไปจนถึงระดับประเทศ เหตุผลอันหนึ่งที่จะถูกตั้งขึ้นมาเสนอคือ “ไม่มีใครทำแบบนี้” ซึ่งถ้าพูดประโยคนี้แบบฝรั่งก็อาจจะหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรม แต่ความหมายของคนไทยคือ “มันผิด”
สรุป
เท่าที่นึกดูเล่นๆ นี้ คนไทยมักจะไม่แคร์ถูกผิดถ้าไม่มีใครรู้ และมีแนวโน้มที่จะประเมินเอียงไปในทางว่าถูกต้อง หากเป็นเรื่องของพวกพ้อง ประโยชน์ในระยะสั้น ประโยชน์ส่วนตัว ผู้ที่ให้คุณให้โทษได้ เรื่องที่ทำกันมา หรือเรื่องที่ทุกคนทำ
แนวทางแก้ไข
ฝรั่งเองก็มีจำนวนมากที่เลิกเชื่อเรื่องความจริยธรรมไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่พอมองเห็นคือ สำหรับพวกเขา การประเมินว่าสิ่งใดมีประโยชน์ หรือมีโทษ มักจะเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าเรา ก็แน่นอนเขามีความคิดที่ขึ้นอยู่กับเหตุผล แต่สำหรับความถูกผิดแล้ว มันไม่ควรจะต้องถูกพิจารณาเป็นสิ่งสัมพัทธ์เลย มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่ความถูกผิดจะไปขึ้นอยู่กับสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น แต่เราก็ทำกันอย่างนั้นกันจริงๆ ดูไปแล้วนิสัยข้อนี้สร้างปัญหาให้กับสังคมไทยมากๆ ความเข้าใจอาจจะช่วยทำให้พวกเราฝืนมันได้ในที่สุด
สิงหาคม 9th, 2009 at 19:27
เป็นการดีครับที่เอาภาพรวมลักษณะสังคมไทยมาสะกิดกันบ้าง นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั้งฝรั่งและไทยได้เอางานในลักษณะนี้มาใช้เรียนกันในมหาวิทยาัลัยมานานเหมือนกัน ไม่ว่างานของ เอมบรี หรือ ลูเซียน แฮงค์ แม้แต่ แอนดรู เทอทั้น
ท่ามกลางวัฒนธรรมกระแสหลักไหลบ่าเข้ามา ทำให้เรามองตัวเราชัดขึ้นเมื่อไปเทียบกับเขา แต่ความมีอยู่ของลักษณะดังกล่าวนั้นยังไม่มีใครศึกษาในเชิงปริมาณ แต่หากว่าลักษณะดังกล่าวมีไหม มีครับ เห็นทุกที่ ผมเองก้เคยเขียนเรื่องการขับรถผ่าไฟแดง โดยเฉพาะมอเตอร์ไซด์ แม้ลูกน้องผมเองก็ทำ ผมเองต้องคุยกับเธอหลังจากนั้น
ข้อสำคัญประการหนึ่งคือ เมื่อเรารู้ว่ามีสิ่งอันไม่พึงประสงค์เหล่านั้นอยู่แล้ว แม้ว่ายังไม่ทราบปริมาณก็ตาม เราได้ทำอะไรบ้างกับการดัด ปรับ แก้ ลักษณะนั้นๆ ทั้งในสถาบัน ครอบครัว องค์กร และสังคมโดยรวม
ในฐานะที่เราอยู่ในองค์กร เราได้สร้างวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนระหว่างของดีดีของเรา กับวัฒนธรรมกระแสหลักที่ดีดี… เป็นคำถามที่ทุกคนต้องหาคำตอบและลงมือปฏิบัติเองนะครับ
สิงหาคม 9th, 2009 at 23:52
น่าจะให้ฝรั่ง (หรือชาวต่างประเทศอื่นๆ ) ที่มาอยู่เมืองไทยนานๆ เพราะชอบเมืองไทย เขียนจุดดีของสัมพัทธ์แบบไทยๆ เผื่อจะได้แย้งกับบันทึกนี้…
เจริญพร
สิงหาคม 10th, 2009 at 0:46
ย้ำว่าข้อดีของลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมานั่นก็มีอยู่ เช่นการรักษาประเพณี การเคารพผู้ใหญ่ การรับผิดชอบชุมชน เป็นต้น แต่ละไว้ในฐานที่เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว และเรากำลังว่ากันแต่เฉพาะข้อเสีย เพื่อที่เราจะได้ค้นหาสิ่งเหล่านี้ในตัวเองและคนรอบข้าง และปรับปรุงมัน
ส่วนการที่ความถูกผิดเป็นเรื่องสัมพัทธ์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือบุคคล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุผลเสมอไป ในความเห็นส่วนตัวของผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหา ความถูกผิดควรจะเป็นเรื่องสากลที่ไม่ต้องอาศัยข้อแก้ตัวหรือเหตุผลปลอบใจอะไรมาสนับสนุน
กันยายน 12th, 2009 at 22:02
ชอบที่เขียนนี่มากคั้บ นานๆ จะได้เห็นคนแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา ตรงประเด็นดี
ส่วนที่ชอที่สุดคือ ตอนแรกที่บอกว่า เกลียดตัวกินไข่ ว่าแต่เค้าอิเหนาเป็นเอง
ผมเองไปอ่านเจอว่า ร้านอินเทอเน็ตโดนจับลิขสิทธิเพลง โดยต่ายเพลงต่างๆ ผมก็เคยสงสัยว่า ในค่ายเพลงพวกนี้ ใช้ของถูกลิขสิทธิทั้งตึกทั้ง บ. ทุกคนเลยหรือป่าว ถือกระเป๋าที่ไม่ได้ก๊อบปี้มา ใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิอย่างถูกต้องจริงหมด 100% ไม่ผิดเลย อยากรู้จัง…