สอบเพื่อสอน

โดย อุ๊ยสร้อย เมื่อ ธันวาคม 14, 2010 เวลา 4:02 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการศึกษา, การพยาบาลผดุงครรภ์, การเรียนการสอน #
อ่าน: 6024

ชีวิตครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ..วงจรที่คุ้นเคยคือ เรื่อง “สอบ”

การเป็นคนสอน ต้องวางแผนตั้งแต่ตอนแรกที่เขียนวัตถุประสงค์ของการเรียนแล้วว่า จะสอนอะไร และจะจัดการทดสอบอย่างไร วิธีไหน คิดคะแนนแบ่งคะแนนอย่างไร น้ำหนักของแต่ละวัตถุประสงค์จะให้เท่าไหร่ เกณฑ์ตัดสินอย่างไร

จนเคยมีคนบอกว่า “ออกข้อสอบยากกว่าไปเป็นคนนั่งสอบ”

ในสาขาวิชาที่สอนระดับปริญญาตรี เรื่องการจัดการข้อสอบถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งค่ะ  การจัดสอบในทุกวิชาจะต้องทำตาม blueprint ที่ผ่านการพิจารณาให้ตรงกับตัว course syllabus และในการจัดทำข้อสอบจะต้องมีการประชุมอาจารย์ประธานตอน และผู้สอนทุกคนมาประชุมร่วมกันในการจัดทำชุดข้อสอบ มีการวิพากษ์ข้อสอบ พิจารณาความยากง่าย ความเป็นปรนัยคือวัดตรงสิ่งที่จะวัด มีการวิเคราะห์ข้อสอบทุกครั้ง และนำมาพิจารณาตรวจสอบเพื่อการจัดทำข้อสอบในครั้งต่อๆไป

การจัดการเรียนข้อสอบเลยเป็นเรื่องของทีม ที่จะต้องทำงานร่วมกัน นัดหมายกันซึ่งส่วนมากจะเป้นนอกเวลาหรือเสาร์อาทิตย์ เพราะต่างหาเวลาให้ตรงกัน 5-6 คนนั้นยาก …และแต่ละวิชายังจัดสอบอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อแบ่งคะแนนให้นักศึกษาได้แก้ตัว ถือเป็นการช่วยนักศึกษาอีกทางหนึ่ง ทีมจะมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ตั้งแต่การออกข้อสอบไปจนถึงการตรวจข้อสอบ หลังจากนั้นส่วนที่เป็นข้อสอบปรนัยทุกวิชาจะส่งให้ทางคณะวิเคราะห์ข้อสอบทุกภาคการศึกษา สำหรับข้อสอบอัตนัย จะมีการวิพากษ์และปรับปรุงข้อสอบโดยการประชุมร่วมกัน มีการตรวจสอบโดยการตรวจข้อสอบอย่างน้อยสองคน เพื่อที่จะได้ตรวจทานกันและกันอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนการสอบปฏิบัติจะมีการให้นักศึกษาสอบทั้งจากในห้องปฏิบัติการ สอบในสถานการณ์จริง สอบแบบสถานการณ์จำลองฯลฯ …วิชาที่สอนจัดสอบปฏิบัติแบบรวบยอดในสถานการณ์จริงคนละ 2 ครั้ง หลังจากให้ผ่านสถานการณ์จำลอง และผ่านการฝึกจริงๆ มาแล้ว การจัดสอบ สองครั้ง จะสลับอาจารย์ที่เป็นผู้สอบ เพื่อให้โอกาสสำหรับการแก้ไขของนักศึกษา และเพื่อลดเรื่องอคติ (ที่ไม่มีแต่กันไว้ก่อน)

เรื่องจัดสอบตามสถานการณ์จริงเป็นเรื่องท้าทายทั้งอาจารย์และนักศึกษา เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะได้รับคนไข้ที่มาด้วยปัญหาอะไร ในส่วนของอาจารย์นั้นจะต้องใช้วิจารณญานในการตัดสินต่อความยากหรือง่ายของสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมในทุกกรณี ที่เลือกให้สอบตามสถานการณ์จริงเพราะวิชาพยาบาลเป็นวิชาที่ต้องมีปฏิบัติจริง ไม่สามารถเรียนได้โดยทฤษฎีเพียงอย่างเดียว การสอบในสถานการณ์จริงจะทำให้วัดผลได้ทั้งการตัดสินใจ การใช้ความรู้ความสามารถ และการวัดในด้านทัศนคติการทำงานกับคนอื่นฯลฯ หลังการปฏิบัติแล้วนักศึกษาจะต้องมานัดหมายอาจารย์ที่คุมสอบเพื่ออธิบายเพิ่มเติมหรือที่เรียกว่าสอบปากเปล่าในด้านความรู้ เหตุผลของการตัดสินใจ ฯลฯ โดยอาจารย์จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 -2 ชั่วโมงต่อนักศึกษา 1 คนเพื่อเพิ่มเติมและทำความเข้าใจในสิ่งที่ทำไปแล้ว เป็นช่วงของการให้ข้อมูลย้อนกลับด้วย เวลาที่ใช้งอกจากเวลาปฏิบัติจริง ที่อาจารย์เสียสละเอง เพราะไม่สามารถเบิกค่าล่วงเวลาได้

การจัดสอบอีกประเภทคือการจัดสอบประมวลความรู้รวบยอด หรือที่มักใช้คำว่า comprehensive exam ที่ถูกตั้งชื่อเล่นว่า สอบคอมพรี (compre) จะมีการจัดสอบ compre เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนของชั้นปีที่ 4 ซึ่งสาขาวิชาที่สอนจะมีการกรองเลือกกรรมการออกข้อสอบจำนวน 5 คนที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ในสาขาวิชาได้เพื่อมาทำงานร่วมกันออกข้อสอบ โดยข้อสอบที่สาขาวิชารับผิดชอบจะมี 2 ชุดคือการพยาบาลแม่และเด็กและการพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งจะร่วมกันพิจารณาออกข้อสอบวิชาละ สองชุดๆ ละ 100 ข้อ เป็นข้อสอบปรนัยทั้งหมด

ส่วนนี้เป็นงานงอกเหมือนกันแต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกให้ทำทุกปี ถือเป็นส่วนงานที่ได้ทบทวนวิชาความรู้ได้ดีมากๆ อีกงานหนึ่ง

การสอบ compre บางปีนักศึกษาต้องสอบหลายครั้งจนผ่านเกณฑ์ ดังนั้นข้อสอบเลยต้องมีจำนวนชุดไว้หลายๆชุด สำหรับนำมาสลับออกข้อสอบ  โดยกรรมการฯ ก็ไม่รู้ว่าทางคณะฯ จะเลือกข้อสอบชุดไหนไปจัดสอบในแต่ละครั้ง เมื่อนักศึกษาสอบผ่านแล้วเขาถึงจะมีสิทธิเสนอขอสอบขึ้นทะเบียนรับใบประกอบโรคศิลปะของสภาการพยาบาล ซึ่งเป็นข้อสอบรวมทั้งประเทศ

ข้อสอบของสภาการพยาบาลเพื่อขึ้นทะเบียนรับวุฒิบัตรใบประกอบโรคศิลปะนั้น สภาการพยาบาลจะมีกรรมการอีกหลายชุดที่มาจากหลายสถาบันการศึกษาเป็นผู้ร่วมกันออกข้อสอบ ซึ่งกรรมการที่ไปร่วมกันออกข้อสอบก็ไม่รู้ว่าทางสภาพยาบาลจะเลือกชุดไหนไปจัดสอบ

เมื่อจบการศึกษาปริญญาตรีแล้ว หากใครทำงานในวิชาชีพก็ต้องขึ้นทะเบียนทุก 5 ปี ใครที่ใบประกอบวิชาชีพหมดอายุและจะต่อใบประกอบโรคศิลปะจะต้องแสดงหลักฐานว่าได้ปฏิบัติงานในวิชาชีพ ที่มีชั่วโมงการปฎิบัติจริง มีเครดิตการเข้ารับการอบรมหรือฟื้นฟูความรู้อย่างน้อย 50 หน่วยเครดิตต่อ 5 ปี และหลักสูตรหรือการประชุมที่เข้ารับการอบรมต้องเป็นหลักสูตรหรือการประชุมที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลด้วย ถ้าใครไม่มีก็ต้องเสนอขอสอบเหมือนพยาบาลที่จบใหม่

หลายคนก็สงสัยว่าทำไมสาขาวิชาต้องสอบเอาจริงเอาจัง …ก็เพราะวิชาการพยาบาลและผดุงครรภ์นั้นเป็นสาขาวิชาที่ทำงานกับคน อย่างน้อย 2 ชีวิต คือแม่และลูกในครรภ์ ข้อผิดพลาดที่เกิดจากการขาดความรู้และความสามารถจะทำให้เกิดผลเสียต่อชีวิตของคนอื่นค่ะ และถือว่าการสอบคือการสอนด้วย คือให้เกิดการสอนตัวเองของผู้เรียนและการเพิ่มเติมความรู้ในสิ่งที่สงสัยในตอนที่นัดอาจารย์สอบปากเปล่าต่อ

อีกแง่หนึ่งคือ การจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาพยาบาลที่จริงจังเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนต่อผู้ที่จะให้การพยาบาลเขาเมื่อเจ็บป่วยได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจให้นักศึกษาว่าเมื่อเขาต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นนั้น เขาพร้อมหรือยัง

เชื่อว่า…การวางแผนเพื่อการป้องกัน และจัดเตรียมความพร้อมในกระบวนการสร้างคน สร้างวิชาชีพ เป็นการลงทุนที่ไม่เคยสูญเปล่าค่ะ

« « Prev : อักขระห้าวันหนีเนิ่นช้า

Next : หายห่างมิหายห่าง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

897 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.6831059455872 sec
Sidebar: 0.021630048751831 sec