คนไทยชอบการให้ แบบไม่มีเงื่อนไข
อ่าน: 2422ผมเขียนบทความนี้ในฐานะเป็นคนทำงานภาคเอกชน องค์กรธุรกิจ ที่ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการทำสิ่งต่างๆเพื่อสังคม แต่เมื่อมีโอกาสได้เห็นภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้น จึงเกิดความเสียใจต่อผู้ประสบภัยอย่างมากและคิดว่าด้วยความสนใจส่วนตัว จะขอใช้ความรู้ ประสบการณ์ที่มี เพื่อคิด ทำ และ ลองมองหาลู่ทางต่างๆที่พอจะเป็นอีกแรงเล็กๆในสังคมช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ต่อไปในอนาคตนะครับ
เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือ ภัยพิบัติ ความสนใจของคนจะพุ่งไปที่ “สื่อ” โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ในช่วงที่เครื่องบินชนตึกที่ World Trade Center เมื่อผู้คนเห็นภาพอันน่าโศกเศร้า หลายคนก็ยินดีบริจาคผ่านสื่อกันมากมาย จนเกิดศัพท์คำว่า CNN Effect กระตุ้นให้เกิดการบริจาคได้ทันที เช่นภัยพิบัติหลายครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นสื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการระดมเงินบริจาคโดยเฉพาะสือโทรทัศน์ช่องข่าวที่มีการรายงานข่าวอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงและมีผู้ชมเป็นจำนวนมากจะมีบทบาทสูงที่สุด
ในประเทศไทย เรื่องดารา คนดัง ก็มีบทบาทสูงในการระดมเงินบริจาค นักแสดงหลายท่านจัดโชว์ จัดคอนเสริท โดยไม่คิดค่าตัว ออกงานร่วมรับบริจาคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
ประชาชนทั่วไปใครจะบริจาคเท่าไหร่ ไปที่ไหน เพื่ออะไรก็เป็นไปตามจิตศรัทธาของแต่ละท่านซึ่งมักจะไม่มีข้อจำกัดใดๆ แต่ในส่วนของภาคธุรกิจมักจะมีข้อจำกัดอันได้แก่ กิจการที่มีผู้ถือหุ้น, กิจการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กรรมการที่บริหารบริษัทจะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเช่น ความสัมพันธ์ต่อผู้ถือหุ้นอาจจะดีถ้าบริจาคน้อย แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับกำไรที่ได้รับจากสังคม ก็อาจจะมีผลต่อธุรกิจได้เพราะลูกค้าก็คือคนในสังคมนั่นเอง แต่ทั้งนีั้ยังมีแรงจูงใจอีกประการหนึ่งคือ มาตรการทางภาษี เช่น กรณีภัยพิบัติต่างๆ ทางกรมสรรพากรมักจะมีประกาศให้บริษัทนำกำไรส่วนหนึ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีได้ เช่น 10% เพื่อให้เห็นภาพลองสมมติว่า หากบริษัทแห่งหนึ่งมีกำไรปีละ 500 ล้านบาท แทนที่จะต้องเสียภาษี 25% ทั้งหมด สามารถเลือกที่จะคำนวณดูว่าจะนำเงินไปบริจาคช่วยเหลือสังคมได้หลากหลายและมากมาย เมื่อมีอีกหลายบริษัทในส่วนนี้จะเป็นความคล่องตัวสูงของผู้บริหารในบริษัทเหล่านี้ที่จะคาดการณ์วางแผนเพื่อนำภาษีนี้ไปใช้ช่วยเหลือสังคมได้เป็นอย่างดี
หากเป็นบริษัทเล็กๆที่กำไรน้อยๆแต่อยากช่วยสังคม อาจมีปัญหาบ้างเพราะกรมสรรพากรจะถือรายจ่ายส่วนที่เกินข้อกำหนดเป็นรายจ่ายต้องห้าม หรือถ้าบริษัทใหญ่ส่วนมากมักมีงบการตลาดจำนวนมาก เงินมหาศาลนี้หากนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เช่นแทนที่จะซื้อสื่อหรือจัดกิจกรรมธรรมดาๆ หากนำเพื่อการช่วยเหลือสังคมได้อย่างเหมาะสมก็จะเกิดแรงผลักดันมหาศาล แต่ในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่นักการตลาดหลายคนที่จะแตะประเด็นนี้ ต่างใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะมุมมองความรู้สึกของสังคมที่มองเข้ามา
ในมุมมองส่วนตัว ผมคิดว่าในนามบุคคลหรือองค์กรหากทำด้วยความหวังดี ปรารถนาดี และมีความตั้งใจ จะได้ผลลัพธ์มากหรือน้อยย่อมดีทั้งนั้น โดยเฉพาะที่มีคนชอบพูดกันว่า “ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” ไม่ว่าคุณจะเป็นร้านค้า, ร้านอาหารที่ตั้งกล่องรับเงินทอนเพื่อไปบริจาค แม้กระทั่งซองที่เหน็บไว้บนที่นั่งของเครื่องบินโดยเฉพาะสายการบินต่างประเทศเพื่อขอเงินจากทุกสกุลที่ไม่ต้องการแลกคืนเพื่อนำไปบริจาค การให้ใช้สถานที่เพื่อเป็นจุดรับบริจาคและชักชวนพนักงาน, นักเรียน, นักศึกษา, ศิลปิน ฯลฯ มาร่วมแรงร่วมใจกันล้วนเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น ข้อเสนอส่วนตัว มี “เคล็ดลับเล็กๆน้อยๆ” ของผมที่จะทิ้งท้ายไว้ เป็นแง่มุมที่อาจจะ “ซื้อใจ” คนไทยได้ในเชิงการตลาดแนวนี้ หากคุณจะเป็นตัวกลางช่วยระดมความช่วยเหลือรับบริจาคครั้งใดลองพิจารณา…
1.) ประเดิม เช่น เลดี้ กาก้า บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น 11 ล้านดอลล่าห์ (ราว 330 ล้านบาท) แล้วจึงขยายผลด้วยการทำสายรัดข้อมือ We Pray for Japan ออกจำหน่ายเพื่อหาเงินไปสมทบอีกทาง
2.) สมทบ ถ้างบไม่มาก สามารถร่วมสมทบทุนกันแทนก็ได้ครับ แต่ไม่ควรประกาศเป็นเงื่อนไขจะได้ใจกว่า
เช่น คุณจัดงานการกุศลแล้ว Raised Fund ได้ 1 ล้านบาท ตอนจบงานอยู่มี CEO เดินมาขอสมทบอีก 1 แสนบาท เป็นเซอร์ไพรส์
แค่นี้ก็หล่อแล้ว!
ผมขอสรุปแบบฟันธงโดยไม่กลัวธงหักกันไปเลยว่า “คนไทยชอบการให้แบบไม่มีเงื่อนไข” ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วใครช่วยอย่างสร้างสรรค์ ถ้าเป็นบริษัทก็มีการเชิญชวนพนักงาน, ลูกค้า และสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้วย แล้วตัวเองก็จ่ายร่วมไปด้วย หรือถ้าเป็นคนดังก็มีการเปิดโอกาสให้แฟนๆเข้ามามีส่วนร่วมด้วยแบบนี้ ผลลัพธ์จะขยายได้ใหญ่ขึ้นและ “ได้ใจ” ไม่ถูกข้อครหาตามมาด้วยครับ