อึ่งอ่างก็มีน้ำใจ

2 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 4 กรกฏาคม 2010 เวลา 2:51 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2789

    เมื่อครั้งที่ผมนำ ชุด Solar Cell ไปติดตั้งเป็นชุดแรกในสวนยางที่เขาไม่มีไฟฟ้าใช้  ฝนเจ้ากรรมก็เทลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตาทั้งๆที่ผ่านมาไม่เคยเจอฝน ร้อนแสนร้อน เพราะยังเป็นเดือนเมษายน  ฝนตกหนักจนอึ่งอ่างร้องระงม  ใครบางคนไปจับมาได้หลายตัว

   มาถึงบ้านผ่านไป 1 คืน ผมบอกเธอว่า “ปล่อยเขาไปเถอะนะ” เธอก็ OK แต่พอปล่อยออกมาจากที่คุมขัง ก็เห็นภาพนี้ครับ

  

   หลานเห็นเข้าเกิดความประทับใจจึงเอ่ยว่า .. ” อึ่งอ่างมันมีน้ำใจนะ ดูสิมันแบกตัวเล็กกว่าไว้บนหลังตั้งนาน”

          เอ้า น้ำใจก็น้ำใจ  ทำไงได้ล่ะ เด็กมันไม่รู้เรื่อง … อิ อิ อิ


ปลื้มใจที่เห็นคนไทย “เก่ง และ ดี”

1 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 30 มิถุนายน 2010 เวลา 3:23 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1208

   

    อ่านข้อความนี้  และทดลองเข้าไปใช้บริการลองดูแล้วเป็นปลื้มครับ  ปลื้มใจที่คนไทย เก่ง และใช้ความเก่งสร้างสรรค์ประโยชน์ด้วยใจ “รักผู้อื่น”

   ลองอ่านดูสิครับ

“  The virtual keyboard featured below was developed by a Thai student called Puttipan Polnyanunt. He is currently studying in the USA. You can use his virtual keyboard to type Thai even if you don’t have Thai fonts! You can then copy and paste them into any document on your computer. Visit his web site for another free download which turns English/Thai text into speech! A very talented person. He tells us that he has plans for a program for people who want to learn Thai. “

   มีปัญหาการพิมพ์ภาษาไทย ยามไปอยู่ต่างถิ่น แดนไกล ลองไปใช้บริการเขาได้ครับ .. สุดยอดจริงๆ

               ที่นี่ครับ …  http://www.learningthai.com/thaikeyboard/


คิดถึงท่านอาจารย์ (อีกแล้ว)

1 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 23 มิถุนายน 2010 เวลา 6:38 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1171

     ผมกลับไปอยู่ไชยามาตั้งแต่ต้นเดือนเมษาที่ผ่านมา  Say Goodbye กับชีวิตในเมืองอันแสนวุ่นวายอย่าง กทม. ที่ผมฝังตัวทนอยู่มากว่า 30 ปี

    ขอบคุณวิกฤติการณ์อันแสนเลวร้ายในชีวิตที่เป็นเสมือนข้อทดสอบ เพื่อตัดสินว่าผมสอบผ่านหรือไม่ในเรื่องของการนำธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสมาใช้จัดการกับชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของจิตใจ แล้วผมก็ตอบได้แบบดังๆและไม่อายใครว่าผมสอบผ่านครับ

   สิ่งที่ไม่คาดคิดหลายอย่างเกิดขึ้นเมื่อผมกลับไปใช้ชีวิตใหม่ในบ้านเกิด เพราะผู้คนรู้จักเราเป็นอย่างดีว่าทำอะไรมาบ้าง มีประสบการณ์ด้านใด อย่างไร จึงมีเรื่องให้คิด ให้ทำ ให้ช่วยหลากหลายมาก  กลายเป็น “โจทย์วิจัย” รายวันไปก็ไม่น้อย แล้วคนอย่างเรามันเป็นโรค “ทนไม่ได้กับความไม่รู้” เสียด้วย  ก็เลยยุ่งยิ่งกว่าอยู่กรุงเทพฯเสียอีก

   สิ่งที่คิด อยากทำ หลายอย่างจึงต้องระงับ ชะลอ หรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด  เพราะมีสิ่งที่ ควรทำ มาแทรกมากเหลือเกิน อย่างน้อยสองเรื่องที่รู้สึกเสียดายที่ยังไม่ได้เริ่มคือการ ปลูกข้าวกินเอง และ การไปช่วยงานสวนโมกข์

   ขับรถผ่านหน้าสวนโมกข์แทบทุกวัน ไปสอนที่มรภ.สุราษฎร์บ้าง  ไปทำภารกิจส่วนตัวที่บ้านดอนบ้าง เกิดความรู้สึกตำหนิตัวเองในใจ คล้ายๆเป็นคนอกตัญญู  ที่เลือกเรื่องอื่นมาทำก่อน แต่ก็คิดอีกที  ถ้าท่านอาจารย์ล่วงรู้ด้วยญาณใดๆว่าผมไปทำอะไร กับใคร อย่างไร ด้วยเจตจำนงใด ที่ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีในตอนนี้  ท่านคงยิ้มและเอ่ยคำว่า “ดีแล้ว ถูกต้อง พอใจ” เป็นแน่

   
     พูดถึงท่านอาจารย์พุทธทาส ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณท่านมากเหลือเกิน เพราะได้ไปช่วยงานที่สวนโมกข์มาแต่ยังเป็นนักเรียนประถมปลาย ได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ได้เถียงในใจแบบเด็กๆ และได้ค้นพบภายหลังว่าเราโง่อย่างไร  ที่สำคัญได้ใกล้ชิดท่านอีกครั้งช่วงไปบวชและจำพรรษา และถูกตั้งให้เป็นหัวหน้าพระใหม่ที่นั่นเมื่อปี 31

    วิกฤติในชีวิตผมนั้นเลวร้ายยิ่งนัก ในสายตาผู้คน (ไม่เชื่อให้ถามท่าน อัยการชาวเกาะดู เพราะท่านรับรู้อย่างน้อยก็ 50 %) แต่การซึมซับสติปัญญาจากท่านอาจารย์พุทธทาสมายาวนาน ทำให้ผมปลอดภัยในทุกสถานการณ์ “เช่นนั้นเอง” ได้กับแทบทุกเรื่อง และไม่โง่จนปล่อยให้โลกมันทับและบีบคั้นตัวเรามากนัก สามารถมี “ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ” ได้พอประมาณ

   ขอบคุณ สวนโมกข์ อีกครั้งครับ และกราบในใจงามๆ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ที่คำสอนของท่านช่วยให้ผมอยู่รอดปลอดภัย  ยังสามารถทำงานสร้างสรรค์ประโยชน์แก่โลกได้ แทนที่จะไปโง่ ไปบ้า “ฆ่าคนตาย” หรือ “ฆ่าตัวตาย

 

                                        


จดหมาย ไม่ลับ

4 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 21 มีนาคม 2010 เวลา 5:43 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1565

ปอ & ปูน ลูกรัก
 
   พ่อยัง หนัก อยู่กับการรื้อและจัดระเบียบข้าวของที่สิบล้อขนไปกองไว้ที่บ้านไชยา และคงใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะไปอยู่บ้านหลังเก่านั้นได้ และปรับปรุงบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ที่พ่อตั้งชื่อไว้ในใจแล้วว่า ”ศูนย์การเรียนรู้ ปู่แพน” .. ” Poo Pan Learning Center ” ตอนนี้ก็อาศัยอยู่บ้านพี่หอยไปก่อน
   เขียนมาบอกกล่าวพอให้รู้เรื่องราวและความเป็นไป  แต่ที่ขอฝากแถมมาด้วยและอยากให้ได้ลองใช้เวลาอ่านและตรึกนึกตามไปช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบ คือเอกสาร PDF ที่แนบมากับ Link ข้างล่างนี้  เป็นหนังสือที่ทั้งคนไทยและต่างชาติกล่าวถึงมากที่สุดเล่มหนึ่งของท่านอาจารย์พุทธทาส
 
   
http://gotoknow.org/file/handyman/humanhandbook.pdf
 
    ขอให้ลูกทั้งสองประสบความสำเร็จในการมองเห็นความจริงในโลก และรักษากายใจให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยสติปัญญายิ่งๆขึ้นไป
 
 
     ด้วยรักและปรารถนาดี
            จาก
            พ่อ
 

      Copy มาวางให้เป็น “จดหมายไม่ลับ” เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านทุกท่านครับ .. ประโยชน์จากสิ่งที่แนบมา ไม่ใช่สาระของตัวจดหมายครับ 


วิชา เหรียง (2)

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 16 มีนาคม 2010 เวลา 5:26 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1246

จาก “วิชาเหรียง” ตอนที่หนึ่งทำให้ผมคิดต่อว่าน่าจะได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพืชชนิดนี้เก็บไว้ประกอบการเรียนรู้  ตอนแรกจะเก็บเป็นไฟล์เอกสารไว้ใช้ส่วนตัวแต่มาคิดอีกที คนอื่นที่ควรได้ประโยชน์จากสิ่งที่รวบรวมก็หมดโอกาส  จึงตัดสินใจนำสิ่งที่สืบค้นได้มารวบรวมไว้ที่นี่ เป็นบันทึกชื่อ วิชา “เหรียง”(2)

   รายละเอียดมีดังนี้ครับ

*

 เหรียง
 
 ชื่อวิทยาศาสตร์ :Parkia timoriana Merr.
 ชื่อวงศ์ :MIMOSACEAE

 ชื่ออื่น ได้แก่ กะเหรี่ยง, เรียง, สะเหรี่ยง (ใต้); นะกิง, นะริง (มาเลย์-ใต้) (เต็ม สมิตินันทน์, 2523); สะตือ (ใต้) (กัญจนา ดีวิเศษ,2542)
 
   ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30-50 เมตร ไม่ค่อยมีกิ่งก้านที่ลำต้น เปลือกเรียบและหนาสีเทาปนเขียวอ่อน มีกลิ่นฉุน ลักษณะทั่วไปคล้ายสะตอ แต่พุ่มใบแน่น และเขียวทึบกว่า ใบใหญ่และหนากว่าสะตอ ลักษณะใบเป็นแบบช่อ ใบประกอบมี 18-33 คู่ ใบแคบปลายแหลม ใบแก่จะเป็นสีเหลืองร่วงเกือบหมดต้น และผลิใบใหม่แทน ลักษณะดอกเป็นดอกช่อแบบสะตอ ออกที่ปลายยอด เป็นก้านยาวสีเขียวสลับน้ำตาล ลักษณะผลเป็นฝัก กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยางประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมล็ดรูปไข่ ประมาณ 15-20 เมล็ดต่อฝัก ฝักแก่เต็มที่มีสีดำ เมล็ดในสีดำ เนื้อในเมล็ดมีสีเขียวเข้ม และมีกลิ่นฉุน เปลือกต้นเป็นยาสมานแผล ลดน้ำเหลือง เมล็ดเมื่อแก่ตัดส่วนปลายนำไปเพาะให้แตกรากสั้นๆ รับประทานสดหรือดอง
 
Source : http://www.scitour.most.go.th

 

** 

   เหรียง

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Parkia timoriana Merr.
วงศ์ : LEGUMINOSAE - MIMOSOIDEAE
   เหรียง เป็นพืชสกุลเดียวกับสะตอ  เหรียงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง  50  เมตร   ต้น  เปลา  ตรง  เกลี้ยง   เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลือง  ไม่มีแก่น  อ่อนและเปราะ มีเสี้ยนตรงกลางอย่างสม่ำเสมอ  เนื้อไม้ผ่าได้ง่าย จึงเหมาะที่จะทำเป็นไม้บางๆ  ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น  ใบเรียงสลับ  ใบย่อยจำนวนมาก รูปขอบขนาน  ดอกช่อ  ออกเป็นช่อกลม   ก้านช่อยาว  ผล  เป็นฝัก  แคบ แบน ออกดอกเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม  ติดฝักเดือนมกราคม -  กุมภาพันธ์  การขยายพันธุ์  เพาะเมล็ด ประโยชน์  เนื้อไม้ใช้ทำลังใส่ของ   ก่อสร้างภายใน   เมล็ด เพาะให้งอก นำไปดอง รับประทานเป็นผัก  เปลือกและเมล็ด ขับลมในลำไส้   ถิ่นกำเนิด  อินเดีย  และปาปัวนิวกินี    เป็นพืชเขตร้อน ชอบที่มีน้ำฝนและมีความชุ่มชื้นในอากาศสูง

Source : http://www.wangtakrai.com/panmai/detail.php?id=357

 

*** 

   เหรียง

 
1.  ชื่อพันธุ์ไม้          เหรียง

2.  ชื่อสามัญ          (ไทย)เหรียง  เรียง  สะเหรี่ยง (ภาคใต้)  กะเหรี่ยง  นะกิง  นะริง

                            (มาลายู ภาคใต้)

                            (อังกฤษ)               -

3.  ชื่อวิทยาศาสตร์   Parkia javanica Merr. และมีชื่อพ้องทางพฤกษศาสตร์ คือ

                            P. timoriana Merr. , P. roxburghii G. Don.

4.  ชื่อวงศ์              Mimosaceae

5.  การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ

        เหรียง  เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ แถบหมู่เกาะติมอร์ และแถบเอเซียเขตร้อน ซึ่งรวมตั้งแต่ประเทศอินเดีย จนถึงประเทศปาปัวนิวกินี สำหรับในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ชอบขึ้นตามป่าดิบชื้น ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ต่ำจนถึงพื้นที่สูงถึง 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่อย่างไรก็ตามอาจมีบ้างที่เจริญเติบโตได้ในระดับสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล

        เหรียงเป็นไม้ที่ชอบแสงกสว่างและพื้นที่ค่อนข้างชุ่มชื้น มักจะเริ่มผลัดใบในขณะที่ออกช่อดอก และใบจะร่วงหล่นจนหมดต้นเมื่อผลเริ่มแก่พร้อม ๆ กับใบอ่อนที่ผลิออกมาใหม่

6.  ลักษณะทางวนวัฒนวิทยา

        เหรียงเป็นพืชวงศ์เดียวกับสะตอและลูกดิ่ง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง สูงถึง 50 เมตร มีพูพอนสูงถึง 7 เมตร ลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับสะตอ แต่แตกต่างกันตรงที่พุ่มใบของเหรียงมักจะเป็นพุ่มกลม ไม่แผ่กว้างมากนักพุ่มใบแน่นและเป็นสีเขียวทึบกว่าพุ่มใบของสะตอ  เปลือก เรียบ กิ่งก้านมีขนปกคลุมประปราย

         ใบ   ก้านใบยาว 4 - 12 ซม. มีต่อมรูปมนยาว 3.5 - 5 มม. อยู่เหนือโคน ก้านแกนช่อใบยาว 25 - 40 ซม. มีช่อใบแขนงด้านข้าง 18 - 33 คู่ ใต้รอยต่อของก้านช่อใบแขนงด้านข้างมักจะมีต่อมเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 - 3 ซม. ช่อใบแขนงยาวประมาณ 7 - 12 ซม. แต่ละช่อมีใบย่อย 40 - 70 คู่ ใบย่อยรูปขอบขนานแคบ ๆ กว้าง 5 - 7 มม. ยาว 1.5 - 1.8 มม. ปลายใบแหลมโค้งไปทางด้านหน้า ฐานใบมักจะยื่นเป็นติ่งเล็กน้อย เส้นแขนงใบด้านข้างไม่ปรากฏชัดเจน

         ดอก  ออกเป็นช่อกลม ขนาดของดอกกว้าง 2 ซม. ยาว 5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 20 - 25 ซม. ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น ๆ และใบประดับยาว 4 - 10 มม. รองรับกลีบรองกลีบดอกของดอกสมบูรณ์เพศเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 8 - 11 มม.

         ผล  เป็นฝักกว้าง 3 - 4 ซม. ยาว 22 - 28 ซม. ตัวฝักตรงไม่บิดเวียนเหมือนสะตอบางพันธุ์ เมล็ดไม่นูนอย่างชัดเจน แต่ละฝักมีเมล็ดรูปไข่ ขนาดประมาณ 11 x 20 มม. ประมาณ 20 เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดหนาสีคล้ำ

         ระยะการออกดอก-ผล  ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ฝักแก่ประมาณเดือนมกราคม - กุมภาพันธุ์

7.  การขยายพันธุ์

        การขยายพันธุ์เหรียงที่นิยมกันมากในปัจจุบันคือ การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด นอกจากนี้ยังสามารถขยายพันธุ์โดยมีวิธีอื่น ๆ ได้อีก เช่น การตัดกิ่งปักชำ และการขยายพันธุ์โดยการติดตา แต่การขยายพันธุ์โดยการตัดกิ่งปักชำ และการติดตานั้น ยังไม่เป็นที่นิยมปฏิบัติกัน

        การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเมล็ดคือ ช่วงเดือนมีนาคม จนถึงเดือนพฤษภาคม  วิธีการเก็บเมล็ด เก็บจากฝักแก่ที่ร่วงหล่นบนดิน นำฝักมาผึ่งแดดให้แห้งเกรียม แล้วใช้ไม้ค้อนทุบให้ฝักแตกแกะเมล็ดออก

        การปฏิบัติต่อเมล็ดและการเพาะเมล็ด ใช้มีดตัดขั้วเมล็ดให้ขาดออกเล็กน้อยแล้วนำไปแช่น้ำ 1 คืน นำเมล็ดมาผึ่งให้แห้งก่อนเพาะในแปลงเพาะ หรือเพาะลงในถุงพลาสติก แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากเพาะประมาณ 2 -3 วัน ก็จะเห็นต้นอ่อนของต้นกล้าโผล่ออกมา เมื่อกล้าอายุได้ประมาณ 2 เดือน ความสูงพอประมาณก็ทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้

8.  การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์

       ในการปลูกเหรียงนั้นสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกก่อนคือ การเลือกพื้นที่ที่จะปลูก ในการเลือกพื้นที่ปลูกเหรียงนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเหรียงเป็นสำคัญ จากที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เหรียงเป็นพืชในเขตร้อนชื้นซึ่งชอบที่มีประมาณน้ำฝนและความชื้นในอากาศที่สูง มีปริมาณฝนตกมากพอสมควรประมาณ 2,500 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20 - 30 องศาเซลเซียส เป็นไม้ที่ต้องการแสง ลักษณะดินชอบดินที่อุ้มน้ำ และเก็บความชื้นได้ดีส่วนมากเป็นดินเหนียว หรือดินร่วนปนทราย ดังนั้นในการเลือกพื้นที่ปลูกเหรียงจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย

       การปลูกไม้เหรียงควรจะทำการปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้กล้าไม้เจริญเติบโตได้ดี มีเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายปลูกควรอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ขนาดของกล้าไม้ที่เหมาะสมในการย้ายปลูกอายุประมาณ 2.5 เดือน สูงประมาณ 30 ซม.

       สำหรับระยะปลูกนั้นควรพิจารณาจากความกว้างของเรือนยอดเมื่อไม้โตเต็มที่ ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 8 x 8 เมตร หรือ 10 x 10 เมตร เมื่อปลูกเหรียงแล้ว เนื่องจากเรือนยอดเหรียงโปร่ง อาจพิจารณาปลูกไม้ชนิดอื่นใต้ต้นเหรียงได้

       เหรียงเป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วชนิดหนึ่ง มีความเพิ่มพูนทางด้านความสูงรายปีมากกว่า 60 ซม.ต่อปี เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโต จากการทดลองปลูกไม้เหรียงเปรียบเทียบการเจริญเติบโตกับไม้ชนิดอื่นอีก 5 ชนิด คือ สะตอ หลุมพอ ทัง ตำเสา และไม้เคี่ยม ที่สถานีทดลองปลูกพรรณไม้สงขลา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ในแปลงทดลองลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย (sandy loam) ระดับผิวดินลึกประมาณ 15 - 30 ซม. ค่า pH ประมาณ 4.6 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 - 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ดำเนินการทดลองในปี พ.ศ. 2525 การเจริญเติบโตของไม้เหรียงเมื่ออายุ 3 ปี ปรากฏว่ามีการเจริญเติบโตทางความสูงเฉลี่ย 2.04 ม. ความโตเฉลี่ย 3.50 ซม. มีอัตราการรอดตาย 91% เมื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตกับไม้ชนิดอื่น ๆ ในโครงการชนิดเดียวกัน ดังแสดงในตาราง

     ตารางเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของไม้เหรียงกับไม้ชนิดอื่น ๆ 5 ชนิด เมื่ออายุ 3 ปี ณ สถานีทดลองปลูกพรรณไม้สงขลา

ชนิดไม้ ความสูง (ม.) ความโต (ซม.) การรอดตาย (%)
เหรียง Parkia javanica 2.04 3.5 91
           
สะตอ  Parkia speciosa 0.96 1.51 37
           
หลุมพอ 

Intsia palembanica

0.91 1.44 46
           
ทัง     Litsea grandis 1.13 1.75 67
           
ตำเสา  Fragraea fragrans 2.12 3.23 88
           
เคี่ยม   Catylelobium melannxylon 0.9 1.02 24
          
ที่มา : สุทธิ  มโนธรรมพิทักษ์, 2529        

9.  วนวัฒนวิธีและการจัดการ

         ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับวนวัฒนวิธีและการจัดการของไม้เหรียงนั้น ยังไม่ได้มีการรายงานไว้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ไม้เหรียงที่ปลูกมีการรอดตาย และมีการเจริญเติบโตดี พ้นจากการแก่งแย่งของวัชพืชและศัตรูธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูก สิ่งที่ควรปฏิบัติมีดังนี้

         1.  การกำจัดวัชพืช  เนื่องจากไม้เหรียงเป็นไม้ที่ต้องการแสงมาก แม้ว่ากล้าไม้เหรียงจะมีความสามารถแก่งแย่งกับพวกวัชพืชได้ดีก็ตาม แต่ในปีแรกมีความจำเป็นต้องเอาใจใส่ดายวัชพืชให้ในกรณีที่มีพวกวัชพืชแย่งเบียดบัง ดังนั้นในการปลูกระยะแรก ๆ จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชไม่ให้สูงคลุมต้นเบียด และแย่งแสงและอาหารจากต้นไม้ได้ อาจกระจำโดยการดายวัชพืช โดยใช้แรงคนหรืออาจใช้สารเคมีพ่นก็ได้

         2.  การปลูกซ่อม  หลังจากปีแรกผ่านไป ควรมีการตรวจสอบและปลูกซ่อมต้นที่ตายเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ให้เต็มเนื้อที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในตอนแรก และยังช่วยให้การบำรุงรักษาสะดวกขึ้น

         3.  การป้องกันไฟ  โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการทำแนวกันไฟควนให้กว้างประมาณ 10 - 15 ม. รอบแปลงสวนป่า เพื่อป้องกันไฟภายนอกหรือจากการเผาไร่ไม่ให้ลุกลามเข้ามายังสวนป่า พวกวัชพืช เช่น หญ้าคาจะเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดีในฤดูแล้ง ดังนั้นการกำจัดวัชพืชที่ดีก็จะช่วยลดปัญหาด้านไฟได้เป็นอย่างดี ในพื้นที่ภาคใต้นิยมใช้ยา round up กำจัดวัชพืช

10. การใช้ประโยชน์

      เหรียงเป็นไม้โตเร็วอเนกประสงค์พื้นเมืองที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างดังนี้

      1.  การใช้ประโยชน์ด้านเนื้อไม้  ไม้เหรียงมีลำต้นกลม ตรง เปลา เนื้อไม้สีขาวนวล ไม่มีแก่น อ่อนและเปราะ เสี้ยนตรงสม่ำเสมอ เลื่อยผ่าได้ง่าย เหมาะที่จะทำพวกไม้บาง นำมาใช้ในการทำส่วนประกอบที่เบาหรือเป็นโครงร่างของการผลิตต่าง ๆ เช่น หีบใส่ของ รองเท้าไม้ ไม้หนาประกบพวกเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สอย เช่น พวกเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องครัว เครื่องมือวิทยาศาสตร์ แพ และเรือที่ขุดจากต้นไม้

      2.  ใช้ประโยชน์สำหรับเป็นผักบริโภค  กล้าของเหรียงที่เพาะใหม่ ๆ สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้เช่นเดียวกับสะตอ แต่เหรียงจะมีรสขมกว่า กรรมวิธีในการนำเมล็ดเหรียงออกมารับประทานก็คือ เมื่อฝักของเหรียงแก่จัดจะตกลงนั้น สามารถนำไปกระเทาเอาเมล็ดออกมา เมล็ดมีเปลือกแข็ง ทำให้สามารถเก็บเมล็ดได้นาน และจะนำมาเพาะได้เมื่อจำเป็น ในการเพาะควรตัดปลายเมล็ดแล้วนำไปเพาะในกะบะทรายจึงจะนำไปแช่น้ำค้างคืนก่อนที่จะมีความชุ่มชื้นเพียงพอ ต่อมาก็จะมีรากและใบเลี้ยงโผล่ออกมา ซึ่งใบเลี้ยงจะมีลักษณะสีเขียวจึงแกะเอาเปลือกออกล้างน้ำให้สะอาด นำไปรับประทานเป็นผักต่อไป

       3.  ใช้ประโยชน์ในการขยายพันธุ์พืช  เนื่องจากต้นเหรียงสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้แต่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม จึงมีการนิยมนำต้นเหรียงมาใช้เป็นต้นตอในการติดตาพันธุ์สะตอ

       4.  ใช้ประโยชน์ด้านการปรับปรุงดิน  เนื่องจากเหรียงเป็นพืชตระกูลถั่ว จึงมีคุณสมบัติทางด้านการบำรุงดินให้ดีขึ้น ใบของเหรียงมีขนาดเล็ก เหมาะสมในการนำมาปลุกควบกับพืชอื่น ๆ เช่น กาแฟ ทำให้กาแฟมีผลผลิตสูงขึ้นติดต่อกันไป

       5.  ใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ  เปลือกและเมล็ดของเหรียงมีคุณค่าทางด้านสมุนไพรดีกว่าสะตอ ส่วนใหญ่เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการจุกเสียด

Source : http://www.dnp.go.th/Pattani_botany/


พร 3 ประการที่อ่านแล้วต้องสะดุ้ง

3 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 5 มีนาคม 2010 เวลา 7:33 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1172

     ผมกลับจากไปร่วมงานบุญ “ส่งตายาย” ที่บ้านเกิด อ.ไชยาเมื่อ 2-3 วันก่อนก็ได้เข้าไปอ่านพบข้อความในบันทึกหนึ่งของ “ป้าจุ๋ม” หรือ อ.สมพิศ  ไม้เรียง พี่สาวที่รัก-เคารพ เล่าเรื่องการไปร่วมงานบุญที่ ร่มธรรม สถานฝึกอบรม ปฏิบัติธรรมของ อ.ไร้กรอบ (ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ) และพูดถึงพร 3 ประการที่หลวงพ่อท่านให้ไว้  ผมอ่านปั๊บก็รู้ได้ทันทีว่า มันคืออะไร ที่ชอบใจมากก็ตรงที่หากตีความตื้นๆไปตามตัวอักษรแล้วล่ะก็ หลายคนอาจมองว่ามันน่าจะเป็นคำสาปแช่งมากกว่าพร  แต่ความจริงแล้วมันคือพรอันประเสริฐเลยทีเดียว

     ผ่านมาวันสองวัน ผมก็ได้นำไปถ่ายทอดต่อเพื่อก่อประโยชน์ให้กับคนคุ้นเคยอีกหลายคน  รวมทั้งการใช้พูดคุยกับคนป่วยที่ผมไปเยี่ยมมาที่ รพ.พระมงกุฏฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมาด้วย  ผมเล่าเรื่องนี้ประกอบในการมอบหนังสือธรรมะเรื่อง เมื่อหมดทุกข์ก็พบสุข ของ ท่านอาจารย์พุทธทาส  งานนี้ทำเอา พี่แมว คนป่วยที่ผมไปเยี่ยม หน้าตาสดใส และดูมีกำลังใจมากขึ้นเยอะเลย  ก่อนกลับยังขอจับมือผมไปแนบที่หน้าพร้อมกล่าวคำขอบคุณซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมก็เลยทวนซ้ำคำพรจากหลวงพ่ออีกรอบดังนี้ ..

  1. ขอจง อย่ามีอนาคต
  2. ขอให้ หมดเนื้อ หมดตัว
  3. ขอ อย่าให้ได้ผุดได้เกิด

    อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างครับ .. แต่ที่อยากเตือนไว้ก็คือ อย่าเผลอใจร้อน รีบอวยพรใครแบบนี้ โดยไม่ดูตาม้าตาเรือนะครับ .. วิ่งหนีไม่ทันเดี๋ยวจะมาโทษกันว่าไม่เตือน .. แต่หากนึกตรึกตามดีๆ ก็จะพบว่านี่แหละคือสุดยอดคำพร ที่เราจะต้องทำให้ได้มากยิ่งๆขึ้นทุกวัน

   ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จครับ


เพียงละม้าย .. คล้ายละเมอ

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 7 ธันวาคม 2009 เวลา 12:03 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1131

    ผมเหมือนคนละเมอ  ตื่นมาเมื่อสักครู่  ร่างกายมันบอกว่านอนอิ่มแล้ว เลยนอนคิดอะไรๆแบบไม่ฟุ้งซ่านถึงสิ่งที่อยากทำต่อไปในชีวิตที่มีวันเวลาเหลืออยู่ไม่มากนัก

   นอนไม่หลับเพราะรู้สึกว่าอิ่มแล้ว เหลือบดูนาฬิกา ตามันบอกผมว่า 6 โมงเช้า  ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับความรู้สึกอิ่มและสดชื่นขณะนั้น  รู้สึกว่าน่าจะเพราะเราได้สูดอากาศบริสุทธิ์ที่หาไม่ได้ในกทม.ต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนเช้า  แถมได้ออกกำลังกายย่ำไปย่ำมาอยู่กลางนาแทบทั้งวัน  นั่นกระมังที่ทำให้เราหลับลึก-ยาวจนถึง 6 โมงเช้าโดยไม่รู้ตัว 

    แปลกใจนิดๆว่าสหายเจ้าของบ้านท่าจะนอนตื่นสายเหมือนกัน  เพราะเดินดุ่มมาด้วยกัน สางนั่น ตัดโน่น ดึงนี่ ช่วยกันอยู่ในแปลงสวนป่าเนื้อที่ราว 1 ไร่ข้างบ้าน ตั้งแต่เช้าเมื่อวานที่ผมมาถึง จนเวลาล่วงไปใกล้ 11 น. โดยเราไม่ทันรู้ตัว เพราะเพลินกับงานที่เนื่องอยู่กับดิน ต้นไม้ และชีวิต ทานข้าวต้มรองท้องเล็กน้อยก่อนต่อไปยังแปลงนา ทั้งๆที่ผมยังไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้า หรืออาบน้ำอาบท่า จนกระทั่งได้มารวบยอดเอาตอนค่ำครั้งเดียว  หลังจากย่ำเรียนรู้อยู่ในแปลงนาจนมืด

    นอนคิดถึง สุ  จิ  ปุ  ลิ  ว่าเรานี้ดูจะละเลยตัว ลิ เอามากๆในระยะหลัง เมื่อปัญหาประเดประดังมาให้แก้ และเตรียมการแก้มีปริมาณค่อนข้างมาก และค่อนข้างหนักในสายตาคนรอบข้าง  แต่คาถา “เช่นนั้นเอง” ของท่านอาจารย์พุทธทาส  ออกฤทธิ์ ช่วยผมได้เสมอ  ไม่ต้องเสี่ยงต่ออาการเสียสติ หรือเป็นบ้าแต่ประการใด

    คิดแล้วจึงคว้าเจ้า Netbook Acer Aspire 1 พร้อมอุปกรณ์ประกอบจากกระเป๋า ค่อยๆย่างก้าวลงมา  เพราะกลัวเจ้าของบ้านตื่น  แง้มประตูออกมายึดระเบียงหน้าบ้าน  รับลมเย็นยามเช้าตรู่  ตั้งใจว่าจะนั่งบันทึกอะไรๆซักหน่อย  อีกราว 1-2 ชั่วโมงค่อยอาบน้ำ

    ติดตั้งเครื่องเรียบร้อย มองที่ขอบล่างของจอมันบอกเวลาว่า .. 1 : 07 น. ผมงงว่า เวลามันเพี้ยนไปได้อย่างไร กะว่าจะ Set เวลาเสียใหม่ให้ถูกต้อง  ครั้นไปกดดูเวลาจาก HTC Viva ที่กำลังจะทำหน้าที่นำสัญญาณ Internet เข้ามาทางระบบ GPRS มันก็บอกเวลาตรงกัน  ผมจึงได้คำตอบชัดเจนว่า 1 : 07 นั้นถูกต้องแล้ว  ยังไม่ถึง 6 โมงเช้าแต่ประการใด  ก็เลยถามตัวเองว่าละเมอไปหรือเปล่า  ก็ได้คำตอบว่า “ไม่” ผมว่าแท้จริงแล้วมันเพียง ละม้ายๆ คล้ายละเมอเสียมากกว่า  เพราะเราทำทุกอย่างจนกระทั่งหอบข้าวของเดินลงมา  ด้วยสติที่สมบูรณ์ทุกประการ  หลักฐานก็คือข้อความที่บันทึกข้างบนทั้งหมด .. ยังอ่านรู้เรื่องใช่มั้ยครับ 

    เขียนจบผมก็ยังไม่ง่วง เลยกะจะทำงานกับข้อมูลประเภทภาพถ่ายที่ได้มาจากแปลงนาไปเรื่อยๆจนกว่าร่างกายจะรู้สึกง่วง หากยังไม่ถึง 6 โมงเช้าจริงๆ ค่อยงีบต่ออีกสักนิด  และแล้ว .. ก็ได้ยินเสียงคนเดินลงมาดึงประตูบ้านปิดเพราะคิดว่าลืมปิดเมื่อตอนก่อนเข้านอน  ไม่ใช่ใครที่ไหน นางฟ้าเพื่อนร่วมชีวิต คู่ใจของท่านสหายของผมนั่นเอง ผมต้องรีบเคาะประตูบอกเธอว่าผมเอง .. อยู่ข้างนอก นอนอิ่มแล้วเลยมานั่งรับลมเย็นหน้าบ้าน  .. เกือบไปแล้วครับ .. เกือบถูกเจ้าของบ้านกักบริเวณให้ต้องอยู่กับความหนาวเย็นนอกบ้าน (โดยไม่เจตนา)

    บทสรุป  เมื่อวานทั้งวันผมมีความสุขมากครับ ได้คิด ได้ทำ ได้ถาม ได้เรียนรู้ และความรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือรู้ว่า .. ลูกชาวนาอย่างผมยังมี ความไม่รู้ อีกมากมายในเรื่อง ดิน  น้ำ  ข้าว  และ การทำนา

    I Know What I Don’t Know !

   อิ อิ อิ

    และนี่คือ ลิขิตด้วยภาพครับ …

                      

                                         

                                 

                                     


เห็นอะไร ทำอะไรที่ Thai Sikh International School

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 25 ตุลาคม 2009 เวลา 10:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1200

   23-24-25 ตุลาคม  ผมมีรายการอบรมครูต่างชาติซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 7 แล้ว  ความแตกต่างจากที่เคยทำมาได้แก่

  • เป็นการออกไปจัดนอกมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก
  • ผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 31 คนเป็นครูต่างชาติที่สอนในโรงเรียนเดียวกัน
  • ครูทุกคนเป็นคนอินเดีย ไม่ได้มาจากหลากหลายชาติ หลายวัฒนธรรมอย่างที่ผ่านมา
  • ครูทุกคล้วนมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทาง Education

    เมื่อวานนี้ (23 ตค.) ผมออกจากจันทรเกษมตั้งแต่หกโมงเศษๆ ด้วยเป็นวันหยุดรถตู้ที่ทางโรงเรียนจัดมารับ จึงวิ่งฉลุยไปถึงที่หมายคือ Thai Sikh International School ตั้งแต่ 7.45 น. ประทับใจมากๆตั้งแต่อัธยาศัยไมตรีของคนขับรถ ต่อเนื่องไปถึงฝ่ายบริหารที่มารอให้การต้อนรับขับสู้อย่างอบอบอุ่นและเป็นกันเองอย่างยิ่ง  ผมและทีมงานนั่งทานกาแฟและของว่างได้สักพักก็อดไม่ได้ ต้องไปเก็บภาพความงามอย่างมีสาระมาฝาก เพราะสังเกตตั้งแต่แรกเข้ามาแล้วว่า มีอะไรน่าสนใจไม่น้อยเลย นี่ไงครับ

   

      ความงามและความสะอาดของอาคารสถานที่

 

ข้อความดีๆเพื่อเตือนจิต สะกิดใจ ที่ติดไว้บนผนังและเสาหน้าอาคาร 

    ถึงเวลา 8.45 น. ก็มีพิธีเปิดเล็กน้อย  โดยท่านรองคณบดีฝ่ายบริหาร คือผศ.ประไพ  บวรฤทธิเดช กล่าวรายงานถึงจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและความเป็นมาของโครงการ ตามด้วยการกล่าวเปิดงานโดยท่านอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน  เสร็จพิธีผมก็คว้าไมค์มาทักทายผู้เข้ารับการอบรมที่นั่งกันเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ นิ่ง จนรู้สึกว่าจะอึดอัดเล็กน้อย  ก็เลยบอกว่าน่าจะผ่อนคลายด้วยการกระจายกันนั่งเป็นกลุ่ม เป็นวงตามโอกาสที่เราจะจัดการให้เกิดการเรียนรู้แบบสบายๆ และผ่อนคลาย

พิธีเปิด ตามด้วยกิจกรรมการเรียนรู้รายการแรก
    รายการแรกว่าด้วยเรื่อง Related Regulations and Professional Ethics ซึ่งอาจารย์ติ๊ก วิลาวัณย์ จารุอริยานนท์ รับผิดชอบร่วมกับผม  ผมปล่อยให้อาจารย์ติ๊กคุยแบบ Introduction ไปสักพักก็เปลี่ยนกิจกรรมโดยให้ไล่นับ 1-6 เพื่อแบ่งกลุ่มแบบ Random เป็น 6 กลุ่ม มอบให้แต่ละกลุ่มอ่านเนื้อหาในเอกสารกลุ่มละหัวข้อไม่ซ้ำกัน  ผ่านไป 30 นาทีก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอสาระที่สรุปได้ต่อกลุ่มใหญ่  พบว่าผู้เข้าอบรมทำได้ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสรรค์สื่อ Graphic มาช่วยทำให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมและเห็นความเชื่อมโยงของส่วนย่อยที่นำเสนอว่า เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างไร  มีทั้งการใช้สื่อ Visualizer เพื่อนำเสนองานที่เขียนบนกระดาษ A-4  ใช้ Powerpoint และ การพูดสรุปปากเปล่า โดยไม่มี Visual Media ใดๆ 

    ส่วนหนึ่งของการวิจารณ์ ให้ข้อคิด แทนที่ผมจะไปบอกกลุ่มที่ไม่ใช้สื่อว่าน่าจะได้ใช้สื่อช่วยบ้าง อย่างน้อยเพื่อให้เห็นประเด็นที่สรุปมา  ผมกลับเลือกใช้วิธีอ้อมๆ  แบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น  กล่าวคือ ผมบอกว่าดีใจที่นอกจากได้เห็นการสรุปและนำเสนอสาระกันได้อย่างดี เข้าใจง่ายแล้ว ในแง่ของการเลือกใช้สื่อก็มีความหลากหลายดีมาก  และบอกว่าการนำเสนอข้อมูลที่เป็นสื่อกราฟิก หรือทำให้ข้อความที่เป็นหัวข้อ เป็นประเด็นสำคัญปรากฏบนจอนั้น ช่วยให้ผู้ฟังติดตามและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลาในการถ่ายทอดได้  แต่ก็เตือนย้ำว่าถ้ามากไปก็ไม่น่าสนใจเพราะผู้ฟังจะไม่ได้คิด เนื่องจากทุกอย่างมันชัดหมดแล้ว  ส่วนการให้ฟังอย่างเดียวแม้จะเสี่ยงกับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ก็มีส่วนดีคือ ช่วยให้ผู้ฟังมีความตั้งใจ มีสมาธิที่จะติดตามเรื่องราวมากกว่าการใช้สื่อช่วย  เพราะไม่ถ้าตั้งใจฟังก็จะไม่รู้เรื่อง 

     สรุปแล้วการจะใช้สื่อแบบไหน อย่างไรก็ต้องปรับตามความเหมาะสม  สื่อเทคโนโลยีช่วยให้ ง่าย และ เร็ว แต่หลายครั้ง ความง่ายและเร็ว ทำให้ ผู้เรียนขาดโอกาสเรียนรู้ ขอให้ระมัดระวัง ..

     แอบสอนการใช้สื่อไปเรียบร้อย ในแง่มุมที่ผมห่วงมาตลอด  เพราะสังเกตเห็นมามาก ว่าครูใช้ประสิทธิภาพของสื่อ คือ ความเร็ว และ ความง่าย มาทำลายโอกาสแห่งการเรียนรู้แบบไม่รู้ตัว อย่างน่าเสียดาย  กลายเป็น สื่อกลับมาทำให้ผู้เรียนอ่อนด้อย และอ่อนแอ  ซึ่งไม่น่าจะปล่อยให้เกิดขึ้น

 


ทำไม “มนุษย์น้ำลาย” จึงแพร่หลายและขายดี

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 23 ตุลาคม 2009 เวลา 9:32 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1132

     ดร.แสวง  รวยสูงเนิน ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์น้ำลายไว้ในบันทึกหนึ่ง  ผมอ่านแล้วเกิดอาการคัน  จึงไปเสริมไว้ดังนี้ …   

     มนุษย์น้ำลาย ไม่ว่าจากสายวิชาชีพใด หรือร่ำเรียนมาทางศาสตร์แขนงไหน ที่เราเห็นกระจายพันธุ์อยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองนั้นน่าจะมาจากหลายเหตุครับ

        เท่าที่นึกออกตอนนี้ได้แก่ ..

  • เหตุที่มาจากระบบ เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ที่ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คนเข้มแข็งและพึ่งตัวเองได้ .. พวกเขาพล่ามจนคนเพลิน และหลงรอคอยการช่วยเหลือของอัศวินม้าขาว .. เลยได้ก้าวสู่การเป็น “นักเสวยผล” โดยไม่นิยม “การสร้างเหตุ” ไปโดยไม่รู้ตัว .. เขานิยมการฟังสิ่งที่ลื่นๆ ระรื่นหู จนเคลิ้มไป ในความเพ้อฝัน .. มนุษย์น้ำลาย จึงดำรงเผ่าพันธุ์ และอ้วนพีอยู่ได้ .. เป็น Supply ที่แปรไปตาม Demand นั่นเองครับ
  • เหตุมาจาก ระบบการให้การศึกษา หรือการจัดการเรียนการสอนที่ผิดพลาดมายาวนาน .. สอนให้จดจำเป็นหลัก เรื่องความคิดในเชิงเหตุผล หรือตรรกะ เอาไว้ทีหลัง ทำกันอยู่เยี่ยงนี้มายาวนาน  การเรียนรู้อย่างอุดมทุกข์แลไร้ความหมาย จึงเกิดขึ้นในทุกระดับ  สอนกันแบบพราหมณ์ร่ายเวทย์ คือ “ท่องจำ แล้ว บอกต่อ” คนจำได้มากและพูดคล่องจึงอยู่ในตำแหน่ง “คนเก่ง” มายาวนาน พูดได้ทุกเรื่อง ขออย่าให้ทำก็แล้วกัน  มันจะสะดุดทันที .. การสอนว่ายน้ำอยู่บนบก หรือ การสอนปลูกผักบนกระดานดำ จึงว่ากันไปได้นานๆเสมอ .. เก่งศีลธรรมคือท่องศีลห้าได้ ก็ยังเห็นชื่นชมกันอยู่นี่ครับ 


อีกหนึ่งความสุข ที่จันทบุรี

1 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 29 สิงหาคม 2009 เวลา 10:34 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1257

      ผมและทีมงานมีภารกิจบางประการตอนเช้าวันที่ 25 สค. 52 จึงออกเดินทางจาก กทม. ราว 9.50 น. มุ่งหน้าสู่เมืองจันทบุรี  ที่ซึ่งนักศึกษาเอกดนตรี และนาฏศิลป์ สังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ราว 160 คนรอคอยอยู่  โดยมีตารางสอน 13-16.00 น. เมื่อวานนี้ และ 9-12.00 น. อีกครั้งหนึ่งในวันนี้ครับ

     เราทำเวลาจนมาถึงที่หมายคือหอสมุดแห่งชาติจันทบุรีเวลาประมาณ 12.50 น. ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นกันเอง และอบอุ่นยิ่งจากคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ  หลังทานอาหารกลางวันแบบ Quick Action ประมาณ 15 นาทีก็เข้าสู่ห้องประชุมซึ่งใช้เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่นักศึกษาที่น่ารักกำลังรอคอยอยู่

     กิจกรรม “ชวนคิดชวนคุย” ได้รับความสนใจจากนักศึกษาดีมาก  ช่วยกันคิด ขีดเขียน และนำเสนอ ความคิด ที่เกิดจากการดูภาพ 4 ภาพที่ผมจัดให้  ตัวแทนทั้ง 6 กลุ่มนำเสนอเสร็จก็ถึงเวลาพัก 10 นาที

     จากนั้นผมจึงได้ชวนคิดชวนคุยต่อ โดยมุ่งเน้นการวางยาป้องกันความหลงผิด และเสริมการมีฐานคิดที่ถูกต้องในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้สนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ และส่งเสริมงานในหน้าที่ครู ตลอดจนการชี้ให้เห็นความถูกต้อง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในด้านการศึกษาและการเรียนรู้  ตามด้วยการเสนอตัวอย่างการใช้ ICT สร้างเครือข่ายการเรียนรู้  อันจะทำให้โลกของครูเปิดกว้าง  ได้รับความร่วมมือร่วมใจ จากกัลยาณมิตร ที่มีอยู่มากมายแต่เราไม่อาจรู้ได้โดยปราศจากการใช้พลังและศักยภาพของสื่อชนิดนี้

     งานนี้ผมเริ่มจากแนะนำให้พวกเขาลองใช้ Google ค้นหา หรือ Search ด้วยการพิมพ์คำสั้นๆว่า “น้องจิ” แล้วผมก็แสดงให้ดูบนจอใหญ่ เล่าความเป็นมาเป็นไป และสิ่งดีๆที่เด็กน้อย นักศึกษาสาวจากบางลี่ได้รับ ชนิดที่แทบเรียกได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ จากการรู้จักใช้สื่อ ICT สร้างเครือข่ายความรักและการเรียนรู้  ตามได้ตัวอย่างจริงๆที่ผมได้สร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้สื่อ ICT เพื่อส่งสริมการปฏิบัติหน้าที่ในแง่มุมต่างๆ อย่างหลากหลาย  เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ และเกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา มีฉันทะ ต่อการหาทางใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาตน พัฒนางาน  และสัญญาว่าวันรุ่งขึ้น จากเช้าถึงเที่ยง  จะแนะนำ สาธิต และฝึกปฏิบัติการสร้าง Blog ตามด้วยการสอนเสริมเรื่องสื่อ Presentation ที่ดี  โดยสอนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในผลงานที่แต่ละกลุ่มทำส่ง นั่นคือ Powerpoint สั้นๆ 5-10 Slide กลุ่มละ 1 เรื่อง   ผมพบเสมอว่าวิธีดังกล่าวดีกว่ามานั่ง Lecture ไปตามหัวข้อเนื้อหา

     มี Case สดๆจากการกระทำ การปฏิบัติของพวกเขาได้  จะมัวไปแห้งแล้ง อยู่กับของแห้งๆทำไม .. จริงมั้ยท่านผู้ชม !

     ที่กะว่าจะเสริมให้อีกในวันนี้ตามเวลาที่มีจำกัดได้แก่แนวทางง่ายๆในการจัดการกับสื่อภาพนิ่ง ไฟล์เสียง และ และ การสร้างสื่อภาพเคลื่อนไหวอย่างง่าย เพื่อนำสู่การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ .. ก็ไม่ได้หวังอะไรมาก  เพราะมีเวลาอีกเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น  อีกทั้งกลุ่มก็ใหญ่ตั้ง 160 คน  แต่ผมก็อุ่นใจ เพราะได้แจ้งช่องทางการติดต่อให้ไปแล้วทั้งทางมือถือ e-mail และ Blog พร้อมตอกย้ำว่าไม่ต้องเกรงใจ เพราะผมมีความสุขเสมอที่จะได้มีส่วนช่วยแม้แต่เล็กๆน้อยๆ ให้คนป็นครู หรือว่าที่ครู ได้ทำหน้าที่ได้ดี และสะดวกสบายยิ่งขึ้น .. และเสริมกำลังใจว่า ครูคืออาชีพที่ยิ่งใหญ่ .. เป็น “ผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์” อย่างไร

     4 โมงเย็นแล้ว  ผมขอยืดเวลาชดเชยที่เข้าช้าไปราว 15 นาที ซึ่งดูทุกคนก็ยินดี ไม่มีปัญหาครับ  เข้าที่พักที่โรงแรม นิวแทรเวิลลอดจ์ ราว 5 โมงเย็น  พักผ่อนนอนเล่น(แต่เผลอหลับไปเล็กน้อย)  ก่อนที่ทางคณะผู้จัดงานนำรถตู้มารับไปทานอาหารเย็นที่แสนอร่อยด้วยรสชาติ และอุดมด้วยคุณค่า ที่ร้านคุณแดง 

      เชื่อมั้ยครับว่าเมนูเด็ดในส่วนของหวานคือ “กล้วยปิ้ง” .. กล้วยน้ำว้าปิ้งนี่แหละ แต่รับรองว่า ไม่ธรรมดาครับ .. พิเศษอย่างไร .. ยังไม่บอกครับ

 

 

                                                   

 

 

                                              

 

 

                                                



Main: 0.28711485862732 sec
Sidebar: 0.060927152633667 sec