วิชา เหรียง (2)
อ่าน: 1246จาก “วิชาเหรียง” ตอนที่หนึ่งทำให้ผมคิดต่อว่าน่าจะได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพืชชนิดนี้เก็บไว้ประกอบการเรียนรู้ ตอนแรกจะเก็บเป็นไฟล์เอกสารไว้ใช้ส่วนตัวแต่มาคิดอีกที คนอื่นที่ควรได้ประโยชน์จากสิ่งที่รวบรวมก็หมดโอกาส จึงตัดสินใจนำสิ่งที่สืบค้นได้มารวบรวมไว้ที่นี่ เป็นบันทึกชื่อ วิชา “เหรียง”(2)
รายละเอียดมีดังนี้ครับ
*
เหรียง
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Parkia timoriana Merr.
ชื่อวงศ์ :MIMOSACEAE
ชื่ออื่น ได้แก่ กะเหรี่ยง, เรียง, สะเหรี่ยง (ใต้); นะกิง, นะริง (มาเลย์-ใต้) (เต็ม สมิตินันทน์, 2523); สะตือ (ใต้) (กัญจนา ดีวิเศษ,2542)
ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30-50 เมตร ไม่ค่อยมีกิ่งก้านที่ลำต้น เปลือกเรียบและหนาสีเทาปนเขียวอ่อน มีกลิ่นฉุน ลักษณะทั่วไปคล้ายสะตอ แต่พุ่มใบแน่น และเขียวทึบกว่า ใบใหญ่และหนากว่าสะตอ ลักษณะใบเป็นแบบช่อ ใบประกอบมี 18-33 คู่ ใบแคบปลายแหลม ใบแก่จะเป็นสีเหลืองร่วงเกือบหมดต้น และผลิใบใหม่แทน ลักษณะดอกเป็นดอกช่อแบบสะตอ ออกที่ปลายยอด เป็นก้านยาวสีเขียวสลับน้ำตาล ลักษณะผลเป็นฝัก กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยางประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมล็ดรูปไข่ ประมาณ 15-20 เมล็ดต่อฝัก ฝักแก่เต็มที่มีสีดำ เมล็ดในสีดำ เนื้อในเมล็ดมีสีเขียวเข้ม และมีกลิ่นฉุน เปลือกต้นเป็นยาสมานแผล ลดน้ำเหลือง เมล็ดเมื่อแก่ตัดส่วนปลายนำไปเพาะให้แตกรากสั้นๆ รับประทานสดหรือดอง
Source : http://www.scitour.most.go.th
**
เหรียง
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Parkia timoriana Merr.
วงศ์ : LEGUMINOSAE - MIMOSOIDEAE
เหรียง เป็นพืชสกุลเดียวกับสะตอ เหรียงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 50 เมตร ต้น เปลา ตรง เกลี้ยง เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลือง ไม่มีแก่น อ่อนและเปราะ มีเสี้ยนตรงกลางอย่างสม่ำเสมอ เนื้อไม้ผ่าได้ง่าย จึงเหมาะที่จะทำเป็นไม้บางๆ ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ใบเรียงสลับ ใบย่อยจำนวนมาก รูปขอบขนาน ดอกช่อ ออกเป็นช่อกลม ก้านช่อยาว ผล เป็นฝัก แคบ แบน ออกดอกเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม ติดฝักเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำลังใส่ของ ก่อสร้างภายใน เมล็ด เพาะให้งอก นำไปดอง รับประทานเป็นผัก เปลือกและเมล็ด ขับลมในลำไส้ ถิ่นกำเนิด อินเดีย และปาปัวนิวกินี เป็นพืชเขตร้อน ชอบที่มีน้ำฝนและมีความชุ่มชื้นในอากาศสูง
Source : http://www.wangtakrai.com/panmai/detail.php?id=357
***
เหรียง
1. ชื่อพันธุ์ไม้ เหรียง
2. ชื่อสามัญ (ไทย)เหรียง เรียง สะเหรี่ยง (ภาคใต้) กะเหรี่ยง นะกิง นะริง
(มาลายู ภาคใต้)
(อังกฤษ) -
3. ชื่อวิทยาศาสตร์ Parkia javanica Merr. และมีชื่อพ้องทางพฤกษศาสตร์ คือ
P. timoriana Merr. , P. roxburghii G. Don.
4. ชื่อวงศ์ Mimosaceae
5. การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ
เหรียง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ แถบหมู่เกาะติมอร์ และแถบเอเซียเขตร้อน ซึ่งรวมตั้งแต่ประเทศอินเดีย จนถึงประเทศปาปัวนิวกินี สำหรับในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ชอบขึ้นตามป่าดิบชื้น ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ต่ำจนถึงพื้นที่สูงถึง 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่อย่างไรก็ตามอาจมีบ้างที่เจริญเติบโตได้ในระดับสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เหรียงเป็นไม้ที่ชอบแสงกสว่างและพื้นที่ค่อนข้างชุ่มชื้น มักจะเริ่มผลัดใบในขณะที่ออกช่อดอก และใบจะร่วงหล่นจนหมดต้นเมื่อผลเริ่มแก่พร้อม ๆ กับใบอ่อนที่ผลิออกมาใหม่
6. ลักษณะทางวนวัฒนวิทยา
เหรียงเป็นพืชวงศ์เดียวกับสะตอและลูกดิ่ง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง สูงถึง 50 เมตร มีพูพอนสูงถึง 7 เมตร ลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับสะตอ แต่แตกต่างกันตรงที่พุ่มใบของเหรียงมักจะเป็นพุ่มกลม ไม่แผ่กว้างมากนักพุ่มใบแน่นและเป็นสีเขียวทึบกว่าพุ่มใบของสะตอ เปลือก เรียบ กิ่งก้านมีขนปกคลุมประปราย
ใบ ก้านใบยาว 4 - 12 ซม. มีต่อมรูปมนยาว 3.5 - 5 มม. อยู่เหนือโคน ก้านแกนช่อใบยาว 25 - 40 ซม. มีช่อใบแขนงด้านข้าง 18 - 33 คู่ ใต้รอยต่อของก้านช่อใบแขนงด้านข้างมักจะมีต่อมเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 - 3 ซม. ช่อใบแขนงยาวประมาณ 7 - 12 ซม. แต่ละช่อมีใบย่อย 40 - 70 คู่ ใบย่อยรูปขอบขนานแคบ ๆ กว้าง 5 - 7 มม. ยาว 1.5 - 1.8 มม. ปลายใบแหลมโค้งไปทางด้านหน้า ฐานใบมักจะยื่นเป็นติ่งเล็กน้อย เส้นแขนงใบด้านข้างไม่ปรากฏชัดเจน
ดอก ออกเป็นช่อกลม ขนาดของดอกกว้าง 2 ซม. ยาว 5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 20 - 25 ซม. ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น ๆ และใบประดับยาว 4 - 10 มม. รองรับกลีบรองกลีบดอกของดอกสมบูรณ์เพศเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 8 - 11 มม.
ผล เป็นฝักกว้าง 3 - 4 ซม. ยาว 22 - 28 ซม. ตัวฝักตรงไม่บิดเวียนเหมือนสะตอบางพันธุ์ เมล็ดไม่นูนอย่างชัดเจน แต่ละฝักมีเมล็ดรูปไข่ ขนาดประมาณ 11 x 20 มม. ประมาณ 20 เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดหนาสีคล้ำ
ระยะการออกดอก-ผล ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ฝักแก่ประมาณเดือนมกราคม - กุมภาพันธุ์
7. การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์เหรียงที่นิยมกันมากในปัจจุบันคือ การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด นอกจากนี้ยังสามารถขยายพันธุ์โดยมีวิธีอื่น ๆ ได้อีก เช่น การตัดกิ่งปักชำ และการขยายพันธุ์โดยการติดตา แต่การขยายพันธุ์โดยการตัดกิ่งปักชำ และการติดตานั้น ยังไม่เป็นที่นิยมปฏิบัติกัน
การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเมล็ดคือ ช่วงเดือนมีนาคม จนถึงเดือนพฤษภาคม วิธีการเก็บเมล็ด เก็บจากฝักแก่ที่ร่วงหล่นบนดิน นำฝักมาผึ่งแดดให้แห้งเกรียม แล้วใช้ไม้ค้อนทุบให้ฝักแตกแกะเมล็ดออก
การปฏิบัติต่อเมล็ดและการเพาะเมล็ด ใช้มีดตัดขั้วเมล็ดให้ขาดออกเล็กน้อยแล้วนำไปแช่น้ำ 1 คืน นำเมล็ดมาผึ่งให้แห้งก่อนเพาะในแปลงเพาะ หรือเพาะลงในถุงพลาสติก แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากเพาะประมาณ 2 -3 วัน ก็จะเห็นต้นอ่อนของต้นกล้าโผล่ออกมา เมื่อกล้าอายุได้ประมาณ 2 เดือน ความสูงพอประมาณก็ทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้
8. การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์
ในการปลูกเหรียงนั้นสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกก่อนคือ การเลือกพื้นที่ที่จะปลูก ในการเลือกพื้นที่ปลูกเหรียงนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเหรียงเป็นสำคัญ จากที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เหรียงเป็นพืชในเขตร้อนชื้นซึ่งชอบที่มีประมาณน้ำฝนและความชื้นในอากาศที่สูง มีปริมาณฝนตกมากพอสมควรประมาณ 2,500 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20 - 30 องศาเซลเซียส เป็นไม้ที่ต้องการแสง ลักษณะดินชอบดินที่อุ้มน้ำ และเก็บความชื้นได้ดีส่วนมากเป็นดินเหนียว หรือดินร่วนปนทราย ดังนั้นในการเลือกพื้นที่ปลูกเหรียงจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย
การปลูกไม้เหรียงควรจะทำการปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้กล้าไม้เจริญเติบโตได้ดี มีเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายปลูกควรอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ขนาดของกล้าไม้ที่เหมาะสมในการย้ายปลูกอายุประมาณ 2.5 เดือน สูงประมาณ 30 ซม.
สำหรับระยะปลูกนั้นควรพิจารณาจากความกว้างของเรือนยอดเมื่อไม้โตเต็มที่ ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 8 x 8 เมตร หรือ 10 x 10 เมตร เมื่อปลูกเหรียงแล้ว เนื่องจากเรือนยอดเหรียงโปร่ง อาจพิจารณาปลูกไม้ชนิดอื่นใต้ต้นเหรียงได้
เหรียงเป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วชนิดหนึ่ง มีความเพิ่มพูนทางด้านความสูงรายปีมากกว่า 60 ซม.ต่อปี เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโต จากการทดลองปลูกไม้เหรียงเปรียบเทียบการเจริญเติบโตกับไม้ชนิดอื่นอีก 5 ชนิด คือ สะตอ หลุมพอ ทัง ตำเสา และไม้เคี่ยม ที่สถานีทดลองปลูกพรรณไม้สงขลา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ในแปลงทดลองลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย (sandy loam) ระดับผิวดินลึกประมาณ 15 - 30 ซม. ค่า pH ประมาณ 4.6 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 - 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ดำเนินการทดลองในปี พ.ศ. 2525 การเจริญเติบโตของไม้เหรียงเมื่ออายุ 3 ปี ปรากฏว่ามีการเจริญเติบโตทางความสูงเฉลี่ย 2.04 ม. ความโตเฉลี่ย 3.50 ซม. มีอัตราการรอดตาย 91% เมื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตกับไม้ชนิดอื่น ๆ ในโครงการชนิดเดียวกัน ดังแสดงในตาราง
ตารางเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของไม้เหรียงกับไม้ชนิดอื่น ๆ 5 ชนิด เมื่ออายุ 3 ปี ณ สถานีทดลองปลูกพรรณไม้สงขลา
ชนิดไม้ | ความสูง (ม.) | ความโต (ซม.) | การรอดตาย (%) |
เหรียง Parkia javanica | 2.04 | 3.5 | 91 |
สะตอ Parkia speciosa | 0.96 | 1.51 | 37 |
หลุมพอ
Intsia palembanica |
0.91 | 1.44 | 46 |
ทัง Litsea grandis | 1.13 | 1.75 | 67 |
ตำเสา Fragraea fragrans | 2.12 | 3.23 | 88 |
เคี่ยม Catylelobium melannxylon | 0.9 | 1.02 | 24 |
ที่มา : สุทธิ มโนธรรมพิทักษ์, 2529 |
9. วนวัฒนวิธีและการจัดการ
ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับวนวัฒนวิธีและการจัดการของไม้เหรียงนั้น ยังไม่ได้มีการรายงานไว้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ไม้เหรียงที่ปลูกมีการรอดตาย และมีการเจริญเติบโตดี พ้นจากการแก่งแย่งของวัชพืชและศัตรูธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูก สิ่งที่ควรปฏิบัติมีดังนี้
1. การกำจัดวัชพืช เนื่องจากไม้เหรียงเป็นไม้ที่ต้องการแสงมาก แม้ว่ากล้าไม้เหรียงจะมีความสามารถแก่งแย่งกับพวกวัชพืชได้ดีก็ตาม แต่ในปีแรกมีความจำเป็นต้องเอาใจใส่ดายวัชพืชให้ในกรณีที่มีพวกวัชพืชแย่งเบียดบัง ดังนั้นในการปลูกระยะแรก ๆ จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชไม่ให้สูงคลุมต้นเบียด และแย่งแสงและอาหารจากต้นไม้ได้ อาจกระจำโดยการดายวัชพืช โดยใช้แรงคนหรืออาจใช้สารเคมีพ่นก็ได้
2. การปลูกซ่อม หลังจากปีแรกผ่านไป ควรมีการตรวจสอบและปลูกซ่อมต้นที่ตายเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ให้เต็มเนื้อที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในตอนแรก และยังช่วยให้การบำรุงรักษาสะดวกขึ้น
3. การป้องกันไฟ โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการทำแนวกันไฟควนให้กว้างประมาณ 10 - 15 ม. รอบแปลงสวนป่า เพื่อป้องกันไฟภายนอกหรือจากการเผาไร่ไม่ให้ลุกลามเข้ามายังสวนป่า พวกวัชพืช เช่น หญ้าคาจะเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดีในฤดูแล้ง ดังนั้นการกำจัดวัชพืชที่ดีก็จะช่วยลดปัญหาด้านไฟได้เป็นอย่างดี ในพื้นที่ภาคใต้นิยมใช้ยา round up กำจัดวัชพืช
10. การใช้ประโยชน์
เหรียงเป็นไม้โตเร็วอเนกประสงค์พื้นเมืองที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างดังนี้
1. การใช้ประโยชน์ด้านเนื้อไม้ ไม้เหรียงมีลำต้นกลม ตรง เปลา เนื้อไม้สีขาวนวล ไม่มีแก่น อ่อนและเปราะ เสี้ยนตรงสม่ำเสมอ เลื่อยผ่าได้ง่าย เหมาะที่จะทำพวกไม้บาง นำมาใช้ในการทำส่วนประกอบที่เบาหรือเป็นโครงร่างของการผลิตต่าง ๆ เช่น หีบใส่ของ รองเท้าไม้ ไม้หนาประกบพวกเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สอย เช่น พวกเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องครัว เครื่องมือวิทยาศาสตร์ แพ และเรือที่ขุดจากต้นไม้
2. ใช้ประโยชน์สำหรับเป็นผักบริโภค กล้าของเหรียงที่เพาะใหม่ ๆ สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้เช่นเดียวกับสะตอ แต่เหรียงจะมีรสขมกว่า กรรมวิธีในการนำเมล็ดเหรียงออกมารับประทานก็คือ เมื่อฝักของเหรียงแก่จัดจะตกลงนั้น สามารถนำไปกระเทาเอาเมล็ดออกมา เมล็ดมีเปลือกแข็ง ทำให้สามารถเก็บเมล็ดได้นาน และจะนำมาเพาะได้เมื่อจำเป็น ในการเพาะควรตัดปลายเมล็ดแล้วนำไปเพาะในกะบะทรายจึงจะนำไปแช่น้ำค้างคืนก่อนที่จะมีความชุ่มชื้นเพียงพอ ต่อมาก็จะมีรากและใบเลี้ยงโผล่ออกมา ซึ่งใบเลี้ยงจะมีลักษณะสีเขียวจึงแกะเอาเปลือกออกล้างน้ำให้สะอาด นำไปรับประทานเป็นผักต่อไป
3. ใช้ประโยชน์ในการขยายพันธุ์พืช เนื่องจากต้นเหรียงสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้แต่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม จึงมีการนิยมนำต้นเหรียงมาใช้เป็นต้นตอในการติดตาพันธุ์สะตอ
4. ใช้ประโยชน์ด้านการปรับปรุงดิน เนื่องจากเหรียงเป็นพืชตระกูลถั่ว จึงมีคุณสมบัติทางด้านการบำรุงดินให้ดีขึ้น ใบของเหรียงมีขนาดเล็ก เหมาะสมในการนำมาปลุกควบกับพืชอื่น ๆ เช่น กาแฟ ทำให้กาแฟมีผลผลิตสูงขึ้นติดต่อกันไป
5. ใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เปลือกและเมล็ดของเหรียงมีคุณค่าทางด้านสมุนไพรดีกว่าสะตอ ส่วนใหญ่เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการจุกเสียด
Source : http://www.dnp.go.th/Pattani_botany/
ความคิดเห็นสำหรับ "วิชา เหรียง (2)"