หนูหน้าโง่
อ่าน: 2950ในชั่วโมงการประชุมที่ยาวนานของโรงเรียน เป็นการประชุมที่โคตร….จะน่าเบื่อ (ทุกครั้ง) เมื่อไหร่ที่มีประชุม นักเรียนก็จะไม่ได้เรียน ถึงแม้เด็กหลายคนจะไม่ชอบเรียน แต่เมื่อครูประชุมบ่อย ๆ เด็กก็ทำหน้ามุ่ย กำลังร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน ก็มีหนังสือมาเชิญครูประชุม กำลังเฉลยแบบทดสอบกันแบบลุ้นระทึก เดี๋ยวครูก็ต้องประชุม วันไหนนัดกันจะทำกิจกรรม วันนั้นครูจะต้องไปอบรม อ้าว! เมื่อไหร่ที่มีหนังสือเชิญประชุม เด็ก ๆ จะพร้อมใจพูดเสียงดังลั่นห้อง “ ประชุมดีประชุมเด่น เน้นประชุม “
คุณครูท่านหนึ่ง ได้ลุกขึ้นกล่าวรายงานถึงการอบรมโครงการกิจกรรมรักการอ่าน ที่ได้เข้าร่วมการอบรมในสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่ท่านได้นำเสนอ ทำให้ดิฉันรู้สึกสนใจ เนื่องจากจุดประสงค์ที่จะให้คณะครูมองเห็นความสำคัญในกิจกรรม และช่วยเหลือโครงการนี้ ท่านจึงเริ่มต้นด้วยนิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งประธานได้เล่าในช่วงของการเปิดการอบรม นิทานเรื่องนี้มีความว่า
หนูตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านของชาวนาครอบครัวหนึ่ง แรก ๆ เมื่อมันตัวเล็ก ๆ อาหารที่ต้องการก็ไม่มากมายนัก เพราะฉะนั้นเศษอาหารในบ้านก็พอกินไปวัน ๆ แต่เมื่อหนูมีครอบครัว มันก็ต้องการอาหารที่มากขึ้น ดังนั้นเมื่อมันหาอาหารเพิ่มขึ้น ชาวนาก็เริ่มเดือดร้อน ชาวนาแก้ปัญหาด้วยการนำกับดักหนูไปวางในบริเวณที่หนูมันมากินอาหารประจำ เมื่อหนูเห็นดังนั้น มันจึงวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากไก่ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน แต่ไก่กลับบอกว่า มันไม่ใช่ธุระของข้า แล้วก็ส่ายหน้า ไม่คิดหาทางช่วยเหลือ เมื่อไก่ไม่ช่วย หนูก็วิ่งไปหาหมู หมูก็ตอบมาทำนองเดียวกับไก่ ดังนั้น หนูจึงวิ่งไปหาวัว แต่วัวก็ตอบมาเหมือนกับไก่ และหมู สัตว์ซึ่งเป็นเพื่อนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกันไม่มีใครช่วยหนู แม้แต่ตัวเดียว อยู่มาไม่นาน ปรากฏว่ามีงูไปติดกับดักหนูเข้า ภรรยาของชาวนาเดินไปดูกับดักหนูที่ตนวางไว้ แต่เนื่องจากไม่ทันระวัง จึงโดนงูฉกเข้าทันที เมื่อชาวนามาเห็นเข้าจึงนำภรรยามารักษา เพื่อนบ้านได้ยินข่าว จึงทยอยกันมาเยี่ยม ชาวนาจำต้องฆ่าไก่ให้เป็นอาหารเลี้ยงต้อนรับเพื่อนบ้าน รักษานานวันภรรยาก็ยังไม่หาย คราวนี้ชาวนาจึงจำเป็นต้องฆ่าหมูที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงต้อนรับเพื่อนบ้าน อยู่มาไม่นาน ภรรยาชาวนาก็เสียชีวิตจากพิษงู ในงานศพของภรรยา ชาวนาก็ฆ่าวัวที่เลี้ยงไว้เพื่อประกอบอาหารในพิธี ส่วนหนูกลับมีชีวิตรอดอาศัยอยู่ในบ้านชาวนานั่นเอง
นิทานเรื่องนี้ คุณครูท่านสรุปแง่คิดให้ว่า หากคนในองค์กรไม่ช่วยกัน โดยคิดว่างานที่ได้รับมอบหมายไม่ใช่ธุระ สุดท้ายก็จะประสบหายนะทั้งองค์กร
ดิฉันได้ฟังรู้สึกประทับใจ คิดว่าเมื่อประชุมเสร็จจะต้องบันทึกเรื่องนี้ไว้เล่าให้เด็ก ๆฟัง แต่เมื่อครั้นท่านผู้บริหารท่านกล่าวถึงเรื่องต่อมา นั่นคือ ท่านจะมีกรรมการมาประเมินวิทยฐานะในสัปดาห์ถัดไป เพราะฉะนั้นจึงขอความร่วมมือจากคณะครู ช่วยจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อรองรับการประเมิน ท่านกล่าวว่า ถึงแม้มันจะเป็นงานของท่านเอง แต่เปรียบได้กับตัวท่านเป็นหนูในนิทานที่เพื่อนครูท่านหนึ่งเล่ามา เพราะฉะนั้นอยากให้ไก่ หมู และวัว ซึ่งเปรียบเหมือนคณะครูช่วยเหลือท่านด้วย มิเช่นนั้นตัวท่านอาจจะกลายเป็นหนูที่รอดเพียงตัวเดียว
ดิฉันได้ยินประโยคดังกล่าวรู้สึกเหมือนโดนอะไรกระแทกเข้าที่อกอย่างจัง สมองคิดตามทันที นั่นสินะ หากอยากจะรอด ไม่เห็นว่าหนูจะต้องทำอะไร แค่อยู่เฉย ๆ หากหนูวิ่งวุ่นที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเองมันก็จะยิ่งยุ่ง ไม่แน่ว่า หนูอาจจะติดกับดักนั้นแทนงูก็เป็นได้
นิทานเรื่องนี้กลับให้แง่คิดอีกมุมหนึ่งกับดิฉัน ทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายงาน เมื่อติดปัญหาดิฉันจะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้บริหาร แต่ท่านก็มักจะตอบคำถาม เหมือน ไก่ หมู วัว (แทบทุกครั้ง) ส่วนเพื่อนครู “ไม่รู้หรอกน้อง พี่ไม่รู้จะช่วยยังไงจริง ๆ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ทิ้งไว้นั้นหล่ะ “ นั่นเป็นคำแนะนำที่ดูเหมือนนิทานเรื่องนี้จะสอนไว้ เพื่อนครูแนะนำถูกจริง ๆ เพราะสุดท้ายคนซวยไม่ใช่เรา แต่ดิฉันกลับเป็นหนูหน้าโง่ วิ่งซก ๆ เที่ยวแก้ปัญหา บางครั้ง กับดักหนูตกใส่ขาบ้าง ก็แอบมาคลุมโปงร้องไห้ในห้องนอนตนเอง ทำไมถึงไม่ได้ยินนิทานเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้ก็ไม่รู้ซินะ เฮ้อ !
แต่ถึงแม้จะรู้ว่าตนเป็นหนูหน้าโง่ แต่ก็ยังทำตัวให้ฉลาดขึ้นไม่ได้อยู่ดี เพราะยังนึกกังวลใจ ว่าลูกน้อยจะโดนกับดักหนูไปด้วยหรือเปล่า ก็ยังคงต้องวิ่งซกๆ ต่อไป