ผู้นำกับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน
อ่าน: 381อ่านบันทึกของอาจารย์ประพนธ์ ที่ gotoknow.org ชื่อบันทึก Leadership – ภาวะผู้นำ กับการสร้างความแตกต่าง แล้ว เลยนำมาคิดต่อ และนำสิ่งที่คิดต่อนั้นมาเรียบเรียง รายละเอียดก็เขียนตามสิ่งที่เคยพบพบเห็น มุมมองอาจจะอยู่ในวงจำกัดหรือให้น้ำหนักแก่หน่วยงานของรัฐ เพราะอยู่และเห็นอยู่ในวงการนี้มากที่สุด อาจจะไม่ถูกต้องหรือตรงใจท่านผู้อ่านมากนัก/บางท่านก็ต้องกราบขออภัย
เท่าที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าภาวะผู้นำนั้น ไม่ได้ขีดกรอบหรือขีดวงจำกัดอยู่แต่ผู้บริหารขององค์กรเท่านั้นที่จะมีภาวะผู้นำ เราๆ ท่านๆ ทุกคนต่างล้วนมีอยู่ในตัวในตน และเป็นผู้นำกันได้ทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งแห่งหน ก็การเป็นผู้นำตนเองนั่นก็แบบหนึ่งที่ทุกคนสามารถเป็นได้ เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ / ในหรือนอกระบบ คือมีได้ในทุกระดับไม่ว่าจะในระดับบุคคล-ปัจเจก นำในระดับกลุ่ม-ฝ่าย จนถึงนำองค์กรในระดับที่สูงขึ้นไป
แต่จากประสบการณ์อันน้อยนิดที่อยู่ในวงการ-ระบบงานของรัฐนั้น ผมคิดว่าการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ไปสู่ทิศทางที่ถูกที่ควร หรือสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับองค์กรได้นั้น ผู้บริหารในทุกระดับ(ที่เป็นทางการ)ควรจะมีภาวะของผู้นำ-ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวสูงตามไปด้วย(ตามบทบาทและความรับผิดชอบ) เพราะวัฒนธรรมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐนั้น ยังดำเนินอยู่อย่างเดิมและเหนียวแน่น คือการทำงานตามระบบ มีสายงานการบังคับบัญชาที่ตายตัว สิ่งใหม่แม้จะเป็นสิ่งที่ดี-ถูกต้องและเป็นวิธีการใหม่ๆ ที่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาปรับวิธีการทำงาน หากไม่เป็นไปตามระบบ หรือสอดคล้องกับรูปแบบที่มีอยู่เดิมแล้ว หรือคนคิดไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูงแล้วไซร้…ยากที่จะสามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้
จึงไม่แปลกเลยที่เรามักจะเคยได้ยินคนทำงานบ่นเสมอว่า “มีความสุขมากหากได้ทำในสิ่งที่เขา(คนอื่น)ไม่ได้สั่ง(คิดเอง)…แต่ไม่มีความสุขมากนักกับงานที่ต้องทำตามเขาสั่ง(ทำให้เสร็จๆ)” อาจจะอ่านแล้วงง ทั้งๆ ที่เป็นการทำงานเหมือนกัน ขออธิบายเพิ่มเติมว่าที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าคนทำงานทุกคนนั้นล้วนมีความสามารถที่จะคิด-วิเคราะห์งาน แล้วนำไปสู่การปฏิบัติได้เองทุกคน แต่ไม่สามารถที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้-ปรับเปลี่ยนงานที่ทำอยู่ได้ (แต่บรรลุเป้าหมายของงานตามหน้าที่ไม่บกพร่อง น่าจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำในหลายๆ ด้าน) โดยธรรมชาติคนเราไม่ต้องการการควบคุม ชอบการเป็นอิสระ และเราก็จะได้ยินผู้มารับบริการหรือคนทั่วๆ ไปบ่นเสมอว่า
*งานล่าช้า
*ยังไม่ปรับปรุงวิธีการทำงานกันเลย
*ไม่มีรูปแบบที่หลากหลายเหมือนบริษัท-หรือหน่วยงานอื่นที่เคยไปใช้บริการมา
*งานมักจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่สามารถทำแทนกันได้ คนนั้นไม่อยู่คนนี้ก็ทำให้ไม่ได้
*ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เราสามารถที่จะแก้ได้ แม้อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง และจะทำให้เกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องโยงไปหาผู้นำอีกนั่นแหละครับ เพราะนอกจากคนทำงานจะเป็นผู้นำในระดับบุคคลกันแล้ว ในงานของหน่วยงานนั้นผู้นำองค์กรมีความสำคัญอย่างสูงมากต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร เพราะจุดสูงสุดนี้สามารถที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาได้ใหม่ และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล-กลุ่มคนได้นั้น ล้วนอยู่ที่ผู้นำ/ผู้บริหารแทบทั้งสิ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมองแต่มุมภายในนั้นยังไม่น่าจะเพียงพอ สิ่งที่ต้องปรับไปคู่ขนานกันก็คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบมาจากภายนอกด้วย(คิดต่อ) จึงจะส่งผลในทางบวกต่อการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรด้วย
นั่นคือมุมมองที่นำมาคิดต่อและเรียบเรียงเพราะ “นายเลือกลูกน้องไม่ได้ และลูกน้องก็เลือกเจ้านายไม่ได้” นี่คือความเป็นจริงของหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำ/ผู้บริหารที่เก่งๆ ก็มีมากมายแต่ลูกน้องอาจตรงกันข้าม หรือลูกน้องทำงานดีแต่เจ้านายไม่ใส่ใจงานก็มี
แต่ข้อสรุปสุดท้ายเราก็คงหันกลับมาที่ตนเองนั่นแหละครับ เพราะหากทุกคนพัฒนาตนเอง เรียนรู้และปรับปรุง-พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ปัญหาและข้อขัดข้องต่างๆ ก็คงแก้ไขได้ไม่ยากเย็น การสร้างวัฒนธรรมใหม่ไม่ใช่เรื่องยากในการทำงานในองค์กร ที่สรุปเช่นนี้ก็เพราะว่า “เราเปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้…นอกจากการเปลี่ยนแปลงตัวเอง” หากทุกคนเปลี่ยนแปลงตนเอง (ในทางที่ถูก-ดี) คงจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับสังคมแห่งนี้อีกมากมาย
วันนี้เราอาจจะยังหาส่วนผมผสมของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ลงตัว แต่หากว่าทุกคนไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาแล้ว วัฒนธรรมใหม่ของการทำงานคงจะมาถึงหน่วยงานเราได้สักวัน
บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ
2 ตุลาคม 2551
บันทึกนี้โพสต์เมื่อ วันที่ วันพฤหัสบดี, 2 ตุลาคม 2008 เวลา 3:59 (เย็น) และจัดไว้ในหมวดหมู่ Uncategorized. ติดตามอ่านการแสดงความเห็นได้ที่ฟีดนี้ RSS 2.0. คุณสามารถจะ ฝากความคิดเห็นไว้, หรือ แทร็กย้อนหลัง จากเว็บไซต์ของคุณได้.
#2:: bangsai 3 ตุลาคม 2008 เวลา 11:05 (เย็น)
เป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของระบบราชการ
เข้าใจ ยอมรับ เห็นใจ เอาใจช่วย เพราะคนข้างกายพี่ก็เป็นข้าราชการ (รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ก็บ่นเช้า บ่นเย็น จนเมื่อปีที่แล้วเธอจะยืนใบลาออก น้องๆมาขอร้องไว้เลยขออยู่ต่ออีกปี
เธอบอกว่าผู้นำมีบทบาทที่สำคัญในการนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย และสร้างวัฒนธรรมดีดีขึ้นในองค์กร น่าจะเป็นหัวปลาที่นำร่อง และลูกน้องก็ทำตาม ทั้งทำตามแบบเต็มใจ ไม่ค่อยเต็มใจ และฝืนใจแต่ต้องทำเพราะหัวหน้าพาทำ อย่างไรก็ตามหากการสร้างวัฒนธรรมดีดีแบบให้เพื่อนร่วมงานมีส่วนร่วมคิด สร้างก็ไม่น่าจะมีกลุ่มที่สาม แต่ดูเหมือนว่าองค์กรราชการส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้นำแบบ ข้าคิด ข้าสั่ง เองทำ
แต่ก็ไม่สิ้นหวังครับ