ควันหลงจาก Waist Size Story
เคยเขียนเล่าเรื่อง “ทางออกของคนอ้วนลงพุง Fighting Deep Belly Fat ” ไว้ในบันทึก เรื่องของคนเอาจริง ไว้ในลานจอมป่วน
เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำโครงการลดน้ำหนักอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แบบว่าทำให้สำเร็จและได้ผลระยะยาว เป็นต้นแบบเพื่อขยายผลในเทศบาลนครพิษณุโลก องค์กรอื่นๆสนใจจะเอาไปทำด้วยก็ไม่ว่า เพราะจะใช้หลักของการทำแบบง่ายๆ (Simplicity) แต่ทำจริงจัง ถูกวิธี และทำแบบมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมโครงการ
ช่วงนี้เลยสนใจศึกษาเรื่องราวของวงการลดน้ำหนัก วิธีการใหม่ๆ แต่ที่สนใจมากคงจะเป็นเรื่องของวิธีการปฏิบัติที่ได้ผล อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้การลดน้ำหนักได้ผล
เปิดดูเว็บไซต์ต่างๆส่วนมากก็จะเป็นเรื่องของธุรกิจ ขายยา ขายอาหารเสริม โฆษณา Fitness Center หรือไม่ก็เป็นหลักสูตรลดน้ำหนักระยะสั้นที่ต้องเสียเงินจำนวนมาก ที่เป็นโครงการของหน่วยงานรัฐก็มักจะเป็นแบบไฟไหม้ฟาง มีงบประมาณก็เห่อๆทำกัน ที่จะทำต่อเนื่องระยะยาวก็ไม่ค่อยเห็น
ที่ประทับใจมากเห็นจะเป็นเรื่องราวของทีมงานของ Amakasaki City ของญี่ปุ่น ที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจังและเปิดบริการเชิงรุก จนเป็นต้นแบบระดับชาติ ชอบที่ทีมงานของเทศบาลออกไปแนะนำจักษุแพทย์ที่มีปัญหาน้ำหนักเกินถึงคลินิก มีการแนะนำ ให้เอกสารและไปติดตามผลการปฏิบัติถึงคลินิก ทั้งนี้เพราะทางญี่ปุ่นออกเป็นกฎหมายให้บริษัทต่างๆและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบันทึกรอบเอวของคนที่มีอายุ 40-74 ปี (คิดเป็น 44% ของประชากร ) โดยเกณฑ์ของญี่ปุ่นใช้มาตรฐาน ชายไม่เกิน 33.5 นิ้ว และหญิงไม่เกิน 35.4 นิ้ว และตั้งเป้าหมายที่จะลดของคนที่รอบเอวเกินลงให้ได้ 10% ใน 5 ปีแรก และจะลดให้ได้ 25% ภายในปี ค.ศ. 2015 ทั้งนี้ทางบริษัทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพยายามสนับสนุนในบุคคลากรของหน่วยงานและครอบครัวทำให้ได้ตามเป้าหมาย มิฉะนั้นก็จะถูกปรับ (ประเด็นเรื่องการปรับ ก็ได้ขอให้เจ้าของลานซากุระช่วยหาข้อเท็จจริงมาให้ด้วย คงต้องรอหน่อยเพราะเจ้าตัวยังอยู่ที่ลาว)
ฝรั่งก็วิจารณ์นโยบายของญี่ปุ่นว่าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ประเมินว่าจะไม่ได้ผลบ้าง ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแบบนี้ แต่ตัวเองก็ควบคุมและรณรงค์เรื่องน้ำหนักเกินไม่ได้ผล
ประเทศไทยก็มีนโยบายสร้างนำซ่อม แต่เอาเข้าจริงก็เอางบส่วนที่ทางสำนักงานสุขภาพแห่งชาติกำหนดให้ใช้ในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไปใช้ในการรักษาเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อไหร่จะมีผู้บริหารไทยที่ตั้งใจจริง มีความกล้า เอาทำจริงกะเค้าซักทีน้อ
ทางญี่ปุ่นมีทิศทางที่ชัดเจนเพราะการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจมากขึ้น โรคเหล่านี้ต้องทานยาเป็นประจำ และยาที่ใช้ก็มีราคาสูงมาก เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเหล่านี้ก็ต้องใช้เงินในการดูแลรักษาจำนวนมหาศาล เช่นถ้าเส้นเลือดในสมองแตก เกิดอัมพาตต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากในการดูแล ถ้าเกิดโรคหัวใจต้องทำบัลลูนหรือใส่เครื่องถ่างหลอดเลือดไว้ก็ใช้ค่าใช้จ่ายมาก ฯลฯ
คราวนี้ตั้งใจจะเปิดโครงการลดน้ำหนักอีกก่อนปีใหม่นี้เป็นโครงการสำหรับประชาชนทั่วไป สำหรับโครงการที่ทำร่วมกับโรงเรียนสาธิตมัธยม มหาวิทยาลัยนเรศวรก็คงจะทำต่อเป็นปีที่ 3 ปีนี้คุยกับทางโรงเรียนว่า ทางโรงเรียนต้องส่งทีมงานมาทำโครงการนี้ร่วมกับทางเทศบาลนครพิษณุโลก เพราะต่อไปก็คงจะให้โรงเรียนทำเอง ดูแลกันเอง และอาจต้องพัฒนาเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆด้วย ทางเทศบาลนครพิษณุโลกก็คงต้องทำโครงการนี้ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเป็นต้นแบบสัก 1 โรง เพราะนายกเทศมนตรีถามว่าทำไมไปเริ่มโครงการกับโรงเรียนนอกสังกัดเทศบาล ( เหตุผลไม่กล้าเรียนท่านตรงๆ อิอิ )
โครงการที่จะเริ่มใหม่นี้ยึดแนวของความง่ายในการปฏิบัติ ซึ่งมีการควบคุมอาหารแบบง่ายๆ(ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ง่ายนัก อิอิ ) การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีการเตรียมผู้เข้าร่วมโครงการ ทำความเข้าใจและให้มีความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการ
ผู้เข้าร่วมโครงการต้องบันทึกการกินอาหารอย่างง่ายๆ ไม่ต้องคำนวนพลังงานที่ได้จากอาหารให้ปวดหัว บันทึกการออกกำลังกายแบบง่ายๆ ไม่ต้องคำนวณพลังงานที่ใช้อีกเช่นกัน บันทึกน้ำหนักตัวแค่วันละครั้ง(ชั่งบ่อยเป็นโรคประสาท อิอิ) แถมบันทึกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตั้งใจทำและทำได้ผล
คราวนี้มีการเตรียมวางแผนที่จะศึกษาวิจัยไว้ล่วงหน้าเลย แถมมีการพูดคุยกับทีมงานที่จะบันทึก VDO ไว้ตั้งแต่เริ่มเตรียมโครงการเลย เผื่อว่าอีกหนึ่งปีข้างหน้า ถ้าโครงการได้ผลดี ก็จะมี VDO ดูเบื้องหลังการชกเลย คงสนุกดีนะครับ มีการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ก่อนเลย มีการบันทึกกิจกรรม อารมณ์ ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมโครงการไว้ตั้งแต่ยังตุ้ยนุ้ย ตอนที่ต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เห็นทั้งหยาดเหงื่อและน้ำตา น่าสนุกดีนะครับ โครงการนี้
ตอนนี้ก็เริ่มหากลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการแล้ว กำลังมองหาผู้ที่สนใจจะร่วมทำการศึกษาวิจัย น่าสนใจเพราะจะได้มาวางแผนล่วงหน้าเลยว่าจะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง มีทีมงานช่วยเก็บข้อมูลให้เรียบร้อย แค่วางแผนรูปแบบการศึกษา ออกแบบการเก็บบันทึกข้อมูล เข้าร่วมสังเกตกิจกรรมตาสมโอกาส แล้วนำข้อมูลไปวิเคราะห์และสรุป
ที่อยากได้มาร่วมงานก็มีนักจิตวิทยา(ต้องจากเชียงรายด้วย) นักโภชนาการที่จะมาร่วมทีม ทีมงานที่จะนำเสนอข้อมูลและผลงานของแต่ละคน รวมทั้งของกลุ่มในรูปของกราฟที่สามารถเห็นความก้าวหน้าได้ชัดเจน และถ้าจะช่วยทำเว็บไซต์ของโครงการหุ่นดีด้วยก็ไม่ว่ากัน อิอิ
โม้เอาไว้มาก ถ้าโครงการเจ๊งก็จะเงียบๆไว้ ถ้าได้ผลดี อีกปีสองปีก็คอยดูทางโทรทัศน์ก็แล้วกันนะครับ……… พี่น้อง