ซ่อมเตาไมโครเวฟสำเร็จอย่างเหลือเชื่อด้วยไอเดียแบบ “ปิ๊งแว้บ”
อ่าน: 2790ผมโชคดีที่มีเรื่องร้ายๆเข้ามาในชีวิตจนทำให้ได้อพยพ ย้ายถิ่น หันหลังให้ กทม. กลับมาอยู่บ้านนอก และได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังที่ผมได้ถือกำเนิด มีโอกาสลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ความตั้งใจเดิมนั้นกะว่าจะลองใช้เวลา ปลูกผัก ปลูกข้าว ปลูกต้นไม้ และทำงานที่ถนัดและสนใจช่วยเหลือผู้คนและสังคมที่ผมไปอยู่ แรกๆก็ค่อนข้างน่าพอใจ และเป็นไปด้วยดีครับ แต่ด้วยเหตุที่เราเป็นที่รู้จักของผู้คนมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมว่า บ้าเรื่องงานช่างไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีเอามากๆ เคยทำเครื่องส่งวิทยุเล่น ประกอบวิทยุขาย และทำงานลักษณะ “สารพัดช่าง” มาตั้งแต่ครั้งกระโน้นจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป บรรดาญาติๆ และ ลูก หลาน เหลน โหลน จึงได้เรียกหาความช่วยเหลือในเรื่องการแก้ไข ซ่อม สร้าง ดัดแปลงอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆอยู่สม่ำเสมอ มีโจทย์แปลกๆใหม่เข้ามาก็ไม่น้อย ประกอบกับการที่เราขนสมบัติเก่าอันได้แก่วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่สะสมมานานนับสิบปีในกทม.กลับไปด้วย ขนาดว่ารถสิบล้อเที่ยวเดียวขนไม่หมดเลยทีเดียว การได้มีโอกาสทำงานโดยได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะไม่เช่นนั้นไม่รู้ว่าจะเอาข้าวของเหล่านั้นไปทิ้งที่ไหน อย่างไร
นับวันผมเลยใช้เวลาแต่ละวันหมดไปกับงานช่างและงานประดิษฐ์ดัดแปลงข้าวของต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ แปลงผักก็เริ่มมีหญ้ารกจนน่าหนักใจ แต่ทำไงได้ครับ ของมันเคยๆทำอยู่ และเป็นของชอบ ก็เลยจำยอม ลดความเป็น เกษตรการจำเป็น มาเป็น ช่างจำเป็น มากขึ้นทุกวัน
การทำงานในลักษณะการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องสนุก เพราะมันมักมีเรื่องที่ท้าทาย ความรู้ความคิด และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแปลกๆ ใหม่ๆเสมอ หลายครั้งเป็นการประยุกต์ใช้วัสดุรอบตัวมาแก้ปัญหาได้สำเร็จอย่างน่าสนใจ เป็นแนวทางปฏิบัติใหม่ๆที่ค้นพบ และสมควรนำมาเผยแพร่เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อๆไป เช่นเรื่องการซ่อมเตาไมโครเวฟสำเร็จได้ด้วยไอเดียแบบ “ปิ๊งแว้บ” ที่จะพูดถึงนี่แหละครับ
เตาไมโครเวฟยี่ห้อ Sharp ที่บ้านเสีย ใช้การไม่ได้มาร่วมสัปดาห์แล้วครับ อาการก็คือหน้าจอ LCD ยังแสดงผลเป็นตัวเลขได้อยู่ แต่ปุ่มกดที่เป็นระบบ Soft Touch เพื่อเปิด-ปิดเครื่อง และตั้งค่าต่างๆใช้การไม่ได้ จนเมื่อวันที่ 12 พย. ที่ผ่านมาผมก็ได้มีโอกาสถอดสกรูเปิดฝาครอบเครื่องออกมาดูว่าจะจัดการอะไรได้เองหรือว่าจะต้องส่งซ่อม
เมื่อเปิดเครื่องออกมา สิ่งที่พบเป็นของแถมคือจิ้งจกตายแห้งอยู่ในนั้น 1 ตัว นอกนั้นตรวจสอบแล้วแทบทุกอย่างยังทำงานเป็นปกติ เช่นสวิตช์อัตโนมัติ 3 ตัวที่ทำงานสัมพันธ์กับการเปิด-ปิดฝาตู้ พัดลม หลอดไฟ และหม้อแปลง (Transformer) เป็นต้น (1-2-3)
สุดท้ายผมก็พุ่งความสนใจไปยังแผ่นวงจรควบคุมอันประกอบด้วย Micro-processor และอุปกรณ์ประกอบทั้งหมดอยู่บน Board เดียวกัน (4) พิจารณาด้วยสายตาทั้งด้านบน ด้านล่างของแผ่นวงจรก็ไม่พบอะไรผิดปกติ ทั้งสี และกลิ่น จึงไล่ต่อไปยังขั้วต่อสายแพซึ่งเป็นตัวเชื่อมโยงจากแผงสวิตช์ควบคุมด้านหน้าเครื่อง และจอแสดงผล LCD (5-6-7) มายังแผงวงจรดังกล่าว พบว่าเขาใช้ฟิล์มคาร์บอนเป็นขั้วของสายไฟสิบเส้นที่ปลายสายแพนั้น โดยอาศัยแถบยางคาร์บอนเป็นตัวเชื่อมต่อด้วยวิธีกดทับลงไปเมื่อขันสกรูยึดแผ่นวงจร
จากการตรวจสอบฟิล์มคาร์บอนที่ปลายสาย พบว่าสีดำนั้นจางมาก ครั้นวัดดูด้วยโอห์มมีเตอร์ก็ปรากฏว่ามันได้สูญเสียความเป็นตัวนำไฟฟ้าไปแล้วเกือบทุกเส้น จึงสันนิษฐานว่าจุดนี้เองน่าจะเป็นต้นเหตุสำคัญ ความจริงแล้วเขาสามารถเคลือบฟิล์มคาร์บอนให้หนากว่านั้นได้ แต่สงสัยว่ากลัวผู้ใช้จะไม่ได้เสียเงินเมื่อผ่านไป 4-5 ปี จึงทำมาแบบนั้น ผมพบมามากมายหลายตัวอย่างแล้วที่อุตสาหกรรมยุคใหม่เขาจงใจใช้วัสดุที่ไม่เหมาะกับงาน โดยมุ่งแสวงประโยชน์จากการขายชิ้นส่วนซึ่งมักออกแบบมาให้ต้องเปลี่ยน “ยกชุด” ด้วยราคาที่แพงอย่างเหลือเชื่อ กรณีเตาไมโครเวฟนี้ก็เช่นกัน สายแพดังกล่าวติดตายอยู่กับแผงสวิตช์ด้านหน้า ไม่สามารถเปลี่ยนเฉพาะสายได้ ต้องเปลี่ยนยกแผง (5) เท่านั้น
ตอนแรกผมคิดจะแก้ปัญหาที่พบด้วยการตัดแผ่นทองแดงบางๆ หรือไม่ก็ใช้ลวดสายไฟเล็กๆ 10 ชิ้นมาวางทาบกับขั้วต่อของเดิมที่เป็นคาร์บอนหมดสภาพ แต่ห่วงเรื่องรอยต่อ หรือการสัมผัสกันจะไม่ดีพอ จึงยังไม่ลงมือทำ ทันใดนั้นก็เกิดอาการ “ปิ๊งแว้บ” ขึ้นมาในใจ เห็นภาพของวัสดุที่จะใช้ และภาพความสำเร็จชัดเจน และมั่นใจมากๆ จึงรีบดำเนินการทันที
ผมไปหยิบขวดกาวลาเท็กซ์ เทกาวออกมาเพียงเล็กน้อย ประมาณครึ่งช้อนชา เทน้ำลงไปผสมเล็กน้อยให้เหลวหน่อย แล้วก็ไปเอาถ่านไฟฉายเก่ามาก้อนหนึ่ง ทุบและงัดแงะ แกะเปลือกนอกออก หยิบเอาเฉพาะแกนคาร์บอนของขั้วบวกไปใช้ (ระมัดระวังไม่ไปสัมผัสกับสารพิษในก้อนถ่านโดยไม่จำเป็น) จากนั้นก็เอาเศษคาร์บอนเพียงเล็กน้อยแค่ประมาณขนาด 2 หัวก้านไม้ขีดไฟ นำไปห่อด้วยเศษถุงพลาสติกใส สองสามชั้น เพื่อให้สามารถมองเห็นภายในได้ แล้วจึงใช้ค้อนทุบๆๆ ให้แตกละเอียดเป็นผงคาร์บอน (8) นำไปผสมเข้ากับกาวลาเท็กซ์ที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากันดีก่อนที่จะใช้พู่กันเล็กๆจุ่มเพื่อนำไประบายลงบนปริเวณแถบคาร์บอนที่ปลายสายแพของเก่า (9) จากนั้นใช้เครื่องเป่าผมค่อยๆเป่าให้แห้ง เมื่อเห็นว่าแห้งพอหมาดๆจึงใช้ปลายมีดค่อยๆขูดเอาส่วนเกินออก คล้ายๆเซาะร่องให้มีช่องว่างระหว่างตัวนำทั้ง 10 เส้น เพื่อไม่ให้มีการลัดวงจรถึงกันได้ (10) จากนั้นก็นำไปประกอบกับวงจรเหมือนเดิม และประกอบชิ้นส่วนกลับตามเดิมจนสำเสร็จ
เหลือเชื่อจริงๆครับที่ “การปิ๊งแว้บ” ครั้งนี้ได้ผลดีเกินคาด วงจรและระบบทุกอย่างทำงานเป็นปกติ เตาไมโครเวฟดังกล่าวใช้งานได้ดีเหมือนเดิม จนกระทั่งบัดนี้
หากแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ผมคงต้องไปหาซื้อแผงสวิตช์ควบคุมทั้งแผงที่เขาผลิตขึ้นมาเฉพาะรุ่นของเตาไมโครเวฟ ซึ่งคิดว่าราคาน่าจะถึงหลักพันเป็นแน่แท้
นี่แหละครับคุณค่าของ “ปิ๊งแว้บ” ที่ผมเจอมาเมื่อสองสามวันก่อน