Handyman … เจ้าเป็นไผ (๒)

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 7 มีนาคม 2009 เวลา 4:23 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1009

   ต่อครับ .. ตอนนี้คือ .. ชีวิตเด็กวัด

   บ้านผมอยู่ห่างตัวอำเภอไชยาไปทางตะวันตกประมาณ ๙ กิโลเมตร  จบป.๔ ที่โรงเรียนใกล้บ้านแล้วก็ต้องมาเรียนต่อในตัวอำเภอ เป็น ป. ๕ รุ่นแรก  ถนนยังไม่มี  จะเดินไป-กลับวันละ ๑๘ กิโลเมตรก็คงไม่ไหว  จึงต้องมาอาศัยอยู่ในตัวอำเภอเพื่อเรียนต่อ  ความจริงเราก็มีบ้านพี่ชายคนโตซึ่งแต่งงานมีครอบครัวอยู่ไม่ไกลอำเภอ  และบ้านน้าชายที่ใกล้ชิดเหมือนพ่อคนที่สองอยู่ใกล้ตลาดไชยา  แต่คุณพ่อกลับให้ผมไปอยู่วัด  เป็นเด็กวัด  ที่พิเศษยิ่งขึ้นไปอีกคือเลือกเอาวัดชยารามที่มีท่านพระครูสุธนธรรมสารเป็นเจ้าอาวาส (ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่าคือเพื่อนตายของท่าน) วัดอื่นมีทำไมไม่ให้เราไปอยู่ ผมคิดเช่นนี้ทุกครั้งที่เห็นเพื่อนๆที่อยู่วัดเหล่านั้น อยู่กันค่อนข้างสบาย เที่ยวเตร่ได้ค่อนข้างมาก ไม่ต้องลำบากเหมือนที่วัดของเรา  พ่อเป็นคนพูดน้อย ไม่ได้บอกเหตุผลอะไร  แต่คาดเดาได้ในตอนหลังว่าคงจะให้ผมได้เข้ามารับการฝึกความแข็งแกร่งและความเป็นคนที่สมบูรณ์ในสำนักนี้เป็นแน่  ความที่ผมเป็นลูกคนสุดท้องด้วยกระมังที่ทำให้พ่อตัดสินใจเช่นนั้น  เพราะอยู่บ้านทำอะไรก็เหยาะๆแหยะๆ  ไม่ค่อยต้องรับผิดชอบกับอะไรจริงจังมากนัก เดี๋ยวก็แม่บ้าง  พี่สาวบ้าง  พี่ชายบ้างช่วยกันโอ๋ 

    ที่วัดชยารามผมเริ่มแปลกใจว่าทำไมเด็กวัดทั้งที่เป็นรุ่นพี่และรุ่นเดียวกันจึงมีแต่ลูกครู และข้าราชการเป็นส่วนมาก  ลูกผู้พิพากษาก็มี  นึกอีกทีพ่อเราแม้จะเป็นชาวนาก็นับว่ามีวิสัยทัศน์ที่ไม่ธรรมดาเหมือนกัน คิดอะไรแบบเดียวกับพ่อแม่ของเพื่อนๆเหล่านั้น

    ชีวิตและความเป็นอยู่ที่วัดชยาราม ทรหด  หรืออาจเรียกตามความรู้สึกในตอนนั้นว่า “โหดมาก” ก็ได้  ทุกหัวค่ำต้องสวดมนต์ทำวัตร เป็นบทสวดแบบแปลตามแบบฉบับของสวนโมกข์  แม้ว่าจะสวดตอนหัวค่ำแต่ก็สลับวันกันไประหว่างบทสวดทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น แรกๆก็ใช้หนังสือ  แต่ตอนหลังก็จำกันได้เกือบทุกคน  สวดมนต์เสร็จต้องมารวมตัวกันอ่านหนังสือ  ทำการบ้านที่โรงฉันโดยมีท่านอาจารย์พระครูสุธนคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด  ผมเคยโดนไม้เรียวฟาดก้น เหตุเพราะท่านเดินเข้ามาหาแล้วถามว่าอ่านอะไร  ผมตอบว่าเป็นหนังสือ เสรีภาพ (นิตยสารของสำนักงานข่าวสารอเมริกันในสมัยนั้น) ท่านพร่ำสอนว่าควรทำอะไร อย่างไร ก่อนลงไม้เรียวที่ก้นผม พร้อมด้วยคำว่า เสรีภาพ ๓ ครั้งตามเสียงไม้เรียว  เจ็บและจำครับ  ไม่ได้โกรธเพราะท่านไม่ได้ใช้อารมณ์   ตอนเช้าทุกคนต้องตื่น ตี ๕ มาอ่านหนังสืออีกรอบ  ท่านจะเดินตรวจไปทุกกุฏิที่พวกเราอยู่ หากยังไม่ตื่นก็จะใช้ด้ามไม้กวาดกระทุ้งที่พื้นห้องเพื่อปลุก  บางคนขี้เซามากโดนฟาดด้วยไม้เรียวทั้งๆที่อยู่ในมุ้งก็มี

   ท่านอาจารย์พระครูสุธนฯ ขยันมากๆ  มีฝีมือในการก่อสร้าง  และเป็นนักอ่าน  นักฟัง และติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เสมอ  คอยอบรมสั่งสอนพวกเราทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่นหลังสวดมนต์ในวันพระ  ที่ว่าไม่เป็นทางการเช่นตอนเราไปขอลาท่านกลับไปเยี่ยมบ้าน จำได้ว่าครั้งหนึ่งไปลากลับบ้านในขณะที่ท่านอยู่บนหลังคาส้วม กำลังง่วนอยู่กับการซ่อมเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา  พนมมือจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีก กว่าท่านจะบอกว่าไปเถอะ เพราะก่อนถึงประโยคนั้นท่านจะสอนเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว  การสำนึกในบุญคุณพ่อแม่  ให้รู้จักทำงานแบ่งเบาภาระท่าน และ โทษของความขี้เกียจเป็นต้น  คำฮิตติดหูคือ “อย่าเห็นแก่ตัว” ท่านเน้นย้ำอยู่เสมอ เรื่องความไม่เห็นแก่ตัวนี้ไม่ได้อบรมกันด้วยการบอกกล่าวเท่านั้น  ท่านจะนำพวกเราทำงานหนักอยู่เสมอเช่นขุดดิน  ลอกคูคลองทางเดินเข้าหมู่บ้าน  ขุดสระน้ำ  ซ่อมแซมถนน  แทบทุกคืนวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่หัวค่ำท่านจะนำพวกเราออกทำงานดังกล่าว โดยใช้ตะเกียงเจ้าพายุเป็นเครื่องให้ความสว่างในการปฏิบัติการ “เอาเหงื่อล้างอัตตา” ตามแบบฉบับของสวนโมกข์  ท่านย้ำบ่อยๆว่ากินข้าวของเขา ต้องรู้จักทำอะไรทดแทนบุญคุณ  นอกจากนี้กิจวัตรหลักของพวกเราอีกอย่างคือการเดินเท้าไปสวนโมกข์  ระยะทางประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ขาไปก็หอบหิ้วของไปช่วยเสริมที่โรงครัวสวนโมกข์  ทั้งอาหารแห้งและพืชผักที่มี  โดยเฉพาะดอกขี้เหล็กที่มีมากที่วัดของเรา  ขากลับบางทีก็มีสะตอจากสวนโมกข์ติดมือมาเลี้ยงพระที่วัดชยาราม  กิจกรรมที่ทำที่สวนโมกข์ได้แก่การจัดเรียงหินตามทางเดินขึ้นเขาพุทธทอง  เทปูนในงานก่อสร้างตามจุดต่างๆ  รวมทั้งโรงมหรสพทางวิญญาณที่เพิ่งจะก่อสร้างในตอนนั้น การไปล่องแพไม้ซุงมาใช้ในการก่อสร้างพวกเราก็ได้ทำ การเลื่อยไม้ซุงเป็นแผ่นไม้กระดานก็ได้ทำ  แรกๆก็เมื่อยแขนมาก  แต่นานๆเข้าก็เริ่มชิน 

    นอกจากการต้องมีวินัย และต้องทำงานหนัก หลากหลายรูปแบบแล้ว  ทุกวันพระเด็กวัดชยารามต้อถือศีลอุโบสถ งดอาหารเย็น จำได้ว่ามีครั้งหนึ่งผมอ่อนเพลียมากจนแทบจะออกไปเดินปิ่นโตตอนเช้าไม่ไหว  อาหารเย็นของพวกเราในวันปกติเป็นเมนูที่หลายท่านอาจไม่เชื่อ  หรือฟังแล้วอาจรู้สึกผะอืดผะอมขึ้นมาก็ได้  แต่รับรองว่าเป็นเรื่องจริง  ไม่ได้ปรุงแต่งครับ  คือเราจะเอากับข้าวทุกอย่างที่เหลือมาจากตอนกลางวันเทรวมกันในหม้อใบใหญ่ มีทุกอย่าง เช่นน้ำพริก แกงจืด แกงเผ็ด ของทอด และยำสารพัดชนิด นำมาต้มรวมกัน  บางทีก็คั้นกะทิใส่เพิ่มและเติมน้ำปลาเข้าไปด้วย  เราเรียกกันว่า “แกงรวม” เสร็จสรรพก็ตักราดข้าวแบ่งปันกันกินในหมู่อารามบอยของวัดนี้ .. กินเพื่ออยู่  กินเพื่อรับประโยชน์จากการกินครับ


ควันหลง “ตีแตกอีสาน”

4 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 5 มีนาคม 2009 เวลา 6:11 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1217

    ผมเปิดลาน “หญ้าปากคอก” หวังจะให้เป็นแหล่งบอกเรื่องควรรู้  น่ารู้  จำเป็นตัองรู้ ในด้านต่างๆที่หลายคน ไม่ค่อยรู้ .. แต่ยังครับ ขอเวลาอีกหน่อย .. เริ่มบันทึกแรกด้วยการตอบโจทย์ “เจ้าเป็นไผ” และเข้ามา Update ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวเป็นระยะ ตามจังหวะและโอกาสที่ว่าง

   บันทึกที่สองนี้ ก็ยังไม่เกี่ยวอะไรกับ “หญ้าปากคอก” ครับ .. ยังอยู่ในอาการอยากถ่ายทอดเรื่องราวที่สวนป่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา  แต่เวลาจำกัดก็จะขอเล่าด้วยภาพถ่ายดู  เป็นการลองทำให้คุ้นเคยกับเครื่องใช้ในบ้านใหม่แห่งนี้ด้วยครับ

   เขาเรียกไปทานข้าวแล้วครับ … แล้วจะมาขยับต่อ .. โปรดคอยติดตาม ……………..

 

  

 

สวัสดีครับ

ยังมีต่อ โปรดคอยติดตามครับ

อิ อิ อิ



Main: 0.21053194999695 sec
Sidebar: 0.19579792022705 sec