ข้าวไร่เพื่อการเรียนรู้และพึ่งตนเอง…1
อ่าน: 647เมื่อต้นปีนี้ผมซื้อที่ปลูกบ้านไว้แปลงหนึ่ง พื้นที่ 3 ไร่กว่าๆ ถมที่แล้วก็ยังเหลือพื้นที่ว่างๆ อยู่ 2 ไร่กว่า คิดจะปลูกพืชหลายอย่าง แต่มาคิดดูแล้ว ปลูกต้นไม้มาเกือบครบทุกประเภทแล้ว คงเหลือแต่พืชอาหารคือข้าวที่ยังไม่เคยปลูก ฝนนี้เลยตัดสินใจคิดที่จะทำนา ปลูกข้าวเอง แต่เนื่องจากเป็นที่บุกเบิกใหม่ ครั้นจะทำเป็นนาลุ่มเหมือนชาวบ้านเขาก็เกรงว่าจะทำไม่ทัน(ปรับพื้นที่ไม่ทัน) เลยตัดสินใจว่าแรกๆ เราน่าจะปลูกข้าวแบบข้าวไร่ไปก่อน แล้วค่อยปรับพื้นที่ไปเรื่อยๆ หลายๆ ปีก็คงจะทำเป็นนาได้
เมื่อเตรียมดินก็เลยตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารอย่างง่าย พร้อมทั้งวัดค่าพิกัดเพื่อหาชื่อชุดดิน พบว่าเป็นกลุ่มดินที่ 33/38 (ดินที่เหมาแก่การปลูกพืชไร่และไม้ผล) เป็นดินชุดกำแพงเพชร มีค่า pH ประมาณ 6.5 ไนโตรเจนต่ำ ฟอสฟอรัสสูง และโปแตสเซี่ยมต่ำ
หลังจากตัดสินใจแล้วก็จ้างรถไถปรับที่ให้เสมอกัน เพราะพื้นที่ไม่ค่อยเรียบ จากนั้นก็ไถไปรอบหนึ่งรอจนฝนตกจึงหยอดข้าวไร่ ซึ่งพันธุ์ข้าวไร่นั้นไปขอมาจากจังหวัดลำปาง ได้มา 2 พันธุ์ ไม่รู้ว่าชื่อทางการเรียกว่าอะไร แต่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวแพร่ และอีกพันธุ์หนึ่งเรียกว่าข้าวก่ำ (ข้าวสีนิล)
วันปลูกก็สนุกน่าดู เพราะยังไม่เคยปลูกข้าวไร่เหมือนกัน ทดลองใช้หลายๆ วิธี ทั้งใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งแล้วหยดเมล็ดข้าว ใช้เสียมด้ามยาวแซะดินแล้วหยอด และวิธีสุดท้ายที่น่าจะเหมาะสมกับดินของที่นี่มากที่สุดก็คือใช้จอบขุดหลุมตื้นๆ แล้วหยอด
หยอดหลายครั้งกว่าจะเต็มพื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษ เริ่มหยอดครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน จนรุ่นสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2552
เกือบหนึ่งเดือนที่คอยดูการเจริญเติบโต ลองไปเดินดูพบว่า มีความแตกต่างของการงอกและการเจริญเติบโตไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ
- พันธุ์ พบว่าพันธุ์ข้าวก่ำ มีความงอกดีกว่าพันธุ์ข้าวแพร่
- ดินที่ดอน ที่น้ำไม่ท่วมขัง ข้าวงอกดีกว่าที่น้ำท่วมขัง
- การปลูกข้าวไร่หากไม่ไถหรือไถไม่ลึกมากนัก วิธีการปลูกแบบฝังกลบน่าจะได้ผลดีกว่าดินที่ไถลึกกว่า (ไถลึกเวลาฝนตกโอกาสที่ข้าวจะฝังตัวในดินได้ลึกกว่าส่งผลให้เมล็ดไม่งอก)
- ฯลฯ แล้วจะนำสิ่งที่ได้ลงมือทำมาแลกเปลี่ยนกันในโอกาสต่อไปครับ
ภาพแปลงข้าวข้างบนนี้ เป็นฝีมือน้องไผ่ น้องฝ้าย และน้องป๊อบเพื่อนน้องฝ้ายมาช่วยปลูก (มือใหม่) หยอดข้าวเผื่อเมล็ดลีบ แต่ข้าวก่ำออกเกือบทุกเมล็ด เลยมีมากต้นอย่างที่เห็นไกลๆ ถ้าหยอดซัก 5 เมล็ดน่าจะกำลังดี แต่ก็เป็นผลดีเพราะจะได้ถอนไปซ่อมในส่วนที่ข้าวไม่งอก…อิอิ
เป็นการหาทางที่จะพึ่งตนเองอย่างหนึ่งนะครับ ไม่ปลูกข้าว แล้วซื้อข้าวกินนั้นทำได้และทำอยู่แล้ว แต่คิดว่าทำในสิ่งที่เราต้องการน่าจะดีกว่า เพราะข้าวอย่างไรเราก็ต้องกินอยู่ทุกวัน ก็เลยลองปลูกดู
เมื่อประมาณ 1 เดือนผ่านไป (31 พ.ค. 2552) ถึงเวลาที่ต้องซ่อมต้นข้าว ก็ได้อาศัยข้าวกอที่ออกมา ถอนแบ่งมาบ้างเพื่อปลูกซ่อม การปลูกซ่อมก็เป็นการปลูกง่ายๆ เหมือนการปลูกพริก-มะเขือนั่นแหละครับ เริ่มด้วยการขุดหลุมด้วยจอบ จากนั้นก็หยอดน้ำให้ดินชุ่ม ต่อมาก็นำต้นข้าวมาปลูกถ้าดินเละๆ หน่อยก็ดำไปเลย หรือถ้าดินพอชุ่มๆ ก็ปลูกแล้วกลบเหมือนปลูกต้นไม้ทั่วๆ ไป เรียกว่าดำนาบกกันเลยละครับ
- ดำนาบกครับ อิอิ
- น้องไผ่..ผู้ช่วยปลูกครับ ปลูกบ้างพักบ้างเรื่อยเปื่อยไปตามประสา แต่ก็น่าจะได้เรียนรู้และจดจำภาพเหล่านี้ติดตัวไปบ้าง
- หลังจากปลูกซ่อมเสร็จก็จะเห็นภาพที่มีต้นข้าวเต็มแปลง ดูแล้วมีความสุขและได้บรรยากาศอีกแบบที่หาไม่ได้ในสถานการณ์และสังคมยุคพัฒนา - ยุคดิจิตอล (เขาเรียกกัน)ในปัจจุบัน
ท่านใดมีความรู้และประสบการณ์จะนำมาแบ่งปันกันบ้างก็ยินดีนะครับ
บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.
สิงห์ป่าสัก 23 มิ.ย. 2552
บันทึกนี้โพสต์เมื่อ วันที่ วันอังคาร, 23 มิถุนายน 2009 เวลา 10:53 (เช้า) และจัดไว้ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ, พัฒนาตนเอง, สังคม วัฒนธรรม, ส่งเสริมการเกษตร, แลกเปลี่ยนเรียนรู้. ติดตามอ่านการแสดงความเห็นได้ที่ฟีดนี้ RSS 2.0. คุณสามารถจะ ฝากความคิดเห็นไว้, หรือ แทร็กย้อนหลัง จากเว็บไซต์ของคุณได้.
#2:: bangsai 23 มิถุนายน 2009 เวลา 3:28 (เย็น)
สุดยอดเลย จะตามติดนะครับ