มองต่างมุม กับการผลิตพืชปลอดภัย
อ่าน: 191 ผมทำงานในบทบาทของงานส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมักจะตกเป็นจำเลยของสังคมทุกครั้งหากมีปัญหาเกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตร แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้กระทำโดยตรง เช่น
* พืชบางชนิดมีผลผลิตล้นตลาด-ขาดตลาด
* สินค้าการเกษตรมีราคาถูก-แพง
* เกษตรกรมีการใช้สารเคมีมาก
* ฯลฯ มากมาย
การที่ถูกตำหนิหรือว่ากล่าวอย่างใด พวกเราก็คงไม่คิดที่จะโต้แย้ง เพราะมันคงไม่เกิดประโยชน์หรือผลดีอะไรขึ้นมา ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าส่วนมากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากพวกเราเลยแม้แต่นิดเดียว
ในการผลิตพืชเพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานหันมาสนใจ และทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกษตรกรลด ละ เลิกใช้สารเคมีกันมาก เหตุผลก็คือเพื่อความปลอดภัยอะไรประมาณนั้น ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานส่งเสริมการเกษตรของพวกเราก็จะมีโครงการต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการจะทำให้มีการผลิตพืชที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน
ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นวิธีการที่ดี แต่หากจะให้สำเร็จ ส่งผลไปถึงการเลิกใช้สารเคมีของเกษตรกรกันทั้งหมดนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก แม้เราจะทุ่มเททรัพยากรกันหมดทั้งประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้เลยก็ตาม เหตุผลก็คือการทำงานปัจจุบัน เราทำงานกันแบบแยกส่วน ทำกับบางกลุ่ม บางหน่วยงานเท่านั้น ต้นตอและสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข หากคิดอีกมุมหนึ่ง แบบตรงกันข้าม…มองต่างมุม ก็จะพบเห็นว่าสิ่งที่อยู่นั้นมีจุดอ่อนและสมควรได้รับการแก้ไขในหลายประเด็น
รณรงค์แต่คนปลูกแต่ไม่ได้รณรงค์คนกิน-คนซื้อเลย
เราจะพบเห็นโดยทั่วไปว่าคนปลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ใช้สารนี้ดี สารนี้ไม่ดี ฯลฯ แต่เราไม่เคยรณรงค์เพื่อชักจูงให้คนกิน-คนซื้อเลยว่าควรทำอย่างไร เลือกซื้อเฉพาะสินค้าแบบไหน ประเด็นนี้ผมมีข้อมูลยืนยันจากการไปสอบถามคนปลูกผัก และปลูกพืชทั่วไปหลายพื้นที่ว่าพวกเขาไม่อยากใช้กันอยู่แล้วสารเคมี หรือบางคนไม่ใช้แต่กลับพบว่าคนซื้อไม่ซื้อผลผลิตของเขาเพราะใบไม่สวย ไม่อวบ…อิอิ
เราไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ประเด็นนี้ผมคิดเองนะครับ (บางทีอาจจะทำไม่ได้) สิ่งที่ผมมองก็คือ ในเมื่อเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าสารเคมีบางชนิดไม่ปลอดภัย และสารเคมีเหล่านั้นล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ…ทำไมเราไม่งดการนำเข้า เท่านี้ก็จะแก้ปัญหาได้ ระยะแรกอาจมีปัญหาบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาวเราน่าจะสามารถปรับตัวได้ หรือว่ามันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนรู้ว่าบุหรี่-เหล้าไม่ดี แต่กลับมีการตั้งโรงงานกันอย่างถูกต้อง แถมบางอย่างรัฐเสียเองเป็นผู้ผลิต-จำหน่าย
แค่ 2 ประเด็นนี้ก็พอจะทุเลาหรือแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ไปได้ ยังมีอีกหลายช่องทางหากเราเอาจริงเอาจังกับมันแล้วปัญหาเรื่องการผลิตพืชให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมก็คงจะลดลงได้บ้าง
คิดเล่นๆ ครับ ท่านผู้ผ่านมาจะเพิ่มเติมก็ขอเชิญเลยครับ
บันทึกนี้โพสต์เมื่อ วันที่ วันพุธ, 1 ตุลาคม 2008 เวลา 4:51 (เย็น) และจัดไว้ในหมวดหมู่ Uncategorized. ติดตามอ่านการแสดงความเห็นได้ที่ฟีดนี้ RSS 2.0. คุณสามารถจะ ฝากความคิดเห็นไว้, หรือ แทร็กย้อนหลัง จากเว็บไซต์ของคุณได้.
#2:: น้ำฟ้าและปรายดาว 6 ตุลาคม 2008 เวลา 6:43 (เย็น)
โดนค่ะพี่สิงห์..ใช่เลย เห็นด้วยเต็มประตูว่าทำไมไม่จัดการที่ตัวสารนำเข้า และเห็นด้วยอย่างที่สุดว่านักวิชาการเกษตรมักจะตกเป็นจำเลยของสังคมในเรื่องของผลผลิตการเกษตรต่างๆ ทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของเค้าเลย
เราทำงานแบบแยกส่วนยังไงชอบกลค่ะพี่สิงห์ พานิชย์ก็ไม่เคยมาดูเรื่องการตลาด ( อย่างจริงจัง ) วางแผนการผลิตร่วมกันอย่างเป็นระบบแบบเอกชน พอมีปัญหาก็โทษกันไปมา เบิร์ดเชื่อเต็มหัวใจเลยว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่เค้าก็ไม่อยากจะใช้สารเคมีหรอกค่ะ แต่เค้าไม่มีทางเลือกอื่นเพราะเค้าก็ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน ( แถมเกษตรกรส่วนใหญ่ก็อายุเยอะๆทั้งนั้นด้วย บ่มีแฮงเฮ็ดตะได ใช้เครื่องทุ่นแรงดีกว่า )