ฉันกำลังฝึกฟังเสียงข้างในอย่างไม่ตัดสิน

3 ความคิดเห็น โดย sompornp เมื่อ กุมภาพันธ 24, 2009 เวลา 10:34 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, การจัดการความไม่รู้, ตามจริต #
อ่าน: 1617

ตั้งแต่คณะเราได้หัวหน้าใหม่ คือ ตำแหน่งรักษาการเลขานุการคณะ ทำให้หลาย ๆ ส่วนในการทำงานต้องมีการปรับเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น การเสนองานที่เคยง่าย ๆ เพราะไม่ยึดติดในรูปแบบ เป็นการเสนอที่ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เราก็คิดว่าเพียงพอต่อการสื่อสาร

 

แต่การทำงานกับหัวหน้าใหม่ ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะทุกกระบวนการต้องใส่ใจทุกอย่าง การเขียนการนำเสนองานต้องถูกต้อง ชัดเจน การใช้คำพูดต้องเป็นภาษาราชการอย่างถูกต้อง เป็นต้น  ทำให้พวกเราต้องมาปรับตัว ปรับใจ ให้เข้ากับการทำงานของหัวหน้าใหม่

 

ที่ขึ้นต้นว่า ฉันกำลังฝึกฟังเสียงข้างใจอย่างไม่ตัดสิน นั้น เป็นเพียงเพราะฉันไปนึกถึงสัญญาเก่าที่เคยมีว่า ฉันก็หนึ่งในตองอู เหมือนกัน (อิอิอิ) เมื่อมีบทเรียนเข้ามาให้ต้องฝึก ฉันจะปฏิบัติตัวเช่นไร  สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้มากขึ้นในชีวิตคือ

 

1.      การยอมรับความแตกต่าง  ยอมรับในการที่จะเรียนรู้ถึง วิถี วิธีการของแต่ละคน เรียนรู้กระบวนการดำเนินของชีวิตที่แตกต่าง เรียนรู้ในสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ ขอเพียงแค่เปิดใจเท่านั้น และขอให้เรียนรู้อย่างใจและเสียงข้างใจบอกว่าอย่างนั้นจริง ๆ

 

2.      การให้เกียรติในระบบการบังคับบัญชา  แม้ว่าอายุจะเป็นเพียงสิ่งที่บอกถึงตัวเลขว่ายังน้อย แต่ด้วยประสบการณ์และคุณภาพในการทำงาน เราต้องยอมรับและเรียนรู้ พร้อมที่จะเข้าใจ  ซึ่งการเสียสละในการดำรงตำแหน่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่คน ๆ หนึ่ง ก็พร้อมที่จะรับหน้าที่ตรงนี้ เพียงแค่นี้ ใจ เราก็เปิดยอมรับ และอยากให้ทุกคนเรียนรู้ในบริบทนี้มากกว่าที่จะมองในวงแคบ เปิดใจให้กว้าง และยอมรับในความท้าทายที่คน ๆ หนึ่งได้มุ่งมั่นจะกระทำ

 

 

3.      การไม่ตัดสินในเรื่องที่เข้ามากระทบ  หลาย ๆ ครั้งอาจจะมีสิ่งเร้าทำให้เราเกิดความคิดว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ทั้งที่สิ่งนั้นไม่เกี่ยวกับตัวเราเลย  เพียงเพราะเราเอาใจเราไปผูกกับสิ่งที่เขาเล่า สิ่งที่เขาบอก แล้วเราก็คิดตามนั้น ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นอย่างนี้  จริง ๆแล้ว เราคิดตาม และไปตัดสินตาม ว่าตามนั้น  จึงวางจาการการ ไม่ตัดสิน เพียงแต่รับรู้ น่าจะเป็นการฝึกที่ดีอีกอย่างนั้น  ขอให้ดูภายในใจเพิ่มอย่างหนักอีกนิดว่า ใจ คิดเช่นนั้นหรือเปล่า

 

4.      การเรียนรู้ที่จะ หน่วง (อย่างหนัก) เมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบ (อย่างแรง)  ซึ่งบางอย่างแทบจะทำให้ความเชื่อมั่นที่มีหวั่นไหวได้  แต่สิ่งนั้น ก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า มันไม่ใช่ ทุกอย่างเป็นสิ่งสมมุติ ถ้าใจเราวาง และยอมรับมัน มันจะดีกว่าการ ปะทะ หรือไม่  เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง เรียนรู้ที่จะปรับและรับกับสิ่งที่จะเกิด  และพร้อมที่จะพัฒนาอยู่ตลอด  การปล่อยใจให้ว่าง ทำให้เราสามารถยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ

 

และมันจะง่ายอีกนิดเดียวเพียงแค่เราไม่ด่วนตัดสินอะไรเพียงเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับใจ ไม่ถูกใจ ไม่พึงใจ หรือการกระทำที่ทำให้ใจกระเพื่อม

 

วางใจไว้กับใจ  แล้วเรียนรู้ว่า จริง ๆ แล้วใจเป็นอย่างไร

 

ลองฟังเสียงตัวเองข้างในอย่างลึก ๆ ว่า แท้จริงแล้วที่เราบอกว่า

 

โอเค ไม่มีปัญหา สบายดี รับได้ ฯลฯ  เราเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า

 

เลือกการเดินทางที่ทำให้เกิดสุข มากกว่าทุกข์ จะดีไหม

Post to Facebook



Main: 0.033123970031738 sec
Sidebar: 0.044183969497681 sec