ม.ค. 19

สืบเนื่องจากทางโครงการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” แผนกการพยาบาลสูติ-นรีเวชกรรม งานบริการพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดประชุมวิชาการเรื่อง “เลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด” โดยวิทยากร นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร ในวันที่ 17 มกราคม 2553 จึงได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายนี้ น่าสนใจทีเดียว ขอบคุณผู้ที่จัดการบรรยายนี้ และขอสรุปสิ่งที่ได้ฟังเพื่อเป็นประโยชน์กับพ่อแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกให้ฉลาด

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ฉลาดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงได้เกียรตินิยม แต่หมายถึงเก่ง เอาตัวรอดได้  อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข คุณหมออุดมแสดงกราฟอัตราการเกิดรอยเชื่อมต่อในสมอง ซึ่งพบว่าจะเริ่มตั้งแต่ 7 เดือนในท้องแม่ และสูงในช่วง 2 ขวบแรก จากนั้นก็เริ่มลดลงและพอพ้นอายุ 5 ขวบก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่อยากส่งเสริมความฉลาดก็ควรจะทำตั้งแต่ลูกอายุยังน้อย

คุณหมอได้สรุป 10 บัญญัติสมองดี กิจกรรมสร้างคนเก่ง ไว้ดังนี้

1. พ่อแม่คือแบบอย่างสร้างสมองของลูก อยากให้ลูกเป็นอย่างไรให้ทำอย่างนั้น เป็นไปตามทฤษฎีกระจกเงา เด็กเรียนรู้จากการดูและการเลียนแบบ

2. เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายสมองลูก พ่อแม่มีกลุ่มเพื่อน และทำให้ลูกๆ ได้เจอกัน จะทำให้ลูกเห็นว่าเรามีเพื่อน มีการแบ่งปันกัน ทำให้เกิดญาติมิตร (Social network)

3. ยิ่งกอด สมองยิ่งเก่ง การกอดลูกหรือการสัมผัสที่ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักเขา จะทำให้เขารู้สึกอบอุ่น มั่นใจ เห็นคุณค่าตนเอง ทำให้เกิด NGF (Nerve Growth Factor)  (จริงๆ แล้วพอพ่อแม่กอดลูก ก็ทำให้ลูกเลียนแบบ กอดพ่อแม่เหมือนกัน แล้วอย่างนี้พ่อแม่ก็ฉลาดขึ้นไหม :) อาจจะฉลาดขึ้น แต่ไม่มากเท่ากับเด็ก   น้องต้าชอบกอดทุกคนในบ้าน เดี๋ยวก็กอดอาม่า เดี๋ยวก็กอดแม่ เดี๋ยวก็กอดพ่อ  เมื่อวานไปห้าง ก็ไปกอดพ่อต่อหน้าคนขายของ คนขายของก็บอกว่าขี้อ้อนมากเลยเด็กคนนี้)

4.  กินดี สมองดี กินอาหารครบ 5 หมู่  กินอาหารเช้า กินแป้งที่มีโมเลกุลซับซ้อน ลดอาหารหวาน

5.  8 ทักษะธรรมชาติพัฒนาสมอง  8 ทักษะนี้ได้แก่ สงสัย สำรวจ สัมผัส สืบค้น สรุปผล สร้างสรรค์ สื่อสาร สั่งสม   ทำให้ลูกเห็นว่า เมื่อสงสัย ต้องแสวงหาความรู้ แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดคือความอยากรู้

6. เมื่อลูกเล่น สมองลูกกำลังแล่น การเล่นมีหลายวิธี ไม่ใช่แค่เล่นกับของเล่นเท่านั้น ลูกควรจะได้เล่นเพื่อปรับตัวเข้าหากัน (เล่นกับพ่อแม่ เล่นกับครู เล่นกับเพื่อน) ถ้าเด็กทะเลากัน อย่าเพิ่งเข้าไปแก้ปัญหาให้เด็ก ให้โอกาสเด็กได้ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาเมื่อทะเลาะกับพื่อน  การเล่นอย่างอื่นที่มีประโยชน์ เช่น เล่นบทบาทสมมุติ เล่นเล่าเรื่อง  เล่นเคลื่อนไหวร่างกาย (เมื่อวานพ่อน้องต้าบอกน้องต้าเดินบนทราย เล่นโยนก้อนหินเป็นชั่วโมง)

7. อ่านสร้างสมอง การอ่านทำให้มีความรู้ มีแบบอย่างการใช้ชีวิต ทำให้เกิดควาอยากรู้ เกิดนิสัยรักการเรียนรู้ ถ้าลูกรักการอ่าน จะมีสิ่งดีๆ ตามมาในชีวิตลูก  (แม่น้องต้าจึงพยายามเอาหนังสือให้ลูกดูและอ่านบ่อยๆ  ถ้าน้องต้าโตขึ้น น้องต้าก็อ่านหนังสือไป แม่ก็ทำงานไป)

8. ศิลปะ สร้างสุนทรียะ สร้างสมอง  ศิลปะทำให้เด็กมีความไวในการรับรู้ การแสดงความคิดเห็น  เห็นความแตกต่างในความคิดของคน ทำให้เอาใจเขา มาใส่ใจเรา มีคุณธรรม มีความเป็นมนุษย์  ควรจะฝึกให้เด็กดู ทำและแสดง ดู วิจารณ์ และฟังการวิจารณ์ของเพื่อน

9.  ตัวโน๊ตสร้างทำนอง ดนตรีสร้างสมอง  ควรจะฝึกให้เด็กได้เคลื่อนไหวตามทำนองจังหวะดนตรี  ให้เด็กทั้งฟังและเล่น ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นแกมมา ซึ่งทำให้เด็กมีความจำ มีสมาธิ สามารถแยกแยะรูปทรงต่างๆ และให้เหตุผลได้ดี

10.  พลังกีฬา ยาดีต่อสมอง  ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีความมั่นใจ ลดความเครียด  ทำให้เกิด NGT (Nerve Growth Factor) ทำให้เด็กเคารพในกฎ กติกา

ต้าและครอบครัวที่ร้านรูปที่ดูไป

ก.พ. 08

บันทึกนี้ตั้งใจจะเขียนนานแล้ว แต่มีงานเตรียมสอนและงานเลี้ยงลูกเข้ามาก่อนเสมอ ตอนนี้เป็นโอกาสอันดีเพราะลูกกำลังหลับอยู่ ส่วนเตรียมสอนก็ยังมีเวลาอีก 1 วันเพราะพรุ่งนี้เป็นวันมาฆบูชา

สืบจากการที่เข้าไปอ่านบันทึกของคุณตฤณซึ่งได้เขียนอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัย จึงคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาไม่น้อยหากเชิญคุณตฤณไปพูดให้นักศึกษาฟัง   ซึ่งคุณตฤณก็ได้ทำสรุปเกี่ยวกับบันทึกของตนไว้ที่ เก็บตกส่งท้ายที่ขอนแก่น แล้วคุณตฤณก็ได้รับเชิญจาก อ แป๋ว ให้ไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มข และบันทึกไว้ที่ AAR การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สวนป่า

บันทึกนี้พยายามจะไม่เขียนซ้ำกับที่คุณตฤณพูดไว้แล้วที่บันทึกของคุณตฤณ จะขอสรุปแง่คิดเป็นข้อๆ ดังนี้

1) ชีวิตที่เจริญได้ดีงามและรวดเร็วเกิดจากการมีกัลยาณมิตร จากการฟังที่คุณตฤณพูด ก็พบว่าคุณตฤณเป็นคนโชคดีมีครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คุณตฤณมีการเรียนรู้ในสิ่งที่คุณตฤณอยากรู้  โดยเฉพาะคุณพ่อจะสนับสนุนคุณตฤณเต็มที่ในการศึกษาเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ซื้อหนังสือภาษาอังกฤษให้อ่าน  ซื้อเครื่องคิดเลขที่สามารถเขียนโปรแกรมได้

ณตฤณรู้ตัวเองดีว่าตัวเองไม่ชอบวิชาชีววิทยา แต่ก็เลือกเรียนกับพวกที่อยากเรียนแพทย์ เพื่อจะได้มีเพื่อนที่เรียนเก่งและตั้งใจเรียน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  แต่ดร็อปวิชาพวกชีววิทยาไว้

2) กล้าในสิ่งที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับสังคม ในขณะที่คุณตฤณทำงานให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์ชั้นนำของต่างชาติ คุณตฤณก็กล้าที่จะพูดว่าการรับรองสนับสนุนภาษาไทยยังไม่มี  ซึ่งทำให้เกิดการสนับสนุนทำให้ใช้ภาษาไทยได้  และคุณตฤณมีส่วนช่วยทำให้เนคเทคช่วยพัฒนาระบบเครือข่ายในประเทศไทยให้มีการแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว

3) ยิ่งเราทำดีมากเท่าไหร่ ผลดีนั้นก็ยิ่งกลับมาหาเรามาก ในขณะที่คนส่วนใหญ่นอนหลับในตอนกลางคืน คุณตฤณก็ใช้เวลาในตอนกลางคืนทำงาน เพราะต้องทำงานกับต่างชาติ และช่วงที่ช่วยสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับประเทศไทยนั้น เวลาทำงานในตอนกลางคืนก็เหมาะสมที่สุด เพราะคนยังไม่ค่อยใช้แบนด์วิดธ์กัน และทำให้ปรับปรุงระบบโดยไม่กระทบกับคนหมู่มาก  ความพยายามและเวลาที่คุณตฤณทุ่มเทไปในฐานะอาสาสมัครที่ช่วยเนคเทคซึ่งคุณตฤณทำด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้นกลายเป็นโอกาสทำให้คุณตฤณเป็นผู้บริหารของบริษัทแรกของคนไทยที่ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

4)  การมีคนที่มีจิตอาสา เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมจะทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น นอกจากคุณตฤณมีจิตอาสาที่จะช่วยพัฒนาระบบเครือข่ายของประเทศไทยแล้ว คุณตฤณก็ช่วยทำให้คนที่ประสบภัยสึนามิและญาติของผู้ประสบภัยสึนามิโดยการรวบรวมข้อมูลของผู้ประสบภัยทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว และเป็นที่มาของโครงการ OpenCare

นอกจากนี้คุณตฤณมาพูดที่วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มข โดยไม่รับเงินสักบาท คุณตฤณบอกว่า การศึกษาเป็นการลงทุนของประเทศชาติ  คุณตฤณอยากมีส่วนช่วยตรงนี้  ค่าเดินทางก็ไม่รับ ค่าที่พักก็ไม่รับ และค่าวิทยากรก็ไม่รับ  และไม่รับเลี้ยงอาหารด้วย เพราะคุณตฤณมีคิวจองที่เพื่อนชาวเฮหลายคนอยากเลี้ยงข้าวและทานข้าวกับคุณตฤณด้วย  ถ้าประเทศไทยมีนักธุรกิจที่เห็นแก่ประโยชน์ของสังคม เห็นความสำคัญของการศึกษามากๆ  ประเทศไทยอาจจะเจริญกว่าสิงคโปร์

ต้อมเองรู้สึกโชคดีที่ได้รู้จักคุณตฤณและที่ได้รับความกรุณาจากคุณตฤณในการเสียสละเวลาและเงินในการมาพูดให้นักศึกษาฟัง  ต้อมก็หวังว่าจะมีโอกาสได้เจอและแลกเปลี่ยน ฟังประสบการณ์จากคุณตฤณอีก