ว่าจะเขียนโม้เรื่อง ULEM ภาคพิศดาร แต่อดไม่ได้ที่จะเอาเรื่องที่เพิ่งผ่านมาหยกๆเมื่อเช้านี้ มาเป็นออร์เดิร์ฟก่อน
เช้านี้ตื่นมาคิดทบทวนภารกิจและเวลาที่มีอยู่แสนจำกัดแล้วทำให้ตาสว่าง ข้อสรุปก็คือช้าไม่ได้แล้ว เครื่องที่จะประกอบเตรียมไปติดตั้งที่วัดพระบาทห้วยต้มนั้น แม้จะทดสอบจนชัวร์ป้าบแล้ว แต่มันยังกระจัดกระจาย ไม่ได้รวมตัวเป็นเครื่องแต่อย่างใด แถมพรุ่งนี้ ต่อเนื่องไป คือ 17-18 -19 ยังต้องไปเป็นวิทยากรฉายเดี่ยว คนเดียวทั้ง 3 วัน ที่ รร. วิศวกรรมรถไฟ เช้าจดเย็น และจะต้องขึ้นรถทัวร์มุ่งหน้าสู่วัดพระบาทห้วยต้มในคืนวันที่ 19 นี้ด้วย
ครั้นตรึกนึกถึงรายละเอียดว่าต้องทำอะไรบ้างในขั้นตอนปลีกย่อย ก็พบว่ามีหลายอย่างต้องรีบทำ ทั้งที่ต้องตัด เจาะ ผ่า ติดกาว บัดกรี ขันสรูยึด และการทดสอบ .. คิดแล้วอยากเป็นลม เพราะจะวานใครทำก็ไม่ได้ มันล้วนแล้วแต่ ทาสิทนอลลิจ ทั้งนั้น บอกนั้นไม่ยากแต่ทำตามให้ได้ตามที่บอกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย .. หลายคนที่เป็นช่างคงทราบดี
หนึ่งในงานสำคัญก็คือก็คือการประกอบและทดสอบเจ้า E-Valve หรือวาล์วน้ำควบคุมด้วยไฟฟ้า ที่ออกแบบ วิ่งหา จ้างทำและจัดทำชิ้นส่วนต่างๆไว้พร้อมแล้วแต่ยังไม่ได้ประกอบและทดสอบขั้นสุดท้าย ความจริงลองทำไว้ 1 ชุด เมื่อ 2 วันก่อน แต่เมื่อไม่ได้ทดสอบการใช้งานจริงๆ ก็ต้องถือว่ายังไม่คลอด วันนี้ตื่นมาเลยรีบคว้าวัสดุและเครื่องมือพะรุงพะรังไปตั้งโต๊ะหลังบ้าน ตั้งใจว่าจะทำให้ได้สัก 6 ชุด รวมของเดิมอีก 1 เป็น 7 ชุดปฐมฤกษ์ วิเคราะห์งานแล้วไม่ธรรมดาครับ นับเป็นขั้นตอนย่อยๆได้ดังนี้
- ตัดสายไฟ AC ขนาด 2X0.5 SQmm. ยาวประมาณ 35 ซม.
- ปอกสายที่ปลายทั้งสองข้างยาวประมาณ 5 มม. รวม 6 เส้น(คู่) ต้องปอกสายทั้งหมด 24 ครั้ง
- ตัดท่อหดขนาด 5 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. 12 ชิ้น
- ใช้คีมถ่างส่วนปลายด้านหนึ่งของท่อหดทั้ง 12 ชิ้นให้ยืดออก เพื้อสวมได้จนสุดขั้วต่อของ Solenoid
- สวมท่อหดเข้ากับสายไฟทั้ง 12 เส้น
- นำปลายสายแต่ละเส้นมาบิดลวดทองแดงรวมเป็นเกลียว ทุกเส้น รวม 24 จุด
- สอดปลายสายไฟเข้ารูที่ขั้วทั้ง 12 จุด และพับกลับให้เกี่ยวติด มั่นคงก่อนการบัดกรี
- บัดกรีสายไฟเข้ากับขั้วสายทั้ง 12 จุด
- เลื่อนท่อหดรูดมาสวมขั้วโลหะจนมิดชิดทั้ง 12 จุด
- ใช้ไฟแช๊กแก๊ส ลนบริเวณท่อหดแต่ละจุดจนท่อหดรัดสายและขั้วไฟฟ้าเรียบร้อย ไม่ให้มือสามารถสัมผัสขั้วไฟฟ้าได้
- นำน้อตตัวเมีย(Nut) จำนวน 12 ตัวมาตอกฝังในร่องที่ปีกยึดตัว E-Valve ตัวละ 2 จุด
- ติดตั้งลูกยางรองสายไฟฟ้าเข้ากับกล่องโลหะทั้ง 6 ใบ
- ผูกสายไฟเป็นปมแล้วสอดออกมาจากภายในกล่อง ผ่านรูของลูกยางรองสายทั้ง 6 กล่อง
- นำน้อตตัวผู้ (Screw) 12 ตัวมาสวมแหวน (Washer) และขันยึดตัว E-Valve ติดกับกล่อง ทั้ง 6 ชุด รวม 12 จุด
- ปิดฝาครอบกล่องด้านบน และขันสกรูยึด กล่องละ 4 จุด รวม 24 จุด
- ใช้ไขควงไฟฟ้าชนิดไร้สาย ขันย้ำให้แน่นหนาพอเหมาะทั้ง 24 จุด
- นำชุดวาวล์ทองเหลือง 6 ตัวมาถอดน้อตและแหวนสปริง และนำก้านเปิดปิดวาล์วออก
- นำวาล์วทั้ง 6 ชุดไปเลื่อยผ่าหัวแกนเปิด-ปิดวาล์วด้วยเลื่อยตัดเหล็ก ปรับแต่งขนาดเพื่อให้ใช้ไขควงปลายแบนหมุนปรับความแรงของน้ำได้ (ถ้าใช้ก้านโยกแบบเดิม จะปรับง่ายเกินไป อาจมีใครมาปรับเล่นจนระบบทำงานผิดไปจากที่ได้ตั้งไว้ได้)
- ใส่แหวนล็อค และน้อตตัวเมียคืนกลับที่เดิม เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคง แข็งแรงให้กับแกนที่ผ่าไปแล้ว ป้องกันไม่ให้แกนหักแยกออกมาเมื่อออกแรงบิดมากๆด้วยไขควง
- นำขั้วต่อน้ำขาออก(ท่อเล็ก) มาพันด้วยเทปพันท่อประปาและขันยึด ประกอบเข้ากับวาวล์ทองเหลือง หมุนไปจนแน่นหนาไม่ให้รั่วซึม และมีทิศทางอยู่ตรงกันข้ามกับขั้วเปิด-ปิดวาล์ว
- ใช้ไขควงปลายแบนหมุนปรับรอยผ่าให้ชี้ในแนวตั้งเพื่อให้เป็นตำแหน่งที่เปิดวาล์วเต็มที่ (เมื่อติดตั้งใช้งานจะได้มีน้ำออกไปทันทีแล้วค่อยปรับลดปริมาณตามความเหมาะสม)
- เสียบต่อท่อทองเหลืองของวาล์ว เข้าท่อ PVC ด้านน้ำออก (Water Outlet) ของตัว E-Valve หมุนลงไปเกือบสุด เหลือระยะประมาณ 1 ซม.
- หยอดกาวร้อนเข้าที่รอยต่อครั้งที่ 1 และหมุนต่อจนเกือบสุด
- หยอดกาวร้อนเข้าที่รอยต่อครั้งที่ 2 และหมุนต่อจนสุดระยะ ให้ปลายท่อน้ำออกชี้ไปทางตรงกันข้ามกับท่อน้ำเข้าของ E-Valve
- หยอดกาวiร้อนรอบๆรอยต่อของท่อทองเหลืองและ PVC อีกครั้ง
- นำไปวางทิ้งให้แห้ง
- เตรียมสายปลั๊กไฟและสายยางต่อน้ำเพื่อการทดสอบการเปิด-ปิดน้ำด้วยไฟฟ้า และตรวจสอบการรั่ว-ซึม
- นำ E-Valve ทั้ง 6+1 กล่อง มาทดสอบการทำงานด้วยการปล่อยน้ำเข้า ลองป้อนไฟฟ้า 220 Volts เข้าขั้วสาย ดูการเปิด-ปิดน้ำ
- ทดลองใช้นิ้วมือกดปิดท่อน้ำออก เพื่อดูการรั่วซึม (งานนี้ เดินเข้า-ออก ห้องน้ำเพื่อไปเปิด-ปิดวาล์วน้ำ 4 เที่ยว ต่อการทดสอบ 1 ชุด รวม 7 ชุดก็ 28 เที่ยว .. กำลังจะเซ็งก็ปรับวิธีคิดใหม่ ว่าเป็นการออกกำลังกายที่ดี)
- นำข้อต่อ PVC สำหรับลดขนาดท่อน้ำเข้าให้เสียบต่อสายยางได้ มาหมุนยึดเข้ากับท่อน้ำเข้า ของทั้ง 7 ชุด
E-Valve ยี่ห้อ HANDY รุ่น EV-01AC จำนวน 7 ชุดก็ได้ถือกำเนิด และผ่านการทดสอบเรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกาวันนี้ ด้วยประการฉะนี้
จากข้อมูลที่ท่าน Logos นำเสนอไว้ E-Valve ที่เขาขายกันอยู่ เป็นแบบปิด-เปิดน้ำด้วยไฟฟ้าธรรมดา ราคาอยู่ที่ 1100 กว่าบาท แต่ E-Valve ยี่ห้อ HANDY รุ่น EV-01AC นี้ หากวางจำหน่าย ราคาน่าจะไม่เกิน 600 บาทสำหรับรุ่นธรรมดา (ไม่มีวาล์วทองเหลืองภายนอกสำหรับ ULEM) และ ไม่เกิน 900 บาท สำหรับชุดสมบูรณ์แบบ (มีวาล์วทองเหลืองและขั้วต่อท่อน้ำเล็กชนิดมีตัวล็อคสายไม่ไห้หลุด เพื่อส่งน้ำเข้าชุด ULEM )
คงไม่ถือเป็นการโฆษณานะครับ นึกเสียว่าเผยแพร่งานวิชาการ แบบแนะนำหนังสือ ตำราก็ได้ เพราะกว่าจะได้มา มันสิ้นเปลืองเงินทอง เวลา และสมอง ตลอดจนสุขภาพไปไม่น้อย .. และแทนที่จะรีบทำขาย กลับมาย่ำอยู่กับการหาคำตอบว่าทำอย่างไร จะได้รุ่นถูกที่สุด ให้ถึงมือชาวรากหญ้าให้ได้ .. อย่างนี้อีกกี่สิบชาติก็ไม่มีทางรวย .. แต่เท่าที่รู้ ความสุขหาไม่ยากเลยครับ โดยไม่ต้องรวยอย่างที่ใครบางคนเขาเคยหลอกพวกเรา
คราวนี้ก็เชิญชมภาพถ่ายครับ .. ผมอยากเรียกว่า “ผลงานหัตถกรรม เมื่อเช้านี้” จังเลย เพราะงานมือทั้งนั้น และมือของเราเองทั้ง 30 ขั้นตอนย่อยเลยล่ะครับ
อิ อิ อิ
เรื่องปลีกย่อยของการพัฒนาระบบจ่ายกำลัง และการควบคุม ULEM มันกว่านี้อีกหลายเท่า โปรดคอยติดตาม .. อิ อิ อิ