สโลว์จ๊อกกิ้ง (Slow jogging)

โดย sakura เมื่อ 20 June 2009 เวลา 11:59 am ในหมวดหมู่ Sports #
อ่าน: 4122

หลายวันก่อนซากุระได้มีโอกาสดูรายการทีวีเชิงวิชาการของญี่ปุ่น วันนั้นเป็นรายการสำหรับคนชอบและไม่ชอบวิ่ง ซึ่งน่าสนใจมากๆ จึงคิดว่าน่าจะเอามาเล่าแบ่งปันความรู้กัน แต่ภาษาญี่ปุ่นของซากุระก็ไม่ได้เก่งมากขนาดที่จะจดจำและเข้าใจศัพท์ทุกคำที่เขาใช้ เพราะบางครั้งก็เป็นศัพท์ทางการแพทย์ หากขาดตกบกพร่องประการใด ก็ขอเชิญนักวิชาการทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางการวิ่งคอมเมนต์ได้เต็มที่ค่ะ

คนญี่ปุ่นวิ่งกันตัวปลิวเหมือนลมพัด วิ่งเหมือนร่างกายไร้น้ำหนัก การจัดแข่งมาราธอนของที่นี่มีเป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่ไปวิ่งเพื่อพิสูจน์สปิริตและกำลังใจของตัวเอง ไม่ได้ไปวิ่งเพื่อเอาโล่รางวัล การซ้อมของคนที่นี่ก็จะมีทั้งแบบซ้อมเดี่ยวและซ้อมเป็นทีม ใครว่างตอนไหนก็ออกไปวิ่งกันได้เลย ถ้าเทียบกับบ้านเรา อากาศที่นี่เย็นกว่า เส้นทางวิ่งก็สะดวกสบายไม่ร้อน ถ้าวิ่งบนฟุตบาทก็เป็นฟุตบาทจริงๆ ไม่ใช่ซุ่มๆ เดาเอาว่านี่คือฟุตบาทเหมือนในเมืองไทยที่วิ่งๆ ไปต้องคอยเหลียวหลังดูว่ารถจะมาเสียบก้นเปล่า ซึ่งเพื่อนของซากุระที่เขาชอบวิ่งเคยโดนมาแล้ว

ทำไมคนญี่ปุ่นชอบวิ่ง จากที่ดูการให้สัมภาษณ์ทีมคนชอบวิ่งทีมหนึ่ง ส่วนใหญ่คนในทีมเคยมีปัญหาสุขภาพมาก่อนเกือบทุกคน เช่น เป็นโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง อ้วน หุ่นไม่สวย เหนื่อยง่าย เดินขากะเพลก ฯลฯ พอมาวิ่งแล้วก็ทำให้สุขภาพดีขึ้นจนในปัจจุบันแข็งแรงกว่าคนปรกติโดยทั่วไป ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้ก็มีทั้งวัยรุ่นเอ๊าะๆ และรุ่นแง้มฝาโลง บางคู่ก็มาวิ่งกันทั้งสามีและภรรยาโดยบอกว่า หลังจากมาวิ่งด้วยกันแล้วทำให้รักกันมากขึ้น ทะเลาะกันน้อยลง เพราะต่างคนต่างอารมณ์ดี มีกิจกรรมทำร่วมกัน

อีกตอนหนึ่งของรายการเป็นการทดลองกับคนไม่ชอบวิ่ง ซึ่งคนกลุ่มนี้เกลียดการออกกำลังกายทุกชนิด เกลียดตั้งแต่เด็กจนแก่ก็ยังไม่เลิกเกลียด ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งให้ผู้เข้าร่วมทดลองวิ่งรอบสนามตามสบาย เอาอย่างที่ชอบ แล้วจับมาวัดด้วยเครื่องมือ ซึ่งตอนนี้ซากุระฟังไม่ทันว่าเครื่องมืออะไร ปรากฎว่าผู้เข้าร่วมทดลองทุกคนมีค่าเกินกว่าสองมาก ศาสตราจารย์ท่านนี้เฉลยว่าคนกลุ่มนี้ใช้กล้ามเนื้อขาวในการวิ่งทำให้เกิดอาการล้าและเจ็บได้ง่าย จึงทำให้เกลียดการวิ่งและการออกกำลังกายทุกชนิด เพราะกล้ามเนื้อสีขาวนี้มีความทนทานน้อย ท่านจึงแนะนำให้คนกลุ่มนี้จ๊อกกิ้งแบบช้าถึงช้าที่สุดเพื่อเปลี่ยนจากการใช้กล้ามเนื้อสีขาวเป็นการใช้กล้ามเนื้อสีแดงแทน ซึ่งที่ซากุระเห็นกับตัวเอง (แถวที่ซากุระอยู่เป็นย่านคนชอบออกกำลังกาย เพราะอยู่ติดทะเลและภูเขา สภาพอากาศดีมากๆ) บางคนก็ช้าชนิดที่เรียกว่าปลายเท้าแทบไม่ห่างจากพื้นและขยับไปได้ทีละนิ้วสองนิ้วก็มี โดยเขาแนะนำว่าให้ดูสภาพของตัวเองค่ะ ให้เทียบกับสภาพกล้ามเนื้อว่าตอนวิ่งนั้นเรารู้สึกหนักล้าไหม ให้ปรับให้พอดีกับตัว ซึ่งบางคนอาจจะไวหรือช้าไม่เท่ากัน คนที่ทำถูกต้องจะวัดได้ค่าน้อยกว่าสอง 

หลังจากสามเดือนผ่านไป กลุ่มคนเกลียดการออกกำลังกายทั้งหมด (ซึ่งอายุมากกว่าห้าสิบปี) สามารถร่วมแข่งมินิมาราธอนระยะทาง สิบ กิโลเมตรได้อย่างสบายๆ โดยไม่แสดงท่าทางอิดโรยเลย ขอสารภาพเลยว่าตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยร่วมแข่งสิบกิโลกับเขาเลย เบรกไว้ที่แค่ห้ากิโลเมตรเท่านั้น ฮ่าๆๆๆ อายคนแก่จัง

ยังมีรายงานต่อไปอีกว่าสโลว์จ๊อกกิ้งเหมาะสำหรับผู้สูงวัยมากกว่าการเดิน เพราะสโลว์จ๊อกกิ้งทำให้สมองส่วนหน้ามีการขยายตัว ส่วนการเดินเป็นการใช้สมองส่วนหลัง ดังนั้นสโลว์จ๊อกกิ้งจึงทำให้ผู้สูงอายุสามารถจะจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี รับรสได้ดี เรียนรู้ได้ดี มีบุคลิกภาพและอารมณ์ดี มีสายตาดี สามารถพูดได้ปรกติ มีระบบการควบคุมสมดุลสสารภายในร่างกายดี ในขณะที่การเดินช่วยให้มีการทรงตัวดี (ดูข้อมูลเพิ่มเติม http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87)

เมื่อทราบข้อดีของการจ๊อกกิ้งแบบช้าถึงช้าที่สุดแบบนี้แล้ว ลองปรับจากการเดินเป็นการจ๊อกกิ้งแบบนี้ดูนะคะ ซึ่งซากุระลองทำดูแล้ว พบว่าการจ๊อกกิ้งแบบนี้ทำให้ขาผ่อนคลายและเหนื่อยช้ากว่าการเดิน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เพลิดเพลินกับทิวทัศน์สองข้างทางได้มากกว่าการเดินด้วยค่ะ ลองทำดูนะคะ ได้ผลยังไงเอามาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ

« « Prev : วัดใหม่ในอิบาราขิ

Next : กว่าจะรู้จัก..มนุษยธรรม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 June 2009 เวลา 11:47 pm

    เขียนบันทึกนี้สมควรเป็นลูกสาวคนชอบวิ่ง  อิอิ

    กล้ามเนื้อเเดง (Red muscle)  เส้นใยเล็ก  หดตัวช้า ทำงานประเภทความ
    ทนทานดี มี Myoglobin มาก เหมาะกับการวิ่งระยะกลางเเละระยะไกล

    กล้ามเนื้อขาว (White muscle) จะมีเส้นใยใหญ่กว่ากล้ามเนื้อเเดง เเข็งเเรง หดตัวได้
    เร็วกว่า ทำงานประเภททนทานได้ไม่นาน เเต่ทำงานประเภทใช้กำลังเเละความเร็วได้ดี เหมาะกับการวิ่งที่ใช้ความเร็ว

    คนที่มีกล้ามเนื้อขาวมากเหมาะสำหรับวิ่งระยะสั้นๆและใช้ความเร็ว 

    สำหรับการวิ่งออกกำลังกายแบบแอโรบิก ( Aerobic Exercise) ควรวิ่งช้าๆ  ให้หัวใจเต้นไม่เกิน 60-70 % ของอัตราเต้นสูงสุดของหัวใจ ( Maximum Heart Rate)

    อ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

  • #2 sakura ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 June 2009 เวลา 5:38 pm

    ขอบคุณค่ะท่านพ่อที่กรุณาแวะมาให้ความรู้เพิ่มเติม อิอิ พ่อเป็นคนชอบวิ่ง แต่ลูกสาวเป็นคนชอบกิน(ฟรี) แป๊วววว

  • #3 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 July 2009 เวลา 8:26 am

    เป็นคนชอบกินเหมือนกัน ฮ่าๆ
    ขอบคุณความรู้เพราะสงสัยตัวเองมาก วันก่อนอยากวิ่งออกกำลัง วิ่งไปรอบสนามเทนนิสประมาณ ๔๐๐ เมตร วิ่งได้สองรอบจะตายเอา เดินอีก สองรอบ วิ่งอีกสองรอบ เดินรอบ วิ่งรอบ แต่หลังจากนั้นสามสี่วันวิ่งแบบคนไม่มีแรงวิ่งได้รวดเดียวสิบรอบ แล้วเพิ่มวันละสองรอบ จนเดี๋ยวนี้วิ่งได้ยี่สิบรอบ เอาแค่เหงื่อเปียกๆ สงสัยว่าเอ..ทำไมเราวิ่งได้ไกลขึ้น อ้อ เพราะเราวิ่งแบบใช้กล้ามเนื้อแดง แต่ถ้าไปเที่ยวดึก เนื้ออาจจะเขียวเพราะเมียบิด ฮ่าๆ

  • #4 sakura ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 July 2009 เวลา 9:48 am

    สุดยอดเลยค่ะ ท่านอัยการ อย่างนี้อีกหน่อยไปวิ่งรอบเกาะวันละ 3 รอบ สบายๆ เลยค่ะ แต่ถ้าเที่ยวดึกแล้วใช้กล้ามเนื้อเขียวบ่อยๆ อาจจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพได้นะคะ อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.044124126434326 sec
Sidebar: 0.019255876541138 sec