หลังจากได้ที่ได้ร่วมเรียนรู้บทเรียนนอกตำรา และบทเรียนการประชุมวิชาการระดับชาติของ สกอ. ก็ต้องกลับเข้าสู่ยุทธจักรของเส้นทางสีขาวอีกครั้ง หลังจากที่ได้หายหน้าหายตาจากวงการ ปล่อยให้นักศึกษาได้ศึกษาตามอัธยาศัยบนหอผู้ป่วยศัลยกรรม โดยมี อาจารย์พยาบาลพี่เลี้ยงคอยดูแลแทนในช่วงที่ไปประชุม 13-15 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา สิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเจอหน้าลูกศิษย์คือ แววตาแห่งความปลื้มปีติและดีใจเมื่อเห็นอาจารย์กลับมานิเทศอีกครั้ง ความผิดปกติที่เปลี่ยนไปของนักศึกษาคือ ความกล้าและความกระตือรือร้น ต่างจากวันแรกที่ขึ้นฝึกปฏิบัติงานอย่างสิ้นเชิง (วันนี้เป็นการฝึกปฏิบัติงานวันที่ 4 ในสัปดาห์ที่ 2) ก่อนปฏิบัติงานทุกวันจะเริ่มต้นด้วยการ Pre conference ได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสามวันก่อน ว่านักศึกษาทุกคนอยู่ดีสบาย หรือไม่ อย่างไร คำตอบที่ชัดเจนของนักศึกษาที่ทำให้ยิ้มจนเหงือกแทบจะแห้งก็คือ “สนุกสนานมากค่ะอาจารย์ พี่ๆ ให้โอกาสพวกหนูทำทุกอย่าง พี่ๆ ใจดีทุกคนเลยค่ะ ถ้าทำอะไรไม่ได้พี่จะสอนและไม่ตำหนิเราด้วยค่ะ มีความสุขมากค่ะ” บางคนบอกว่า “รู้สึกดีอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมากก่อนเลยค่ะ อาจารย์ ” (น่าจะประชุมต่ออีกสัก 2 วัน นะเนี่ย ถ้าครบ 5 วันนักศึกษาบางคนจะได้หมดความกังวล อิอิอิ )
การเรียนการสอนในคลินิกเริ่มต้นขึ้นภายหลังจากการ Pre conference การนิเทศการฝึกปฏิบัติกิจกรรมทางการพยาบาลของนักศึกษาครั้งนี้ได้เอาความรู้ที่ได้รับประสิทธิ์ประสาทจากท่านครูบาและอาจารย์หมอป่วน มาใช้โดย การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูดและแสดงความคิดเห็นและอธิบายความเข้าใจของตนเองมากที่สุด รับฟังเขาด้วยความเข้าใจ เมื่อเขาพูดจบก็สะท้อนความคิดให้เขาได้คิดเองว่าที่สิ่งเขาพูดถูกต้องหรือไม่อย่างไร การอธิบายถึงเหตุผลตามหลักการเป็นการย้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิด Concept ที่สำคัญที่เขาควรจะรู้ เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ตนเองหลงทางมาเป็นเวลานาน กี่ปีแล้วหนอ(บอกไม่ได้เดี๋ยวรู้ อายุ อิอิอิ) ที่เราสอนนักศึกษาโดยการป้อนความรู้ให้เขาต้องรู้ในสิ่งที่เราอยากให้เขารู้ โดยที่เปิดโอกาสให้คิดเอง ทำเอง ค่อนข้างน้อย จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ผลผลิตของเรา (พยาบาล) มีความรู้เฉพาะในขอบเขตที่เราให้เขาเรียนรู้เพียงเท่านั้น จึงมีความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังรู้สึกดีที่ว่าเวลาที่เหลืออยู่เรายังมีส่วนร่วมสร้างผลผลิต “พยาบาลพันธุ์ใหม่” (พยาบาลมีองค์ความรู้ทางการพยาบาล ใฝ่รู้ ใฝ่ดี คิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาเป็น รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์)ได้อีกหลายรุ่น (คุณสมบัติพยาบาลพันธุ์ใหม่ ประยุกต์มาจาก คุณสมบัติของบัณฑิตยุคใหม่ ที่กำหนดไว้ในเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษาให้มีมาตรฐาน อิอิอิ)
สิ่งที่อันตรายอย่างหนึ่งจากการสอนแบบป้อนความรู้โดยที่ไม่เปิดโอกาสได้เรียนรู้ด้วยตนเองก็คือ การที่เราบอกอะไร สอนอะไร เขาอาจจะท่องจำสิ่งนั้น ๆ โดยที่อาจจะไม่เข้าใจแต่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากท่องจำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็จะปฏิบัติไม่ถูกต้องด้วย สิ่งที่ตามมาก็คือ คุณภาพการพยาบาลที่อาจจะลดลง และอาจทำให้การปฏิบัติการพยาบาลไม่แตกต่างจากการดูแลของผู้ดูแลโดยทั่วไป
ในการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา ต้องมีการทำ Nursing care conference ซึ่งเป็นการประชุมปรึกษาทางการพยาบาลเพื่อวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาน่าสนใจโดยใช้กระบวนการพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย การประเมินสภาพ การวินิจฉัยทางการพยาบาล การวางแผนการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาล และการประเมินผลทางการพยาบาล ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคล้ายๆ กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นพยาบาลที่ดีก็ต้องมีคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน นั่นคือ “ความช่างสังเกต ขี้สงสัย และมีเหตุผล” จึงจะทำให้สามารถค้นหาปัญหาของผู้ป่วยได้ครอบคลุมและสามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม การทำ Nursing care conference ของนักศึกษาครั้งนี้ ได้สะท้อนให้นักศึกษาให้มองเห็นถึงองค์ความรู้และความเข้าใจของตนเองในกิจกรรมการพยาบาลที่ปฏิบัติแก่ผู้ป่วย กิจกรรมการพยาบาลใดก็ตามหากเราอธิบายไม่ได้นั่นแสดงว่าเราขาดซึ่งความเข้าใจ แล้วเราจะยังเสี่ยงที่จะปฏิบัติเช่นนั้นต่อไปอีกหรือไม่???? ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไร???? เราจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อแก้ไขภาวะเสี่ยงจากองค์ความรู้ที่ไม่กระจ่างชัด???? การเรียนรู้จากองค์ความรู้หรือแนวคิดคนอื่นไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของนักศึกษาได้ครบถ้วนทั้งหมด เนื่องด้วยผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การพยาบาลแบบองค์รวม หรือแม้แต่การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนต้องทำความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อที่จะประยุกต์ความรู้มาวางแผนให้การพยาบาลที่สอดรับกับปัญหาของผู้ป่วยที่มีในขณะนั้นจริงๆ
รอยย่นบนใบหน้าจากอาการคิ้วขมวดของนักศึกษาเริ่มคลายลงไป หลังจากครูเปิดโอกาสให้พูดคุยแสดงความคิดเห็น การให้แสดงความคิดเห็นไม่ใช่เพื่อการตัดสินถูกหรือผิด ความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อเขาได้เล่าสิ่งที่คิดเป็นการได้สะท้อนถึงความเข้าใจของตัวเขาเอง หากเข้าใจไม่ตรงกับหลักการก็สามารถอธิบายในสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญให้เข้าใจกระจ่างชัดขึ้นได้ แต่คนที่ไม่พูดต่างหากที่น่ากลัว เพราะเราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ หากเขาเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คิดถูกต้องแล้ว การกระทำที่เกิดจากความคิดนั้นย่อมส่งผลกระทบได้มากกว่าความคิดอย่างแน่นอน การทำ Nursing care conference ครั้งนี้ อย่างน้อย ๆ ก็ได้เรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาว่า ยังมีหลายสิ่งที่นักศึกษาไม่เข้าใจและเรียนรู้แบบท่องจำหรือเลียนแบบจากตัวอย่าง แต่ก็ต้องขอบคุณอาจารย์พยาบาลพี่เลี้ยงตึกศัลยกรรม ที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักศึกษา ทำให้เกิดการเรียนรู้จากตัวอย่างที่ดีๆ เพราะ “การเรียนรู้จากตัวอย่างที่ดีมีผลต่ออนาคตของชาติอย่างแน่นอน”
การฝึกปฏิบัติงานตลอดสองสัปดาห์ ณ หอผู้ป่วยศัลยกรรมได้สำเร็จลุล่วงไปด้วย D (แต่นักศึกษาหลายคนมีโอกาสได้ A อิอิอิ) ก่อนเสร็จสิ้นการฝึกปฏิบัติงาน ได้แจ้งนักศึกษาว่าจะมีการ Post test นักศึกษาต่างกระตือรือร้นเป็นการใหญ่ ในการอ่านหนังสือเพื่อสอบ แต่เสียดายที่ข้อสอบยากกว่านั้นมากนัก (อิอิอิ) ข้อสอบเป็นข้อสอบอัตนัย มีอยู่ 4 ข้อ ให้เขียนอธิบายตอบตามความเข้าใจของตนเอง ไม่จำกัดจำนวนหน้ากระดาษ (ใช้กระดาษหน้าเดียว เพราะเสียดายต้นไม้แต่ละต้นที่ต้องโดนตัด) คำถามคือให้อธิบาย
- ความประทับใจจากการฝึกปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยศัลยกรรมครั้งนี้
- ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในการฝึกปฏิบัติงานครั้งนี้
- สิ่งที่อยากปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น
- ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “การพยาบาลแบบองค์รวม การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์”
เมื่อแจกกระดาษให้นักศึกษาทุกคนตั้งหน้าตั้งตาเขียนอย่างขะมักเขม้น บางคนแอบยิ้มไปเขียนไป บางคนหัวเราะออกมาขณะเขียนคำตอบลงในกระดาษ สิ่งที่ประทับใจในการสอบครั้งนี้คือ ทุกคนไม่สนใจที่จะเหลียวมองคนรอบข้าง ไม่สนใจที่จะลอกคำตอบของใคร ทั้งๆ ที่นั่งติดกัน บางคนตอบสั้น ๆ ได้ใจความ บางคนอธิบายยืดยาวจนต้องขอกระดาษเพิ่ม เวลาผ่านไปครบกำหนด นักศึกษาทุกคนส่งกระดาษคำตอบ ครูสะท้อนความคิดว่า ถ้าคำตอบทุกคนเขียนมาจากใจ จากความรู้สึกจริงๆ ของตนเอง นั่นคือคุณภาพการพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คำตอบของคำถามที่ 1 คือสิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกดีต่อการฝึกปฏิบัติงาน เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานึกถึงคำตอบข้อนี้ นั่นแสดงว่าเราเกิดการเรียนรู้เพราะเราสามารถแยกแยะ วิเคราะห์สิ่งที่ดีๆ ได้ แต่ละหอผู้ป่วยยังมีอะไรดีๆ ให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย ความประทับใจนี้เองจะนำไปสู่ความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่ดีได้
คำตอบของคำถามที่ 2 คือสิ่งที่จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในการฝึกปฏิบัติงาน อะไรก็ตามที่เราทำสำเร็จ เราย่อมเกิดความภาคภูมิใจและมีแรงกระตุ้นให้เราทำในสิ่งที่ดี เมื่อใดก็ตามที่มีความภาคภูมิใจเกิดขึ้น ความวิตกกังวลหรือความกลัวจะค่อยๆ ลดลง ความมั่นใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เราจะมีกำลังใจในการทำสิ่งดีๆ ต่อไปอีกมากมายในอนาคต
คำตอบของคำถามที่ 3 คือประเด็นสำคัญที่จะพัฒนาตัวเราเองให้ดียิ่งขึ้น คนที่มองเห็น ยอมรับข้อบกพร่องของตนเองและพยายามจะแก้ไขให้ดีขึ้นจะเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคตอย่างแน่นอน และสิ่งนี้เองจะทำให้เราเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่นและสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
คำตอบของคำถามที่ 4 คือหัวใจของการพยาบาล คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่า ความหมายของคำเหล่านี้จะตรงกับพจนานุกรมเล่มใด หรือแนวคิดที่เขียนไว้ในหนังสือ แต่ถ้าเราเขียนตอบมาด้วยความเข้าใจของเราเอง นั่นคือสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราคาดหวังว่า เราจะให้การพยาบาลต่อผู้ป่วย คำตอบที่ตอบมายังไม่ถูกต้องที่สุดหากเราไม่นำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยอย่างแท้จริง เมื่อใดก็ตามที่นักศึกษาให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วย ครูอยากให้คิดถึงคำตอบข้อในข้อนี้เป็นสำคัญ เราทำได้อย่างที่เราคิดหรือไม่??? อย่างไร???
ความประทับใจในการนิเทศครั้งนี้ คือ นักศึกษาได้ประเมินผลเป็นคำพูดว่า “พวกหนูมีความสุขในการฝึกปฏิบัติงานครั้งนี้ค่ะ” คำว่า “ความสุข” แค่คำเดียวครูก็ภูมิใจแล้วว่า นักศึกษาของครูเกิดการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจและไม่ยากเลยที่จะเป็นพยาบาลพันธุ์ใหม่ที่มีหัวใจเปี่ยมล้นด้วยความเอื้ออาทร (JJJ)